เกือบ 6 หมื่นธุรกิจขอรับเงินชดเชยค่าจ้างให้ลูกจ้างจากรัฐบาล

ธุรกิจเกือบ 60,000 แห่งรีบลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเงินชดเชยค่าจ้างด้วยงบ 130,000 ล้านดอลลาร์ของรัฐบาลสหพันธรัฐ นับตั้งแต่มีการประกาศในช่วงบ่ายวันจันทร์ (30 มี.ค.)

Treasurer Josh Frydenberg

Treasurer Josh Frydenberg Source: AAP

ธุรกิจต่างรีบลงทะเบียนกับรัฐบาลสหพันธรัฐ เพื่อขอรับเงินชดเชยค่าจ้างให้ลูกจ้างระหว่างการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา โดยโครงการดังกล่าวของรัฐบาลนี้ใช้งบประมาณ 130,000 ล้านดอลลาร์

ธุรกิจเกือบ 60,000 แห่งได้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือนี้แล้วภายในไม่กี่ชั่วโมง หลังรัฐบาลประกาศเรื่องนี้ออกมาเมื่อบ่ายวันจันทร์

นายจอช ไฟรเดนเบิร์ก คาดการณ์ว่าแผนนี้จะช่วยเหลือลูกจ้างในออสเตรเลีย 6 ล้านคน

“ออสเตรเลียไม่เคยเห็นการช่วยเหลือด้านรายได้แบบนี้มาก่อน” เขาบอกกับ สกาย นิวส์ ในวันอังคารวันนี้ (31 มี.ค.)

ลูกจ้างจะได้รับเงินชดเชยค่าจ้างให้เป็นอัตราตายตัว คือ 1,500 ดอลลาร์ต่อ 2 สัปดาห์ โดยรับเงินนี้ผ่านนายจ้าง จากความพยายามของรัฐบาลที่จะช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากเชื้อไวรัสโคโรนา

เงินชดเชยค่าจ้างดังกล่าว จะจ่ายให้แก่ลูกจ้างฟูลไทม์ และพาร์ท ไทม์ ผู้ประกอบกิจการเจ้าของคนเดียว (sole trader) รวมทั้ง ลูกจ้างแคชวล ซึ่งทำงานกับนายจ้างนั้นมานานอย่างน้อย 12 เดือน

เงินชดเชยค่าจ้างดังกล่าวจะจ่ายให้เป็นเวลา 6 เดือน

นายไฟรเดนเบิร์ก กล่าวว่า ขณะที่จะมีมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินประกาศออกมาอีก แต่จะไม่มีมาตรการใดที่จะทัดเทียมกับมาตรการนี้ที่ประกาศออกมาในวันจันทร์ ในแง่ของจำนวนเงิน
เขากล่าวว่า อาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่รัฐบาลจะจ่ายหนี้ที่เกิดจากมาตรการเหล่านี้ได้หมด แต่รัฐบาลก็ต้องทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ

นายมาธิอัส คอร์มานน์ รัฐมนตรีด้านการเงิน กล่าวว่า รัฐบาลได้ทุ่มเทงบประมาณเทียบเท่ากับร้อยละ 16.4 ของจีดีพีของออสเตรเลีย เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจพร้อมจะฟื้นตัว

“มันเป็นจำนวนเงินที่สูงจนน้ำตาเล็ดทีเดียว ... เป็นเงินลงทุนที่สูงมากๆ” วุฒิสมาชิกคอรืมานน์ กล่าว

เงินชดเชยค่าจ้างเหล่านี้จะจ่ายให้แก่ธุรกิจต่างๆ ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม โดยลูกจ้างที่ถูกสั่งให้พักงาน (stand down) ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม จะสามารถได้รับเงินชดเชยค่าจ้างย้อนหลังไปถึงช่วงดังกล่าวได้

โครงการเงินชดเชยค่าจ้างนี้ ยังครอบคลุมถึงชาวนิวซีแลนด์ ที่ถือวีซ่าทำงานชั่วคราว ประเภท 444 และผู้อพยพย้ายถิ่นที่มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะรับเงินสวัสดิการด้วย

นายกรัฐมนตรี สกอตต์ มอร์ริสัน กล่าวว่า บางประเทศอาจเผชิญสภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย หรือเป็นรูกลวงในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ขณะที่เชื้อไวรัสโคโรนาแพร่ระบาดไปทั่วโลก
“ในสถานการณ์ที่แล้วร้ายที่สุด เราจะได้เห็นประเทศเหล่านี้ตกอยู่ในความโกลาหล ซึ่งนี่จะไม่ใช่ออสเตรเลีย” นาย มอร์ริสัน กล่าว

รัฐสภาจะมาประชุมกันอย่างเร็วที่สุดคือสัปดาห์หน้า เพื่อผ่านร่างกฎหมายเกี่ยวกับโครงการเงินชดเชยค่าจ้างนี้ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า เงิน จ๊อบคีพเปอร์ (JobKeeper payment) ขณะที่พรรคแรงงานมีแนวโน้มว่าจะสนับสนุนโครงการนี้โดยรวม ซึ่งเป็นส่วนที่สหภาพแรงงานและกลุ่มธุรกิจต่างสนับสนุน

จำนวนเงินชดเชยค่าจ้าง 1,500 ดอลลาร์ต่อ 2 สัปดาห์นี้ เทียบเท่ากับราวร้อยละ 70 ของค่าจ้างมัธยฐาน (median wage)

ด้านนางแซลลี แมคมานัส เลขาธิการสภาสหภาพแรงงานแห่งออสเตรเลีย หรือเอซีทียู กล่าวว่า ขณะที่สภายินดีกับมาตรการช่วยเหลือนี้ แต่จำนวนเงินที่จ่ายให้นั้นอาจจะยังไม่เพียงพอ

“เราเชื่อว่า มันจำเป็นที่จะต้องอนุญาตให้เงินชดเชยที่จ่ายให้ เพิ่มขึ้นมาให้เท่ากับค่าจ้างมัธยฐาน ที่ 1,375 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์”

เธอยังได้หยิบยกประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือลูกจ้างแคชวล ที่ได้ทำงานกับนายจ้างคนเดียวกันแต่ไม่ถึง 12 เดือน และลูกจ้างคนอื่นๆ ที่มาตรการนี้ไม่ได้ครอบคลุมถึง

ธุรกิจที่สนใจลงทะเบียนขอรับเงินชดเชยลูกจ้าง (JobKeeper Scheme) สามารถแจ้งความสนใจได้กับกรมสรรพากรของออสเตรเลีย หรือเอทีโอ

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้ 

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 31 March 2020 10:59am
Updated 31 March 2020 12:23pm
By SBS Thai
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand