ชาวเอเชียมีแนวโน้มถูกเลือกปฏิบัติสูงสุดในออสเตรเลีย

NEWS: การสำรวจล่าสุดพบว่า ชาวเอเชียมีแนวโน้มเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่รายงานว่าเคยถูกเลือกปฏิบัติมากที่สุดในออสเตรเลีย

Multi racial businesswomen in meeting with coffee

Four out of five Asian Australians say they have experienced discrimination. Source: Getty

กำลังมีการเรียกร้องให้ธุรกิจต่างๆ ทบทวนแนวคิดด้านความเป็นผู้นำ “ตามบรรทัดฐานของชาวตะวันตก” ขณะที่ผลการสำรวจล่าสุดพบว่า ชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชีย 4 ใน 5 คน กล่าวว่า พวกเขาเคยมีประสบการณ์ถูกเลือกปฏิบัติในออสเตรเลีย

การสำรวจทั่วประเทศดังกล่าวที่สอบถามกลุ่มตัวอย่าง 2,000 คน พบว่าชาวเอเชียมีแนวโน้มจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่รายงานว่าเคยถูกเลือกปฏิบัติมากที่สุดในออสเตรเลีย

ร้อยละ 82 ของชาวเอเชียที่ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า พวกเขาเคยประสบการถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน หรือในฐานะผู้บริโภคในออสเตรเลีย เมื่อเทียบกับร้อยละ 81 ของผู้มีเชื้อสายชาวตะวันออกกลางที่รายงานว่าเคยประสบเรื่องนี้ ขณะที่ชาวออสเตรเลียที่มีเชื้อสายชาวพื้นเมืองร้อยละ 71 รายงานว่าเคยมีประสบการณ์เดียวกัน

ร้านค้าและร้านอาหารเป็นสถานที่พบการเลือกปฏิบัติได้มากที่สุด
การสำรวจดังกล่าวจัดทำขึ้น สำหรับการประชุมสุดยอดด้านความเป็นผู้นำของชาวเอเชีย-ออสเตรเลีย ซึ่งมีขึ้นเพื่ออภิปรายกันว่าเหตุใดชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชีย จึงมีจำนวนคิดเป็นอัตราส่วนไม่มากนักในหมู่ผู้ที่ได้ดำรงตำแหน่งอาวุโสในบริษัทและในองค์กรชุมชนต่างๆ

นายเจห์-ยุง โล นักวิจัยของมหาวิทยาลัยออสเตรเลียน เนชันแนล ยูนิเวอร์ซิตี ซึ่งช่วยดำเนินการจัดการประชุมสุดยอดครั้งนี้ กล่าวว่า การสำรวจเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงปรากฎการณ์ที่เรียกกันว่า เพดานไม้ไผ่ หรือแบมบู ซีลิง (Bamboo Ceiling) ที่จำกัดศักยภาพที่อาจเป็นไปได้ของชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชีย

“การสำรวจนี้ส่งสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่าที่ทำงานต่างๆ และผู้นำอาวุโสจำเป็นต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพราะชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชียมีจำนวนราวร้อยละ 12 ของประชากรและกำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้ชัดว่าประเด็นนี้จะยังไม่หายไปไหน” นายโล กล่าว

ขณะที่คำว่าเพดานแก้ว หรือกลาส ซีลิง (Glass Ceiling) เป็นคำศัพท์ที่มักใช้อธิบายถึงการเลือกปฏิบัติที่เกิดจากความเป็นหญิงหรือชายในที่ทำงาน ขณะนี้กำลังมีความตระหนักมากขึ้นถึงสิ่งที่เรียกกันว่า เพดานไม้ไผ่ หรือแบมบู ซีลิง (Bamboo Ceiling) แม้บางคนจะคิดว่าคำศัพท์ที่ใช้นี้นั้นแคบเกินไป เพราะคำว่าไม้ไผ่ มักถูกมองว่าส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับประเทศจีน

ชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชียมีจำนวนร้อยละ 12 ของประชากรออสเตรเลีย แต่ในหมู่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำอาวุโสของบริษัท มหาวิทยาลัย และองค์กรชุมชนต่างๆ นั้น มีเพียงร้อยละ 3.1 ที่เป็นชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชีย

นายโล กล่าวว่า น่าวิตกที่ครึ่งหนึ่งของผู้ที่เคยมีประสบการณ์ถูกเลือกปฏิบัติรายงานว่า พวกเขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองอันเป็นผลจากการถูกเลือกปฏิบัติ โดยพยายามพูดจาอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาน้อยลงในที่ทำงาน

นายโล หวังว่า การสำรวจนี้จะนำไปสู่การอภิปรายพูดคุยกันเกี่ยวกับโควต้าด้านความหลากหลาย การฝึกอบรมและโครงการพี่เลี้ยงในที่ทำงานที่ดีขึ้น และมีการคิดใหม่เกี่ยวกับความคิดความเข้าใจของเราด้านความเป็นผู้นำ

“สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อคือ ที่ทำงานและผู้นำต่างๆ ในออสเตรเลียควรเปลี่ยนแปลงแนวคิดด้านภาพลักษณ์ของผู้นำ เพราะความเป็นผู้นำมาในรูปแบบที่ต่างกัน และเราไม่ควรบ่งชี้ความเป็นผู้นำตามบรรทัดฐานของชาวออสซี หรือชาวตะวันตกเท่านั้น” นายโล นักวิจัยของมหาวิทยาลัยออสเตรเลียน เนชันแนล ยูนิเวอร์ซิตี ระบุ

“สำหรับชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชียจำนวนมากแล้ว มันเกี่ยวกับการทำงานอยู่เบื้องหลัง ก้มหน้าก้มตาทำงาน ไม่พยายามดึงความสนใจมาหาตัว และความจริงแล้วอาศัยการทำงานหนักและคุณความดีของพวกเราว่าจะทำให้เราได้รับการมองเห็นคุณค่า”

ขณะที่ชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชียจำนวนมากต้องดิ้นรนฝ่าฝันเพื่อจะให้ได้รับการมองเห็นหรือสังเกตเห็นในที่ทำงาน นายโลกล่าวว่า ยิ่งไม่ได้ช่วยเลยเมื่อชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชียที่เป็นบุคคลที่เป็นที่รู้จักในสังคมได้รับความสนใจจากเหตุผลผิดๆ

เขากล่าวถึงนางกลาดิส ลิว นักการเมืองสหพันธรัฐ ที่ถูกตำหนิที่กลับคำเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเธอกับองค์กรโฆษณาชวนเชื่อของจีน

“สำหรับชุมชนอย่างชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชีย ที่ให้คุณค่ากับคุณงามความดีว่าเป็นรูปแบบของความสำเร็จ กลาดิส ลิว ยิ่งชี้ให้เห็นสิ่งตรงข้าม” นายโล กล่าว

“มันยากมากสำหรับพวกเราที่จะผลักดันให้มีความหลากหลายมากขึ้น เมื่อผู้นำของเราเอง ซึ่งอยู่ที่จุดนั้นอยู่แล้ว กลับไม่ลุกขึ้นสู้”

Source: SBS News

You can read the full article in English on SBS News page

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 24 September 2019 12:58pm
Updated 24 September 2019 1:18pm
By Rosemary Bolger
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand