ระวังสแกมเมอร์อ้างเชื้อโคโรนาหลอกเงิน

ชั้นวางของที่ว่างเปล่าในซุปเปอร์มาร์เก็ต ทำให้ชาวออสเตรเลียต้องหันไปซื้อสินค้าออนไลน์ โดยหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของออสเตรเลีย ขอให้ประชาชนระวังการหลอกลวงที่เอาเชื้อไวรัสโคโรนามาอ้าง

An advertising board showing a government notice about coronavirus in Sydney, Monday, March 16, 2020. (AAP Image/James Gourley) NO ARCHIVING

An advertising board showing a government notice about coronavirus in Sydney, Monday, March 16, 2020 Source: AAP

หน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของออสเตรเลีย ขอให้ประชาชนระวังการหลอกลวง หลังได้รับรายงานเข้ามาหลายสิบกรณีเกี่ยวกับการเอาเชื้อไวรัสโคโรนามาอ้าง

เว็บไซต์ สแกมวอตช์ (Scamwatch ที่รับแจ้งเรื่องหลอกลวง) ของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าและผู้บริโภคออสเตรเลีย (Australian Competition and Consumer Commission หรือ ACCC) ได้รับแจ้งถึง 45 รายงาน ที่กล่าวอ้างว่ามีการฉ้อโกง โดยอ้างเรื่องราวเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2020

“น่าเศร้าที่ เหล่าสแกมเมอร์ (scammer) ใช้การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนามาหาผลประโยชน์และเล่นกับความรู้สึกกลัวของผู้บริโภคทั่วประเทศออสเตรเลีย” โฆษก ACCC กล่าว

“เหล่าสแกมเมอร์ใช้กลยุทธ์ต่างๆ ในการหลอกลวง เช่น การหลอกขายของที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสโคโรนาผ่านทางช่องทางออนไลน์ และใช้อีเมลปลอม หรือข้อความทางโทรศัพท์มือถือ เพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัวของบุคคลนั้นมา”
ในบรรดาการหลอกลวงที่มีรายงานเข้ามานั้น เป็นอีเมล์แอบอ้างการเรี่ยไรเงินบริจาคให้กับองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นโฆษณาของเว็บไซต์ขายของออนไลน์ที่อ้างตัวขายหน้ากากอนามัยราคาแพง และบรรดาข้อความทางโทรศัพท์มือถือที่แอบอ้างเป็นรัฐบาลออสเตรเลียแนะนำการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด 19 โดยวัตถุประสงค์แฝงเพื่อขโมยข้อมูลธนาคาร

โดยเว็บไซต์ที่เพิ่งถูกปิดไปล่าสุด อ้างว่าจะขายวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโคโรนา

ขณะที่ร้านค้าต่างๆ ในออสเตรเลียต้องพบกับปัญหาการขาดแคลนสินค้าหลายชนิด นั่นทำให้ประชาชนบางรายตัดสินใจซื้อสินค้าที่หมดไปจากหน้าร้าน ผ่านทางอินเตอร์เน็ต

โดย ACCC ขอให้ประชาชนใช้ความระมัดระวัง และบอกว่าหนทางที่ดีที่สุดที่จะตรวจสอบผู้ขายสินค้าตัวปลอมหรือเว็บไซต์ที่หลอกขายสินค้า คือการค้นหาการบอกเล่าประสบการณ์ของผู้บริโภคที่เคยใช้สินค้า หรือ รีวิว (reviews) ทางอินเตอร์เน็ตก่อนทำการสั่งซื้อ

“ให้ใช้ความระมัดระวังเมื่อเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ขอให้คุณชำระเงินผ่านทางช่องทางที่ไม่ปกติ เช่น การชำระเงินล่วงหน้าผ่านตั๋วเงินสด ผ่านการโอนเงินเข้าบัญชี การโอนเงินระหว่างประเทศ บัตรเติมเงิน หรือการจ่ายเงินผ่านสกุลเงินออนไลน์ อย่าง บิทคอยน์” โฆษก ACCC กล่าว

จากรายงานที่เกี่ยวข้องกันของ ACCC พบว่าชาวออสเตรเลียที่อายุต่ำกว่า 25 ปี สูญเงินกว่า 5 ล้านเหรียญให้กับการหลอกลวงในปี 2019 และรายงานที่ร้องเรียนเข้ามาจากกลุ่มคนในช่วงอายุดังกล่าวยังเพิ่มมากขึ้นเร็วกว่ากลุ่มผู้ที่อายุสูงกว่านั้นอีกด้วย

เฟซบุ๊กและอินสตาแกรม คือแพลตฟอร์มที่มีผู้คนรายงานและความเสียหายเข้ามามากที่สุด แต่องค์การกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า คาดว่าจะได้เห็นการหลอกลวงมากขึ้นบนแพลตฟอร์มใหม่ๆ อย่างสแนปแชท (Snapchat) หรือ ติ๊กต๊อก (TikTok)

สำหรับใครที่คิดว่าอาจจะตกเป็นเหยื่อของนักต้มตุ๋นหลอกลวง แนะนำให้ติดต่อกับสถาบันการเงินที่ใช้งาน และยังสามารถรายงานเข้ามาได้ที่เว็บไซต์ สแกมวอตช์ (Scamwatch) ของ ACCC

ถ้าคุณคิดว่าอาจจะติดเชื้อไวรัสโคโรนา อย่าเพิ่งไปหาหมอ แต่ให้โทรปรึกษาก่อน หรือติดต่อ National Coronavirus Health Information Hotline ที่เบอร์ 1800 020 080

ถ้ารู้สึกว่าหายใจลำบากหรือต้องการความความช่วยเหลือฉุกเฉิน โทร 000




Share
Published 19 March 2020 3:09pm
Updated 19 March 2020 4:19pm
By Evan Young
Presented by Narissara Kaewvilai


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand