เรียกร้องยกเกณฑ์ภาษาอังกฤษในการรับนักเรียนนานาชาติให้สูงขึ้น

NEWS: นักเรียนนานาชาติซึ่งสนใจศึกษาที่มหาวิทยาลัยของออสเตรเลียอาจเผชิญเกณฑ์การรับเข้าด้านภาษาอังกฤษที่สูงขึ้น หลังมีแรงผลักดันเรื่องดังกล่าวโดยมุขมนตรีรัฐวิกตอเรีย นายแดเนียล แอนดรูวส์

Image of graduates throwing hats

ป้จจุบันรัฐบาลจะออกวีซ่านักเรียนให้ได้ตั้งแต่คะแนน 4.5 ถ้าหากว่านักเรียนนั้นลงทะเบียนหลักสูตรเรียนภาษาอังกฤษเข้มข้น 20 สัปดาห์ Source: REUTERS/Vasily Fedosenko

You can read the full version of this story in English on SBS News .

มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลสหพันธรัฐพิจารณาเกณฑ์ภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยต่างๆ เนื่องจากความวิตกกังวลที่ว่านักเรียนนานาชาตินั้นตามไม่ทันเพื่อน

มุขมนตรีรัฐวิกตอเรีย นายแดเนียล แอนดรูวส์ ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรถึงสหภาพการศึกษาระดับตติยภูมิแห่งชาติ (National Tertiary Education Union, NTEU) สาขารัฐวิกตอเรีย ว่าเขาจะกระตุ้นให้รัฐบาลของนายมอร์ริสันดำเนินการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

ภายใต้เกณฑ์ปัจจุบัน ผู้ที่ต้องการถือวีซ่านักเรียนจำเป็นจะต้องได้คะแนนอย่างน้อย 5.5 จากเก้า ในการสอบไอเอลส์ (International English Language Testing System)

มหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งกำหนดให้นักเรียนจะต้องมีคะแนนอยู่ระหว่างหกถึงเจ็ด แต่รัฐบาลจะออกวีซ่านักเรียนให้ได้ตั้งแต่คะแนน 4.5 - ซึ่งจัดว่าเป็นความรู้เข้าใจภาษาอังกฤษที่จำกัด หรือขั้นต่ำ - ถ้าหากว่านักเรียนนั้นลงทะเบียนหลักสูตรเรียนภาษาอังกฤษอย่างเข้มข้น 20 สัปดาห์

ซึ่งนักเรียนก็จำเป็นจะต้องผ่านหลักสูตรดังกล่าว แต่ก็ไม่จำเห็นที่จะต้องทำการสอบภาษาอังกฤษอีกครั้ง

รักษาการรัฐมนตรีการศึกษาระดับสูงรัฐวิกตอเรีย นายเจมส์ เมอร์ลิโน เผยแพร่แถลงการณ์ซึ่งกล่าวว่า (ทักษะภาษาอังกฤษที่ไม่เพียงพอ) จะบั่นทอนความสามารถในการเรียนที่ประเทศออสเตรเลียของนักเรียนนานาชาติ

“นักเรียนนานาชาตินั้นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบการศึกษารัฐวิกตอเรีย แต่มันน่าเป็นห่วงที่นักเรียนบางคนลงทะเบียนเรียนหลักสูตรต่างๆ โดยไม่มีทักษะภาษาอังกฤษเพียงพอที่จะเรียนได้จนจบ” เขากล่าว

“เรื่องนี้ไม่ยุติธรรมต่อทั้งนักเรียนเองและพนักงานผู้ฝึกสอน จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราพิจารณาเพื่อเสนอเรื่องนี้ขึ้นไปยังระดับสหพันธรัฐ”
Tertiary students at the University of Melbourne in Melbourne
International students at Melbourne University in Melbourne Source: AAP
แต่รัฐมนตรีการศึกษาของสหพันธรัฐก็ได้ออกแถลงการณ์เป็นลายลักษณ์อักษรฉบับของเขาเอง

โดยในแถลงการณ์ เขากล่าวว่า มันเป็นความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยในการพยายามเพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนของพวกเขานั้นมีทักษะทางภาษาที่เพียงพอ

“คุณสามารถตัดสินคุณภาพของภาคส่วนดังกล่าวของประเทศออสเตรเลียได้จากจำนวนนักเรียนนานาชาติที่เราดึงดูดมาได้ โดยศูนย์สำหรับการศึกษาต่อระดับสูงที่ประเทศอังกฤษได้พยากรณ์ว่าออสเตรเลียจะก้าวกระโดด แซงสหราชอาณาจักรขึ้นไปเป็นที่หมายยอดนิยมอันดับสองของโลกสำหรับนักเรียนนานาชาติในปีนี้” เขากล่าว

“มหาวิทยาลัยมีความรับผิดชอบในการพยายามให้แน่ใจว่านักเรียนที่ลงทะเบียนกับพวกเขานั้นมีทักษะทางภาษา(เพียงพอ)ที่จะมีส่วนร่วมต่อการศึกษาได้อย่างเต็มที่ และผ่านเกณฑ์มาตรฐานของ Higher Education Standards Framework 2015”

ประธานระดับชาติของงสหภาพการศึกษาระดับตติยภูมิแห่งชาติ ดร. อลิสัน บาร์นส์ กล่าวว่า การตัดเงินทุนช่วยเหลือโดยรัฐบาลสหพันธรัฐต่อภาคส่วนมหาวิทยาลัยนั้นไม่ได้ช่วยสถานการณ์ดังกล่าว โดยมีพนักงานจำนวนน้อยลงที่จะให้ความช่วยเหลือกับนักเรียน

แต่เธอก็เห็นด้วยว่าความรับผิดชอบนั้นเป็นของมหาวิทยาลัย

“มหาวิทยาลัยของออสเตรเลียนั้นบริหารงานด้วยตัวเอง โดยเป็นสถาบันซึ่งรับรองคุณภาพตัวเอง และพวกเขาก็มีความรับผิดชอบต่อการตั้งมาตรฐานต่างๆ ของพวกเขาเอง” เธอกล่าว “ดังนั้น เราขอเรียกร้องต่อมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้ดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบในเรื่องการรับนักเรียนเพื่อลงทะเบียน”
แต่ผู้บริหารสูงสุดของ สมาคมการศึกษานานาชาติแห่งออสเตรเลีย (International Education Association of Australia) นายฟิล ฮันนีย์วูด กล่าวว่า มหาวิทยาลัยต่างๆ นั้นได้ตั้งมาตรฐานภาษาอังกฤษไว้สูงอยู่แล้วสำหรับนักเรียนนานาชาติ

“ออสเตรเลียมีเกณฑ์ภาษาอังกฤษเพื่อการรับเข้าเรียนที่เข้าข่ายเคร่งครัดที่สุดในโลกสำหรับการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา” เขากล่าว

“กฎเกณฑ์ต่างๆ ของเราซึ่งเคร่งครัดในเรื่องนี้เป็นที่อิจฉาของหลายๆ ประเทศเช่น แคนาดา นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร ซึ่งพวกเราแข่งขันด้วยโดยตรง”

สภานักเรียนนานาชาติแห่งออสเตรเลีย (The Council of International Students Australia) กล่าวว่า ยินดีต่อการพิจารณาระดับภาษาอังกฤษในการรับเข้าศึกษาสำหรับวีซ่านักเรียน

แต่โฆษกของสภาฯ นายแมนเฟร็ด มเล็ตซิน กล่าวว่ามหาวิทยาลัยก็จำเป็นจะต้องมีบทบาท

“พวกเขาจำเป็นต้องทำงานร่วมกันในเรื่องนี้อย่างแน่นอน” เขากล่าว “มันไม่ใช่แต่เพียงทางมหาวิทยาลัยหรือทางรัฐบาล เพราะมันชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยนั้นพยายามมองหานักเรียนเพิ่มเติม แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็จำเป็นจะต้องรักษาคุณภาพการศึกษาให้อยู่ในระดับที่สูง”

“เช่นเดียวกันกับรัฐบาล ซึ่งก็ชัดเจนว่ารัฐบาลนั้นต้องการบัณฑิตที่ประสบความสำเร็จ”
international students
มีการโต้แย้งว่ามหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคของออสเตรเลียนั้นยังไม่พร้อมที่จะรับนักเรียนนานาชาติเป็นจำนวนมาก (Source: AAP) Source: AAP
นายมเล็ตซินขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ที่นครดาร์วิน หลังย้ายมาจากประเทศเอสโตเนีย

เขาเติบโตขึ้นมาโดยเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนประถมฯ และมัธยมฯ เขาจึงกล่าวว่า ทักษะทางภาษาของเขาไม่ได้เป็นตัวถ่วงต่อการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของเขา

แต่เขาก็กล่าวว่า สำหรับนักเรียนนานาชาติซึ่งไม่เก่งภาษาอังกฤษ เรื่องนี้ก็อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของพวกเขา

“มีนักเรียนจำนวนหนึ่งซึ่งประสบความทุกข์ยากจากภาวะวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และถึงผมนั้นไม่ใช่นักจิตวิทยา แต่ผมรู้สึกได้เมื่ออยู่ท่ามกลางนักเรียนเหล่านั้น” เขากล่าว

“และยังมีปัญหาเมื่อนักเรียนประสบความยากลำบากในชั้นเรียนหรือเมื่อมีส่วนร่วมในการทำงานกลุ่ม และหลายๆ คนก็ประสบกับความยากลำบากในการทำงานที่ได้รับมอบหมาย บ่อยครั้งก็ทำหนักเป็นสองเท่าของที่ควร”

นายฟิล ฮันนีย์วูด จากสมาคมการศึกษานานาชาติแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า ตัวของนักเรียนนานาชาติเองนั้นก็มีบทบาท

“พวกเขามักจะทำผิดพลาดด้วยการพักอาศัยร่วมกับนักเรียนชาติเดียวกัน และดังนั้นก็พูดภาษาเดียวกันซึ่งไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ในบ้านที่แชร์กัน” เขากล่าว

“ดังนั้นมันก็มีองค์ประกอบด้านความรับผิดชอบส่วนบุคคลด้วย โดยทางสถาบันผู้ให้การศึกษานั้นมีความรับผิดชอบเป็นหลัก ในเรื่องของการพยายามให้แน่ใจว่านักเรียนของพวกเขานั้นมีมาตรฐานตามที่ออสเตรเลียได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด”

ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 24 January 2019 1:20pm
Updated 24 January 2019 1:23pm
By Tara Cosoleto
Presented by Tanu Attajarusit
Source: SBS News, AAP, Reuters


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand