วิกฤติโคโรนาดันยอดขายออนไลน์ร้านอาหารไทยพุ่งพรวด

ในขณะที่นักท่องเที่ยวถูกจำกัดการเดินทางเข้าประเทศออสเตรเลีย และคนท้องถิ่นเองก็ไม่อยากออกไปทานอาหารนอกบ้านมากนัก บรรดาผู้ประกอบการร้านอาหารไทยต่างพากันปรับกลยุทธ์การขายไปที่ระบบการสั่งอาหารออนไลน์มากขึ้น

พนักงานส่งอาหารเดลิเวอรู

Source: AAP

วิกฤตการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาที่ดำเนินมาตั้งแต่ต้นปี ส่งผลกระทบไปยังหลายธุรกิจ รวมไปถึงธุรกิจร้านอาหารไทย ที่ลูกค้าหายไปเป็นจำนวนมาก ทำให้หลายร้านต้องปรับมาตรการเพื่อดึงความมั่นใจให้กับลูกค้าทั้งเรื่องความสะอาดและรวมไปถึงการดูแลสุขภาพของพนักงานเองด้วย นอกจากนี้หลายร้านยังปรับกลยุทธ์การขายไปเน้นที่ระบบการสั่งอาหารออนไลน์ ที่กำลังจะกลายมาเป็นแหล่งรายได้สำคัญในช่วงนี้
คุณดาเรศ กรายแก้ว หรือที่รู้จักกันในนามคุณเดียร์ เป็นเจ้าของร้านอาหาร ณ บางกอก ที่นครซิดนีย์ โดยเธอบอกว่าผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด 19 นั้นมีผลกระทบทุกธุรกิจ บรรยากาศโดยรวมในย่านไทยทาวน์ของนครซิดนีย์นั้นเงียบลงมาก ส่วนร้านอาหารของเธอเองก็ได้รับผลกระทบบ้าง

“ผลกระทบมีค่ะ ไม่ใช่ไม่มี คือลูกค้าเนี่ยมาน้อยลง แต่สิ่งที่เห็นมากขึ้นคือออเดอร์ที่มาทางโทรศัพท์เป็นเดลิเวอรีมากขึ้น ลูกค้าที่เข้ามานั่งทานในร้านเนี่ยตกลงแน่นอนอยู่แล้วเพราะว่าคนอาจจะมีความตื่นกลัวเรื่องที่จะออกมาข้างนอกหรือว่ามาใช้ที่สาธารณะ แต่ว่ายอดในการสั่ง Uber eats หรือว่ายอดในการสั่งเดลิเวอรีเนี่ยเพิ่มขึ้นเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์”

“โดยส่วนตัวแล้วเนี่ยนะคะ คือบรรยากาศโดยรวมของไทยทาวน์หรือไชนาทาวน์เนี่ยจะเงียบ จะดูแล้วแบบ ความคึกคักหายไปค่อนข้างเงียบไปเยอะเลยน่ะค่ะ”

เช่นเดียวกันกับ คุณไอซ์ ผู้จัดการและหุ้นส่วน ร้านอาหารกินไทย ที่นครบริสเบน บอกกับเอสบีเอสไทยว่า ตั้งแต่มีเรื่องเชื่อไวรัสโคโรนาเกิดขึ้นมาทำให้ยอดขายหายไปถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ในทางกลับกันยอดขายออนไลน์กลับเพิ่มมากขึ้น

“ทุกวันนี้เงียบมากๆ เลยครับ แทบจะไม่ค่อยมีลูกค้า จากเดิมที่ลูกค้านี่แน่นทุกวันเลยครับ ตอนนี้แทบจะเหลือแค่ครึ่งร้านได้เลยครับ”

“ผมเชื่อว่าตอนนี้ลูกค้าส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ที่บ้านเป็นหลัก ไม่ค่อยได้ออกมาทาน ผมก็เลยอัพเซลส์เกี่ยวกับเรื่อง Uber eats ให้ส่วนลดโฮมเดลิเวอรีของแอปพลิเคชันต่างๆ เพราะว่าช่วงนี้ออเดอร์ออนไลน์จะค่อนข้างจะเยอะ แต่ลูกค้าที่ทานในร้านจะค่อนข้างจะน้อย เราก็เลยจะไปอัพเซลส์ในส่วนของพวกนั้นแทน”

ด้านคุณแน็ต ผู้จัดการร้าน Bangkok terrace, Nara Thai street food และ Isarn soul ที่นครเมลเบิร์น บอกว่าลูกค้าที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหายไปหมด

“คนตอนนี้ก็คือ ยอดออกมาทานข้าวนอกบ้านเค้าลดลงน่ะค่ะ เราก็ต้องเน้นไปที่เดลิเวอรีมากขึ้น ยอดการสั่งกลับบ้านและเดลิเวอรีจะเพิ่มมากขึ้น ถ้าร้านอาหารในเมืองก็จะกระทบนิดนึงเพราะส่วนมากลูกค้าจะเป็นนักท่องเที่ยวผสมแบบครึ่งๆ กับคนที่นี่น่ะค่ะ ตอนนี้ทางด้านนักท่องเที่ยวก็คือหายไปเลย”

คุณชยากร หรือคุณป๊อป หนึ่งในหุ้นส่วนของร้านอาหาร Abb Air ที่นครซิดนีย์ บอกว่าร้านของเขานั้นมีผลกระทบเพียง 10 – 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

“ต้องบอกว่าอาจจะโชคดีน่ะครับ ด้วยร้านที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่มันเป็นใจกลาง ทำให้ลูกค้าเข้ามาทานอาหารที่ร้านได้ง่าย แล้วอาหารที่เราขายก็เป็นอาหารที่ไม่แพง แล้วก็เป็นอาหารที่สามารถกินได้ทั้งวัน ทุกวันน่ะครับ”
Representative image of a chef in a restaurant.
Source: Pixabay
ทั้งนี้ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ร้านอาหารแต่ละร้านได้มีการปรับมาตรการในเรื่องของการรักษาความสะอาดและดูแลสุขภาพของพนักงานในร้านมากขึ้น

คุณพรทิวา กวีวัชรนนท์ ผู้จัดการร้านอาหารถนนข้าวสาร ที่นครซิดนีย์ บอกว่าในช่วงนี้ที่ร้านจะเน้นเรื่องความสะอาดเป็นหลัก

“เราก็จะมีเจลล้างมือให้น่ะค่ะ ตั้งแต่ก้าวเข้ามาน่ะค่ะ ตั้งไว้ที่หน้าร้านเลย เพื่อลูกค้าจะได้ใช้ แล้วออกจากร้านเราก็มีให้ใช้อีก แล้วในแง่ของการทำความสะอาดโต๊ะด้วยค่ะ เราก็ต้องทำความสะอาดถี่ขึ้น รวมทั้งเมนู โต๊ะ เก้าอี้ ห้องน้ำ เราก็มีการทำความสะอาดบ่อยขึ้น”

โดยคุณดาเรศ กรายแก้ว ร้านอาหาร ณ บางกอก บอกว่า ที่ร้านจะมีน้ำยาแอลกอฮอล์ตั้งใว้ตามจุดต่างๆ เช่นกัน เพื่อให้พนักงานใช้ทำความสะอาดได้อย่างสะดวก ส่วนพนักงานที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากเมืองไทย จะต้องมีระยะเวลาเฝ้าระวัง 14 วันก่อนกลับมาทำงาน

“ใครที่เดินทางไปเมืองไทยหรือไปที่อื่นมา เราก็จะยังไม่ให้เขากลับมาทำงาน ขอให้อยู่บ้านก่อน 14 วัน เพราะเราก็ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ด้วย เพราะลูกค้าให้ความไว้วางใจมาทานที่ร้าน เราก็ต้องดูแลในส่วนนี้ด้วยค่ะ”

ด้านคุณชยากร จากร้าน Abb Air บอกว่า ร้านอยู่ใน World Square Shopping Centre ซึ่งทางศูนย์การค้ามีมาตรการที่คอยควบคุมความปลอดภัยและความสะอาดของร้านต่างๆ ภายในศูนย์การค้าอยู่แล้ว แต่ทางร้านเองก็มีมาตรการอื่นๆ เพื่อเสริมความเชื่อมั่นให้ลูกค้าเช่นเดียวกัน

“พนักงานของเราก็จะมีการหมั่นล้างมือมากขึ้น รักษาสุขอนามัยในร้านมากขึ้น เรามีเจลก็เอามาวางไว้ข้างหน้าร้าน เพื่อที่ลูกค้าสามารถที่จะใช้ได้เต็มที่”

“ส่วนในการปรุงอาหารเนี่ย เรามีการตรวจสอบแล้วก็เช็คให้มากกว่าเดิม อย่างเช่น ในการเสิร์ฟอาหารลูกค้าอย่างเนี้ย เราก็ต้องมีทำความสะอาดให้มากขึ้น ในส่วนให้บริการลูกค้า ตำแหน่งที่มีการจับบ่อย อย่างเช่นตรงเมนูอย่างเนี้ย เราก็จะมีการทำความสะอาดให้มากขึ้น”

คุณไอซ์ ผู้จัดการและหุ้นส่วน ร้านอาหารกินไทย ที่นครบริสเบน บอกว่าที่ร้านก็เน้นเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยต่อตัวพนักงานเช่นกัน

“ตอนนี้หลังจากที่น้องกลับจากไทยทุกคนต้องกักตัว 14 วันก่อนที่จะเริ่มงาน เพื่อดูระยะการฟักตัวของไข้หวัด แล้วหลังจากผ่าน 14 วันเนี้ย คุณต้องไปหาหมอแล้วเอาใบรับรองการทำงานกลับมาให้ผม ถ้าคนไหนที่หมอยืนยันแล้วว่าไม่ติดเชื้อโรค หรือว่าไม่มีปัญหาอะไร ผมก็จะให้กลับเข้ามาทำงาน”

“ช่วงนี้ผมจะกำชับน้อง (พนักงาน) เสมอว่า อาจจะต้องใส่ถุงมือในการเก็บโต๊ะ เพื่อหลีกเลี่ยงลูกค้าบางคน สัมผัสทิชชู ว่าไอจามใส่ทิชชูแล้วเราสัมผัสทิชชูของเขา มันอาจจะทำให้เกิดการติดโรค”
คุณดาเรศ จากร้านอาหาร ณ บางกอก ยังทิ้งท้ายถึงรัฐบาลว่าอยากให้เข้ามาช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กบ้าง

“ภาคเอกชนที่เป็นธุรกิจขนาดเล็กเนี่ยค่อนข้างจะได้รับผลกระทบรุนแรงมาก ซึ่งถ้ารัฐไม่ช่วยเลยเนี่ย เราอยู่ยากจริงๆ แทบจะต้องบอกว่าบางคนอาจจะต้องม้วนเสื่อด้วยซ้ำปีนี้ เราก็คาดหวังจริงๆ ว่ารัฐบาลจะเข้ามาดูตรงนี้ โดยเฉพาะเรื่องภาษี ให้ลดหย่อนผ่อนให้เรา หรือว่าทำอย่างไรให้สถานการณ์มันทุเลาลงในด้านการเงินบ้าง เพราะไม่อย่างนั้นเราก็อยู่ยากน่ะค่ะ”

ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 18 March 2020 3:16pm
Updated 18 March 2020 3:18pm
By Narissara Kaewvilai

Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand