การเดินทางโดยเครื่องบินปลอดภัยแค่ไหน

มีการประมาณว่า ผู้โดยสารบนเครื่องบิน 70% นั้นกลัวการเดินทางบนเครื่องบิน คุณคิดว่าสมเหตุสมผลหรือไม่

การเดินทางโดยเครื่องบินนั้นปลอดภัยแค่ไหน

พนักงานบริการบนเครื่องบินกำลังทำการสาธิตขั้นตอนความปลอดภัย Source: LightRocket / Getty Images

มีรายงานอิสระจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเครื่องบินโดยสารสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบิน MH370 ที่มีการเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ไม่สามารถหาสาเหตุของการหายตัวไปได้ ผู้โดยสาร 239 ชีวิตถูกสรุปว่าเสียชีวิตทั้งหมด และยังคงเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญและสร้างปริศนามากที่สุดในประวัติศาสตร์การบินสมัยใหม่ นอกจากนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวยังนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความปลอดภัยทางการบิน

การบินนั้นปลอดภัยแค่ไหน

พูดกันในแง่ของข้อมูลเชิงสถิตินั้น การเดินทางโดยเครื่องบินโดยสารคือรูปแบบการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุด โดยข้อมูลสถิติของสหรัฐระบุว่า อัตราการเสียชีวิตบนเครื่องบินนั้นอยู่ที่ 1 ใน 205,552 หากเทียบกับอัตราการเสียชีวิตในแบบอื่น จะพบว่า มีผู้เสียชีวิตจากการขี่จักรยาน 1 ใน 4,050 การจมน้ำ 1 ใน 1,086 คน และอุบัติเหตุทางรถยนต์ 1 ใน 102 คน

นั้นเป็นเพราะว่า นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีการเดินทางโดยเครื่องบินในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาแล้ว ยังมีการออกกฏข้อบังคับการบินระหว่างประเทศอย่างระมัดระวังอีกด้วย
Plane on fire
Passengers evacuate from a plane on fire at Fort Lauderdale airport, Florida in 2015. Source: AFP
“ทั้งระบบนั้นถูกออกแบบมาให้คุณปลอดภัย” นางคริสติน เนโกรนี (Christine Negroni) นักเขียนและนักประพันธ์ทางการบินจากสหรัฐฯ กล่าวกับเอสบีเอสนิวส์

“เรารู้ว่าใครอยู่ในเครื่องบินทุกลำรอบตัวคุณ ใครเป็นผู้ควบคุมจราจรทางอากาศบนน่านฟ้า เครื่องบินต่างๆ ได้รับการดูแลอย่างไร คุณจะไม่พบสิ่งเหล่านี้ในรถยนต์ รถโดยสารประจำทาง หรือว่ารถไฟ” นางคริสตินกล่าวเสริม

อุบัติเหตุส่วนใหญ่ร้ายแรงหรือไม่

อุบัติเหตุทางเครื่องบินที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การบิน เกิดขึ้นในปี 1977 เมื่อเครื่องบินสองลำชนกันบนรันเวย์ในเกาะเทเนริเฟ (Tenerife) ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของหมู่เกาะคานารี (Carnary Islands) ของสเปน มีผู้โดยสารเสียชีวิต 583 คน

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ซึ่งเป็นตัวแทนของ 290 สายการบินทั่วโลก (คิดเป็น 82% ของการจราจรทางอากาศทั่วโลก) ระบุว่า ค่าเฉลี่ยของอุบัติเหตุทางการบินในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมาคือ 75 ครั้งต่อปี (เกือบ 11 ครั้งที่มีความสูญเสีย) ต่อการบินรายปี 37.3 ล้านเที่ยว ซึ่งประมาณได้ว่า ค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางอากาศ 315 คนในแต่ละปี แต่ในปี 2017 นั้น มีผู้เสียชีวิตเพียง 19 คน
IATA Accident Overview
Source: SBS News
นอกจากนี้ ข้อมูลสถิติดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่า บางสิ่งที่นางคริสตินกล่าวมาในข้างต้นนั้ได้รับการเข้าใจเพียงน้อยนิด นั่นคือ แม้คุณจะโชคร้ายพอที่จะประสบอุบัติเหตุทางอากาศ คุณก็มีโอกาสที่จะรอดชีวิต

“คณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติของสหรัฐฯ ระบุตัวเลขออกมาว่า 95% ของอุบัติเหตุทางอากาศนั้นมีผู้รอดชีวิต ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่หลายคนพูดกัน” นางคริสตินกล่าว

สายการบินไหนปลอดภัยที่สุด

นายเจฟฟรีย์ โทมัส (Geoffrey Thomas) นักข่าวด้านการบินจากรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ได้พัฒนาระบบจัดลำดับแบบเจ็ดดาว เพื่อให้คะแนนสายการบินที่ปลอดภัยที่สุดในโลกบนเว็บไซต์ AirlineRatings.com สำหรับนักเดินทางจากออสเตรเลียนั้น เมื่อได้เห็นลำดับสายการบินที่ปลอดภัยอันดับโลกแล้วน่าจะรู้สึกยินดี เพราะสายการบินควอนตัส (Qantas) และเวอร์จินออสเตรเลีย (Virgin Australia) คือสายการบินออสเตรเลียที่ติดอันดับ 1 ใน 20 ในปี 2018
SBS News
Source: SBS News
ระบบการให้คะแนนสายการบินของนายโทมัสนั้น มีพื้นฐานจากการตรวจสอบความปลอดภัยในการจัดการและควบคุมอากาศยานของสายการบินต่างๆ ของ IATA (IOSA) ที่จะมีขึ้นปีละ 2 ครั้ง สายการบินที่ผ่านการตรวจสอบดังกล่าวจะได้รับคะแนน 3 ดาวโดยอัตโนมัติ

“ความปลอดภัยในการบินนั้นได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างมากเพราะระบบการตรวจสอบนี้” นายโทมัสกล่าว

“ในทุกปี มีผู้เดินทางโดยเครื่องบิน 4 พันล้านคน โดยตัวเลขความสูญเสียนั้นลดน้อยลงไปมาก ถ้าคุณเดินทางโดยเครื่องบินในประเทศอย่างสหรัฐฯ ทวีปยุโรป หรือในออสเตรเลีย โอกาสที่คุณจะประสบอุบัติเหตุบนเครื่องบินพาณิชย์นั้นแทบจะเป็นศูนย์” นายโทมัสกล่าวเสริม

นอกจากนี้ การจัดคะแนนบนเว็บไซต์ดังกล่าวยังได้นับรวมถึงเรื่องกฎหมายและข้อบังคับเรื่องความปลอดภัยในแต่ละประเทศด้วย (เช่น ระบบนำร่อง และคุณภาพของกฎข้อบังคับต่างๆ) รวมถึงสายการบินที่ติดแบล็กลิสต์ของสหภาพยุโรป และอัตราการเกิดอุบัติเหตุของสายการบินต่างๆ (ซึ่งไม่รวมการก่อการร้ายและการฆ่าตัวตายหมู่)

“การบินถูกปกคลุมไปด้วยปริศนา ความมหัศจรรย์ในการบินกลับกลายเป็นความลึกลับ สายการบินลุฟท์ฮันซาได้ประมาณว่า 70% ของผู้ที่ขึ้นเครื่องบินมีความกลัวการบินอยู่ในระดับหนึ่ง ส่วนอีก 30% นั้นมีความกลัวในระดับรุนแรง และเหตุผลอันดับแรกของการจองตั๋วกับสายการบินนั้นคือเรื่องความปลอดภัย” นายโทมัสกล่าวเสริม
SBS News
Source: SBS News
ทั้งนี้ บางภูมิภาคของโลกก็มีความปลอดภัยทางการบินมากกว่าภูมิภาคอื่นเช่นกัน โดยสถิติของ IATA ได้แสดงให้เห็นว่า อุบัติเหตุทางอากาศที่มีความรุนแรงมักจะเกิดขึ้นมากในทวีปแอฟริกา และในเครือรัฐเอกราช (หรือสหภาพโซเวียตในอดีต)

อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินตก

ดร. รอน บาร์ช (Dr Ron Bartsch) ประธานบริหาร AV Law ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยทางการบินในนครซิดนีย์ระบุว่า 85-90% ของอุบัติเหตุทางการบินที่เกิดขึ้นนั้น มาจากความผิดพลาดโดยมนุษย์ (human error)

“อุบัติเหตุโดยส่วนใหญ่มีปัจจัยที่มาจากมนุษย์” ดร.บาร์ช กล่าว

“การบินบนเครื่องบินในปัจจุบันมีความปลอดภัยมากถึง 680 เท่า หากเทียบกับเครื่องบินในบุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้อได้เปรียบเกือบทั้งหมดที่พัฒนามาจนถึงกลางช่วงปี 1990 นั้น คือการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ทั้งเครื่องยนต์เจ็ทมีความไว้ใจได้ การพัฒนาเรดาร์ ระบบต่อต้านการปะทะ (anti-collision) ระบบแจ้งเตือนเมื่อเครื่องบินอยู่ห่างจากพื้นในระยะอันตราย (ground proximity warning system) ระบบการจำลองการบินที่ทันสมัย ทั้งหมดนี้นำไปสู่การลดจำนวนอุบัติเหตุที่น่าเหลือเชื่อ ” ดร.บาร์ช กล่าวเสริม

ด้านนนางเนโกรนีระบุว่า ในความจริงแล้ว มันจะเป็นการเหมาะสมกว่าที่จะหาปัจจัยร่วม มากกว่าสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางอากาศ

“ไม่มีอุบัติเหตุใดเกิดขึ้นด้วยสาเหตุเดียว ในโลกของความปลอดภัยทางอากาศ เราจะพูดเสมอว่าอุบัติเหตุนั้นเป็นผลมาจากลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ขาดตอน ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งขาดไปอุบัติเหตุก็จะไม่เกิดขึ้น” นางเนโกรนีระบุ

เหตุการณ์เที่ยวบิน MH370 จะซ้ำรอยอีกหรือไม่

เครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 777 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลนส์ เที่ยวบินที่ MH370 ได้หายไปในเดือนมีนาคม 2014 ขณะกำลังมุ่งหน้าจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียไปยังปลายทางในกรุงปักกิ่งของประเทศจีน

ลูกเรือบนเครื่องบินลำดังกล่าวได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินเป็นครั้งสุดท้าย  40 นาทีหลังจากที่เครื่องบินทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า จากนั้นก็ถูกติดตามโดยเรดาร์ของทหารเป็นเวลาราว 1 ชั่วโมง ก่อนที่เครื่องบินจะเบนออกนอกเส้นทางไปทางทิศตะวันตก และหายไปจากจอเรดาร์ ผู้โดยสารบนเครื่องทั้งหมด 239 ชีวิตถูกสรุปว่าเสียชีวิตทั้งหมด ใช้งบประมาณในภารกิจค้นหาและกู้ซากที่ไม่สำเร็จนับ $10 ล้านดอลลาร์

รายงานอิสระจากมาเลเซียถึงเหตุการณ์ดังกล่าวระบุว่า “ไม่สามารถหาเหตุผลของการหายตัวไปได้” แต่ นายก๊ก ซู ชอน หัวหน้าการสืบสวนระบุว่า “เราไม่มีความเห็นว่าเรื่องดังกล่าวดำเนินการโดยตัวนักบินเอง” แต่ในขณะที่หลายบทวิเคราะห์ รวมถึงความเห็นของนายโทมัสเชื่อว่า มีความเป็นไปได้มากว่าเป็นการฆ่าตัวตายของกัปตัน

“(ในกรณีเที่ยวบิน MH370) เราสงสัยอย่างมากว่าจะเป็นการฆ่าตัวตายของกัปตัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา มันน่าสลดยิ่ง จากตัวเลขของเที่ยวบินทั้งหมดทั่วโลก พบว่ามีประมาณ 13 ครั้งในรอบ 50 ปี มันเป็นเรื่องที่เกือบจะบันทึกไว้ไม่ได้เลย” นายโทมัสกล่าว

“แต่ไม่มีใครรู้เลยว่าจริงๆ แล้วมันเกิดอะไรขึ้น” นายโทมัสกล่าวเสริม

ด้านนางเนโกรนีระบุว่า มันยังมีคำอธิบายอื่นๆ ซึ่งเธอเขียนรายละเอียดไว้ในหนังสือ Crash Detective เมื่อปี 2016 โดยเรื่องที่น่าสงสัยนั้น มีการพูดถึงการที่เครื่องบินอาจเผชิญกับสภาวะสูญเสียแรงดันอากาศ ทำให้กัปตันอยู่ในภาวะขาดออกซิเจน (hypoxia) ซึ่งทำให้ทักษะและการตัดสินใจในการควบคุมเครื่องบินลดลง โดยเธอแย้งว่าการตัดสินใจเลี้ยวออกนอกเส้นทางเป็นการกระทำแบบไม่มีตรรกะ

ที่น่ากลัวไปกว่านั้น จากการศึกษาโดยคณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งของออสเตรเลีย ได้มีการบันทึกอุบัติเหตุทางอากาศที่มีการสูญเสียแรงดันอากาศไว้ถึง 500 เหตุการณ์บนเครื่องบินพาณิชย์ในรอบ 30 ปี

นอกจากนี้ นางเนโกรนียังระบุว่า ตำแหน่งของห้องครัวบนเครื่องบินที่อยู่เหนือแหล่งควบคุมระบบไฟฟ้า ซึ่งในเครื่องบินลำอื่นเคยเกิดเหตุการณ์ของเหลวรั่วไหลลงไปในห้องควบคุมระบบไฟฟ้าที่อยู่ด้านล่าง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุได้เช่นกัน อย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับสายการบินควอนตัสเมื่อปี 2008 ในเที่ยวบินลอนดอน-กรุงเทพฯ ซึ่งกัปตันสามารถนำเครื่องลงจอดอย่างปลอดภัยโดยไม่มีระบบไฟฟ้า

สายการบินได้รับการกำชับว่า ต้องติดตามเครื่องบินของตนเองอย่างใกล้ชิดเมื่อทำการบิน แต่นางเนโกรนีระบุว่า พนักงานดูแลความปลอดภัยของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ ได้เตือนไปยังฝ่ายบริหารของสายการบิน 7 เดือนก่อนที่เที่ยวบิน MH370 จะหายไปว่า ระบบของพวกเขาสามารถติดตามเครื่องบินที่กำลังทำการบินได้ทุกๆ 30 นาทีเท่านั้น โดยนางเนโกรนีเสริมว่า การทำให้มั่นใจว่าระบบติดตามการบินของสายการบินเป็นไปตามข้อบังคับ  ป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้แน่ใจว่าเรื่องแบบนี้ไม่เกิดขึ้นอีก

ส่วนนายโทมัสระบุว่า การเปลี่ยนแปลงคำสั่งให้มีการติดตามเที่ยวบินให้บ่อยครั้งขึ้นได้มีการประกาศใช้ไปทั่วโลก


Share
Published 1 August 2018 3:25pm
Updated 1 August 2018 3:35pm
By Kelsey Munro
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS World News


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand