อนาคตไกลกับงาน จนท.ล้างเครื่องมือแพทย์

คุณหน่อง คนไทยในซิดนีย์แนะนำงานเจ้าหน้าที่ล้างเครื่องมือแพทย์ ที่เป็นที่ต้องการ เปิดโอกาสให้ก้าวไปได้หลายสาขา และวัดกันด้วยความสามารถเฉพาะตัวล้วนๆ

คุณหน่อง Sterilisation Technologist ที่ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ล้างเครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาลในซิดนีย์มานาน 8 ปี

คุณหน่อง Sterilisation Technologist ที่ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ล้างเครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาลในซิดนีย์มานาน 8 ปี Source: SBS Thai/ Khun Nong Sydney

คุณหน่อง ทำงานในตำแหน่ง สเตอริไลเซชัน เทคโนโลจิสต์ (Sterilisation Technologist) ซึ่งทำหน้าที่ล้างเครื่องมือแพทย์ของโรงพยาบาลเซนต์ วินเซนส์ ของรัฐบาล (St.Vincent’s Public Hospital) ในซิดนีย์ มา 8 ปีแล้ว

เธอเล่าว่า เจ้าหน้าที่ล้างเครื่องมือแพทย์นั้น เป็นบุคคลากรที่มีความสำคัญซึ่งขาดไม่ได้ในโรงพยาบาลต่างๆ จึงทำให้ผู้ที่ทำงานในตำแหน่งนี้นั้นมีโอกาสก้าวเข้าไปทำงานได้ในหลายสาขาทางการแพทย์

“ตำแหน่งนี้สามารถทำงานได้ทุกโรงพยาบาลและคลินิกนะคะ โรงพยาบาลที่มีห้องผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นผ่าตัดเล็ก ผ่าตัดใหญ่ ผ่าตัดอะไรก็แล้วแต่ หรือจะเป็นโรงพยาบาลเฉพาะตา หู จมูก หรือฟัน ก็จะต้องมีคนทำหน้าที่ตำแหน่งนี้ ซึ่งเราสามารถเลือกได้ว่าเราอยากจะทำด้านไหน”

คุณหน่องบอกว่า สิ่งที่ดึงดูดให้เธอทำงานนี้มาได้นานขนาดนี้คือ การที่เธอชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

“คนที่ชอบงานทางด้านนี้ คือคนที่ชอบหาความรู้เพิ่มเติม อย่างหน่องเอง ชอบการผ่าตัดหัวใจ สงสัยว่าการผ่าตัดหัวใจ เขาทำอย่างไร เครื่องมือแบบนี้ เอาไปใช้แบบไหน หัวใจที่รับบริจาคมาจากคนอื่น มันเดินทางมายังไงจนมาถึงคนที่รับการผ่าตัด นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หน่องชอบตำแหน่งนี้และเลือกที่จะทำงานด้านการผ่าตัดหัวใจโดยเฉพาะ โดยเวลาทำงาน ผู้จัดการจะมีมาให้เลือกว่า คนไหนสนใจที่จะดูแลเครื่องมือผ่าตัดอะไร เช่น ผ่าตัดหัวใจ ผ่าตัดสมอง หรือผ่าตัดอะไรก็แล้วแต่” คุณหน่อง บอกกับ เอสบีเอส ไทย
คุณหน่อง Sterilisation Technologist (CSSD) กับอุปกรณ์สำหรับการผ่าตัดกระดูก
คุณหน่อง Sterilisation Technologist (CSSD) กับอุปกรณ์สำหรับการผ่าตัดกระดูก Source: SBS Thai/ Khun Nong Sydney
คุณหน่องอธิบายถึงการทำงานในแต่ละวันของเธอ ซึ่งท้าทายทั้งด้านความรู้ ความเข้าใจ และความละเอียดรอบคอบ

“เจ้าหน้าที่จะต้องใส่พีพีอี (PPE) เพื่อป้องกันการติดเชื้อต่างๆ เมื่อไปรับเครื่องมือที่ใช้แล้วจากห้องผ่าตัด จากนั้น เราต้องเช็กว่าเครื่องมือที่ผ่านการใช้แล้วนั้น ครบไหม ถ้าไม่ครบ หมายความว่า เครื่องมืออาจติดไปกับตัวคนไข้ หรือถูกโยนทิ้งถังขยะไป เราต้องรีบแจ้งไปทางห้องผ่าตัดให้เช็กโดยด่วน ว่าเครื่องมือหายไปอยู่กับใคร”

“ขั้นตอนที่สอง หากได้เครื่องมือครบแล้ว เราก็นำเครื่องมือมาแช่น้ำยาฆ่าเชื้อ จากนั้นส่งเข้าเครื่องล้างอัตโนมัติ ที่ควบคุมอุณหภูมิและใช้น้ำยาฆ่าเชื้อตามมาตรฐาน รวมไปถึงการแยกชิ้นส่วนของเครื่องมือและประกอบชิ้นส่วนเครื่องมือเข้าด้วยกัน การดูแลรักษาเครื่องมือ การเช็กเครื่องมือไม่ให้มีไฟฟ้ารั่ว เพราะเรามีเครื่องมือบางชนิดที่ใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจ ซึ่งเราต้องตรวจเช็กให้ครบ”
คุณหน่องใส่ชุดป้องกันการติดเชื้อครบชุดก่อนเข้าห้องทำงาน
คุณหน่องใส่ชุดป้องกันการติดเชื้อครบชุดก่อนเข้าห้องทำงาน Source: SBS Thai/ Khun Nong Sydney
“จากนั้น เราจะส่งเข้าไปในห้องแพ็ก (pack การนำเครื่องมือลงหีบห่อเพื่อส่งกลับ) ในห้องแพ็กจะมีเจ้าหน้าที่คอยแพ็กเครื่องมือให้ครบจำนวน และตรวจดูความสะอาด ความเรียบร้อย หลังจากนั้น เราจะมีการฆ่าเชื้ออีกรอบหนึ่ง โดยใช้อุณหภูมิที่สูงถึง 136 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นตู้อัตโนมัติ จึงจะถือว่าเครื่องมือได้รับการฆ่าเชื้อที่สมบูรณ์” คุณหน่อง ที่ทำงานในโรงพยาบาลเซนต์ วินเซนส์ ในซิดนีย์ อธิบาย

เธอกล่าวต่อไปว่า คนที่จะมาทำงานด้านนี้นั้น ไม่จำเป็นต้องเคยเรียนสายวิทยาศาสตร์มาก่อน แต่ทุกคนจะต้องผ่านการเรียนในหลักสูตรเฉพาะสำหรับงานในตำแหน่งนี้

“ไม่จำเป็นต้องจบอะไรมานะคะ เพราะว่าสายอาชีพสาขานี้ ทุกคนจะต้องมาเรียนใหม่หมด โดยเป็นการเรียนเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านการฆ่าเชื้อ คือหลักสูตร Certificate 3 in Sterilisation Services (ประกาศนียบัตรระดับ 3 ด้านบริการฆ่าเชื้อ) ในการเรียนต้องมีการเข้าห้องแล็บบ้าง ต้องปฏิบัติจริงในห้องแล็บในเรื่องเกี่ยวกับเชื้อโรค ก่อนสอบจะมีการทบทวนประเด็นสำคัญในห้องเรียน มีการทำรายงานทุกวิชาก่อนสอบ หลังจากที่เราเริ่มทำงานนี้แล้ว เข้าใจแล้ว เราสามารถเรียนต่อเนื่องใน หลักสูตร Certificate 4 (ประกาศนียบัตร 4) ได้เลย ซึ่งเป็นหลักสูตรสำหรับตำแหน่งหัวหน้างานค่ะ” คุณหน่อง เผย
เครื่องมือผ่าตัดบางส่วนที่เจ้าหน้าที่ต้องฆ่าเชื้อหลังใช้งาน
เครื่องมือผ่าตัดบางส่วนที่เจ้าหน้าที่ต้องฆ่าเชื้อหลังใช้งาน Source: SBS Thai/ Khun Nong Sydney
เธอฝากถึงคนไทยที่สนใจงานในตำแหน่ง สเตอริไลเซชัน เทคโนโลจิสต์ (Sterilisation Technologist) หรือที่มักใช้ในวงการแพทย์ว่างานตำแหน่ง CSSD ให้เตรียมตัวให้พร้อมก่อนเป็นอันดับแรก

“หนึ่งต้องเริ่มฝึกภาษาก่อน เริ่มค้นหาข้อมูลของคอร์สนี้ว่าเรียนเกี่ยวกับอะไร ต้องมีความเข้าใจยังไง ภาษาจะมีการใช้ศัพท์เทคนิคโดยเฉพาะ ซึ่งไม่ยาก แต่โดยทั่วไปจะเป็นการเขียนรายงาน การพูดนั้นไม่ยาก แต่เราต้องขวนขวายหาข้อมูลเพิ่มเติม ถ้ามีความพยายาม หน่องคิดว่า ทุกคนสามารถทำได้ค่ะ”

ติดตามฟังคุณหน่องพูดคุยอย่างละเอียดถึงลักษณะการทำงาน ความท้าทายที่พบ พร้อมฝากเคล็ดไม่ลับในการสมัครงานในตำแหน่งนี้ ได้ในสัมภาษณ์ฉบับเต็มด้านล่าง
LISTEN TO
Sterilisation technician job image

เจ้าหน้าที่ล้างเครื่องมือแพทย์:งานที่ไม่เกินเอื้อม

SBS Thai

14/01/202121:29
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 15 February 2021 11:20am
By Parisuth Sodsai
Presented by SBS Thai
Source: SBS Thai

Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand