'20 ปี รำลึก' ย้อนรอยเหตุการณ์สินามิ 26 ธ.ค. 2547

FILE THAILAND TEN YEARS ANNIVERSARY BOXING DAY TSUNAMI

เวลา 7.59 ของวันที่ 26 ธ.ค. 2547 (2004) เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ ที่นอกชายฝั่งเกาะสุมาตรา และทำให้เกิดคลื่นยักษ์ที่เรียกว่า 'สึนามิ' Credit: STRINGER/EPA/AAPImage

ฟังเสียงคนไทยที่อยู่ในเหตุการณ์สึนามิ วันที่ 26 ธันวาคม ปี พ.ศ 2547 ทั้งวินาทีวิ่งหนีคลื่นยักษ์ การช่วยค้นหาร่างผู้เสียชีวิต และ ความโกลาหลหลังคลื่นยักษ์พัดผ่านไป ในรายงานพิเศษ 'รำลึก 20 ปี สีนามิในประเทศไทย'


คลิก ▶ ด้านบนเพื่อฟังพอดคาสต์

ย้อนกลับไป 20 ปีที่แล้ว ในช่วงเช้าที่เงียบสงบของวันที่ 26 ธันวาคม ปี พ.ศ 2547 หรือ คริสตศักราช 2004 ไม่มีใครล่วงรู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์แห่งความสูญเสีย

และเมื่อเข็มนาฬิกา บอกเวลาอีก 1 นาทีจะถึงเวลา 8 โมงเช้า ที่นอกชายฝั่งเกาะสุมาตรา เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ และทำให้เกิดคลื่นยักษ์ที่เรียกว่า สึนามิ ที่ได้ทำความเสียหายมหาศาลใน 14 ประเทศ คร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 200,000 รายและมีคนสูญหายจำนวนมาก

Wan edited.jpg
Jirawan ‘Wan’ Chaisri, now live in Sydney, who was a survivor from Boxing day Tsunami in Thailand 2004 Credit: Supplied/ Jirawan Chaisri,
คุณ วรรณ จิรวรรณ ไชยศรี (Wan) จากนครซิดนีย์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นหมอนวดแผนไทย ที่อ่าวนาง จังหวัดกระบี่

เธอเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และเป็นผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติครั้งนั้น บอกเล่าเรื่องราวในเช้าวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ในขณะที่กำลังเตรียมตัวทำงานว่า เธอสังเกตเห็นสิ่งผิดปกติในทะเล

“มันยุบลงค่ะเห็นน้ำมันยุบลง เอ๊ะทําไมน้ำทะเลมันแห้งเร็วแบบยุบลงไปเลย ก็ยืนดูกัน ยืนสักประมาณ 10 15 นาที ทีนี้ก็มันเป็นมันเหมือนมืดมาเหมือนเหมือนดินกับแผ่นฟ้ามันจบกัน แล้วมันก็ใกล้เข้ามาหาเรา ใกล้เข้ามาที่เรายืนอยู่”
พวกพวกแท็กซี่หรือซาเล้งเค้าก็บอกอีหนูไป..วิ่ง เค้าบอกคลื่นยักษ์มา
คุณ วรรณ จิรวรรณ ไชยศรี ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิ
เจ้าของร้านนวดของคุณวรรณรีบขับรถกระบะพาพนักงานหนีไปหลบภัยที่วัดบนภูเขาใกล้ๆ

“ตอนนั้นก็เตรียมตัวกันจะวิ่งพอดีเจ้าของร้านเขาเอารถเอารถกระบะมาขนเอาลูกน้องเอาพนักงานวิ่งขึ้นเขากันค่ะ มันก็เหมือนกับมันไล่ตามตูดนั่นแหละ มันก็ขึ้นมาถึงตีนเขาอ่ะค่ะ”

คุณวรรณเล่าว่า พวกเขาหลบภัยอยู่ที่วัดถ้ำเสือ และเมื่อพวกเขากลับลงมาในอีกวันถัดไป คุณวรรณเล่าว่า ทุกอย่างพังราบเป็นหน้ากลอง

“พอขึ้นมันสงบก็ออกมา ที่บ้านพักที่พี่เช่าอยู่ ตรงคลองแห้งน้ำมันยุบไปแล้ว แต่ก็ต้องระวังอยู่เหมือนเดิม ยังไม่ได้ไปดูตอนในวันนั้นเพราะเจ้าหน้าที่เขาไม่ให้เข้า มีแต่นายหัวเข้าไป ไปดูร้านมันก็มีแต่น้ำมีแต่ทรายก็ช่วยกันเก็บ ช่วยกันล้าง ไม่มีสิ่งก่อสร้าง เรือหางยาวก็ซัดมาถล่มร้านก็พัง”

หลังคลื่นยักษ์พัดผ่าน

หลังจากที่คลื่นยักษ์พัดผ่าน เหลือทิ้งไว้แต่ ซากปรักหักพัง และความสูญเสียอย่างที่ไม่มีใครเคยจินตนาการ ทุกเมืองตกอยู่ในความโกลาหลเพราะสัญญาณไฟฟ้าหรือโทรศัพท์ มือถือ ถูกตัด

kim edit.jpg
คุณ คิม ฐิติวรดา เคมป์ เคยเป็นผู้ประกาศข่าวที่อยู่ในเหตุการณ์สึนามิ Credit: Supplied

คุณ คิม ฐิติวรดา แสนพงษ์ เคมป์ (Kim) จากรัฐควีนสแลนด์ อดีตผู้ประกาศรายการวิทยุในจัหวัดภูเก็ต เล่าถึงความยากลำบากของการติดต่อสื่อสารในเวลานั้นว่า

“ไม่มีสัญญาณมือถือ ต้องใช้โทรศัพท์บ้าน ติดต่อประสานงานกับโรงพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ติดต่อที่บ้านไม่ได้ ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทุกคนตื่นตระหนก”

ไม่นานหลังจากนั้น ความช่วยเหลือก็หลั่งไหลมาไม่ขาดสายจาก องค์กร หน่วยงานต่างๆ เช่น กองทัพเรือไทยและหน่วยงานบริการเหตุฉุกเฉิน ได้เข้ามาในพื้นที่ประสบภัยเพื่อช่วยเหลือประชาชน ผู้บาดเจ็บ และกู้ร่างผู้เสียชีวิตจำนวนมหาศาลที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังและจมอยู่ใต้โคลนตม

คุณ ชีชะ ภาวัติ ปล้องคำ (Chicha) ช่างสักในเมลเบิร์น เล่าถึงประสบการณ์ในฐานะอาสาสมัครกับมูลนิธิร่วมกตัญญูในตอนนั้นว่า เมื่อทราบข่าวจากมูลนิธิ เขาและเพื่อนอาสาสมัครจึงขับรถจากกรุงเทพฯ ไปพังงา เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ เขาเล่าเหตุการณ์ที่ลืมไม่ลงนี้ว่า

“น้ำซัดเข้าไปหลายกิโลเมตร มีแต่ซากปรักหักพังฝังร่างคนเยอะมาก เราค้นหาร่างได้แค่ผิวๆ รู้ว่าอีกคนหลายพันถูกฝังอยู่ใต้โคลน”

Chicha edit.jpg
Pawat ‘Chicha’ Plongkham), reflected on his experience as a young volunteer with the Ruamkatanyu Foundation during 2004 Tsunami in Thailand. Credit: Supplied/ Pawat ‘Chicha’ Plongkham
ความช่วยเหลือจากนานาประเทศ

นอกจากอาสาสมัครจากหน่วยงานต่างๆ ในประเทศ ที่เร่งรุดให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิครั้งประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีความช่วยเหลือจากนานาชาติในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งทีมค้นหาผู้รอดชีวิต และการพิสูจน์บุคคล

คุณ ปีเตอร์ เบนส์ (Peter Baines) ผู้ก่อตั้งองค์กร Hands Across the Water ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อดูแลเด็กกำพร้า 32 คนที่สูญเสียพ่อแม่จากสึนามิในปี 2004

เป็นส่วนหนึ่งของทีมทางนิติเวชจากออสเตรเลียที่ถูกส่งไปยังประเทศไทยในช่วงหลังเหตุการณ์สึนามิ และยังเป็นเจ้าของรางวัลเหรียญเกียรติยศแห่งออสเตรเลียในปี 2014

คุณ เบนส์ และได้เล่าความท้าทายในกระบวนการระบุตัวตนของผู้เสียชีวิตว่า

“ไม่กี่วันหลังจากที่เกิดสึนามิ เราทราบข่าวว่าว่ามีคนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติด้วย งานของเราคือเดินทางไปให้ความช่วยเหลือในกระบวนการพิสูจน์ตัวตน เพื่อให้ผู้ที่เสียชีวิตสามารถกลับไปบ้านและประกอบพิธีตามความเชื่อของพวกเขา คุณ ปีเตอร์กล่าวว่า

จากเหตุการณ์สึนามิในประเทศไทย เราได้ทำการพิสูจน์ตัวตนรวม 5,395 ราย ถือเป็นการดำเนินการระบุตัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์
คุณ ปีเตอร์ เบนส์ อดีตทีมนิติเวชจากออสเตรเลีย

Peter and Game - one of the first kids supported by HATW (2016) (1).jpg
Peter Baines a formal Australian forensic team deployed to Thailand in the aftermath of the disaster.
บทเรียนและการเตรียมพร้อม

หลังจากเหตุการณ์สึนามิในปี 2004 ประเทศไทยตระหนักว่าประเทศขาดการเตรียมพร้อมในการรับมือกับสีนามิในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีและระบบเตือนภัย

แต่ในปัจจุบัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้ลงทุนในระบบเตือนภัยหลายภัยพิบัติ ดำเนินการฝึกซ้อมสึนามิเป็นประจำ และมีพัฒนาแผนการจัดการภัยพิบัติระดับชาติ

และในส่วนของออสเตรเลีย โฆษกจากกรมอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลียแจ้งกับ SBS Thai ว่าสึนามิครั้งนั้นทำให้เกิดการกระชับความร่วมมือการป้องกันภัยระหว่างประเทศ

“ก่อนปี 2004 ระบบเตือนภัยสึนามิของเรายังไม่ครอบคลุมเท่าไหร่นัก หลักๆ จะมุ่งเน้นไปที่การเตือนภัยในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยใช้ข้อมูลจากศูนย์เตือนภัยสึนามิในฮาวาย แต่หลังจากเหตุการณ์สึนามิปี 2004 เราได้ร่วมมือกับนานาชาติเพื่อสร้างระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยสึนามิในมหาสมุทรอินเดียด้วย

ในปัจจุบัน เราสามารถออกคำเตือนได้ภายใน 30 นาทีหลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่” โฆษกของกรมอุตุนิยมวิทยา แห่งออสเตรเลียกล่าว

THAILAND QUAKE TIDAL WAVES
จากเหตุการณ์สึนามิในประเทศไทย ถือเป็นการดำเนินการระบุตัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ Credit: EPA/AAPImage
และสำหรับประเทศออสเตรเลีย มีบันทึกว่าได้เกิดสึนามิทั้งหมดรวม 50 ครั้งนับตั้งแต่การเข้ามาตั้งรกรากของชาวยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่ทำให้เกิดกระแสน้ำวนและกระแสน้ำที่อันตราย

แม้ว่าออสเตรเลียจะไม่ด้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิที่ซัดชายฝั่งที่ทำให้เกิดความสูญเสียเหมือนเช่นที่เกิดในมหาสมุทรอินเดียปี 2004

แต่บทเรียนจากเหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ทำให้ตระหนักว่าการเตรียมพร้อมและความร่วมมือระหว่างประเทศมีความสำคัญเพียงใด

ความทรงจำที่ลืมไม่ลง

แม้ว่าปีนี้ จะครบรอบ 2 ทศวรรษหลังจากเหตุการณ์สึนามิที่เกิดขึ้นในไทย แต่สำหรับคุณ คิม เหตุการณ์วันนั้นยังคงชัดเจนอยู่ในความทรงจำ

“ทุกวันที่ 26 ธันวาคม พี่หวังว่าวันนี้จะผ่านไปเร็วๆ ถึงแม้ว่าตัวเองจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่มันยังรู้สึกอยู่ตลอด ”

และสำหรับ คุณ วรรณ ผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนั้น อย่างฉิวเฉียด เปิดเผยว่า สิ่งที่สวยงามอาจจะกลายเป็นน่ากลัวได้ เพียงเสี้ยวนาที

“ ในความรู้สึกที่เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่าง อะไรก็เกิดขึ้นได้”

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand