หลายฝ่ายชี้ผู้อพยพที่พิการถูกเลือกปฏิบัติทั้งด้านวีซ่าและการงาน

High Angle View Of Man Sitting On Wheelchair

ผู้พิการที่อยู่บนรถเข็น Source: EyeEm

นโยบายการย้ายถิ่นฐานของออสเตรเลียในปัจจุบันมองว่าผู้อพยพที่พิการเป็นภาระทางการเงิน และมีระบบที่กีดกันการยื่นขอวีซ่าหรือการสมัครงาน กลุ่มผู้สนับสนุนชี้ผู้อพยพที่พิการสามารถช่วยสังคมได้ และไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติ


กดเพื่อฟังเรื่องนี้
LISTEN TO
Advocacy groups say migrants living with disability face discrimination image

หลายฝ่ายชี้ผู้อพยพที่พิการถูกเลือกปฏิบัติทั้งด้านวีซ่าและการงาน

SBS Thai

07/04/202208:22
คุณไอลีน เอิง (Aileen Ng) อายุ 30 ปี มีความพิการด้านสติปัญญา เดิมถูกปฏิเสธวีซ่าเนื่องจากความพิการของเธอ เมื่อยื่นขอย้ายถิ่นจากมาเลเซียมาออสเตรเลีย

คุณไอลีนต้องอยู่แต่ที่บ้าน ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก จนครอบครัวของเธอรู้จักกับโครงการฝึกอบรมผู้พิการเพื่อทำงานในท้องถิ่นหรือโอเน็มดา (Onemda)   ซึ่งสนับสนุนเธออย่างมากเพื่อให้เธอสามารถขอวีซ่าทำงานและช่วยครอบครัวได้

ตอนนี้เธอทำงานอย่างมีความสุขอยู่ที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ที่ดอนคาสเตอร์ อีสต์  (Doncaster East) รัฐวิกตอเรีย

“ฉันทำงานอยู่ที่ร้านกาแฟอินดัลเจนซ์ (Indulgence) ที่ ศูนย์การค้าเดอะ ไพนส์ (The Pines) ฉันชอบเป็นพนักงานเสิร์ฟและงานเหล่านี้ การเสิร์ฟ การให้บริการลูกค้า ฉันรู้สึกดีขึ้นกับการทำงาน มันช่วยให้ฉันยุ่ง”
คุณไซมอน ลูอิส (Simon Lewis) ผู้บริการโอเน็มดา องค์กรบริการและช่วยเหลือผู้พิการแห่งรัฐวิกตอเรียที่ช่วยเหลือคุณไอลีนกล่าวว่า รัฐบาลออสเตรเลียมองข้ามความสามารถของผู้พิการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม มักจะปฏิเสธการให้สถานะพลเมืองหรือการอนุมัติวีซ่า
และเราเห็นว่า ผู้พิการไม่ว่าจะเกิดในออสเตรเลียหรือไม่ มีความสามารถในการช่วยเหลือประเทศอย่างมาก ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เราคิดว่าควรจะมีการให้โอกาสมากขึ้น ควรผ่อนปรนมาตรการกีดกันต่างๆ และเราควรทำลายความเข้าใจผิดๆ เหล่านั้น
คุณลูอิสกล่าวว่ารัฐบาลออสเตรเลียปฏิบัติต่อผู้อพยพที่พิการเหมือนเป็นพลเมืองชั้นที่สอง

“ผู้พิการมีสิทธิ์ได้รับการศึกษา มีสิทธิ์ที่จะมีส่วนร่วมในสังคมในทุกๆ ด้าน ในทุกๆ วัน และดูเหมือนว่าจะมีการปฏิบัติประหนึ่งว่าพวกเขาเป็นพลเมืองชั้นที่สอง มากกว่าที่จะมองว่าพวกเขามีศักยภาพและคุณค่า ใช่ พวกเขาต้องการการช่วยเหลือเพิ่มเติม แต่พวกเขาสามารถสร้างคุณคุณค่าและประโยชน์ต่อสังคม ตัวอย่างเช่น อัตราการเข้าชั้นเรียนของพวกเขานั้นดีมาก ดังนั้นหากคุณจ้างผู้พิการ พวกเขาจะมาทำงานทุกวันด้วยความเต็มใจ และสามารถที่จะทำงานได้”
Woman in wheelchair communicating with female colleague in cafe
ผู้พิการนั่งบนรถเข็นกำลังพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานในร้านกาแฟ Source: Pexels/Shvets Production
สมาพันธ์ผู้พิการจากหลากหลายเชื้อชาติแห่งชาติ (National Ethnic Disability Alliance) หรือชื่อย่อ นีดา (NEDA) องค์กรเพื่อคนพิการในระดับรัฐบาลสหพันธรัฐ ที่ให้การสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชนแก่ผู้พิการและครอบครัว ผู้พิการที่มีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม และไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักอธิบายว่า สิ่งที่พวกเขาคัดค้านอย่างหนักคือ ‘ระเบียบเรื่องสุขภาพ (Health requirement)’ ที่รัฐบาลออสเตรเลียระบุว่า ผู้ยื่นขอวีซ่าต้อง‘ไม่มีความเจ็บป่วยหรือโรคประจำตัว’ ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายของชุมชนออสเตรเลียเป็น ‘จำนวนมาก’ รวมถึงการกีดกันการเข้าถึงระบบสาธารณสุขและการดูแลชุมชน และการใช้ทรัพยากรของพลเมืองออสเตรเลีย

คุณดเวย์น แครนฟิลด์ (Dwayne cranfield) ผู้บริหารองค์กรนีดากล่าวว่า ระเบียบเรื่องการตรวจสุขภาพนั้นไร้สาระ แม้กระทั่งชาวอังกฤษที่มีภาวะดาวน์ ซินโดรม (Down Syndrome) ก็ถูกปฏิเสธวีซ่าท่องเที่ยว เพราะเธอไม่ผ่านการตรวจสุขภาพ
เราควรตัดมันออกไปซะ เราควรตัดระบบทั้งหมดออกไป เราควรเลิกมองว่าผู้พิการเป็นภาระ เรามีรัฐมนตรีที่พูดถึงผู้พิการเหมือนเป็นภาระในอดีต เราควรเริ่มมองว่าอะไรที่แต่ละบุคคลสามารถเอื้อต่อชุมชน และความเป็นจริงที่ว่าเราเป็นประเทศที่สร้างผู้อพยพ เราควรเลิกมองข้อเสียของแต่ละบุคคล
คุณมอรีน ฟอร์ไดซ์ (Maureen Fordyce) จากแอมพาโร (Amparo) องค์กรสนับสนุนผู้พิการในบริสเบนกล่าวว่า เมื่อผู้อพยพมีบุตรที่พิการในออสเตรเลีย มันเกือบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้พวกเขาผ่านการตรวจสุขภาพ

“มันยากมากๆ เช่น เราต้อนรับชาวนิวซีแลนด์เข้ามาและอาศัยอยู่ในออสเตรเลีย มาทำงานและจ่ายภาษี จ่ายเมดิแคร์ พวกเขาอาจอยู่ที่นี่ 15 ปี จากนั้นพวกเขาอาจมีลูกที่พิการ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาจะขอเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรหรือพลเมือง เพราะเขาจะไม่ผ่าน ลูกๆ ของพวกเขามักจะไม่ผ่านการตรวจสุขภาพ”
A family sitting on a bench talking together
ครอบครัวที่มีบุตรพิการนั่งพูดคุยด้วยกัน Source: Pexels/Rodnae Productions
คุณฟอร์ไดซ์กล่าวว่า รัฐบาลกลางของออสเตรเลียควรให้สิทธิ์ผู้อพยพที่พิการในการเข้าถึงโครงการประกันของผู้พิการแห่งชาติ (National Disability Insurance Scheme - NDIS)

“ตัวอย่างหนึ่ง เรากำลังทำงานกับชายหนุ่มที่มาออสเตรเลียในฐานะผู้ลี้ภัย หลังจากมาถึงได้ไม่นาน เขาก็เป็นโรคหลอดเลือดในสมอง (Stroke) ตอนนี้เขาต้องอยู่ในบ้านพักดูแล รัฐบาลกลางจะให้ความช่วยเหลือเขาให้อยู่ในบ้านพักดูและจ่ายค่าใช้จ่ายนั้นให้ แต่จะไม่อนุญาตให้เขาใช้สิทธิ์จากโครงการประกันของผู้พิการแห่งชาติและรับความช่วยเหลือที่เขาต้องการเพื่อใช้ชีวิตที่ดีในชุมชน ดังนั้นเขาจึงอยู่ด้วยวีซ่าลี้ภัยชั่วคราว และภายใต้กฎหมายในปัจจุบันเขาจะไม่สามารถยื่นขอสถานะผู้อาศัยถาวรได้”

องค์การต่างๆ ที่ทำงานร่วมกับผู้อพยพที่เป็นผู้พิการซึ่งมีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม เรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียเปลี่ยนกฎ พวกเขาอยากให้ผู้พิการได้รับการยอมรับประหนึ่งมนุษย์ที่มีสิทธิ์เท่าเทียม ผู้ซึ่งสามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคม มากกว่าที่จะเป็นแค่ภาระทางการเงิน


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 





Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand