เสียงเรียกร้องให้ยืนหยัดเพื่อสิทธิของกลุ่มเพศทางเลือก

Mardi Gras parade

ขบวนพาเหรองานมาร์ดิ กราส์ (Mardi Gras) Source: Unsplash/Juliette F

เทศกาลมาร์ดิ กราส์ (Mardi Gras) ประจำปีเริ่มแล้วในซิดนีย์ มีการเฉลิมฉลองและหลากหลายกิจกรรมตลอดทั้งเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ด้านผู้สนับสนุนหวังว่าความสนุกจะไม่เบี่ยงเบนปัญหาที่กลุ่มเพศทางเลือกยังคงเผชิญ ทั้งการเลือกปฏิบัติ ปัญหาด้านสุขภาพจิต และการสนับสนุนที่ยังต้องการจากผู้ที่เห็นด้วย


กดเพื่อฟังสัมภาษณ์
LISTEN TO
allies-asked-to-stand-up-for-lgbtqi-issues image

เสียงเรียกร้องให้ยืนหยัดเพื่อสิทธิของกลุ่มเพศทางเลือก

SBS Thai

28/02/202209:49
เสียงของฝูงชนจากขบวนพาเหรดเทศกาลมาร์ดิ กราส์ (Mardi Gras) เมื่อปี 2020 ที่ซิดนีย์ เป็นเพียงบางส่วนของผู้เข้าร่วมเดินขบวนในงาน โดยขบวนพาเหรดมาร์ดิ กราส์นั้น มีขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1978

ศาสตราจารย์ มิเชล แอร์โรว์ (Michelle Arrow) สาขาวิชาประวัติศาสตร์กล่าวว่า เดิมผู้ร่วมเดินขบวนหวังสร้างแรงผลักดันทางการเมือง ในการต่อต้านการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงที่สมาชิกกลุ่มเพศทางเลือกต้องเผชิญ

“และเป็นการสร้างพันธมิตรรูปแบบใหม่ระหว่างกลุ่มเพศที่สามที่ชอบเที่ยวผับ และกลุ่มเพศที่สามที่อยากสร้างแรงผลักดันทางการเมือง ดังนั้นมันเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการร่วมสร้างอัตลักษณ์ทางการเมืองแบบใหม่ และแน่นอน มันเป็นรากฐานของการเฉลิมฉลองเทศกาลมาร์ดิ กราส์ของทุกปี ส่วนหนึ่งเป็นการประท้วง การเฉลิมฉลอง และเป็นการสร้างกลุ่มชุมชนใหม่ขึ้น”
จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ขณะนี้งานมาร์ดิ กราส์ เป็นงานอีเวนท์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคแปซิฟิก ดึงดูดหลายแสนคนให้เข้าร่วมงานปาร์ตี้  และสร้างรายได้ประมาณ 40 ล้านดอลลาร์ทุกปี

ผู้สนับสนุนหลายคนกล่าวว่า  เหตุการณ์ที่เป็นแรงบันดาลใจในการเดินขบวนครั้งแรกนั้นยังคงเกิดขึ้นในทุกวันนี้

คุณแอนนี่ ไวลี (Annie Wylie) ผู้จัดการอาวุโสของรีชเอาท์ (ReachOut) กลุ่มให้บริการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตแก่วัยรุ่นที่เป็นเพศที่สาม  เธอกล่าวว่าการเลือกปฏิบัตินั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำสำหรับเธอ
ในฐานะเพศทางเลือก ฉันถูกเรียกต่างๆ นานา ขณะเดินถนนและทำให้รู้สึกไม่สบายใจ และการเลือกปฏิบัติในหลายประเภท ในหลายสถานที่ และฉันบอกได้ว่าเพื่อนๆ ของฉันก็เจอเหมือนกัน
นายโจ บอล (Joe Ball) ผู้บริหารของสวิตช์บอร์ด วิกตอเรีย (Switchboard Victoria) หน่วยงานให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกกลุ่มเพศที่สาม กล่าวว่ามีความคืบหน้าในการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเรื่องการเลือกปฏิบัติในออสเตรเลีย แต่หลายๆ กฎเพิ่งได้รับการปรับปรุงเมื่อไม่นานมานี้ นับเป็นผลจากการรณรงค์เพื่อความเท่าเทียม

“หลายคนประสบปัญหาเหล่านี้ในช่วงชีวิตของพวกเขา หลายคนต้องใช้ชีวิตกับการถูกแบ่งแยกว่าเป็นพวกรักร่วมเพศ ซึ่งหมายความว่าหลายคนอาจถูกไล่ออกเพราะว่าเป็นเกย์ และอาจถูกจองจำเพราะเป็นเกย์ และเราเพิ่งเห็นคำกล่าวขององค์การอนามัยโลก (World Health Organisation – WHO) ที่เพิ่งระบุว่าการเป็นคนข้ามเพศ ไม่ใช่ความผิดปกติทางจิต และนั่นเพิ่งเกิดขึ้นในสองสามปีที่ผ่านมา”

A rainbow flag
ธงสีรุ้ง Source: Unsplash/Tim Bieler


 

คุณโจกล่าวว่า ผู้ที่มีเพศสภาพหลายคนมีอัตราการเผชิญปัญหาด้านสุขภาพจิตสูง เป็นผลมาจากการถูกเลือกปฏิบัติ

“เพศทางเลือกหลายคนมีชีวิตที่มีความสุขและไม่ถูกแบ่งแยก และรู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวและชุมชน แต่มีหลายคนที่ไม่เป็นเช่นนั้น และผมคิดว่าสำหรับหลายคน พวกเขารู้สึกภูมิใจในสิ่งที่พวกเขาเป็น แต่ยังมีตราบาปทางสังคมและความอับอายในตัวตนของพวกเรา ที่เรายังต้องต่อสู้เพื่อให้รู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งและภาคภูมิใจในสิ่งที่เราเป็น”

คุณไค (Kai) อายุ 22 ปี เป็นผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่ไม่ใช่หญิงหรือชาย และเคยมีชีวิตที่มีความสุขกับครอบครัวที่น่ารัก แต่เขาประสบกับเรื่องของอคติในโรงเรียนมัธยม ในเรื่องของรักร่วมเพศและการข้ามเพศ

หลังจากที่เขาเปิดเผยว่าเป็นผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่ไม่ใช่หญิงหรือชาย เขาต้องเผชิญกับแรงกดดันจากครอบครัวและเพื่อนๆ ที่ไม่ยอมรับในการเลือกมีมากกว่าเพศเดียว
มีบางคนที่พูดว่า คุณเป็นได้แค่ผู้หญิงหรือผู้ชาย ไม่มีตรงกลาง อะไรทำนองนั้น ประมาณนั้น การปิดกั้นแนวคิดเรื่องเพศทั้งหมดที่อยู่ตรงกลาง นอกเหนือจากชายและหญิง

คุณเจน วิทแลม (Gen Whitlam) จากองค์กรส่งเสริมสุขภาพเอคอน (ACON) แห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์กล่าวว่า การขาดเหตุผลรองรับและการยอมรับอัตลักษณ์นั้นส่งผลกระทบต่อวัยรุ่นที่กำลังจะหานิยามความเป็นตัวตนของพวกเขา

เธอกล่าวว่าการถกเถียงกันอย่างเปิดเผยก็มีผลกระทบต่อวิธีที่คนหนุ่มสาวที่มีความหลากหลายมองตัวเอง

“ตัวอย่างล่าสุด ประเด็นของโรงเรียนคริสต์ ซิทีพอยท์ (Citipoint Christian College) และการอภิปรายเรื่องการเลือกปฏิบัติทางศาสนา การโต้เถียงอย่างเปิดเผยในประเด็นเหล่านี้ มีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อชุมชนของเรา โดยเฉพาะวัยรุ่นของเรา ที่ได้ยินเรื่องเหล่านี้และไม่รู้ว่าพวกเขายืนอยู่ตรงไหนในโลกนี้ และอาจคิดว่าฉันจะอยู่ที่ไหน? ฉันเป็นใคร? ฉันจะรู้สึกปลอดภัยได้ที่ไหน? สิ่งเหล่านี้ล้วนกระทบต่อสุขภาพจิตในทางที่ไม่ดี”

A boy sitting on a sofa with a counsellor
เด็กผู้ชายนั่งบนโซฟากับที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต Source: Pexels/Cottonbro
คุณไวลีกล่าวว่า สมาชิกชุมชนโดยรวมมีบทบาทสำคัญในการโต้เถียงและสนับสนุนผู้ที่ต้องถูกเลือกปฏิบัติเป็นประจำ

เธอกล่าวว่าการเป็นผู้สนับสนุนที่ดีนั้น ไม่ใช่แค่การสวมใส่เสื้อผ้าที่มีธงสีรุ้ง หรือการไปงานปาร์ตี้มาร์ดิ กราส์ เธอต้องการเห็นผู้คนเรียกร้องในประเด็นการเลือกปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ให้การสนับสนุนธุรกิจที่มีเจ้าของกิจการเป็นเพศทางเลือก และการเต็มใจยอมรับความผิดของตนเอง

“สิ่งที่คุณต้องทำจริงๆ คือการเรียนรู้ที่จะทำให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากคุณทำได้ การทำผิดนั้นก็ไม่เป็นไร เราทุกคนทำผิดพลาด เราไม่คาดหวังให้ทุกคนรู้ทุกอย่าง นั่นเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการแสดงให้เห็นว่าคุณเป็นผู้สนับสนุนอย่างแท้จริงในชุมชน”

สำหรับคุณไค หนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทุกคนทำได้เพื่อสนับสนุน คือการรับฟังผู้อื่น
อย่าแย่งพวกเขาพูด อย่าพูดกับพวกเขา เว้นแต่ว่าคุณจะถูกถาม และที่สำคัญที่สุด จำไว้ว่านี่เป็นเรื่องของพวกเขา คุณกำลังสนับสนุนให้พวกเขาเป็นตัวเองในแบบฉบับที่ดีที่สุด
สมาชิกกลุ่มเพศทางเลือกสามารถติดต่อบริการ คิว ไลฟ์ (QLife) แห่งชาติ ได้ที่เบอร์ 1800 184 527

หรือหากสมาชิกเพศทางเลือกต้องการความช่วยเหลือ ติดต่อ ไลฟ์ไลน์ (Lifeline) ที่หมายเลข 13 11 14


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 


Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand