ควรมีมาตรการใดเพื่อลดจำนวนผู้ย้ายถิ่นที่จมน้ำเสียชีวิตในออสเตรเลีย

ความสวยงามของท้องทะเลออสเตรเลียอาจไม่สะท้อนอันตรายที่แฝงอยู่

ความสวยงามของท้องทะเลออสเตรเลียอาจไม่สะท้อนอันตรายที่แฝงอยู่ Source: Pixabay

มีเสียงเรียกร้องให้มีการเผยแพร่ข้อมูลด้านความปลอดภัยในการว่ายน้ำแก่ผู้อพยพย้ายถิ่นฐานทั่วประเทศออสเตรเลียอย่างตรงจุดยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้ที่เกิดในต่างประเทศยังคงเป็นกลุ่มคนที่จมน้ำเสียชีวิตเป็นสัดส่วนที่สูงในออสเตรเลีย


มีเสียงเรียกร้องให้มีการเผยแพร่ข้อมูลด้านความปลอดภัยในการว่ายน้ำแก่ผู้อพยพย้ายถิ่นฐานทั่วประเทศออสเตรเลียอย่างตรงจุดยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้ที่เกิดในต่างประเทศยังคงเป็นกลุ่มคนที่จมน้ำเสียชีวิตเป็นสัดส่วนที่สูงในออสเตรเลีย

ขณะเดียวกัน มีงานวิจัยใหม่โครงการหนึ่งของมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ได้ตรวจสอบปัจจัยเสี่ยงเบื้องหลังการเสียชีวิตจากการจมน้ำในหมู่ผู้อพยพจากเอเชียใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เสียชีวิตในชายทะเลของออสเตรเลียเป็นจำนวนมากอย่างผิดสัดส่วน

กดฟังรายงาน
LISTEN TO
Calls for better water safety campaign targeting migrant communities image

ควรมีมาตรการใดเพื่อลดจำนวนผู้ย้ายถิ่นที่จมน้ำเสียชีวิตในออสเตรเลีย

SBS Thai

28/01/202209:46
ในต่างประเทศนั้น ภาพหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์อย่างขาดไม่ได้ของประเทศออสเตรเลียคือ ภาพชายหาดสีทองที่รายล้อมไปด้วยน้ำทะเลใสดุจคริสตัล  ซึ่งทำให้ชายทะเลที่นี่เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวหลักสำหรับผู้ย้ายถิ่นฐานที่เดินทางมายังออสเตรเลีย

แต่อย่างที่ อะมาร์ ซิงห์ ประธานกลุ่ม ‘เทอร์เบินส์ ฟอร์ ออสเตรเลีย’ (Turbans 4 Australia) อธิบาย ภาพลักษณ์ภายนอกอาจเป็นไม่สะท้อนความเป็นจริงสำหรับสมาชิกในชุมชนของเขา

"มันน่าหวั่นเกรงเนื่องจากมันเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเข้าใจ ชุมชนผู้อพยพไม่รู้ว่าคลื่นทะเลดูดหรือ rip currents อยู่ตรงไหน ตรงไหนที่อาจมีแมงกะพรุนขวดเขียว (bluebottle jellyfish) มันเป็นเรื่องลึกลับสำหรับพวกเขา แต่เว็บไซต์โฆษณากลับบอกว่ามาที่ออสเตรเลียเพื่อจะได้เห็นชายหาดที่สวยงาม หาดทรายสีขาวและน้ำทะเลสีฟ้า ทุกคนต่างก็อยากที่จะได้สูดอากาศของมหาสมุทร" คุณซิงห์ กล่าว

และสิ่งเย้ายวนใจนี้อาจส่งผลตามมาที่ร้ายแรงถึงแก่ชีวิต

ร้อยละ 47 ของผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำในออสเตรเลียในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เป็นกลุ่มผู้ที่เกิดในต่างประเทศ

และผู้ย้ายถิ่นฐานจากประเทศอินเดียคิดเป็นสัดส่วนสูงสุดของสถิติดังกล่าว

การสำรวจโครงการใหม่ของกลุ่มบีช เซฟตี (Beach Safety) ของมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ กำลังพยายามทำความเข้าใจว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

มันซับซ้อนมากกว่า มุมมองทั่วไปที่คนมักเชื่อกันว่า เป็นเพราะความเขลา หรือเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ศาสตราจารย์ ร็อบ แบรนเดอร์ เป็นหนึ่งในผู้เขียนรายงานจากการสำรวจโครงการนี้ กล่าวว่า

"เราพบว่าคนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลียน้อยกว่า 10 ปี เป็นผู้ที่ไปเที่ยวชายหาดบ่อยกว่าคนกลุ่มอื่น แต่มีแนวโน้มน้อยกว่าที่จะได้เรียนว่ายน้ำ หรือได้ยินเรื่องเกี่ยวกับธงที่ชายหาด หรือเข้าใจสิ่งต่าง ๆ เช่น คลื่นทะเลดูด หรือเคยเข้าร่วมโครงการความปลอดภัยที่ชายหาด ดังนั้นสารที่สำคัญคือ เราจำเป็นต้องปรับปรุงการให้การศึกษาเรื่องความปลอดภัยที่ชายหาดสำหรับผู้ย้ายถิ่นฐานที่เพิ่งมาอยู่ใหม่ และและผู้ย้ายถิ่นที่มาอยู่ที่นี่ได้ไม่นานนัก" ศาสตราจารย์ แบรนเดอร์ กล่าว
คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลียน้อยกว่า 10 ปี เป็นผู้ที่ไปเที่ยวชายหาดบ่อยกว่าคนกลุ่มอื่น แต่มีแนวโน้มน้อยกว่าที่จะได้เรียนว่ายน้ำ หรือได้ยินเรื่องเกี่ยวกับธงที่ชายหาด หรือเข้าใจสิ่งต่าง ๆ เช่น คลื่นทะเลดูด
เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ย้ายถิ่นฐาน 249 คนจากประเทศในเอเชียใต้ที่ตอบแบบสำรวจยอมรับว่า พวกเขาว่ายน้ำไม่เป็น แต่ก็ยังจงใจที่จะลงไปในน้ำอยู่ดี

หลายคนมักใส่เสื้อผ้าตามปกติเหมือนตอนไม่ได้ลงน้ำ ซึ่งทำให้ว่ายน้ำยากขึ้น

ในขณะที่มากกว่าครึ่งหนึ่งออกไปเล่นน้ำที่ชายหาดที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยลาดตระเวนอยู่ และกว่า  1 ใน 4 ยังมีความเข้าใจอย่างจำกัดเกี่ยวกับระบบธงแดงและเหลืองซึ่งตั้งอยู่ที่ชายหาด และมากกว่าครึ่งยอมรับว่าตามปกติแล้วพวกเขาไม่ได้ว่ายน้ำระหว่างธงแดงและธงเหลืองที่ชายหาด
ศาสตราจารย์ แบรนเดอร์ เกรงว่า ข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยที่ชายหาด ได้ตกหล่นหลายไปในระหว่างที่ประชาชนต้องแปลข้อมูลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ของพวกเขา

"หนึ่งในคำตอบหลักๆ ที่เราได้รับคือ บ่อยครั้งที่พวกเขาอ่านป้ายแต่พวกเขาไม่เข้าใจคำศัพท์เฉพาะต่างๆ พวกเขาบอกว่ามันจะช่วยได้มากถ้าป้ายและข้อความด้านความปลอดภัยที่ชายหาดทั่วไปถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่อาจไม่ได้สื่อสารไปในข้อมูลที่แปลมาด้วยก็คือ เหตุใดคุณจึงต้องว่ายน้ำระหว่างธงแดงและธงเหลือง และความจริงแล้ว มีหลักฐานบางอย่างในการสำรวจของเราที่พบว่า บางคนเห็นสีแดงของธงและสันนิษฐานว่านั่นหมายถึงอันตราย หรือคิดว่าเป็นพื้นที่ว่ายน้ำส่วนตัว ผมก็เลยคิดว่าเราต้องอธิบายให้ผู้คนรู้ว่าธงเหล่านั้นหมายถึงอะไร" ศ. แบรนเดอร์ เผย
บ่อยครั้งที่พวกเขาอ่านป้ายแต่พวกเขาไม่เข้าใจคำศัพท์เฉพาะต่างๆ บางคนเห็นสีแดงของธงที่ชายหาดและเข้าใจผิดคิดว่านั่นหมายถึงอันตราย หรือคิดว่าเป็นพื้นที่ว่ายน้ำส่วนตัว
คุณซิงห์เชื่อว่ายังมีอุปสรรคทางวัฒนธรรมที่ข้อความเกี่ยวกับความปลอดภัยทางน้ำในปัจจุบันไม่สามารถแทรกซึมเข้าไปถึงผู้คนได้

"ผู้คนที่มาจากภูมิหลังทางวัฒนธรรมและภูมิหลังทางภาษาที่แตกต่างกัน พวกเขามีอุปสรรคเหล่านั้นทั้งหมดที่จะต้องก้าวข้ามไปให้ได้ก่อนที่จะเข้าใจเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ บางคนก็บอกว่า ทำไมถึงต้องไปว่ายน้ำอยู่ระหว่างธงนั้น ในเมื่อบริเวณอื่นๆ ของชายหาดทั้งหมดนั้นว่างเปล่า? ผู้คนไม่เข้าใจว่า พื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยทางน้ำกำหนดว่าปลอดภัย แต่ก็อีกนั่นแหละ พวกเขาก็มีคำถามว่า เจ้าหน้าที่กู้ภัยทางน้ำหรือ Life Guard คือใคร พวกเขาคิดว่าเป็นแค่คนธรรมดาทั่วไปที่สวมเครื่องแบบ" คุณซิงห์ กล่าว
มีโครงการอบรมด้านความปลอดภัยที่ชายหาดมากมาย ซึ่งพุ่งเป้าไปยังผู้ย้ายถิ่นฐานที่ไปทำกิจกรรมทางน้ำที่ชายทะเลทั่วประเทศ ซึ่งหลายโครงการประสบความสำเร็จในการสอนผู้ย้ายถิ่นฐานที่เพิ่งมาอยู่ใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก ๆ ให้รู้จักวิธีการสนุกสนานที่ชายหาดอย่างปลอดภัย

แต่ศาสตราจารย์แบรนเดอร์กล่าวว่า แนวทางนี้ควรขยายให้มุ่งเน้นไปที่ชุมชนมากขึ้น เพื่อช่วยให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ย้ายมาอยู่ในออสเตรเลียจากประเทศอื่นๆ ที่ดูเหมือนจะพลาดสารที่สำคัญไป

"มีโครงการดีๆ มากมายที่พยายามแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยในชุมชนเหล่านี้ ซึ่งผมมั่นใจว่า หลายๆ โครงการนั้นดี แต่ความท้าทายจริงๆ แล้วคือการเข้าถึงผู้คนเหล่านี้และกระตุ้นให้พวกเขาสนใจเรียนว่ายน้ำและเข้าร่วมโครงการเพื่อความปลอดภัยที่ชายหาด เราจำเป็นต้องพยายามมากขึ้นเพื่อจะเข้าถึงชุมชนเหล่านั้นและต้องมีแรงผลักดันใหม่ๆ ในการให้ความรู้แก่ผู้คนจากภายในชุมชนของพวกเขาเอง" ศาสตราจารย์แบรนเดอร์ แนะนำ
กลุ่ม ‘เทอร์เบินส์ ฟอร์ ออสเตรเลีย’ (Turbans 4 Australia) ได้ดำเนินโครงการในชุมชนของพวกเขาเอง โดยใช้ทุนสนับสนุนที่มีจำนวนจำกัดเพื่อผลิตวิดีโอให้ความรู้ด้านความปลอดภัยในการว่ายน้ำที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมของพวกเขา

คุณซิงห์กล่าวว่า เขาต้องการเห็นการสนับสนุนมากขึ้นมีให้แก่องค์กรต่างๆ ในชุมชนอย่างองค์กรของเขา เพื่อถ่ายทอดสารสำคัญนี้สู่ชุมชน เช่นเดียวกับความสำเร็จจากการนำข้อมูลสู่ชุมชนจากแรงขับคลื่นของคนในชุมชนเองในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19

"เราจำเป็นต้องทำอะไรมากกว่านี้ในระดับชุมชนต่างๆ เพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าใจข้อมูลในภาษาของพวกเขาเอง ในแบบที่พวกเขาสามารถเข้าใจได้ และได้ข้อมูลจากใบหน้าที่พวกเขาคุ้นเคย ประมาณนี้ ผมคิดว่าเราพลาดตลาดเป้าหมายหลักไปจริงๆ ซึ่ง ก็คือชุมชนผู้อพยพ เพราะถ้าเรามองจากสถิติต่างๆ แล้ว ผู้คนที่จมน้ำคือผู้คนที่ถูกพุ่งเป้าไปถึงน้อยที่สุดในการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยในการทำกิจกรรมทางน้ำต่างๆ " คุณซิงห์ กล่าว
เราจำเป็นต้องทำอะไรมากกว่านี้ในระดับชุมชนต่างๆ เพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าใจข้อมูลในภาษาของพวกเขาเอง ในแบบที่พวกเขาสามารถเข้าใจได้ และได้ข้อมูลจากใบหน้าที่พวกเขาคุ้นเคย
ในแถลงการณ์ โฆษกของ เซิร์ฟ ไลฟ์ เซฟวิง ออสเตรเลีย (Surf Life Saving Australia หรือ S-L-S) กล่าวกับ เอสบีเอส นิวส์ ว่า "ในหลายรัฐ ข้อมูลด้านความปลอดภัย รวมทั้ง โครงการเชิงปฏิบัติต่างๆ มีขึ้นโดยมุ่งเป้าไปยังชุมชนหลากภาษาและวัฒนธรรมในออสเตรเลีย องค์กรมีโครงการต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่แล้วทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงผู้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ใหม่ในออสเตรเลียเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยในการทำกิจกรรมทางน้ำ หลาย ๆ โครงการได้รับการสนับสนุนจากผู้นำภายในชุมชนและจากผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางน้ำต่างๆ ด้วย"


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand