ทนายความหญิงไทยในออสเตรเลีย

Lawywe nsw photo 3.jpg

คุณ ปริตา เพชรพิพัฒน์ ทนายความในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย

คุณ ปริตา เพชรพิพัฒน์ หรือคุณหมวย แบ่งปันประสบการณ์การเรียนกฎหมายในประเทศออสเตรเลีย เธอต้องผ่านอุปสรรคอะไรมาบ้าง พร้อมเล่าขั้นตอนและเคล็ดลับในการเรียนกฎหมายในออสเตรเลียให้สำเร็จ


คุณ ปริตา เพชรพิพัฒน์ หรือคุณหมวย ทนายความจากรัฐนิวเซสท์เวลส์เล่าให้เอสบีเอสไทยฟังถึงเรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจในการเรียนทนายความว่า เมื่อครั้งที่เลือกเรียนปริญญาตรีเธอเคยคิดอยากเรียนกฎหมายแต่สุดท้ายก็เลือกไปเรียนสายภาษา บวกกับเธอชอบทำงานช่วยเหลือคนอยู่เป็นทุนเดิม และเมื่อต้องย้ายตามสามีมาอยู่ออสเตรเลียเธอจึงคิดว่าอยากเลือกเรียนสิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ และต้องเป็นการเรียนที่ต่อยอดและเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้เธอในประเทศออสเตรเลีย

“ตอนย้ายตามสามีมาออสเตรเลีย หมวยรู้สึกว่าเราอายุเยอะ ถ้าจะเรียนอะไรสักอย่างอีกครั้งต้องเป็นสิ่งที่เราชอบจริงๆ สองต้องเป็นการเรียนที่เปิดประตูโอกาสให้เราในออสเตรเลีย และข้อที่สามคือการที่เรามาจากต่างประเทศภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแม่ของเรา บางครั้งโอกาสของเราค่อนข้างจำกัด หมวยเลยอยากเรียนอะไรที่ไม่เหมือนคนอื่น ”

การเรียนกฎหมายในออสเตรเลียมีขั้นตอนอย่างไร


คุณ หมวยเปิดเผยว่าการเรียนกฎหมายในออสเตรเลียมีหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การสอบไอเอลส์ให้ได้คะแนนที่มหาวิทยาลัยต้องการ เมื่อผ่านแล้วจึงยื่นสมัครเรียน หลักสูตรการเรียนกฎหมายเต็มเวลาเป็นเวลา 3 ปี เมื่อเรียนจบแล้วต้องเรียน Practical เป็นระยะเวลา 1 ปี หลังจากนั้นต้องยื่นเรื่องไปยังศาล Supreme court เพื่อเข้าพิธีสาบานตน และต้องยื่นขอ practising certificate ซึ่งเป็นเหมือนการขึ้นทะเบียนเป็นทนายความกับ Law society ในรัฐนั้นๆ เมื่อผ่านขั้นตอนทั้งหมดแล้วจึงได้รับการรับรองว่าเป็นทนายความอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เธอเล่าประสบการณ์ของตนเองว่า

“ก่อนที่จะเป็นทนายได้ต้องเรียนเนื้อหากฎหมายจบแล้วต้องเรียนด้าน Practical 1 ปี พอจบแล้วเราต้องยื่นเรื่องไปยังศาล Supreme court เพื่อเข้าพิธีสาบานตน และต้องยื่นขอ practising certificate ซึ่งเป็นเหมือนเป็น Licence สำหรับทนายความกับ Law society of NSW จึงจะสามารถทำงานเป็นทนายได้”

Lawyer nsw photo 1.jpg
คุณ ปริตา เพชรพิพัฒน์ ทนายความในรัฐนิวเซาท์เวลส์

หลักสูตรการเรียนกฎหมายที่ประเทศออสเตรเลียยากแค่ไหน

คุณปริตา เผยว่าสำหรับเธอนั้นมันยากมาก เธอต้องใช้ความพยายามมากกว่านักเรียนเจ้าของภาษาหลายเท่าแต่เธออาศัยความมุ่งมั่น อดทน ความมีวินัยและไม่ล้มเลิกจึงสามารถเรียนจนจบได้

“เรียนกฎหมายยากยังไง ยกตัวอย่างคือ (อ่านหนังสือ) รอบแรกไม่เข้าใจอะไรเลย รอบสอง 25% รอบสามเข้าใจ 50% แล้วก็ต้องอ่านรอบที่ 4 เพื่อให้เข้าใจจริงๆ ซี่งการเรียนกฎหมายของหมวยช่วงแรกๆ ต้องบอกเลยว่า work load ของหมวยมากกว่านักเรียนเจ้าของภาษาถึง 4 เท่า เพราะว่าระดับภาษาเรายังไม่ได้ แต่ว่าความมีระเบียบวินัย เคารพความสามารถของตัวเองและการไม่ล้มเลิก ภาษาของเราก็ดีขึ้นเรื่อยๆ”

คุณปริตาอธิบายว่า การเรียนกฎหมายในออสเตรเลียจะเน้นการทำความเข้าใจข้อกฎหมายและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่าการท่องจำตัวบทกฎหมายอย่างเดียว
การเรียนกฎหมายที่นี่เน้นความเข้าใจและใช้ให้เป็น เวลาเค้าทดสอบเค้าจะทดสอบความเข้าใจกฎหมายของเรามากกว่าว่าเราใช้เป็นหรือเปล่า ถ้าเราเข้าใจและสามารถใส่ reference ได้ ยังไงก็เรียนผ่านแน่นอน

การพัฒนาภาษาอังกฤษสำหรับคนที่ต้องการเรียนต่อ

คุณปริตาแนะนำเคล็ดลับการพัฒนาภาษาอังกฤษให้ดีขึ้นว่าอันดับแรกต้องวิเคราะห์จุดเด่น จุดด้อยของตนเอง แล้วจึงพัฒนาด้านนั้นอย่างสม่ำเสมอ การเตรียมตัวการการฝึกฝนอย่างเต็มที่ช่วยให้เราใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างมั่นใจมากขึ้นไม่ว่าสถานการณ์ใดก็ตาม

“อันดับแรกเลยต้องรู้ว่าเราด้อยจุดไหน อย่างหมวยตอนแรกรู้ตัวเลยว่าด้อยภาษาพูด ก็เลยพยายามที่จะฟัง podcast เกี่ยวกับกฎหมายทำให้เราได้เรียนรู้ความหมายของคำศัพท์ต่างๆ ในบริบทที่ถูกต้องจะเราก็นำมาใช้ได้ถูกต้อง ยิ่งเราเตรียมตัวมากเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้น”

คุณปริตาเล่าว่าเธอรู้สึกว่าการที่มีภูมิหลังมาจากชุมชนหลากวัฒนธรรมไม่ได้เป็นจุดด้อยแต่เธอนำความเข้าใจด้านภาษาและวัฒนธรรมมาเป็นจุดเด่นและเอกลักษณ์ซึ่งมีประโยชน์ในการทำงานเป็นอย่างมาก

“การว่าความครั้งแรกที่ประทับใจเพราะว่าหมวยได้ความแตกต่างของหมวยเอง คือความแตกต่างด้านความรู้ของวัฒนธรรม ภาษาที่แตกต่างกันนำมาใช้ช่วยเหลือลูกความ โดยหมวยสามารถอธิบายให้คนฟังเข้าใจว่าทำไมคุณคนนี้ถึงทำแบบนี้มากกว่าทนายที่เป็นคนออสเตรเลีย มันก็เลยทำให้เคสออกมาได้ดีมากขึ้น”

จะขอรับคำปรึกษาทางกฎหมายที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายจากองค์กรใดได้บ้าง

คุณ ปาริตา กล่าวว่ามีหลากหลายองค์กรที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายฟรีแต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของกฏหมายด้วย เช่นกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจ หรือการซื้อขายบ้านซึ่งองค์กรเหล่านี้อาจไม่สามารถให้คำปรึกษาได้ นอกจากนี้คุณยังสามารถขอใช้บริการล่ามเพื่อช่วยเหลือในการขอรับคำปรึกษาทางกฎหมายกับองค์กรดังกล่าวได้ด้วย

“มีหลายองค์กร (ในรัฐนิวเซาท์เวลส์) อย่างเช่น Community Legal centre ต่างๆ สามารถ google ได้และมีลิตส์ออกมาเอยะมาก หรือ Law access ที่ 1300 888 529 จะเป็นการให้ข้อมูลเบื้องต้น และสามารถติดต่อล่ามได้ที่เบอร์ 13 14 50 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ก็มี Legal aids ตามรัฐต่างๆ”

 
 คุณสามารถขอรับคำปรึกษาทางกฎหมายเบื้องต้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่

Community Legal centres ในรัฐของคุณ

Law access เบอร์โทรศัพท์ 1300 888 529

Legal aids ในรัฐของคุณ

สามารถติดต่อล่ามได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 13 14 50

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 




บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 



 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand