ถ้วยอนามัยทางเลือกใหม่ของผู้หญิง

ถ้วยประจำเดือน

ถ้วยประจำเดือน Source: Pixabay

SBS Thai Exclusive: ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยทั่วโลก รวมทั้งผู้หญิงไทย ตัดสินใจเมินผ้าอนามัยแบบดั้งเดิม หันมาใช้ถ้วยรองประจำเดือนหรือถ้วยอนามัยเป็นทางเลือกใหม่ ที่หลายคนบอกว่าทำให้พวกเธอ ‘ไม่หวั่นแม้วันมามาก’ ทั้งสะดวก ประหยัด และรักโลกไปพร้อมๆ กัน


กดปุ่ม 🔊 ด้านบนเพื่อฟังสัมภาษณ์เรื่องถ้วยอนามัยอย่างละเอียด

มีการคำนวณกันคร่าวๆ ว่าโดยทั่วไป ผู้หญิง 1 คนใช้ผ้าอนามัยทั้งแบบแผ่น หรือแบบสอดราว 11,000-16,000 ชิ้นในชั่วชีวิตของผู้หญิงคนนั้น ซึ่งนั่นเป็นขยะจำนวนมหาศาลที่ผู้หญิงทั้งโลกสร้างขึ้นจากความจำเป็นตามธรรมชาติของผู้หญิง อีกทั้งยังทำให้ผู้หญิงทุกคนต้องใช้เงินไปจำนวนไม่น้อยกับผ้าอนามัยทั้งแบบแผ่นหรือแบบสอดในแต่ละเดือน เพื่อจัดการกับเลือดประจำเดือนของตน

แนวคิดที่จะทำให้ผู้หญิงสร้างขยะน้อยลง และประหยัดเงินได้มากขึ้น ขณะที่ยังคงรับมือกับเลือดประจำเดือนได้เหมือนกับการใช้ผ้าอนามัยแบบดั้งเดิม ก่อให้เกิดการคิดค้นถ้วยรองประจำเดือนหรือถ้วยอนามัยขึ้น โดยมีการจดสิทธิบัตรสำหรับผลิตภัณฑ์นี้ขึ้นครั้งแรกของโลกในปี 1932 โดยบริษัท แมคกลาสสัน แอนด์ เพอร์คินส์ ซึ่งเป็นถ้วยอนามัยที่ทำจากยาง ต่อมามีหลายบริษัทที่ผลิตถ้วยอนามัยขึ้นตาม แต่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก จนกระทั่งในปี 2001 บริษัทมูนคัพของอังกฤษได้ผลิตถ้วยอนามัยขึ้นมาโดยทำจากซิลิโคนเป็นครั้งแรก จากนั้นจึงทำให้ถ้วยอนามัยซิลิโคน ที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้นี้ ได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลก และปัจจุบันมีผู้ผลิตถ้วยอนามัยจากซิลิโคนให้ผู้หญิงได้เลือกใช้มากมายหลายยี่ห้อ

ในประเทศไทยมีการนำถ้วยอนามัยเข้ามาจำหน่ายเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เพื่อช่วยลดขยะ ช่วยประหยัดเงิน และให้ความสะดวกสบายแก่ผู้หญิงไปพร้อมๆ กัน

คุณสุภัชญา เตชะชูเชิด จากบริษัทรีฟิลล์ สเตชัน ที่นำถ้วยอนามัยเข้ามาจำหน่ายเป็นเลือกใหม่ให้แก่ผู้หญิงในประเทศไทย กล่าวว่า แม้ถ้วยอนามัยจะเริ่มต้นจากวัตถุประสงค์ของการมุ่งลดขยะในโลก แต่การที่ผู้หญิงไทยหลายคนหันมาใช้ถ้วยอนามัยนั้นกลับไม่ใช่เพราะสาเหตุหลักที่ต้องการแสดงความรักโลก

“จริงๆ แล้ว เราไม่ได้บอกว่าทุกคนรักโลกนะ แต่ทุกคนรักความสะดวกสบายมากกว่า ซึ่งถ้วยอนามัยตอบโจทย์ได้หลายอย่าง คือมันสบายด้วย มันฟังก์ชันดี มันประหยัด แล้วมันก็รักโลกไปพร้อมๆ กัน” คุณสุภัชญา บอกกับเอสบีเอส ไทย

พร้อมเสริมว่า ผู้หญิงไทยส่วนหนึ่งที่ลองใช้ถ้วยอนามัยแล้วพึงพอใจอย่างมาก แต่อีกกลุ่มก็ไม่กล้าใช้ “กลุ่มแรกบอกเราว่ามันดีมาก ทำไมชีวิตไม่รู้จักสิ่งนี้มาก่อนหน้านี้เลย ขณะที่กลุ่มที่สอง อาจไม่เคยลอง หรือไม่ชิน เลยไม่กล้าใช้”
ถ้วยอนามัยทำจากซิลิโคน ที่สาวๆ หลายคนบอกว่าสะดวก ประหยัด และรักษ์โลกไปพร้อมๆ กัน
ถ้วยอนามัยทำจากซิลิโคน ที่สาวๆ หลายคนบอกว่าสะดวก ประหยัด และรักษ์โลกไปพร้อมๆ กัน Source: Pixabay
เธออธิบายว่าถ้วยอนามัยนี้มีลักษณะเป็นถ้วยขนาดเล็ก มีรูปทรงที่ดูเผินๆ เหมือนกระดิ่ง ซึ่งทำจากซิลิโคนเกรดการแพทย์ มีความนิ่มพอเหมาะ เพื่อใช้สอดเข้าไปในช่องคลอดสำหรับรองรับประจำเดือน

“ใส่เข้าไปข้างในช่องคลอด ซึ่งข้างในจะเป็นกึ่งสุญญากาศ (เลือดประจำเดือน) มันก็จะอยู่ในถ้วยนี้แหละ จนถึงเวลา เราก็ถอดออกมาล้าง มันก็จะไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่อับ ไม่ชื้น เพราะมันไม่ได้สัมผัสกับอากาศข้างนอกเลย” คุณสุภัชญา อธิบาย

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ถ้วยอนามัยได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่ผู้หญิงคือ การที่ถ้วยอนามัยนี้สามารถรองรับเลือดประจำเดือนได้นานเกือบตลอดวันทำให้ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อยเหมือนการใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่นและแบบสอด

“แทบไม่ต้องเปลี่ยนระหว่างวันเลยค่ะ เพราะว่าพอมันอยู่ได้ 12 ชั่วโมง ก็คือเปลี่ยนตอนเช้าที่เราออกจากบ้าน และเย็นหลังจากที่เรากลับมาบ้านแล้ว”

นอกจากนี้ ถ้วยอนามัยยังมีความแตกต่างจากผ้าอนามัยดั้งเดิมตรงที่ถ้วยอนามัยแต่ละถ้วยสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และมีอายุการใช้งานนานถึง 10 ปี

“เราจะมีถ้วยเดียวไปเลยค่ะ มีถ้วยเดียวไปตลอด 10 ปี ในการใช้แต่ละครั้ง พอเต็ม เราก็เทออกล้างน้ำเปล่า แล้วใส่กลับเข้าไป แต่ทุกครั้งหลังหมดรอบเดือน จะต้องนำไปต้มในน้ำเดือดประมาณ 5 นาทีเพื่อฆ่าเชื้อ”

คุณสุภัชญา ยังบอกกับ เอสบีเอส ไทย ว่าผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักถ้วยอนามัย เพราะในเมืองไทยไม่มีการพูดถึงมากนัก ประกอบกับความไม่คุ้นชินของการนำสิ่งของสอดใส่ในช่องคลอด

“คนที่ยังกังวลอยู่มากก็มี เพราะมันไม่คุ้นชิน แม้กระทั่งผ้าอนามัยแบบสอดใสบ้านเรา ก็ยังไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา

“มันลำบากแรกๆ ค่ะ เหมือนยังไม่ชิน เราก็จะหาตำแหน่งที่ใช่สำหรับตัวเองไม่เจอ แต่พอเริ่มชินและรู้จังหวะว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ก็จะเป็นไปโดยธรรมชาติและจะง่ายขึ้นมาก” คุณสุภัชญา เล่าประสบการณ์

เธอย้ำว่าถ้วยอนามัยแม้จะมีข้อดีหลายอย่าง แต่ก็ต้องอาศัยการปรับตัวของผู้หญิงตั้งแต่การนำเข้า-ออกจากร่างกาย และการทำความสะอาดและดูแลรักษา

“มันใส่สบายกว่าอย่างอื่นมากๆ แต่ก็แลกมาด้วยการต้องดูแลรักษามากกว่าเล็กน้อย”

ก่อนจากกัน คุณแอน สุภัชญา ในฐานะผู้ที่กล้าลอง จนกลายมาเป็นหนึ่งในสาวกของถ้วยอนามัย ขอให้ผู้หญิงที่ยังไม่เคยลองใช้ถ้วยอนามัยได้เปิดใจ เพื่อรับประสบการณ์ใหม่ที่อาจดีกว่า

“คนที่ยังไม่กล้าลอง ก่อนจะปฏิเสธ อยากให้ลองก่อน เพราะมันดี อย่างตัวเองตอนที่ใช้แรกๆ รู้สึกว่า ‘ฉันไปอยู่ไหนมาตั้ง 20 กว่าปี ทำไมไม่รู้จักสิ่งนี้มาตั้งนานแล้ว’

“แต่เราก็ไม่ได้บอกว่าสิ่งนี้จะเหมาะกับทุกคน เราไม่สามารถบอกได้ว่าโครงสร้างข้างในของคุณเหมาะกับการใช้สิ่งนี้หรือเปล่า แต่อยากให้ลองดูก่อน เปิดใจ หรือทำการบ้านมากขึ้น ศึกษามากขึ้น ว่าใช้ถ้วยแบบไหนดี ใช้ประเภทไหนดี แล้วมันจะเหมาะกับเราไหม” คุณสุภัชญา เตชะชูเชิด กล่าวทิ้งท้ายกับเอสบีเอส ไทย

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพูดคุยเรื่องถ้วยอนามัยเท่านั้น คุณสามารถฟังการพูดคุยอย่างละเอียดถึงคำแนะนำในการใช้ถ้วยอนามัย การเลือกถ้วยอนามัย การดูแลรักษา ข้อควรระวังในการใช้ ในบทสัมภาษณ์ คุณสุภัชญา เตชะชูเชิด ได้จากพอดคาสต์

กดปุ่ม 🔊 ด้านบนเพื่อฟังสัมภาษณ์เรื่องถ้วยอนามัยอย่างละเอียด

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับถ้วยอนามัยเป็นภาษาไทยจากบริษัทรีฟิลล์ สเตชัน ได้ และอ่านข้อมูลเกี่ยวกับถ้วยอนามัยสำหรับผู้บริโภคในออสเตรเลียได้จากองค์กรชอยส์

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่



Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand