ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นยังตามหลังคนอื่นเรื่องค่าจ้าง

Premier Daniel Andrews Gives COVID-19 Update

ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นยังตามหลังคนอื่นเรื่องค่าจ้าง Source: Getty / Getty Images AsiaPac

รายงานล่าสุดพบว่า ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐานมีแนวโน้มจะทำงานในอุตสาหกรรมที่ให้ค่าจ้างต่ำ ไม่ว่าพวกเขาจะมีทักษะที่แท้จริงอย่างไร


รายงานล่าสุดพบว่า ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐานมีแนวโน้มจะทำงานในอุตสาหกรรมที่ให้ค่าจ้างต่ำ ไม่ว่าพวกเขาจะมีทักษะที่แท้จริงอย่างไร

แต่รายงานดังกล่าวใช้ข้อมูลเมื่อ 2 ปีก่อนของสำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลีย และขณะนี้ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐานอยู่ในตลาดงานที่มีการแข่งขันการน้อยลงและกำลังมีการให้วีซ่าถาวรแก่ลูกจ้างทักษะมากขึ้น

สำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลีย (Australian Bureau of Statistics) หรือ เอบีเอส ได้ติดตามสภาพของตลาดแรงงานในประเทศมานานหลายปีแล้ว

จากรายงานล่าสุดของเอบีเอส ที่พิจารณาข้อมูลทางสถิติ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้ภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าใครทำงานที่ไหนและได้รับค่าจ้างเท่าไร

และจากรายงานฉบับนี้นั้น ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐานกำลังตามหลังคนอื่น

รายงานดังกล่าวใช้ข้อมูลของปีงบประมาณ 2019-2020 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารายได้มัธยฐานประจำปีของบุคคลธรรมดาสำหรับผู้ย้ายถิ่นฐานอยู่ที่ราว 45,000-70,000 ดอลลาร์ ซึ่งน้อยกว่าประชากรทั่วไปโดยรวม

คุณแคทรินา แอลล์ นักเศรษฐศาสตร์จากมูดีส์ (Moody's) ชี้ว่า ผู้ย้ายถิ่นฐานมักทำงานในอุตสาหกรรมที่ให้ค่าจ้างต่ำ

"ผู้ย้ายถิ่นฐานจำนวนมากอย่างไม่สมส่วนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ซึ่งมีแนวโน้มจะได้รับค่าจ้างต่ำกว่า นั่นคืออุตสาหกรรมอาทิ การดูแลสุขภาพ ธุรการ การบริการสังคม และการบริการต้อนรับ และเนื่องจากการที่พวกเขาอยู่ในอุตสาหกรรมเหล่านี้มากกว่าประชากรอื่นๆ นั่นจึงหมายความว่า เราจึงไม่เห็นค่าจ้างของพวกเขาที่เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรออสเตรเลียในวงกว้าง" คุณแอลล์ นักเศรษฐศาสตร์ กล่าว
ผู้ย้ายถิ่นฐานจำนวนมากอย่างไม่สมส่วนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ซึ่งมีแนวโน้มจะได้รับค่าจ้างต่ำกว่า นั่นคืออุตสาหกรรมอาทิ การดูแลสุขภาพ ธุรการ การบริการสังคม และการบริการต้อนรับ
แคทรินา แอลล์ นักเศรษฐศาสตร์จากมูดีส์
เมื่อเดือนพฤษภาคม สถาบันแกรตแทน (Grattan Institute) ระบุในรายงานฉบับหนึ่งว่า “ภาคอุตสาหกรรมอย่างด้านการบริการต้อนรับพึ่งพาผู้ย้ายถิ่นฐานชั่วคราวมากจนเกินไป โดยเฉพาะนักเรียนต่างชาติ เพื่อให้ทำงานในตำแหน่งงานที่ใช้ทักษะต่ำกว่างานอื่นๆ และให้ค่าจ้างน้อย”

คุณแคทรินา แอลล์ กล่าวว่า รายงานจากเอบีเอสฉบับใหม่นี้ เน้นให้เห็นมากขึ้นถึงความสำคัญของลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐานที่มีต่อเศรษฐกิจออสเตรเลีย

"สถิติเหล่านี้จึงสะท้อนอย่างชัดเจนถึงบทบาทสำคัญที่ผู้ย้ายถิ่นฐานในออสเตรเลียมีต่อตลาดแรงงานและเศรษฐกิจในวงกว้าง การเข้าไปทำงานของพวกเขานั้นส่งผลที่สัมผัสได้ในอุตสาหกรรมหลักๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านบริการที่พัก บริการอาหารและเครื่องดื่ม บริการด้านการดูแลสุขภาพ และงานธุรการ หากปราศจากการเข้ามาทำงานและการเกื้อกูลของพวกเขา เศรษฐกิจของออสเตรเลียคงไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่เป็น" คุณแอลล์ นักเศรษฐศาสตร์ กล่าว
การเข้าไปทำงานของพวกเขานั้นส่งผลที่สัมผัสได้ในอุตสาหกรรมหลักๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านบริการที่พัก บริการอาหารและเครื่องดื่ม บริการด้านการดูแลสุขภาพ และงานธุรการ
แคทรินา แอลล์ นักเศรษฐศาสตร์จากมูดีส์
แต่สถาบันการย้ายถิ่นฐานของออสเตรเลีย (Migration Institute of Australia) ที่มีผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายคอยช่วยเหลือผู้ย้ายถิ่นฐานที่เพิ่งเดินทางเข้ามายังออสเตรเลีย ตั้งคำถามถึงข้อมูลที่ใช้สำหรับรายงานฉบับนี้

คุณจูลี วิลเลียมส์ ประธานสูงสุดทั่วประเทศ ของสถาบัน กล่าวว่า การที่รายงานใช้ข้อมูลสถิติจากปีงบประมาณ 2019-2020 ทำให้ผลที่พบนั้นไม่สะท้อนสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันอีกต่อไป

"ข้อมูลมันเก่าไปแล้วและอาจไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนกังวลจริงๆ ในตอนนี้ ดิฉันเข้าใจถึงสิ่งที่คุณคิดคือ ตายแล้ว 'ผู้ย้ายถิ่นฐานที่มีทักษะกลับไม่ได้ทำงานในตำแหน่งงานที่ใช้ทักษะ' แต่ในขณะนี้ ด้วยอัตราการว่างงานที่ต่ำสุดในรอบหลายปี นายจ้างต่างจึงกำลังอ้าแขนรับลูกจ้างชั่วคราวจากต่างประเทศ" คุณ วิลเลียมส์ แสดงความเห็น
ดิฉันเข้าใจถึงสิ่งที่คุณคิดคือ ตายแล้ว 'ผู้ย้ายถิ่นฐานที่มีทักษะกลับไม่ได้ทำงานในตำแหน่งงานที่ใช้ทักษะ' แต่ในขณะนี้ ด้วยอัตราการว่างงานที่ต่ำสุดในรอบหลายปี นายจ้างต่างจึงกำลังอ้าแขนรับลูกจ้างชั่วคราวจากต่างประเทศ
จูลี วิลเลียมส์ สถาบันการย้ายถิ่นฐานของออสเตรเลีย
เธอเชื่อว่า สถานการณ์ทุกวันนี้แตกต่างออกไป หลังจากการระบาดใหญ่ของโควิดส่งผลให้ผู้คนไม่ได้เดินทางเข้ามายังออสเตรเลีย ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นจึงกำลังเผชิญกับตลาดงานที่แตกต่างไปจากเดิม

"การระบาดใหญ่ของโควิด เปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ดิฉันคิดว่ามีสถิติระหว่างปี 2019 ถึงปี 2021 ที่เราสูญเสียผู้คนไป 416,000 คน (มีแรงงานต่างชาติเดินทางกลับประเทศ) และทันใดนั้น เราก็มีคนไม่พอ มีคนที่ว่างงานอยู่ไม่พอสำหรับงานที่กำลังมองหาคนงาน" คุณ วิลเลียมส์ กล่าว

จากรายงานของเอบีเอสนั้น ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐานเป็นผู้ที่ทำงานในตำแหน่งงานราวร้อยละ 26 ของงานทั้งหมดในออสเตรเลียในปีงบประมาณ 2019-2020 ขณะที่ผู้ย้ายถิ่นฐานมีจำนวนเกือบร้อยละ 30 ของประชากรออสเตรเลีย

ในจำนวนนั้นกว่าครึ่งหนึ่งถือวีซ่าถาวร และร้อยละ 29 ถือวีซ่าชั่วคราว

คุณจูลี วิลเลียมส์ จากสถาบันการย้ายถิ่นฐานของออสเตรเลีย (Migration Institute of Australia) กล่าวว่า การตัดสินใจเมื่อเร็วๆ นี้ของรัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลีย ที่จะให้วีซ่าถาวรมากขึ้น จะทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

"เนื่องจากการปิดพรมแดน รัฐบาลจึงไม่ได้เชิญใครให้มาสมัครวีซ่าแรงงานทักษะที่ไม่ต้องใช้สปอนเซอร์ ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พวกเขาได้เชิญผู้สมัคร 12,200 คน และจากนั้นในเดือนธันวาคม ในช่วงสัปดาห์ของวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้เชิญผู้สมัครจำนวนมากถึง 35,000 คน ทั้งในและนอกออสเตรเลีย" คุณวิลเลียมส์ เผย

ประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจจากรายงานฉบับนี้ก็คือ กลุ่มผู้ย้ายถิ่นฐานที่ได้รับค่าจ้างสูงสุดอยู่ในเขตนครหลวงของออสเตรเลียหรือเอซีที ส่วนกลุ่มผู้ย้ายถิ่นฐานที่ได้รับค่าจ้างต่ำที่สุดอยู่ในแทสเมเนีย ซึ่งในกรณีหลังนั้นสอดคล้องกันกับสถิติของลูกจ้างที่เกิดในออสเตรเลียด้วย


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand