ครบ 10 ปีที่มีป้าย Thai Town ที่ซิดนีย์

Photo-Thaitown sign (1)-Wikipedia.jpg

ป้ายไทย ทาวน์ถัดจากป้ายชื่อถนนแคมป์เบลล์ แถวเฮย์มาร์เก็ตในตัวเมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย Credit: Wikipedia

ไทย ทาวน์ ที่เมืองซิดนีย์ ออสเตรเลียนับเป็นย่านคนไทยที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก ปีนี้ครบรอบ 10 ปีที่มีการขึ้นป้ายไทย ทาวน์ ฟังเรื่องราวว่าไทย ทาวน์เริ่มขึ้นได้อย่างไร และแผนการปรับปรุงโฉมใหม่โดยเทศบาลนครซิดนีย์


กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน

ไทย ทาวน์ ตั้งอยู่บนถนนแคมป์เบลล์ (Campbell Street) เป็นส่วนหนึ่งของเฮย์มาร์เก็ต (Haymarket) ในใจกลางนครซิดนีย์และอยู่ไม่ไกลจากไชน่า ทาวน์ (China Town) เป็นแหล่งที่มีธุรกิจของคนไทยเปิดให้บริการทั้งแก่ชุมชนไทยและชุมชนชาติอื่นในออสเตรเลีย มีทั้งร้านอาหารไทย ร้านขายของชำ ร้านตัดผม ร้านนวด และร้านอื่นๆ โดยซิดนีย์เป็นเมืองที่มีประชากรที่มีเชื้อชาติไทยอาศัยอยู่สูงที่สุดในออสเตรเลียและเป็นเมืองเดียวที่มีไทย ทาวน์ (Thai Town)

เดิมคนไทยจะมักจะมาซื้อของในบริเวณไชน่า ทาวน์ จนวันหนึ่งมีร้านขายของชำเฉพาะของคนไทยเปิดตัวขึ้น ทำให้มีร้านไทยต่างทยอยมาตั้งในบริเวณเดียวกัน

คุณเจษฎา (กอล์ฟ) เที่ยงวงษ์เจ้าของร้านพรทิพย์ในปัจจุบัน (เดิมเจ้าของคือคุณพรทิพย์) เล่าถึงร้านพรทิพย์ซึ่งเป็นร้านแรกๆ บนถนนแคมป์เบลล์

“สมัยก่อนมันไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีเฟซบุ๊ก ก็จะเป็นคนไทยมาซื้อของไทย แล้วก็จะมีบอร์ดติดป้ายหางาน หาที่อยู่อะไรเงี๊ยะครับ คนก็จะมายืนดู คนไทยเค้าก็จะมาที่นี่”
Photo-Pontip grocery (1).jpg
ร้านพรทิพย์ ร้านขายของชำร้านแรกๆ ที่มาเปิดบนถนนแคมป์เบลล์ Credit: Supplied/Pontip Grocery Store
จากนั้นก็มีธุรกิจของคนไทยเปิดกิจการในบริเวณนี้มากขึ้น คุณกันยรัตน์ (ต้อง) ฤทธิเดชคนไทยที่อยู่ที่ซิดนีย์เล่าถึงสมัยที่ชุมชนไทยเริ่มเรียกจุดนี้ว่าไทย ทาวน์ ก่อนที่จะมีการขึ้นป้าย

“หลายๆ ชาติเนี่ยเค้าจะถามว่าไทย ทาวน์ เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ และอยู่ที่ไหน เราก็ต้องอธิบายให้เค้าฟัง จริงๆ แล้วเธอเดินผ่าน แต่เธออาจจะไม่รู้ว่ามันคือไทย ทาวน์”

ต่อมาจึงมีการขึ้นป้ายไทย ทาวน์ ซึ่งคุณต้องกล่าวว่าเป็นการปักหมุดเป้าหมายที่ชัดเจน

“ในสมัยก่อนร้านไทยอยู่กระจัดกระจายกันประมาณนึง ไม่ได้อยู่ในแคมป์เบลล์ สตรีท ทั้งหมด จะมีออกนอกเส้นทางไปบ้าง ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ แต่ว่าในปัจจุบันเราคิดว่าการที่มันมีความเป็นไทย ทาวน์ขึ้นมา มันทำให้คนไทยรู้ว่าถ้าเราต้องการอะไรที่เป็นไทยๆ เนี่ย เราก็มาที่นี่ หรือแม้กระทั่งคนออสเตรเลียนที่เค้าสนใจอาหารไทยหรืออะไรก็ตามที่เป็นไทยๆ เค้าก็รู้ มีเป้าหมายแน่นอนว่าจะมาที่ไหน”
Photo-Thaitown sign (1)-Wikipedia.jpg
ป้ายไทย ทาวน์ถัดจากป้ายชื่อถนนแคมป์เบลล์ แถวเฮย์มาร์เก็ตในตัวเมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย Credit: Wikipedia
คุณกอล์ฟกล่าวว่าไทย ทาวน์เปลี่ยนไปจากเดิมเยอะมาก สิ่งที่คุณกอล์ฟเห็นว่าหายไปคือร้านเช่าวิดิโอหรือซีดี และคนที่มาเดินไทย ทาวน์ไม่ได้มีแค่คนไทยเหมือนแต่ก่อน

“คนที่มาเดินไทยทาวน์สมัยก่อนก็จะมีแต่คนไทยซะส่วนใหญ่ แต่เดี๋ยวนี้คนที่มาเดินซื้อของ เดินเที่ยวไทย ทาวน์ไม่ได้มีแค่คนออสซี่ เป็นคนจีน เป็นคนเกาหลี คนอินโด คนชาติอื่นๆ ผมรู้สึกว่าไทย ทาวน์ของเรามันมีชื่อเสียง”

คุณต้องเสริมว่าการที่มีป้ายไทยทาวน์มีผลดีในแง่ของการเป็นสัญลักษณ์ของชุมชน
มันเป็นการยืนยันความมีตัวตนของชุมชนไทยในซิดนีย์ และคิดว่าเป็นตัวช่วยในการเสริมพลังในการต่อรองทางธุรกิจด้วยค่ะ
สำหรับประวัติการขึ้นป้ายไทย ทาวน์ คุณธนาวรรณ (จอย) โรจนเวทย์ ประธานสมาคมสมาคมนักธุรกิจและชุมชนไทยทาวน์ซิดนีย์ (Thai Town Business and Thai Community Association) ย้อนเล่าถึงการสำรวจสำมะโนประชากรที่ออสเตรเลีย (Census) ปี 2012 ซึ่งพบว่าภาษาที่มีการพูดในย่านเฮย์ มาร์เก็ตมากเป็นอันดับที่ 3 คือภาษาไทย รองจากภาษาอังกฤษและภาษาจีน แสดงให้เห็นว่าเป็นสถานที่ที่ชุมชนไทยอยู่อย่างหนาแน่น ทางเทศบาลนครซิดนีย์จึงทำการสำรวจต่อไปอีก

“ก็เลยพอจะทราบว่าแรกเริ่มเนี่ย ร้านแรกที่ดึงดูดคนไทยมาคือร้านขายของชำที่เอาของมาจากเมืองไทย ทำให้ร้านอาหารต่างๆ ที่อยู่นอกเมืองเข้ามาจับจ่ายซื้อของ เมื่อมากันมากขึ้น ก็เลยมีร้านขายของที่ 2 ที่ 3 ยิ่งเพิ่มความเป็นศูนย์กลางของคนไทยมากขึ้น"
ก็มีร้านอาหารไทยเปิดตามต่อๆ มาจนกลายเป็นประมาณ 60 ร้านอาหารไทยในเขตเฮย์มาร์เก็ตนี้
เมื่อเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าจุดนี้เป็นแหล่งของคนไทย เทศบาลนครซิดนีย์จึงอยากสร้างจุดที่เป็นไทย ทาวน์ โดยทำงานร่วมกับกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ในเวลานั้น

สำหรับการขึ้นป้ายไทย ทาวน์ คุณหัทยา คูสกุล ท่านกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ในปัจจุบันกล่าวว่าไทย ทาวน์เป็นที่รู้จักของคนท้องถิ่นซึ่งเรียกกันปากต่อปากอยู่แล้ว และรัฐบาลไทยได้เข้ามามีส่วนผลักดันด้วย

“ในช่วงของการเยือนของท่านนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2012 มีการหารือกับผู้นำระดับสูงของทางออสเตรเลีย ซึ่งก็ได้มีการยกเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนต่อประชาชน ความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรม มีการยกว่าชุมชนไทยของเราที่มาอยู่ในนครซิดนีย์ก็มีการประกอบธุรกิจ เป็นชุมชนที่สร้างความหลากหลายทางวัฒนธรรม นำเอาวัฒนธรรมด้านอาหารมาเผยแพร่ ก็อยากให้ทางการท้องถิ่นให้การยอมรับ การขึ้นป้ายไทย ทาวน์ก็จะเป็นส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี”
Photo-Thai Town sign opening ceremony.jpg
พิธีเปิดป้ายไทย ทาวน์ครั้งแรกในปี 2013 ที่ซิดนีย์ Credit: Supplied/Thai Town Business and the Thai Community Association
จากนั้นสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ผลักดันต่อกับเทศบาลนครซิดนีย์ (City of Sydney) จนมีการขึ้นป้ายไทย ทาวน์ในเดือนตุลาคม ปี 2013 โดยมีนายกเทศมนตรีโคลเวอร์ มัวร์ (Clover Moore) เข้าร่วมพิธีเปิดป้ายไทย ทาวน์ด้วย

คุณจอยกล่าวถึงวันที่มีพิธีเปิดป้ายไทย ทาวน์ว่า
ตอนนั้นรู้สึกภาคภูมิใจที่ชุมชนธุรกิจเล็กๆ ของคนไทยที่มารวมกันอยู่ในจุดนี้ได้รับความสนใจจากซิตี้ ออฟ ซิดนีย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐของออสเตรเลีย จนมอบป้ายติดถนนที่เขตนี้ว่าเป็นเขตไทย ทาวน์
นอกจากนี้ไทย ทาวน์ยังเป็นสถานที่ที่มีการจัดกิจกรรมทั้งสำหรับชุมชนไทยและกิจกรรมร่วมกับชุมชนออสเตรเลียด้วย
เรื่องที่เกี่ยวข้อง

Thailand Grand Festival กลับมาแล้ว 14-15 พ.ค.

“เรามีการจัดกิจกรรมร่วมกับเทศบาลนครซิดนีย์อย่างต่อเนื่อง ก็เป็นที่มาของโครงการ Thailand Grand Festival ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ได้ร่วมผลักดันกับธุรกิจร้านอาหารที่อยู่ในย่านไทยทาวน์ นำเสนออาหารไทย ศิลปะวัฒนธรรมไทย จัดต่อเนื่องมา 10 ปี”   
Photo-Thai consulate (2).jpg
กงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ คุณหัทยา คูสกุล Credit: Supplied/Hataya khusakul
ตรงนี้ท่านกงสุลใหญ่ฯ หัทยากล่าวว่าไทย ทาวน์นับเป็นจุดเผยแพร่วัฒนธรรมหรือเป็นซอฟต์ พาวเวอร์ของไทยซึ่งชุมชนไทยในออสเตรเลียถือว่ามีส่วนช่วยผลักดัน ส่งผลยังต่อเนื่องไปถึงเรื่องการท่องเที่ยวและการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและออสเตรเลียด้วย

10 ปีผ่านไป คุณจอยกล่าวถึงความรู้สึกทุกครั้งเมื่อเดินทางมาที่ไทย ทาวน์ในปี 2023 ว่า

“ดีใจเวลาเดินเข้ามาในไทย ทาวน์ก็จะมีความสุขใจปนไปด้วย เพราะว่าเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ที่เราเห็นมาตลอด ไทย ทาวน์ มีความเปลี่ยนแปลง ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายสถานการณ์มา บางครั้งทำให้ธุรกิจในย่านนี้ต้องสะดุดไปบ้าง เช่น การปิดถนนเพื่อสร้างรถราง (Light rail) พอสร้างเสร็จก็ต้องล็อกดาวน์เพราะโควิด 2 ปี ล้มลุกคลุกคลานกันมาพอสมควร”
Photo-Joy (1).jpg
คุณธนาวรรณ (จอย) โรจนเวทย์ ประธานสมาคมนักธุรกิจและชุมชนไทยทาวน์ซิดนีย์ Credit: Supplied/Thanawan Rochanavedya
แต่คุณจอยกล่าวว่าไทย ทาวน์กลับมาเข้มแข็ง คึกคักมากกว่าเดิม มีร้านอาหารไทยเปิดเพิ่มมากขึ้นในปีที่ผ่านมา พูดได้ว่าเป็นสีสันของเทศบาลนครซิดนีย์ และมั่นใจว่าจะเติบโตต่อไปอีก
ล่าสุดเทศบาลนครซิดนีย์มีแผนที่จะปรับปรุงไชน่า ทาวน์และรวมถึงไทย ทาวน์ด้วย คุณจอยกล่าวว่าตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ไทย ทาวน์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเฮย์มาร์เก็ต โดยชุมชนหลักคือชาวจีนซึ่งมีไชน่า ทาวน์อยู่คนละฝั่งถนน

“ในอดีต เขตนี้เป็นเขตเศรษฐกิจที่ค้าขายเจริญรุ่งเรืองมายาวนาน พอเวลาผ่านไปเขตไชน่า ทาวน์ขณะนี้ค่อนข้างซบเซา"
ทางเทศบาลฯเล็งเห็นว่าควรมีการปรับโฉมย่านเฮย์มาร์เก็ตให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาอีก โดยที่ไทยทาวน์รวมอยู่ในเฮย์ มาร์เก็ตด้วย
เนื่องจากมีคนมาที่ไทย ทาวน์ค่อนข้างมากจึงเป็นจุดขายของเทศบาลนครซิดนีย์ จึงมีแผนจะปรับปรุงถนนให้สวยขึ้น

ฟังบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มถึงแผนการปรับปรุงโฉมใหม่ให้ไทย ทาวน์ ว่าจะมีอะไรบ้าง ชุมชนไทยอยากให้ปรับปรุงจุดไหนบ้าง รวมถึงคำตอบว่าป้ายไทย ทาวน์ หายไปไหน

กด ▶ ฟังบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม
Thai_Interview_10 years Thai Town_291123.mp3 image

ครบ 10 ปีที่มีป้าย Thai Town ที่ซิดนีย์

SBS Thai

29/11/202320:00

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 
 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand