แฟร์เวิร์กตัดสินให้แรงงานฟาร์มมีสิทธิ์ได้ค่าจ้างขั้นต่ำ

สหภาพแรงงานตอบรับคำตัดสินประกันค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับแรงงานฟาร์ม ซึ่งกว่าครึ่งเป็นผู้ย้ายถิ่นฐานชั่วคราวที่ "เสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบ"

Workers prepare to collect poppy seeds by bagging seed pods in a poppy field near Devonport, Tasmania.

Workers prepare to collect poppy seeds by bagging seed pods in a poppy field near Devonport, Tasmania. Source: AAP

ล่าสุด อัตราใหม่สำหรับค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานเก็บผักและผลไม้ในฟาร์มเริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2022

คณะกรรมาธิการแฟร์เวิร์ก (Fair Work Commission) มีคำตัดสินให้คนงานในฟาร์มและแรงงานเก็บผลไม้ที่ได้ค่าจ้างตามปริมาณผลผลิต ต้องได้รับการประกันค่าจ้างขั้นต่ำภายใต้ข้อกำหนดอัตราค่าจ้างในอุตสาหกรรมเพาะปลูกพืชสวน (Horticulture Award)

อัตราค่าจ้างตามปริมาณผลผลิต (piece rate) หมายความว่า ลูกจ้างได้ค่าตอบแทนตามปริมาณผลผลิตที่เก็บเกี่ยวหรือบรรจุหีบห่อ การคิดค่าจ้างในลักษณะนี้เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสหภาพแรงงานมายาวนานจากปัญหาค่าจ้างต่ำเกินควร

สหภาพแรงงานออสเตรเลีย (Australian Workers Union: AWU) ยื่นข้อร้องเรียนในประเด็นนี้ต่อคณะกรรมธิการแฟร์เวิร์กเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยยืนยันว่า แรงงานควรได้รับประกันค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราแคชวล (casual) ที่ 25.41 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (3 พ.ย.) คณะกรรมาธิการแฟร์เวิร์กมีคำตัดสินระบุว่า บทบัญญัติว่าด้วยแรงงานที่ได้รับค่าจ้างตามปริมาณผลผลิตในข้อกำหนดอัตราค่าจ้างในอุตสาหกรรมเพาะปลูกพืชสวนนั้น “ไม่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์” เนื่องจากบทบัญญัติเหล่านี้ไม่ได้มอบความคุ้มครองขั้นต่ำแก่แรงงาน (safety net) ที่เหมาะสมและเป็นธรรม

คณะกรรมาธิการกล่าวว่า จำเป็นต้อง “สอดแทรกอัตราพื้นฐานค่าจ้างขั้นต่ำ” พร้อมทั้งเสนอแนะว่าควรมี “บทบัญญัติสืบเนื่องว่าด้วยการบันทึกเวลา” เพื่อติดตามชั่วโมงทำงาน

นายแดเนียล วอลตัน (Daniel Walton) เลขาธิการระดับชาติของ AWU กล่าวว่าคำตัดสินครั้งนี้นับเป็น “หนึ่งในการตัดสินใจภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดของยุคสมัยใหม่”

“ที่ผ่านมา คนเก็บผลไม้ในออสเตรเลียถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างเป็นระบบสม่ำเสมอ ทั้งยังได้รับค่าตอบแทนต่ำเกินควร” นายวอลตันกล่าว
“เกษตรกรจำนวนมากมีวิธีควบคุมบงการระบบค่าแรงตามปริมาณผลผลิต เพื่อตั้งค่าตอบแทนและสร้างเงื่อนไขที่ต่ำกว่ามาตรฐานของออสเตรเลียมาก”

คณะกรรมาธิการยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า แรงงานเก็บเกี่ยวผลผลิตเกษตรตามฤดูกาลจำนวนไม่น้อยทำงานภายใต้อัตราค่าจ้างตามปริมาณผลผลิต อีกทั้งแรงงานเกินครึ่งหนึ่งเป็นผู้ย้ายถิ่นฐานชั่วคราว

การยื่นข้อร้องเรียนครั้งนี้ของ AWU ได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐบาลควีนส์แลนด์ รัฐบาลวิกตอเรีย และรัฐบาลเวสเทิร์นออสเตรเลีย รวมถึงสภาบริการสังคมแห่งออสเตรเลีย (Australian Council of Social Service)

สหพันธ์เกษตรกรแห่งชาติ (National Farmers Federation) กลุ่มอุตสาหกรรมแห่งออสเตรเลีย (Australian Industry Group) และสมาพันธ์ผู้ผลิตและจัดหาพืชผลแห่งออสเตรเลีย (Australian Fresh Produce Alliance) เป็นเสียงส่วนหนึ่งที่ออกมาคัดค้านการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

นายโทนี มาเฮอร์ (Tony Maher) ประธานบริหารสหพันธ์เกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สมาพันธ์ “ผิดหวัง” กับคำตัดสินครั้งนี้ โดยแย้งว่าภาระค่าใช้จ่ายจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร

“บทบัญญัตินี้จะทำให้ผู้เพาะปลูกส่งผลิตผลเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตในราคาที่แข่งขันได้ลำบากขึ้น เพราะตอนนี้ต้นทุนค่าแรงกำลังจะเพิ่มขึ้น” นายมาเฮอร์กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์
ขณะนี้ คณะกรรมาธิการแฟร์เวิร์กเริ่มกระบวนการรับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างข้อเสนอเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดดังกล่าวแล้ว

นายเดวิด ลิตเติลพราวด์ (David Littleproud) รัฐมนตรีเกษตรกรรมของออสเตรเลีย กล่าวว่า รัฐบาลจะทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อรับรองว่าการดำเนินการเป็นไปโดยราบรื่นที่สุด

“ไม่ว่าในอุตสาหกรรมใดก็จะมีส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งทำเรื่องที่ผิด ซึ่งต้องถูกถอนรากถอนโคน และกลุ่มนี้ในอุตสาหกรรมการเกษตรจะถูกขจัดออกไป” นายลิตเติลพราวด์กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์

ด้านนายแอนโทนี อัลบานีซี ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า การจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่เรื่อง “ซับซ้อน” แต่เป็น “สิ่งที่ถูกต้องควรทำ”

“เราต้องหยุดยั้งไม่ให้ใครถูกเอารัดเอาเปรียบ” นายอัลบานีซีกล่าวกับผู้สื่อข่าว “การตัดสินใจครั้งนี้เป็นเรื่องน่ายินดี”

อ่านรายงานนี้ฉบับเต็มเป็นภาษาอังกฤษได้ที่เว็บไซต์


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 4 November 2021 7:32pm
Updated 29 April 2022 4:06pm
By Tom Stayner
Presented by Phantida Sakulratanacharoen
Source: SBS News


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand