ลูกจ้างฟาร์มไม่น้อยได้ค่าแรงต่ำกว่ากฎหมาย

การทำงานในสวนผลไม้ในออสเตรเลีย

การทำงานในสวนผลไม้ในออสเตรเลีย Source: SBS

การสำรวจล่าสุดพบลูกจ้างทำงานฟาร์ม 2 ใน 3 ได้ค่าแรงต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายกำหนด ขณะที่สหภาพแรงงานเรียกร้องร้านค้าซูเปอร์มาร์เกตรับผิดชอบมากกว่านี้สำหรับลูกจ้างฟาร์มที่ถูกเอาเปรียบ


มีรายงานล่าสุดจากสหภาพแรงงานลูกจ้างแห่งชาติ (National Union of Workers) แสดงให้เห็นสภาพการทำงานที่ยังคงเลวร้ายของลูกจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมการเพาะปลูกพืชผล

การสำรวจของสหภาพแรงงานเผยให้เห็นว่า 2 ใน 3 ของลูกจ้างในฟาร์มผลิตพืชผลทางการเกษตร ยังคงได้รับค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนด โดยเฉลี่ยได้ค่าจ้างต่ำกว่า 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง

สภาพการทำงานที่เลวร้าย การปฏิบัติต่อลูกจ้างที่ไม่ดีนัก และการจ่ายค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนด เป็นปัญหาที่คุ้นเคยกันดีสำหรับอดีตแรงงานเก็บผัก อย่างนาตาชา

เธอเคยทำงานในฟาร์มแห่งหนึ่งทางเหนือของรัฐวิกตอเรีย เธอกล่าวว่า เธอถูกบีบให้ต้องทำงานเป็นเวลายาวนานในแต่ละวัน และได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับการเป็นลูกจ้างแคชชวลเกือบ 10 ดอลลาร์

“หากคุณทำงานไม่เร็วเท่ากับที่พวกเขาคาดหวัง พวกเขาก็จะพูดทำนองว่า คุณทำงานช้าเกินไป คุณต้องทำให้เร็วกว่านี้ ซึ่งนั่นเป็นสิ่้งที่พวกเขาพร่ำบอกตลอดวัน และพวกเขาก็ให้คุณทำงานให้เหมือนเครื่องจักร ฉันเคยคาดหวังว่างานนี้จะหนักและต้องทำงานอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ใช่สถานการณ์ที่เลวร้ายแบบนั้น และไม่ได้คิดว่าจะถูกปฏิบัติด้วยแบบนั้น” นาตาชา เล่าประสบการณ์

ขณะที่อามิรา น้องสาวของเธอ ก็เคยทำงานที่ฟาร์มแห่งนั้นด้วย อามิรา กล่าวว่า เธอถูกกลั่นแกล้งและคุกคาม แต่ก็ต้องยอมทน เพราะเธอต้องการมีงานทำ

“พวกเขาถามฉันตลอดเวลาว่าทำไมฉันถึงสวมผ้าคลุมผม มันยากที่จะหางานทำได้โดยตรงจากบริษัท ดังนั้น ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ เราก็ต้องหางานผ่านผู้รับเหมา เราได้เจอผู้รับเหมาที่ส่วนใหญ่ดูไม่น่าไว้วางใจได้ แต่ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ แต่เพราะเราต้องการมีงานทำ เราก็ต้องรับมือกับมัน” อามิรา กล่าว

ผู้ถือวีซ่าชั่วคราวอย่าง อามิรา และนาตาชา คิดเป็นร้อยละ 60 ของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการเพาะปลูกพืชผลในออสเตรเลีย

การสำรวจของสหภาพแรงงานลูกจ้างแห่งชาติ หรือเอ็นยูดับเบิลยู เผยให้เห็นว่าแรงงานส่วนใหญ่ไม่มีบันทึกเอกสารการว่าจ้าง และได้รับค่าจ้างเป็นเงินสดจากผู้รับเหมาที่เป็นตัวกลางระหว่างเจ้าของฟาร์มกับลูกจ้างแรงงาน

คุณคาเทอรินา ชินานนี ประธานสหภาพ เอ็นยูดับเบิลยู เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบเพื่อทำให้แน่ใจได้ว่า บริษัทนายหน้าหาลูกจ้างทำตามมาตรฐานการจ้างงาน

“สัญญาจ่ายเงินสดไม่ใช่มาตรฐาน การโจรกรรมค่าแรงงานไม่ใช่มาตรฐาน สิ่งที่เป็นมาตรฐานคือค่าแรงที่ยุติธรรม สิ่งที่เป็นมาตรฐานคือการจ้างงานโดยตรง สิ่งที่เป็นมาตรฐานคือลูกจ้างมีสิทธิที่จะเปิดโปง และได้รับการคุ้มครอง” คุณชินานนี ประธานสหภาพ เอ็นยูดับเบิลยู กล่าว

งานที่ทำโดยลูกจ้างแรงงานเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรยังเป็นสินค้าส่งให้แก่ร้านค้าสาขาของซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ต่างๆ วูลเวิร์ทส์ และโคลส์

ขณะที่ร้านซูเปอร์มาร์เกตยักษ์ใหญ่ทั้งสองแห่งอ้างว่า ตนมุ่งมั่นจะให้มีการปฏิบัติที่ยุติธรรมต่อลูกจ้าง แต่คุณชินานนี กล่าวว่า บริษัทซูเปอร์มาร์เกตทั้งสองไม่ได้พยายามทำให้นโยบายของตนมีผลในการปฏิบัติอย่างแท้จริง

“พวกเขาอยู่ในอุตสาหกรรมที่ทำรายได้นับพันๆ ล้าน พวกเขาได้กำไรจากแรงงาน จากหยาดเหงื่อและหยาดน้ำตาของลูกจ้างแรงงานในฟาร์มเหล่านี้ พวกเขาจำเป็นต้องตระหนักว่ามีการเอารัดเอาเปรียบที่ทำกันเป็นระบบจากแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ และพวกเขาจำเป็นต้องดำเนินการและทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้” คุณชินานนี ระบุ

สหภาพแรงงานต้องการย้ำเตือนให้ผู้บริโภค ตั้งคำถามกับร้านค้าซูเปอร์มาร์เกต ว่าพวกเขาจัดหาสินค้าอาหารจากที่ใด และเรียกร้องให้สินค้าเหล่านั้นต้องผลิตอย่างมีจริยธรรม

นั่นเป็นความรู้สึกที่คุณเอมมา เจอร์มาโน รองประธานสหพันธ์เกษตรกรแห่งรัฐวิกตอเรีย มีเช่นกัน

เธอกล่าวว่า ผู้บริโภค มีอำนาจที่จะเลือกซื้อสินค้าเฉพาะจากร้านค้าที่พิสูจน์ได้ว่าซัพพลายเชน หรือบริษัทที่ผลิตและจัดส่งสินค้าให้ธุรกิจนั้นปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างยุติธรรม

“เราจำเป็นต้องมีความโปร่งใสทั่วทั้งซัพพลายเชน เพื่อที่ว่าเมื่อผู้บริโภคไปยังร้านซูเปอร์มาร์เกต พวกเขาจะได้รู้แน่ชัดว่าเกษตรกรได้รับเงินเท่าไรจากสิ่งที่พวกเขาจ่ายไป ความโปร่งใสในระดับนั้นจึงจะกวาดล้างปัญหาเหล่านี้บางอย่างได้ แต่เราทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบ ตั้งแต่จากทุ่งหญ้าเลี้่ยงสัตว์ขึ้นไปจนถึงอาหารในจาน หากเราทุกคนร่วมมือกัน เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายอย่างแท้จริง” คุณเอมมา เจอร์มาโน รองประธานสหพันธ์เกษตรกรแห่งรัฐวิกตอเรีย ย้ำ

กดปุ่ม (▶) ด้านบนเพื่อฟังรายงาน

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand