ทางการออสฯ หนุนใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาแม้ต่างชาติกังวลความปลอดภัย

ประธานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของออสเตรเลียยืนยันความปลอดภัยของวัคซีนแอสตราเซเนกา พร้อมย้ำว่าขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าเป็นสาเหตุของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

Australian Chief Medical Officer Paul Kelly addresses the media during a press conference in Canberra on 13 January, 2021.

Australian Chief Medical Officer Paul Kelly. Source: AAP

นักการเมืองและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของออสเตรเลียแสดงความมั่นใจในการใช้วัคซีนโคโรนาไวรัสของบริษัทแอสตราเซเนกาภายในประเทศ แม้หลายประเทศแถบยุโรปสั่งระงับฉีกวัคซีนดังกล่าวจากข้อกังวลด้านความปลอดภัย

เมื่อวันจันทร์ (15 มี.ค.) เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี หลังมีรายงานจากหลายประเทศเกี่ยวกับผลข้างเคียงรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น เช่น ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์พอล เคลลี (Paul Kelly) ประธานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของออสเตรเลีย ยังคง "มั่นใจอย่างยิ่ง" ในความปลอดภัยของวัคซีนแอสตราเซเนกา พร้อมทั้งระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าวัคซีนดังกล่าวเป็นสาเหตุของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
วัคซีนแอสตราเซเนกาจะเป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิดหลักที่ใช้ในออสเตรเลีย ทั้งนี้ คาดว่าโรงงานของบริษัท ซีเอสแอล (CSL) ในนครเมลเบิร์นจะเริ่มแจกจ่ายวัคซีนตั้งแต่สัปดาห์หน้า โดยตั้งเป้าผลิตวัคซีนหนึ่งล้านโดสต่อสัปดาห์

ศาสตราจารย์เคลลีกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ไม่จำเป็นต้องระงับการฉีดวัคซีนในออสเตรเลียระหว่างที่ทางการกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

"ผมขอแจ้งให้ชัดเจนว่า ในออสเตรเลียของเรา ความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก และการเริ่มใช้วัคซีนในวงกว้างไม่ว่าครั้งใดก็ตาม เราคาดการณ์ไว้ก่อนว่าจะพบเหตุการณ์ไม่ปกติ เราติดตามกรณีเหล่านี้อย่างใกล้ชิดด้วยความระมัดระวัง" ศาสตราจารย์เคลลีกล่าว

"แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนจะมีสาเหตุมาจากวัคซีนนั้น"

"เราจริงจังกับเรื่องนี้เสมอมา เราดำเนินการตรวจสอบ แต่ในสถานการณ์นี้ ผมพูดได้แน่นอนว่าผมยังมั่นใจในวัคซีนแอสตราเซเนกา ว่าวัคซีนตัวนี้ปลอดภัย และขณะนี้ไม่มีหลักฐานว่าเป็นสาเหตุของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน"

ศาสตราจารย์เคลลีอธิบายว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันพบได้ค่อนข้างทั่วไปในออสเตรเลีย โดยมีรายงานประมาณ 17,000 กรณีในแต่ละปี และคาดว่าอาจเกิดขึ้นในช่วงฉีดวัคซีนด้วย

"จากมุมมองของผม ผมไม่เห็นความเชื่อมโยงจำเพาะเจาะจงใด ๆ ระหว่างวัคซีนแอสตราเซเนกากับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน"
คณะกรรมาธิการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของออสเตรเลีย (Australia’s Therapeutic Goods Administration: TGA) ออกแถลงการณ์เมื่อวันอังคาร (16 มี.ค.) ย้ำว่า "ไม่มีนัยชี้ว่าเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในอัตราที่เพิ่มขึ้น หรือสื่อถึงความสัมพันธ์เชิงสาเหตุและผลลัพธ์กับวัคซีนแอสตราเซเนกาในออสเตรเลีย"

ทั้งยังระบุว่า คณะกรรมาธิการ "จะสื่อสารอย่างใกล้ชิดและบ่อยครั้ง" กับงค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (European Medicines Agency) เกี่ยวกับข้อกังวลนี้ รวมถึงกับ "หน่วยงานด้านนี้ในประเทศต่าง ๆ ผ่านแนวร่วมหน่วยงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ยาระหว่างประเทศ"

ด้านบริษัทแอสตราเซเนกา ระบุในเอกสารแถลงการณ์ว่า "ความปลอดภัยของทุกคนคือสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับเรา" 

"เรากำลังประสานงานกับหน่วยงานด้านสุขภาพระดับชาติและเจ้าหน้าที่ทางการในยุโรป และรอผลประเมินจากพวกเขาในสัปดาห์นี้"

"ตอนนี้ มีคนประมาณ 17 ล้านคนในยุโรปและสหราชอาณาจักรได้รับวัคซีนของเราแล้ว และมีรายงานกรณีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในกลุ่มนี้เป็นจำนวนน้อยกว่าที่คาดการณ์จากกลุ่มประชากรทั่วไป"
นักการเมืองออสเตรเลียต่างอ้างอิงคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข โดยนายเกร็ก ฮันต์ รัฐมนตรีสาธารณสุข กล่าวต่อรัฐสภาเมื่อวันอังคาร (16 มี.ค.) ว่ารัฐบาล "สนับสนุนการใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาอย่างชัดเจนไม่ต้องสงสัย"

นายจอช ฟรายเดนเบิร์ก รัฐมนตรีการคลัง เพิ่มเติมว่า ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าวัคซีนชนิดนี้ทำให้เกิดภาวะภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

"ทั้งหน่วยงานกำกับดูแลยาในยุโรปและองค์การอนามัยโลกต่างบอกว่า วัคซีนแอสตราเซเนกามีความปลอดภัย และไม่มีหลักฐานว่าตัววัคซีนเองเป็นเหตุให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน" นายฟรายเดนเบิร์กกล่าวกับสถานีวิทยุเอบีซี

นายแมตต์ แคนาแวน (Matt Canavan) วุฒิสมาชิกจากพรรคเนชันแนลส์ กล่าวว่า ออสเตรเลียควรดำเนินการตามรอยเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ระหว่างทางการสืบสวนหาความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนนี้กับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

"ผมไม่เห็นว่าเราจะดำเนินการต่อไปได้อย่างไร ในเมื่อแทบทั้งยุโรปกังวลเกี่ยวกับวัคซีนตัวนี้" นายแคนาแวนกล่าวกับสกาย นิวส์ เมื่อวันอังคาร

นายแคนาแวนทราบว่าสหราชอาณาจักรกับสวีเดนยังคงดำเนินการฉีดวัคซีนต่อ แต่ตั้งคำถามว่านี่เป็นแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับออสเตรเลียหรือไม่
นายไมเคิล แมกคอร์แมค (Michael McCormack) รองนายกรัฐมนตรี และนายมาร์ก คูลตัน (Mark Coulton) รัฐมนตรีด้านกิจการสาธารณสุขส่วนภูมิภาค ออกมาโต้แย้งข้อเสนอแนะของนายแคนาแวน ขณะที่นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน กล่าวต่อรัฐสภาว่า ความเห็นของวุฒิสมาชิกรายนี้ไม่ได้สะท้อนนโยบายของรัฐบาล

การตัดสินใจระงับการฉีดวัคซีนวัคซีนแอสตราเซเนกาโดยสามประเทศใหญ่ในสหภาพยุโรปสร้างแรงกระเทือนอย่างหนักต่อแคมเปญฉีดวัคซีนในหลายประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป

ดร.ซุมยา สวามิเนทัน (Souyma Swaminathan) นักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก เรียกร้องให้นานาประเทศอย่าตื่นตระหนก

"เราไม่ต้องการให้ผู้คนตื่นตระหนก และตอนนี้ เราขอแนะนำให้ประเทศต่าง ๆ ใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาต่อไป" ดร.สวามิเนทันกล่าวในแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (15 มี.ค.) โดยเพิ่มเติมว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความเชื่อมโยงชี้ชัดระหว่างวัคซีนโควิด-19 กับ "ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน" ที่มีรายงานในบางประเทศ 

รายงานเพิ่มเติมโดย เอเอพีและรอยเตอร์ส


ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณควรตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ

หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้อยู่บ้านและติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

และตรวจสอบระยะเข้ารับวัคซีนของคุณด้วยเครื่องคำนวณข้างล่างนี้
ติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่

Share
Published 17 March 2021 5:23pm
By Emma Brancatisano
Presented by Phantida Sakulratanacharoen


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand