Explainer

รู้ได้อย่างไรว่าเมื่อใดจะถึงเวลาฉีดวัคซีนโคโรนาไวรัส

การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในออสเตรเลียเริ่มขึ้นแล้ว เอสบีเอส นิวส์ ชวนคุณตรวจสอบว่าจะนัดหมายเข้ารับวัคซีนได้เมื่อไรและทำอย่างไรบ้าง พร้อมแนวทางป้องกันตัวจากมิจฉาชีพ

It's jab time

Source: SBS News

รู้ได้อย่างไรว่าถึงเวลาเข้ารับวัคซีนแล้ว

การเริ่มใช้วัคซีนในออสเตรเลียแบ่งเป็นห้าขั้นตามลำดับความสำคัญ โดยระยะแรกเริ่มจากกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อหรืออาการแทรกซ้อนจากโรคโควิด-19

หากไม่แน่ใจว่าคุณจัดอยู่ในกลุ่มใด สามารถตรวจสอบระยะเข้ารับวัคซีนของคุณด้วยเครื่องคำนวณนี้ เพียงตอบคำถามเกี่ยวกับอายุ สุขภาพ และอาชีพ แล้วเว็บไซต์จะแจ้งผลว่าระยะที่คุณสามารถเข้ารับวัคซีนได้จะเริ่มขึ้นเมื่อไรโดยประมาณ
โฆษกกระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลกับเอสบีเอส นิวส์ ว่า ทางการเตรียมประกาศช่วงเวลาเริ่มต้นของแต่ละระยะ พร้อมรายละเอียดว่าผู้มีสิทธิ์ตามเกณฑ์จะได้รับวัคซีนพร้อมฉีดโดสแรกเมื่อไร

ฉันต้องลงทะเบียนหรือสมัครเข้ารายชื่อรอรับวัคซีนหรือไม่

ไม่ คุณไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีน อีกทั้งไม่มีการจัดทำรายชื่อรอรับวัคซีนแต่อย่างใด สิ่งที่คุณต้องทำมีเพียงตรวจสอบว่าคุณอยู่ในกลุ่มรับวัคซีนระยะใด แล้วนัดหมายแพทย์เมื่อถึงเวลาฉีดวัคซีน

ขณะนี้ มีแพทย์ทั่วไป หรือ แพทย์จีพี (GP) มากกว่า 4,600 คนได้รับอนุมัติให้ดำเนินการฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นระยะ 1บี (Phase 1b)

พญ.คาเรน ไพรซ์ (Karen Price)  ประธานราชวิทยาลัยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมทั่วไป (Royal Australian College of General Practitioners) พบว่าศูนย์การแพทย์ชุมชนเนเพียนเฮลต์แคร์ (Nepean Health Care) ในนครเมลเบิร์น ที่เธอทำงานอยู่นั้นได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมฉีดวัคซีนแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน



“น่าตื่นเต้นมาก” เธอกล่าว “นับเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ เราทุกคนต่างทุ่มเทเพื่อก้าวผ่านโรคระบาดครั้งนี้  นี่คือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อย่างแท้จริง”

“ช่วงหกเดือนที่ผ่านมา ศูนย์การแพทย์ของเราได้พูดคุยกับคนไข้เรื่องการฉีดวัคซีนตั้งแต่มีข้อมูลเข้ามา ตอนนี้เรายังคุยกันว่าพวกเขาอาจอยู่ในระยะไหนกันบ้าง รวมทั้งคาดการณ์ว่าจะติดต่อพวกเขาได้หรือไม่อย่างไร”

พญ.ไพรซ์กล่าวว่า ฝ่ายรัฐบาลกับแพทย์ยังมีรายละเอียดต้องตกลงกันต่อไป อย่างไรก็ตาม เธอสนับสนุนให้ผู้ที่คิดว่าตนน่าจะเข้าเกณฑ์รับวัคซีนให้ติดต่อแพทย์จีพีประจำตัว

“ผู้ที่มีโรคเรื้อรังมักพบหมอบ่อยอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อพบหมอครั้งหน้า ขอให้ลองคุยเรื่องวัคซีนกับเขา” พญ.ไพรซ์กล่าว

“คนกลุ่มนี้ถามเราว่า เราคิดว่าพวกเขามีสิทธิ์ได้รับวัคซีนหรือไม่ เราก็ให้ข้อมูลกับพวกเขาในขั้นตอนนั้น”

ทำอย่างไรหากฉันไม่มีแพทย์จีพีประจำ

หากคุณไม่มีแพทย์จีพีประจำก็ไม่เป็นไร ตั้งแต่ระยะ 1บี เป็นต้นไป กระทรวงสาธารณสุขจะเผยแพร่รายชื่อคลินิกให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 คุณสามารถค้นหาคลินิกใกล้บ้านได้ รวมทั้งแพทย์จีพี ร้านขายยา และคลินิกวัคซีนที่ดำเนินการโดยรัฐและมณฑล

กระนั้น พญ.ไพรซ์มองว่า การมีแพทย์จีพีประจำตัวเป็นผลดีต่อการดูแลสุขภาพมากกว่า และสนับสนุนให้ผู้ที่ยังไม่มีแพทย์จีพีประจำใช้โอกาสนี้หาแพทย์ประจำตัว
“การมีแพทย์จีพีประจำคือการลงทุนในสุขภาพของคุณ” เธอกล่าว

“เราทราบดีว่าจะได้รับคนไข้ไม่ใช่แค่จากคลินิกของเรา แต่ยังอาจมาจากคลินิกอื่นด้วย เรายินดีให้บริการชุมชนของเรา เพราะนี่เป็นการใช้วัคซีนครั้งใหญ่ และเราจำเป็นต้องให้ทุกคนได้รับวัคซีน”

เกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อไปตามนัดฉีดวัคซีน

พญ.ไพรซ์เล่าว่า แต่ละคลินิกอาจมีข้อแตกต่างกันเล็กน้อย ส่วนใหญ่แล้วขั้นตอนเข้ารับวัคซีนมีดังต่อไปนี้

“พอคุณไปถึงคลินิก เจ้าหน้าที่จะมาพูดคุยสอบถามว่าคุณทราบอะไรมาก่อนแล้วบ้าง ขั้นตอนเป็นอย่างไร และเราจะขอความยินยอมจากคุณ”

“จากนั้น เจ้าหน้าที่จะพาคุณไปอีกส่วนหนึ่ง เราจะตรวจสอบอีกครั้งให้แน่ใจว่าเรารู้ว่าคุณเป็นใคร เช่น จากเอกสารประจำตัวของคุณ ขั้นต่อไปจึงฉีดยา”

“เสร็จแล้วเจ้าหน้าที่จะพาคุณกลับไปพื้นที่รอรับบริการเพื่อสังเกตอาการ ดิฉันคาดว่าคุณจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นเพียงอาการอ่อน ๆ และแจ้งกำหนดนัดรับวัคซีนครั้งต่อไป”

พญ.ไพรซ์ย้ำว่า คุณควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโดสที่สองกับคลินิกเดิมเสมอหากเป็นไปได้

ฉันต้องมีบัตรเมดิแคร์เพื่อรับวัคซีนหรือไม่

ทุกคนในออสเตรเลียสามารถรับวัคซีนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ได้จำกัดแค่พลเมืองและผู้มีสิทธิ์พำนักเท่านั้น

หากคุณไม่มีสิทธิ์เมดิแคร์ กระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่า คุณควรลงทะเบียนขอรับเลขประจำตัวด้านสุขภาพ หรือ Individual Healthcare Identifier (IHI) และนำข้อมูลนี้ติดตัวไปด้วยเมื่อไปตามนัดฉีดวัคซีน

ตั้งแต่ระยะ 1บี เป็นต้นไป กระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่า ผู้ที่ไม่มีเมดิแคร์ควรจองเข้ารับวัคซีนฟรีกับคลินิกแพทย์จีพีที่สนับสนุนโดยเครือรัฐ หรือคลินิกฉีดวัคซีนที่ดำเนินงานโดยรัฐหรือมณฑล

มีมิจฉาชีพฉวยโอกาสเกี่ยวกับวัคซีนหรือไม่

มี หลังจากออสเตรเลียเริ่มใช้วัคซีนเมื่อ 10 วันที่แล้ว เว็บไซต์สแกมวอตช์ (Scamwatch) ได้รับรายงานกรณีหลอกลวงเกี่ยวกับวัคซีนแล้ว 32กรณี

กรณีเหล่านี้มีทั้งหลอกลงทุน แบบสอบถามปลอมเพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัว การต้มตุ๋นผ่านอีเมล และการหลอกลวงเกี่ยวกับประกันวัคซีน

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการด้านการแข่งขันและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (Australian Competition and Consumer Commission หรือ ACCC) ยังจับตามองรายงานการหลอกลวงเกี่ยวกับวัคซีนในต่างประเทศด้วย
นางสาวดีเลีย ริกคาร์ด (Delia Rickard) รองประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า พบการหลอกลวงเกี่ยวกับวัคซีนแล้ว “หลายพันกรณี” ทั้งในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา

“ตัวอย่างที่พบก็อย่างเช่นมิจฉาชีพขายวันเวลานัดฉีดยาที่ไม่มีอยู่จริง ที่น่ากลัวคือ ในสหรัฐฯ เราได้รับรายงานว่ามีมิจฉาชีพออกตระเวนฉีดวัคซีนปลอม ซึ่งดิฉันเข้าใจว่าเป็นน้ำแร่หรือน้ำเกลือ” นางสาวริกคาร์ดกล่าว

“คงเลี่ยงได้ยากหากการหลอกลวงอย่างที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรเหล่านี้จะเกิดขึ้นในออสเตรเลียด้วยเช่นกัน เราทราบว่ามิจฉาชีพชอบเกาะประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจของสาธารณะ”

แล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงได้อย่างไร

นางสาวริกคาร์ดกล่าวว่า ไม่ควรมีกรณีใดที่คุณต้องจ่ายเงินแลกกับวัคซีน และควรรับคำแนะนำเรื่องวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุขหรือแพทย์เท่านั้น

“เรื่องสำคัญที่ผู้คนในออสเตรเลียต้องระลึกเสมอคือ คุณไม่สามารถแซงคิวได้ กระบวนการเริ่มใช้วัคซีนเป็นไปตามระเบียบขั้นตอน”

“ประการที่สอง วัคซีนที่นี่ฟรี ทั้งยังวัคซีนเหล่านี้มีข้อกำหนดในการเก็บรักษาหลายรูปแบบ ดังนั้น อย่าคิดสั่งซื้อจากอินเทอร์เน็ตหรือจากผู้ที่มาเสนอขายกับคุณ พวกนี้เป็นเรื่องหลอกลวงและน่าจะเป็นของปลอม ขอให้หลีกเลี่ยง”
คณะกรรมาธิการยังตระหนักว่า ส่วนใหญ่แล้วกลุ่มผู้ที่ไม่พูดภาษาอังกฤษมักตกเป็นเป้าของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิจฉาชีพในภาษาของพวกเขา

“มีข้อมูลเท็จเผยแพร่เต็มไปหมด ทั้งเรื่องโควิด-19 ทั้งเรื่องวัคซีน คุณควรรับข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น เช่น กระทรวงสาธารณสุขหรือแพทย์” เธอกล่าว

“ไม่ว่าคุณจะทำอะไร อย่าพึ่งข้อมูลแค่จากอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย เพราะมีข้อมูลเท็จหรือคลาดเคลื่อนจำนวนมาก”

คุณสามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาเป็นภาษาไทย จาก เอสบีเอส ได้ที่เว็บไซต์ 


ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร โปรดตรวจสอบมาตรการจำกัดการรวมกลุ่มในรัฐและมณฑลที่ท่านอาศัย

หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080 

ตรวจสอบแนวทางที่เกี่ยวข้องในรัฐและมณฑลของคุณที่นี่: รัฐนิวเซาท์เวลส์ (), รัฐวิกตอเรีย (), รัฐควีนส์แลนด์ (, รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย (), รัฐเซาท์ออสเตรเลีย (, มณฑลนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี (), มณฑลนครหลวงออสเตรเลีย (), รัฐแทสเมเนีย (

Share
Published 4 March 2021 5:06pm
Updated 10 March 2021 11:06am
By Claudia Farhart
Presented by Phantida Sakulratanacharoen


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand