พบระบบรับคนเข้าทำงานในออสฯ ปิดโอกาสคนหลายกลุ่ม

NEWS: ส่องภาพรวมตลาดงานทั่วออสฯ พบหลากเงื่อนไขปิดโอกาสคนหางาน คนพิการ-ผู้ลี้ภัยพบอุปสรรค์หนัก

รัฐบาลสหพันธรัฐกำลังมีแผนในการพิจารณากฎหมายด้านความสัมพันธ์ในสถานประกอบการ

รัฐบาลสหพันธรัฐกำลังมีแผนในการพิจารณากฎหมายด้านความสัมพันธ์ในสถานประกอบการ Source: AAP

มีการวิเคราะห์ล่าสุดที่ระบุว่า ระบบการจ้างงานในออสเตรเลียนั้น “ไม่มีประสิทธิภาพ”

ภาพรวมตำแหน่งงานว่างในออสเตรเลียปี 2019 ที่จัดทำโดยแองกลิแคร์ (Anglicare Australia’s Jobs Availability Snapshot 2019) พบว่า 1 ใน 7 ของผู้หางานพบอุปสรรคในการหางาน เช่น ผู้ที่ไม่สำเร็จการศึกษาในระดับปีที่ 12 (มัธยมศึกษาตอนปลาย) และการที่คนทำงานสูงอายุถูกเลิกจ้างในช่วงหลังของชีวิต ทั้งสองกรณีใช้เวลาเฉลี่ยราว 5 ปี กว่าจะสามารถหางานได้

การวิเคราะห์ยังพบอีกว่า ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีตำแหน่งงานที่ประกาศรับสมัครเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่เหมาะสมกับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์หรือคุณวุฒิสำหรับตำแหน่งงานเหล่านั้น

นางเคซีย์ เชมเบอร์ส (Kasey Chambers) กรรมการบริหารแองกลิแคร์ ออสเตรเลีย กล่าวว่า มีข้อเสียเปรียบที่ผู้หางานต้องเผชิญ 5 ประการ ในการเข้าทำงานในตำแหน่งงานระดับล่าง เธอบอกอีกว่า ข้อมูลจากการวิเคราะห์นั้นแสดงให้เห็นชัดว่า ระบบการจ้างงานของออสเตรเลียนั้นควรได้รับการพิจารณา

“เราต้องมีการพิจารณาเพื่อปฏิรูประบบเครือข่ายหางานจ๊อบแอคทีฟ (Jobactive) อย่างเร่งด่วน ซึ่งรายงานของรัฐบาลเองนั้นก็สะท้อนในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน” นางเชมเบอร์สกล่าว

“เราจะต้องหยุดกระบวนการที่ส่งผลเสียให้กับผู้หางาน เราต้องดูว่าอะไรที่ทำแล้วได้ผล ซึ่งหมายถึงการทำงานร่วมกับบุคคลต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจว่า พวกเขาสามารถทำอะไรได้ พวกเขาอยากทำอะไร มีการฝึกอบรมใดที่พวกเขาต้องการ และพวกเขามีความสามารถสำหรับงานแบบใด เพื่อให้สามารถจัดหาตำแหน่งงานที่มีความเหมาะสม”

ข้อมูลจากการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า คำกล่าวของรัฐบาลที่ว่า งานคือสวัสดิการที่ดีที่สุดนั้น อยู่ห่างไกลจากโลกแห่งความเป็นจริง

“หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ไม่มีความยากจน คือการมีงานทำแบบเต็มเวลา และได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตาม เรามีชาวออสเตรเลียราว 1.1 ล้านคนที่ยังไม่มีงานเต็มเวลาที่จ่ายค่าจ้างที่เหมาะสม” นางเชมเบอร์สกล่าว

ผู้พิการ-ผู้ลี้ภัย เผชิญอุปสรรค์ใหญ่

การวิเคราะห์ของแองกลิแคร์แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มีความพิการนั้น คิดเป็นร้อยละ 68 ของผู้หางานที่มีข้อเสียเปรียบ

นางโรโมลา ฮอลลีวูด (Romola Hollywood)  ผู้อำนวยการด้านนโยบายและการสนับสนุนจากองค์กรผู้มีความพิการแห่งออสเตรเลีย (People with Disability Australia) กล่าวว่า ผลลัพธ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ

“เราทราบว่า มีผู้พิการจำนวนหนึ่งที่ถูกบังคับให้ออกจากโครงการเงินสนับสนุนผู้พิการ (Disability Support Pension) เพื่อให้ไปอยู่ในโครงการนิวสตาร์ท (Newstart Allowance) เนื่องจากข้อกำหนดที่มีความรัดกุม” นางฮอลลีวูดกล่าว

แองกลีแคร์แนะนำว่า ควรมีการให้สิทธิ์แก่ผู้พิการในการเข้าถึงบริการจัดหางานสำหรับผู้มีความพิการ (Disability Employment Service) แบบอัตโนมัติ เมื่อพวกเขาเริ่มมองหางาน เช่นเดียวกับการขยายขอบเขตในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้มีความพิการ เพื่อรับสวัสดิการจากโครงการเงินบำนาญสนับสนุนผู้มีความพิการ (Disability Support Pension) ให้กว้างขึ้น

แต่นางฮอลลิวูดกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวควรมีการขยายผลออกไปมากกว่านั้น และได้เรียกร้องให้มีการพัฒนาแผนการหางานระดับชาติ สำหรับผู้ที่มีความพิการโดยเฉพาะ

“ในตอนนี้อาจดูเหมือนว่านายจ้างได้มอบโอกาสในการจ้างงาน แต่สิ่งที่นายจ้างควรทำ คือการทำให้สถานที่ทำงานของตนนั้นเป็นมิตรต่อผู้พิการ” นางฮอลลีวูดกล่าว

“นอกจากนี้ยังควรเล็งเห็นในส่วนของความยืดหยุ่นรูปแบบต่างๆ ที่อาจมีความจำเป็นที่จะต้องถูกรวมเข้ากับความสัมพันธ์ในการจ้างงาน อย่างเช่น หากผู้คนต้องการที่จะหยุดพักสักระยะ สิ่งเหล่านั้นก็จะสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายเช่นกัน”

นางเชอร์รีน คลาก (Sherrine Clark) ผู้อำนวยการบริการด้านมนุษยธรรม จากศูนย์ทรัพยากรผู้ลี้ภัย (Asylum Seeker Resource Centre) กล่าวว่า ผู้ลี้ภัยต้องเผชิญกับอุปสรรคที่มีความเฉพาะตัวเมื่อพวกเขามองหางาน โดยเธอบอกว่า ประสบการณ์ต่างๆ ของผู้ลี้ภัยจากในต่างแดนนั้น มักไม่เป็นที่ยอมรับในระบบงานของออสเตรเลีย

“มันเป็นเรื่องยากมากสำหรับผู้ลี้ภัยในการหางานโดยไม่มีความสัมพันธ์กับผู้คนในชุมชน ไม่มีคุณวุฒิ และไม่มีประสบการณ์” นางคลากกล่าว

“การสนับสนุนระดับพื้นฐานที่ผู้ลี้ภัยได้รับโดยทั่วไปนั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้พวกเขาได้รับโอกาสในการมองหางาน  ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น รวมไปถึงการที่ทำคุณวุฒิของพวกเขาในต่างแดนจะเป็นที่ยอมรับในออสเตรเลีย”

อย่างไรก็ตาม ได้มีการติดต่อไปยังรัฐบาลสหพันธรัฐในการขอความคิดเห็นในเรื่องนี้

Source: SBS News

You can check out the full version of this story in English on SBS News .

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่

Share
Published 16 October 2019 10:54am
Updated 12 August 2022 3:22pm
By Amy Hall, Sonia Lal
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS News


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand