โควิด-19: พบผู้มีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการบ่อยแค่ไหนและควรวิตกหรือไม่?

การศึกษาวิจัยใหม่ 2 โครงการพบว่า มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ ที่ไม่แสดงอาการของการติดเชื้อเลย ขณะผู้เชี่ยวชาญกำลังพิจารณากันว่า เราทุกคนควรได้รับการตรวจเชื้อหรือไม่ ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่มีก็ตาม

Victoria records seven new coronavirus cases and two deaths

Source: Getty Images

จนถึงขณะนี้ เราทุกคนได้รับแจ้งเกี่ยวกับอาการของการติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องเฝ้าระวัง ที่มีทั้งอาการไข้สูง ไปจนถึงอาการไอแห้งๆ หายใจลำบาก หรือแม้แต่รู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลีย

ได้มีการศึกษาวิจัยมากมายในหลายประเทศ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ของการติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่แสดงอาการ จากประเทศไอซ์แลนด์ ญี่ปุ่น จีน และจากในออสเตรเลียเองด้วย

ในรายงานเปิดให้ทุกคนเข้าถึงได้ของ จามา เน็ตเวิร์ก (JAMA Network) นักวิจัยต่างๆ ในประเทศจีนพบว่า ในจำนวนคนไข้ที่ติดเชื้อ 78 คน ร้อยละ 42.3 ไม่มีอาการใดๆ

การศึกษาวิจัยอีกโครงการหนึ่งของนักวิจัยชาวออสเตรเลีย ที่ตีพิมพ์โดย ทอแรกซ์ (Thorax) พบว่า ผู้โดยสาร 217 คนบนเรือสำราญ เกรก มอร์ติเมอร์ (Greg Mortimer) กว่า 8 ใน 10 ที่มีผลการตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 เป็นผู้ที่ไม่แสดงอาการใดๆ ของการติดเชื้อ

การแพร่เชื้อเป็นอย่างไรสำหรับระยะก่อนแสดงอาการ และการไม่แสดงอาการ?

องค์การอนามัยโลก ได้มีคำอธิบายถึงความแตกต่างระหว่าง ระยะก่อนแสดงอาการ (pre-symptomatic) และการไม่แสดงอาการ (asymptomatic)

ระยะก่อนแสดงอาการ (pre-symptomatic) คือช่วงเวลาหลังจากได้สัมผัสเชื้อแล้ว แต่ก่อนที่จะแสดงอาการของการติดเชื้อไวรัสออกมา

แม้ว่าจะไม่แสดงอาการใดๆ ออกมา ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ

มีการศึกษาวิจัยที่ถูกบันทึกข้อมูลไว้ของบุคคลที่ถูกตรวจพบว่ามีเชื้อไวรัส 1-3 วันก่อนที่พวกเขาจะแสดงอาการใดๆ ของการติดเชื้อ

การแพร่เชื้อจากผู้ที่ไม่แสดงอาการ (asymptomatic) เกิดขึ้นเมื่อเชื้อไวรัสแพร่กระจายไป จากบุคคลที่ไม่มีอาการใดๆ ของการติดเชื้อโควิด-19 เลย

ผู้เชี่ยวชาญคิดอย่างไรกับการศึกษาวิจัยล่าสุดเหล่านี้?

ศ.ไรนา แมคอินไทร์ หัวหน้าโครงการด้านความมั่นคงทางชีวภาพ ของสถาบันเคอร์บี (Kirby Institute) กล่าวว่า “มีหลักฐานที่เป็นรูปธรรม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การแพร่เชื้อในระยะก่อนแสดงอาการ และจากผู้ที่ไม่แสดงอาการ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไปสำหรับเชื้อโควิด-19”

ศ.แมคอินไทร์ อ้างอิงถึงการวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับการติดเชื้อในสถานดูแลผู้สูงอายุและเหตุการณ์การปะทุขึ้นของเชื้อในที่อื่นๆ ซึ่ง “ได้พบเช่นกันว่า ผู้ติดเชื้อทั้งหมดร้อยละ 50 หรือมากกว่าเป็นผู้ที่มีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ”

ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ที่ แกรนต์ ลอดจ์ (Grant Lodge) บ้านพักผู้สูงอายุในย่าน แบคคัส มาร์ช ของเมลเบิร์น ได้พบลูกจ้างคนหนึ่งที่ไม่แสดงอาการใดๆ แต่ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อ

“เราไม่ควรต้องอภิปรายเรื่องนี้กันยืดเยื้อต่อไปแล้ว ผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงสูงในเหตุการณ์การปะทุขึ้นของเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว หรือการระบาดที่ปะทุขึ้นในสถานที่ปิด ผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านั้นควรได้รับการตรวจเชื้อ ไม่ว่าจะแสดงอาการหรือไม่แสดงอาการก็ตาม ไม่เช่นนั้น เราอาจพลาดการตรวจพบผู้มีเชื้อได้” ศ.แมคอินไทร์ กล่าว

“ผู้คนจะใช้เวลา 10-14 วันที่ร่างกายจะผลิตสารภูมิต้านทาน (antibody) ขึ้นมา ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่การตรวจเชื้อแบบรวดเร็วที่ใช้การตรวจหาสารภูมิต้านทานจะใช้การได้ไม่มากนักในเหตุการณ์ที่เกิดระบาดปะทุขึ้น”

ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งยังไม่แน่ใจเกี่ยวกับวิสัยของการไม่แสดงอาการ

ศ.สันจายา เสนานายาคี เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อของมหาวิทยาลัยออสเตรเลียน เนชันแนล ยูนิเวอร์ซีตี

เขาอ้างถึงการศึกษาวิจัยจากจีน ที่ผู้เขียนสรุปว่า กรณีของผู้ที่มีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการนั้น ผู้คนเหล่านั้นอาจไม่ได้แยกตัวเพื่อกักโรค เพราะพวกเขาไม่มีอาการป่วย

“นักวิจัยไม่ได้ดูต่อว่ามีผู้ติดเชื้อรุ่นที่ 2 ที่ติดเชื้อมาจากผู้ป่วยรุ่นแรกเหล่านั้น ที่ไม่ได้แยกตัวเพื่อกักโรคหรือไม่” ศ.เสนานายาคี กล่าว

ในเดือนกุมภาพันธ์ รายงานร่วมจากองค์การอนามัยโลกและจีน พบว่า ผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการส่วนใหญ่ ในช่วงตรวจหาเชื้อได้แสดงอาการออกมาในที่สุด แต่ ศ.เสนานายาคี ไม่แน่ใจว่าคนไข้เหล่านี้ในการวิจัยนี้นั้น ต่อมาล้มป่วยลงหรือไม่

ข้อจำกัดอีกอย่างในที่นี้ ซึ่งผู้เขียนรายงานยอมรับคือ การประเมินว่าไม่แสดงอาการนั้นถูกต้องเพียงไร เป็นไปได้หรือไม่ที่ แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ป่วยอย่างโจ่งแจ้ง แต่พวกเขายังคงไม่ได้รู้สึกสบายดีร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่นว่า พวกเขารู้สึกสบายดีเมื่อพักผ่อน แต่ไม่รู้สึกเช่นนั้นเมื่อออกกำลังกาย

เขาอ้างถึง “สัดส่วนที่แตกต่างกันไปในกรณีการมีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการในการศึกษาวิจัยต่างๆ” จึงทำให้มีความจำกัดในการที่จะเข้าใจวิสัยตามธรรมชาติของการติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่แสดงอาการ

ในประเทศไอซ์แลนด์นั้น ร้อยละ 50 ของผู้ที่ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อไม่แสดงอาการใดๆ ส่วนในญี่ปุ่นมีร้อยละ 30.8 ขณะที่การศึกษาวิจัยในโครงการอื่นระบุว่ามีถึงร้อยละ 80 ในประเทศจีน

“มันยากที่จะรู้ว่าอันไหนถูก และแม้ว้าเรากำลังใกล้เข้าไปทุกทีที่จะเข้าใจสัดส่วนของผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่แสดงอาการนั้น แต่เรายังคงไม่รู้แน่ชัดถึงความรุนแรงสำหรับผลกระทบที่พวกเขามีในการแพร่เชื้อต่อไป เช่นว่า พวกเขาก่อให้เกิดการติดเชื้อรุ่นที่สองจำนวนมากหรือไม่ หรือเพียงไม่มากนัก?”

“พูดอีกอย่างคือ มีพาหะของเชื้อที่เป็นผู้ไม่แสดงอาการ 4 คนสำหรับผู้โดยสารที่ล้มป่วยทุกคน”

ศ.อิโว มุลเลอร์ นักระบาดวิทยา ของสถาบันวิจัยทางการแพทย์ วอลเตอร์ แอนด์ อีไลซา ฮอลล์ กล่าวว่า การทำความเข้าใจว่า การติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการนั้นพบได้มากน้อยเพียงใดในการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ไม่เพียงแต่มีความสำคัญอย่างมากในการเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นของผู้ที่สัมผัสเชื้อไวรัสนี้เท่านั้น “แต่ยังมีความสำคัญด้วยเช่นกัน ต่อการคาดการณ์ของเราว่าการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19 จะเป็นไปในทิศทางใดในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้”

“และการแทรกแซงอะไรที่จะสำคัญที่สุดในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อในระลอกสอง และป้องกันการเสียชีวิต” ศ.มุลเลอร์ กล่าว

การศึกษาวิจัยกรณีของเรือสำราญ เกรก มอร์ติเมอร์ ซึ่งมีผู้โดยสารชาวออสเตรเลีย 96 คน จากผู้โดยสารทั้งหมดบนเรือ 217 คน พบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด 128 คน ในบรรดาผู้ติดเชื้อเหล่านั้น 104 คนไม่แสดงอาการ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 81 ของผู้ที่ถูกตรวจพบว่ามีเชื้อ

“พูดอีกอย่างคือ มีพาหะของเชื้อที่เป็นผู้ไม่แสดงอาการ 4 คนสำหรับผู้โดยสารที่ล้มป่วยทุกคน หากรูปแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นซ้ำในที่อื่นๆ นั่นหมายความว่า ในประเทศที่มีการตรวจเชื้อเฉพาะผู้ที่แสดงอาการ สถานการณ์ของการติดเชื้อที่แท้จริงที่นั่น อาจมีจำนวนมากกว่าที่รายงานขณะนี้ถึง 5 เท่า” ศ.มุลเลอร์ กล่าว

เขากล่าวต่อไปว่า การค้นหาถึง ความสามารถที่แท้จริงในการแพร่เชื้อของพาหะที่ไม่แสดงอาการในคนทุกช่วงอายุ ควรเป็นวาระสำคัญอันเร่งด่วนที่ต้องทำ

ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ

การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้สามารถทำได้ทั่วออสเตรเลีย หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียยังได้มีแอปพลิเคชัน COVIDSafe เพื่อติดตามและแจ้งเตือนผู้ที่พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากแอปสโตร์ (app store) สำหรับโทรศัพท์มือถือของคุณ อ่านเกี่ยวกับแอปพลิเคชันนี้

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย

จองโต๊ะแล้วไม่มา: ภัยของร้านอาหารหลังคลายล็อกดาวน์


Share
Published 1 June 2020 11:18am
By Ahmed Yussuf
Presented by Parisuth Sodsai
Source: The Feed


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand