‘น่าวิตกอย่างยิ่ง’: น้ำแข็งขั้วโลกใต้ละลายเพิ่มสามเท่าตัว

NEWS: นักวิทยาศาสตร์ตกใจทวีปแอนตาร์กติกาสูญเสียน้ำแข็งเกือบสามล้าน-ล้านตัน ตั้งแต่ปี 1992 หนุนระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 7.6 มม.

การสูญเสียน้ำแข็งได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 219 พันล้านตันต่อผี จาก 76 พันล้านตันก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ. 2012 (ภาพโดย AFP)

การสูญเสียน้ำแข็งได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 219 พันล้านตันต่อปี จาก 76 พันล้านตันก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ. 2012 (ภาพโดย AFP) Source: AFP

ทวีปแอนตาร์กติกาสูญเสียน้ำแข็งเป็นปริมาณมหาศาลถึงสามล้าน-ล้านตันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 จากการศึกษาครั้งสำคัญซึ่งตีพิมพ์เมื่อวานนี้ (พุธ 13 มิ.ย.) ที่ชี้แนะว่า (ผลกระทบต่อ)ทวีปอันปกคลุมด้วยน้ำแข็งดังกล่าวอาจทำให้แนวชายฝั่งของโลกเปลี่ยนแปลงไปหากภาวะโลกร้อนยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่มีการยับยั้ง

สองในห้าของการสูญเสียน้ำแข็งดังกล่าวเกิดขึ้นภายในระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นถึงสามเท่าตัวของการสูญเสียน้ำแข็งปกคลุมหนานับเป็นกิโลเมตร ณ ทวีปแอนตาร์กติกา

โดยกลุ่มผู้เขียนงานวิจัยกล่าวว่า การค้นพบนี้น่าจะไขข้อข้องใจใดๆ ก็ตามที่เคยมีอยู่ เกี่ยวกับการหดตัวลงของมวลน้ำแข็งของทวีปดังกล่าว

พวกเขายังได้ชี้ให้เห็นถึงภัยคุกคามต่อการอยู่รอด ซึ่งเมือง ณ บริเวณที่ลุ่มชายฝั่งกำลังเผชิญ และชุมชนต่างๆ เหล่านั้นก็เป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนจำนวนหลายร้อยล้านคน

คุณเอริค ริกนอท นักวิทยาศาสตร์ จากห้องทดลองการขับเคลื่อนด้วยไอพ่น (Jet propulsion Laboratory)ของ NASA ซึ่งได้ติดตามแผ่นน้ำแข็งโลกมาเป็นเวลาสองทศวรรษกล่าวว่า “ในตอนนี้พวกเรามีภาพที่ปราศจากความคลุมเครือใดๆ เกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่แอนตาร์กติกา”

“เรามองผลลัพธ์เหล่านี้ว่าเป็นสัญญาณเตือนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้มีการดำเนินการเพื่อชะลอการเพิ่มอุณหภูมิของโลกเรา”

จนถึงขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์พบกับความยุ่งยากในการระบุว่าทวีปแอนตาร์กติกานั้นได้สะสมมวลเพิ่มขึ้นจากหิมะตกหรือว่าได้สูญเสียไปเนื่องจากน้ำที่ละลายและการเคลื่อนที่ของน้ำแข็งลงในมหาสมุทร

แต่ข้อมูลจากดาวเทียมเป็นระยะเวลากว่าสองทศวรรษในการค้นพบครั้งใหม่ดังกล่าว ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลจากการสำรวจทางอวกาศที่เป็นอิสระต่อกันจำนวน 24 ครั้ง ก็ส่งผลให้เห็นภาพที่สมบูรณ์มากขึ้นได้ ในที่สุด

ทวีปแอนตาร์กติกาซึ่งมีพื้นที่เป็นสองเท่าของภาคพื้นทวีปของสหรัฐฯ นั้นถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งอัดแน่นเป็นปริมาณมากเพียงพอที่จะหนุนระดับน้ำทะเลให้เพิ่มขึ้นได้ถึงเกือบ 60 เมตร (210 ฟุต)

กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของน้ำแข็งนั้นอยู่ด้านบนของแอนตาร์กติกาตะวันออก ซึ่งที่ผ่านมานั้นอยู่ในภาวะคงตัวเกือบตลอดเวลา แม้การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศจะผลักดันให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกนั้นเพิ่มสูงขึ้นถึง 1 องศาเซลเซียสถ้วน (1.8 องศาฟาเรนไฮต์) ก็ตาม

การเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

บางงานวิจัยได้ชี้แนะว่า มีการเพิ่มขึ้นของมวลรวมในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม แอนตาร์กติกาฝั่งตะวันตกนั้น ถูกพบกว่ามีความเปราะบางต่อภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณคาบสมุทรแอนตาร์กติก ซึ่งได้มีชั้นน้ำแข็งกว่า 6,500 ตารางกิโลเมตร (2,500 ตารางไมล์) ที่แยกตัวออกลงไปในมหาสมุทรตั้งแต่ปี 1995

ชั้นน้ำแข็งที่แยกตัวออกและกำลังลอยตัวอยู่นั้น ไม่ได้ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น แต่มีกลุ่มธารน้ำแข็งขนาดมหึมาในแอนตาร์กติกาตะวันตกที่กำลังเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ สู่ทะเล และมีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะหนุนระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นถึง 3.5 เมตร (11 ฟุต)

ธารน้ำแข็งสองแห่งจากข้างต้น ได้แก่ธารน้ำแข็งเกาะไพน์และธารน้ำแข็งธเวทส์  (Pine Island and Thwaites) ได้เร่งความเร็วขึ้นและทุกวันนี้ก็ถูกมองว่าไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งทั้งสองนั้นทำหน้าที่เหมือนจุกคอร์กที่คอยยับยั้งมวลน้ำแข็งบนพื้นทวีปมิให้ร่วงลงสู่มหาสมุทร

การสูญเสียน้ำแข็งเป็นจำนวน 2.7 ล้าน-ล้านตันตั้งแต่ปี 1992 ได้เพิ่มระดับน้ำทะเลขึ้นประมาณแปดมิลลิเมตร

“แม้จะยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่พอควรเกี่ยวกับสมดุลของมวลบริเวณแอนตาร์กติกาตะวันออก มันก็ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าการสูญเสียน้ำแข็งบริเวณแอนตาร์กติกาตะวันตกนั้นได้เร่งความเร็วขึ้น” คุณเคท เฮนดรี นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริสตอล ออกความเห็นเกี่ยวกับผลลัพธ์ต่างๆ ดังกล่าว

งานวิจัยยังพบว่า จากแนวโน้มในขณะนี้ ที่ทวีปแอนตาร์กติกาอาจกลายเป็นแหล่งขนาดใหญ่แหล่งหลักที่ส่งผลให้น้ำทะเลสูงขึ้น  โดยแซงหน้าแผ่นน้ำแข็งและธารน้ำแข็งบริเวณภูเขาของกรีนแลนด์ และ(แซงหน้า)การขยายตัวของน้ำในมหาสมุทรเองเมื่อมีอุณภูมิสูงขึ้น

มหาสมุทรต่างๆ นั้นกำลังเพิ่มระดับขึ้น 3.4 มิลลิเมตรต่อปี และตั้งแต่ปี 1993 ระดับน้ำของมหาสมุทรได้เพิ่มสูงขึ้น 84.8 มม.

ภายในสิ้นศตวรรษ ระดับน้ำทะเล เมื่อเปรียบเทียบกับการวัดก่อนยุคอุตสาหกรรม อาจเพิ่มสูงขึ้นหลายสิบเซนติเมตรถึงกว่าหนึ่งเมตร ทั้งนี้ในส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับความพยายามที่จะลดการปล่อยแก๊ซเรือนกระจก

เหล่านักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าไม่ว่าจะเป็นไปในรูปแบบใดก็ตาม มหาสมุทรต่างๆ ก็จะยังคงเพิ่มระดับสูงขึ้นต่อไปเป็นเวลาอีกหลายศตวรรษ

‘น่าวิตกอย่างยิ่ง’

ในเวลาสองทศวรรษก่อนปี 2012 ทวีปแอนตาร์กติกาได้สูญเสีย(น้ำแข็ง)เป็นปริมาณ 76 พันล้านตันต่อปี จากการค้นพบใหม่ดังกล่าว ซึ่งตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมา ตัวเลขก็ได้ก้าวกระโดดขึ้นเป็น 219 พันล้านตันโดยเฉลี่ย

ศาสตราจารย์แอนดรูว์ เชพเพิร์ด จากมหาวิทยาลัยลีดส์ ผู้นำคนหนึ่งของการทดลองสมดุลมวลแผ่นน้ำแข็ง (Ice Sheet Mass Balance Exercise) กล่าวว่า “มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของการสูญเสียน้ำแข็งจากแอนตารก์ติกาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา”

“ทวีปนี้กำลังส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมากในปัจจุบัน โดยมากกว่าช่วงอื่นๆ ในระยะ 25 ปีที่ผ่านมา”

เหล่านักวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยนี้ต่างกล่าวชมเชยระเบียบวิธีของงานวิจัย

คุณทวิลา มูน นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติของสหรัฐฯ ในรัฐโคโลราโดชี้ว่า “อานุภาพของงานวิจัยนี้ก็คือการที่มันได้รวบรวมวิธีการต่างๆ ซึ่งเป็นอิสระต่อกัน และจากหลายๆ ทีมแตกต่างกันไปทั่วโลก เข้าไว้ด้วยกัน”

พวกเขายังกล่าวว่า รัฐบาลต่างๆ นั้นก็ควรเล็งเห็นในเรื่องนี้

ศาสตราจารย์มาร์ติน ซีเกิร์ต จากวิทยาลัยอิมพีเรียลลอนดอน ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยดังกล่าวออกความเห็นว่า “ผลลัพธ์นี้เป็นที่น่าวิตกอย่างยิ่ง”

“ดูเหมือนว่า เรากำลังดำเนินไปในหนทางที่จะมีการสูญเสียแผ่นน้ำแข็งเป็นอย่างมากในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า โดยจะมีผลที่ตามมาในระยะยาวจากการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลอย่างรวดเร็ว”

“หากเรายังไม่ตระหนักถึงภยันตรายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ นี่ก็ควรจะเป็นการปลุกให้ตื่นที่มีขนาดมหึมา” เขากล่าวเสริม

Share
Published 14 June 2018 10:38am
By AFP-SBS Wires
Presented by Tanu Attajarusit
Source: SBS News, AFP - SBS


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand