รมต.อิมฯ จ่อบังคับผู้ขอวีซ่าคู่ครองสอบภาษาอังกฤษปลายปีหน้า

รัฐมนตรีด้านตรวจคนเข้าเมืองออสฯ เตรียมบังคับสอบภาษาอังกฤษสำหรับผู้สมัครวีซ่าคู่ครองปลายปีหน้า ชี้ส่งเสริมมีงานทำ-ป้องกันถูกเอาเปรียบ ผู้เชี่ยวชาญเผยอาจพาประเทศกลับสู่ยุคคนขาวเป็นใหญ่

Applicants will face new questions as a part of new changes to Australia's citizenship test

Australian Acting Immigration Minister Alan Tudge speaks to the media during a press conference Source: AAP Image/Lukas Coch

ผู้อพยพย้ายถิ่น รวมถึงสปอนเซอร์ที่ยื่นสมัครวีซ่าคู่ครอง (partner visa) ของออสเตรเลีย จะต้องแสดงให้เห็นว่ามีทักษะภาษาอังกฤษ หรือมีความพยายามในการเรียนภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021 เป็นต้นไป ขณะที่รัฐบาลมีความต้องการที่จะเพิ่มอัตราการจ้างงานให้มากขึ้น หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

นายอลัน ทัดจ์ รักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีด้านการตรวจคนเข้าเมืองของออสเตรเลีย ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแผนของรัฐบาล ในการกำหนดให้มีการทดสอบทักษะภาษาอังกฤษ สำหรับผู้ยื่นสมัครวีซ่าคู่ครอง (partner visa) ซึ่งได้มีการเปิดเผยในการแถลงร่างงบประมาณแผ่นดิน เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (6 ต.ค.)
LISTEN TO
English test for partner visas image

รัฐบาลออสเตรเลียกำหนดวีซ่าคู่ครองต้องสอบภาษาอังกฤษ

SBS Thai

07/10/202007:06
นายทัดจ์ กล่าวว่า ในโลกของการทำงาน ร้อยละ 13 เป็นผู้ไม่มีทักษะภาษาอังกฤษ เมื่อเทียบกับผู้ที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว ที่มีจำนวนร้อยละ 62
เมื่อช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้คนในออสเตรเลียที่พูดภาษาอังกฤษได้ไม่ดี หรือพูดไม่ได้เลย เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด และกำลังจะมีมากถึง 1 ล้านคน โดยครึ่งหนึ่งนั้นเป็นผู้อยู่ในวัยทำงาน นายทัดจ์ กล่าว
"เรายังได้ทราบอีกว่า การไม่มีทักษะภาษาอังกฤษที่เพียงพอ ทำให้ผู้อพยพย้ายถิ่นมีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในความรุนแรงในครอบครัว และการถูกล่วงละเมิดในรูปแบบอื่น ๆ และมีความเป็นไปได้น้อยที่จะทราบว่าสามารถไปขอความช่วยเหลือได้ที่ไหนและอย่างไร” นายทัดจ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้ยื่นสมัครวีซ่าคู่ครองไม่จำเป็นต้องสอบผ่านทักษะภาษาอังกฤษ ก่อนที่จะเข้ามาถึงออสเตรเลียด้วยวีซ่าชั่วคราวระยะเวลา 2 ปี (Partner Provisional Visa) แต่จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า มีทักษะภาษาอังกฤษในระดับพอใช้ได้ หรือแสดงให้เห็นว่า มีความพยายามในการเรียนภาษาอังกฤษ ก่อนที่จะยื่นสมัครวีซ่าถาวร (Permanent Partner Visa) 

หนึ่งในการแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการเรียนภาษาอังกฤษ คือการเข้าเรียนในหลักสูตรภาษาอังกฤษของรัฐบาลฟรี ผ่านโครงการภาษาอังกฤษสำหรับผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ย้ายถิ่นฐาน (AMEP) เป็นจำนวน 500 ชั่วโมง โดยนายทัดจ์ กล่าวว่า ได้มีการขยายโครงการนี้เมื่อปีที่แล้ว เพื่อให้ผู้อพยพย้ายถิ่นใหม่สามารถเข้าถึงการเรียนภาษาอังกฤษได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง  

ในการแถลงต่อผู้สื่อข่าวหลากวัฒนธรรมเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (7 ต.ค.) นายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระดับทักษะภาษาอังกฤษในการยื่นสมัครวีซ่าคู่ครองนั้น “เป็นระดับทักษะในขั้นพื้นฐานมากกว่า” หากเทียบกับระดับทักษะของผู้อพยพย้ายถิ่นในช่องทางธุรกิจ โดยหมายถึงช่องทางสำหรับผู้อพยพย้ายถิ่นที่มีทักษะทางอาชีพ ซึ่งต้องทดสอบทักษะภาษาอังกฤษอยู่แล้ว

โดยการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ คาดว่าจะสามารถทำให้รัฐบาลออสเตรเลียประหยัดงบประมาณไปได้มากเกือบ $5 ล้านดอลลาร์ ในระยะเวลา 4 ปี

‘หวนสู่ทัศนะคติคนผิวขาวเป็นใหญ่’

จากการประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าว ทำให้คู่รักที่รอการพบกันในออสเตรเลียกล่าวว่า พวกเขารู้สึกตกใจมาก และเตือนว่า นี่อาจเป็นสิ่งที่คุกคามชาวออสเตรเลียที่มีความรักกับผู้ที่มาจากประเทศที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ

นายแอนดรูว์ ไกล์ส (Andrew Giles) รัฐมนตรีด้านพหุวัฒนธรรมจากพรรคแรงงาน ยังได้แสดงความกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยกล่าวว่า เขาไม่เห็นว่ามาตรฐานของทักษะภาษาอังกฤษของของใครสักคน จะเกี่ยวข้องกับการสานสัมพันธ์เชิงความรักกับใครในออสเตรเลีย

ดร.ลิซ แอลเลน (Liz Allen) นักประชากรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์ ว่า การเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดด้านวีซ่าคู่ครองนั้น “จะพาออสเตรเลียหวนสู่แนวคิดนโยบายคนขาวเป็นใหญ่ และเป็นการส่งสัญญาณว่า รัฐบาลต้องการกำหนดความสัมพันธ์ให้มีความเหมาะสม” 

“การประกาศข้อกำหนดนี้จะสร้างความตึงเครียดและความสลดใจต่อผู้คนเป็นจำนวนมาก” ดร.แอลเลนกล่าว

โควตาการออกวีซ่าคู่ครองนั้นได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 72,300 คน สำหรับปีงบประมาณ 2020-21 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 47,000 คน โดยรัฐบาลออสเตรเลียจะให้ความสำคัญในการประมวลผลวีซ่าสำหรับผู้สมัครที่อยู่ในออสเตรเลียแล้ว หรือผู้ยื่นขอที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ส่วนภูมิภาคเป็นอันดับแรก 

มีการคาดการณ์ว่า ตัวเลขการอพยพย้ายถิ่นจากต่างประเทศสุทธิ จะลดลงเข้าสู่แดนลบเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยร่างงบประมาณแผ่นดินในปีนี้ได้เปิดเผยการคาดการณ์ว่า ออสเตรเลียจะสูญเสียผู้อพยพย้ายถิ่นเป็นจำนวน 72,000 คน ในปีงบประมาณนี้ และ 21,000 คน ในปีงบประมาณ 2021-22 โดยตัวเลขการอพยพย้ายถิ่นสุทธิของออสเตรเลียจะยังไม่ฟื้นตัวสู่สภาวะปกติ จนกว่าจะถึงปีงบประมาณ 2022-23

อัตราผู้อพยพย้ายถิ่นสุทธิที่ลดลงเข้าสู่แดนลบ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อัตราการเติบโตของประชากรออสเตรเลียนั้นลดลงเหลือเพียงร้อยละ 0.2 ในปีงบประมาณนี้ ซึ่งเป็นอัตราเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบกว่าศตวรรษ จากการที่ผู้อพยพย้ายถิ่นเดินทางออกจากประเทศ ขณะที่ผู้ถือวีซ่าชั่วคราวไม่สามารถเข้ามายังออสเตรเลียได้ เนื่องจากมาตรการปิดพรมแดนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา
ผู้อพยพย้ายถิ่นมีความสำคัญ เพื่อทำให้แน่ใจว่าตลาดแรงงานในประเทศนั้นมีความพร้อมในการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจ และความกินดีอยู่ดีของออสเตรเลียที่เราคุ้นเคย ดร.แอลเลน กล่าว
ออสเตรเลียได้ปิดพรมแดนระหว่างประเทศมาตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยยกเว้นสำหรับพลเมืองออสเตรเลีย ผู้อาศัยถาวร (รวมถึงสมาชิกครอบครัวใกล้ชิดของทั้งสองประเภท) และผู้ที่ได้รับการอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในท้องถิ่น

โดยรัฐบาลออสเตรเลียคาดว่าจะมีวัคซีนสำหรับประชาชนทั่วทั้งประเทศภายในสิ้นปี 2021 ซึ่งจะทำให้ออสเตรเลียสามารถทยอยกลับมาเปิดพรมแดนได้อีกครั้ง

นอกจากนี้ นายทัดจ์ รักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีตรวจคนเข้าเมือง เปิดเผยว่า จะมีการประกาศรายละเอียดเพิ่มเติมในการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับวีซ่าคู่ครองในเวลาอีก 2-3 เดือนข้างหน้า 


คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย

รัฐบาลออสเตรเลียกำหนดวีซ่าคู่ครองต้องสอบภาษาอังกฤษ


Share
Published 8 October 2020 1:40pm
Updated 8 October 2020 5:45pm
By Maani Truu
Presented by Tinrawat Banyat


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand