รัฐฯ ประณามความหวาดกลัวอิสลามมุ่งเป้าผู้หญิงสวมฮิญาบ

NEWS: ผลการวิเคราะห์ล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องความหวาดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ในออสเตรเลียพบว่าผู้กระทำการไม่มีความเกรงกลัวต่อการกระทำผิดในเรื่องนี้

นาย เดวิด โคลแมน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอพยพย้ายถิ่น ได้กล่าวว่า เขารู้สึกตกใจมากกับกรณีตัวอย่างหลายเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับความหวาดกลัวอิสลามที่เกิดขึ้นในออสเตรเลีย ตามที่ระบุไว้ในรายงานล่าสุดพบว่าผู้หญิงและเด็กหญิงที่สวมฮิญาบมีความเสี่ยงสูงที่ถูกตกเป็นเป้าโจมตีในเรื่องนี้

จากผลการวิเคราะห์พบว่าในระหว่างปี 2016 -2017 ได้รับรายงานว่ามีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความกลัวอิสลามเกิดขึ้นราวๆ 350 ครั้ง ซึ่งจากตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าผู้กระทำความผิดที่ไม่มีความเกรงกลัวใดๆ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยที่ร้อยละ 30 ของเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในสถานที่ที่มีการคุ้มกันโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยด้วย

การรายงานเกี่ยวกับความหวาดกลัวอิสลามในออสเตรเลียในปี 2019 ได้เผยแพร่ออกสู่สาธารณะในวันจันทร์ที่ผ่านมา พบว่า ในปี 2016 – 2017 สถิติการถูกโจมตีอันเกี่ยวเนื่องมาจากความหวาดกลัวอิสลาม ร้อยละ 60 เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะซึ่งมันเป็นตัวเลขที่มากขึ้นเป็นสองเท่าจากเมื่อ 15 เดือนก่อน
รายงานฉบับนี้ จัดทำขึ้นโดย ศูนย์อิสลามและอารยะธรรมศึกษา แห่งมหาวิทยาลัย ชาร์ลส์ สจ๊วต (Charles Sturt University’s Centre for Islamic Studies and Civilisation) การศึกษานี้พบว่ากว่าร้อยละ 70 ของเหยื่อคือผู้หญิงและเด็กหญิงชาวมุสลิม

และในจำนวนตัวอย่างนับสิบกรณีพบว่า มี 3 เหตุการณ์ที่มีปืนปลอมเข้ามาเกี่ยวข้อง

ตัวอย่างเช่น แม่คนหนึ่งกล่าวว่าเธอเดินทางไปกับคณะประสานเสียงของโรงเรียนจากนครเมลเบิร์นไปยังนครแอดิเลด เมื่อรถติดไฟแดงอยู่ตรงกันข้ามกับผับแห่งหนึ่ง ก็มีชายผู้หนึ่งก็ทำท่ายิงรถบัสที่เต็มไปด้วยเด็กนักเรียน เธอเล่าว่า

“รถบัสของเรามีผู้หญิงหลายคนที่คลุมผ้าฮิญาบ และหนึ่งในนั้นก็คือฉันเองซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนกิจกรรมนี้ ในขณะที่ฉันนั่งมองดูถนนข้างนอก ผู้ชายคนนั้นก็ทำท่ายิงมาที่รถ”

นายโคลแมน กล่าวว่ารัฐบาลจะไม่มีความอดทนกับความอคติทางชาติพันธุ์หรือวัฒนธรรม เขากล่าวในตอนหนึ่งในคำแถลงการณ์ของเขาว่า

“จากกรณีตัวอย่างของการเลือกปฏิบัติต่อชาวออสเตรเลียผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามที่ปรากฏในรายงานนี้เป็นเรื่องที่รับไม่ได้เป็นอย่างยิ่ง”
เหตุการณ์อีกเรื่องหนึ่งที่ได้รับรายงานก็คือ แม่คนหนึ่งและลูกสาวของเธอได้ถูกรถชนขณะที่ข้ามถนนและทำให้ผ้าคลุมศีรษะของเธอหลุดออก

ทางด้าน นาย แอนดรู ไจลส์ โฆษกของกระทรวงการอพยพย้ายถิ่นของพรรคฝ่ายค้านกล่าวว่า ความหวาดกลัวอิสลามนั้นต้องถูกประณาม เขาชี้ว่า

“การเหยียดเชื้อชาติและการดูถูกนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และมันถึงเวลาที่ชาวออสเตรเลียทุกคนจะต้องสามัคคีกันในการสร้างความหวังและขจัดความเกลียดชัง” นาย แอนดรู ไจลส์ กล่าว

การสบประมาทที่มุ่งเป้าไปยังรูปลักษณ์ภายนอก

นอกจากการดูถูกเหยียดหยามที่ปรากฏในโลกออนไลน์แล้ว ปรากฏว่ากว่าสองร้อยกรณีที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงนั้น เหยื่อที่ตกเป็นเป้าหมายของความหวาดกลัวอิสลามอย่างน้อยครึ่งหนึ่งเปิดเผยว่าพวกเขาไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากผู้คนที่ผ่านไปมา

พวกเขาถูกตกเป็นเป้าของการดูถูกเหยียดหยามโดยวาจา การพูดจาลามกหยาบคาย การคุกคามทางร่างกายและการขู่เอาชีวิตในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งบ่อยครั้งเกิดขึ้นเมื่อพวกเขากำลังจับจ่ายซื้อของ

พบว่าร้อยละ 75 ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ผู้กระทำผิดเป็นชายผิวขาว

การสบประมาทที่เกิดขึ้นในหลายๆเหตุการณ์จะมุ่งไปที่การแต่งกายของชาวมุสลิมและศาสนาของพวกเขา โดยที่ร้อยละ 96 พบว่าผู้หญิงทั้งหลายที่ตกเป็นจำเลยสวมผ้าคลุมฮิญาบในตอนที่เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น
Two New Zealand women embrace in the wake of the Christchurch terror attack in March.
ผู้คนปลอบประโลมกันหลังจากเกิดเหตุยิงกราดที่มัสยิดเมืองไครสต์เชิร์ช Source: Getty Images
ระยะเวลาของการทำวิจัยนี้เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์การยิงกราดที่มัสยิดของเมืองไครสต์เชิร์ช (Christchurch) ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาด้วย เหล่านักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ความรุนแรงในระดับที่น่าตกใจของวาทกรรมความเกลียดชังในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งหมายรวมถึงการขู่เอาชีวิตที่มีจำนวนมากขึ้นด้วยอาจเป็นการหล่อหลอมความคิดของผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้าย

“ทั้งในโลกออนไลน์และในชีวิตจริง ผู้คนได้บรรยายว่าพวกเขาอยากจะเอาชีวิตคนมุสลิมทุกคนและในกรณีเหล่านี้ปรากฏว่าไม่มีการสืบสวนหรือดำเนินคดีใดๆ ซึ่งมันมาสู่การตั้งคำถามอย่างจริงจังเกี่ยวกับความรัดกุมและความเข้มแข็งของกฎหมายปัจจุบัน” รายงานฉบับนี้บันทึกไว้

ส่วน ดอกเตอร์ เดอร์ยา อิเนอร์ หัวหน้านักวิจัยกล่าวว่า ตัวเลขที่แท้จริงของเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความกลัวอิสลามนี้น่าจะสูงกว่า 349 กรณี ที่ได้รับการรายงานเป็นทางการ  เธอเปิดเผยว่า

“โดยเฉพาะกรณีที่เกิดอารมณ์ร่วมของความรู้สึกต่อต้านอิสลามที่เกิดขึ้นในวาทกรรมทางการเมืองและสื่อเป็นเรื่องปกติ ทำให้สาธารณะรู้สึกนิ่งเฉยต่อเรื่องนี้” ดอกเตอร์  อิเนอร์ กล่าว เธอชี้ว่า

“และด้วยเหตุการณ์ที่เกิดในไครสต์เชิร์ชยังอยู่ความทรงจำ เราไม่สามารถที่จะชะล่าใจในเรื่องนี้ได้  ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคมเป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องรักษาและซ่อมแซมโดยเราทุกคนเพื่อความอยู่ดีมีสุขและความปลอดภัยของออสเตรเลีย” ดอกเตอร์ เดอร์ยา อิเนอร์ สรุป

การรายงานเรื่องความหวาดกลัวต่ออิสลามในออสเตรเลียนี้ได้เกิดการรณรงค์การบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการจัดทำวิจัยการรายงานเล่มต่อไปซึ่งจะเป็นการวิจัยในช่วงเวลาก่อนและหลังการเกิดเหตุสลดในเมืองไครสต์เชิร์ช

You can check out the full version of this story in English on SBS News 

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 18 November 2019 11:37pm
Updated 19 November 2019 10:18am
By Rosemary Bolger
Presented by Chayada Powell
Source: SBS News


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand