Feature

ฮูต้องอาศัยอยู่ในเต็นท์ แม้พ่อแม่จะเสียเงินนับแสนเหรียญส่งมาเรียนในออสเตรเลีย

ท่ามกลางวิกฤตที่อยู่อาศัยในออสเตรเลีย ฮู บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยชาวจีน กล่าวว่า การอาศัยอยู่ในเต็นท์เป็นทางเลือกด้านที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียวที่เขามีเงินพอจะจ่ายได้

Hu Dezu tent life

การอาศัยอยู่ในเต็นท์หมายความว่า เดซู ฮู ไม่ต้องแก่งแย่งบ้านเช่าที่มีน้อยในตลาดและค่าเช่าที่แพง เพื่อจะได้มีที่อยู่อาศัยอีกต่อไป Source: Supplied

ประเด็นสำคัญ
  • วิกฤตค่าครองชีพกำลังบีบให้ผู้ย้ายถิ่นฐานและนักเรียนต่างชาติบางคนต้องคิดหาทางเลือกด้านที่อยู่อาศัยประเภทอื่น
  • การอาศัยอยู่ในเต็นท์ช่วยให้ผู้ย้ายถิ่นฐานและนักเรียนต่างชาติบางคนประหยัดค่าใช้จ่ายรายสัปดาห์
  • นักศึกษาชาวจีนในออสเตรเลียบางคนงดการไปฉลองเทศกาลตรุษจีนกับครอบครัว เพื่อหาที่พักก่อนมหาวิทยาลัยเปิดเทอม
อาจดูแปลกที่เต็นท์เป็นที่นอนตอนกลางคืนของนักเรียนต่างชาติที่มาเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อครอบครัวชาวจีนมักใช้จ่ายเงินกว่า 250,000 ดอลลาร์ เพื่อส่งบุตรหลานไปรับการศึกษาในต่างประเทศอย่างออสเตรเลีย

แต่เมื่อ เดซู ฮู บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาด้านสื่อสารมวลชนจาก RMIT ได้งานแรกเป็นช่างถ่ายวิดีโอในระดับเริ่มต้นที่ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์การทำงานมาก่อนในเมืองชนบทที่อยู่ห่างจากแอดิเลดไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 85 กิโลเมตรนั้น เขาพบว่าพื้นที่ใกล้เคียงไม่มีอะพาร์ตเมนต์หรือยูนิตให้เช่า หรือบ้านเช่าก็มีราคาแพงเกินไป

ฮูกล่าวว่า การเดินทางเป็นเวลา 2 ชั่วโมงระหว่างอะพาร์ตเมนต์ที่เขาแชร์ในแอดิเลดไปยังที่ทำงานของเขานั้น ทำให้เขาเหนื่อยล้าอย่างมาก ในขณะที่ค่าน้ำมันรายเดือน 1,000 ดอลลาร์ที่เขาต้องจ่ายก็มากเกินไป

จากนั้นไม่นาน เขาก็เริ่มจอดรถ Subaru Forrester 2006 ของเขาไว้ที่ที่ทำงานและนอนด้านหลังรถ

แต่เมื่อเสียงจากรถที่ผ่านไปมาบนถนนรบกวนเกินกว่าจะรับมือได้ เขาบอกว่าเขาเห็นคาราวาน พาร์ก (caravan park) ที่อยู่ติดกับที่ทำงาน ซึ่งค่าเช่า 90 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ เขาจึงได้ไปกางเต็นท์สำหรับ 6 คนในบริเวณพื้นที่สำหรับตั้งเต็นท์ที่นั่น
Hu Dezu tent life
ชีวิตที่เรียบง่าย: ฮู กล่าวว่า คาราวาน พาร์ก ที่เขาอาศัยอยู่นั้นมีสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่างที่จำเป็น รวมทั้งห้องครัวที่ใช้ร่วมกัน Source: Supplied
“เมื่อมีพายุ เต็นท์ทั้งหลังจะสั่นและถูกลมพัดจนผิดรูปไป เสียงลมดังมากและใบหน้าของเราก็เหมือนถูกตบจากเต็นท์ที่ถูกลมพัดกระแทก เมื่อเรานั่งอยู่ข้างในเต็นท์” ฮูเล่า

แต่ขณะเดียวกัน ฮูบอกว่า มันก็ดีกว่าทางเลือกอื่น
ผมชื่นชอบวิถีชีวิตแบบนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ค่าครองชีพของผม (ตอนนี้) น้อยกว่า (ก่อนหน้านี้) ที่ผมจ่ายเป็นค่าน้ำมันทุกสัปดาห์
เดซู ฮู
เมื่อเดินทางมาถึงครั้งแรกในฐานะนักเรียนต่างชาติในเมลเบิร์นในปี 2018 ฮูเล่าว่าเขาจำได้ว่ารู้สึกตกใจกับราคาที่พักนักศึกษาที่ "แพงจนน่าขัน"

รัฐบาลสหพันธรัฐของออสเตรเลียได้ออกวีซ่าให้แก่นักเรียนต่างชาติ 405,000 คนในปีงบประมาณปีนั้น ปัจจุบันมีนักเรียนต่างชาติมากกว่า 650,000 คนที่กำลังศึกษาอยู่ในออสเตรเลีย

เป็นเวลาหลายปีแล้ว ที่ออสเตรเลียมองนักเรียนต่างชาติเหมือนเป็นตัวทำเงิน โดยมองว่าพวกเขาเป็นผู้สร้างรายได้ที่สำคัญสำหรับมหาวิทยาลัยและเป็นตัวส่งเสริมเศรษฐกิจ (4 หมื่นล้านดอลลาร์) ต่อประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

แม้ว่าพวกเขาจะมีส่วนสนับสนุนทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีนัยสำคัญต่อออสเตรเลีย แต่กลุ่มด้านที่อยู่อาศัยและสวัสดิภาพก็กล่าวว่า ผู้ย้ายถิ่นฐานรวมถึงนักศึกษาต่างชาติมากขึ้นที่รู้สึกว่าตน "ตกเป็นแพะรับบาป" ว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยและทำให้ที่อยู่อาศัยมีราคาสูงในออสเตรเลีย
คุณ แอนดรูว์ อึ้ง สมาชิกคณะกรรมการสภาชุมชนชาติพันธุ์แห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า ต้นเหตุมาจากนโยบายที่แย่ ไม่ใช่มาจากผู้ย้ายถิ่น

“การยกเว้นภาษี เช่น เนกาทิฟ เกียริง (negative gearing) ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยสูงขึ้น แต่การลงโทษนักลงทุนด้วยภาษีที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ที่มีในตลาด” คุณ อึ้งกล่าวกับ เอสบีเอส ภาษาจีน

คุณ สเตลลา โซ ผู้จัดการบริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่งทางตอนใต้ของซิดนีย์ กล่าวว่า มีความต้องการเข้ามาอย่างมากในช่วงปีใหม่เพื่อให้เธอเป็นตัวแทนดำเนินการแทนผู้เช่าและเจ้าของบ้านเช่าในตลาดที่บ้านเช่าขาดแคลน

“เจ้าของบ้านกำลังเพิ่มค่าเช่าสำหรับผู้เช่าเดิมราวร้อยละ 14 แต่ถ้าเป็นผู้เช่าใหม่ ค่าเช่าก็จะเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20” คุณโซกล่าว

เธอกล่าวว่า นักเรียนต่างชาติชาวจีนพยายามหาที่พักให้เช่าตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม โดยบางคนก็งดการเฉลิมฉลองตรุษจีนปีนี้ ซึ่งโดยปกติพวกเขาจะใช้เวลาอยู่กับครอบครัวในประเทศจีน เพื่อพยายามหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่ดุเดือดในการหาที่พัก

“เจ้าของบ้านดูเหมือนจะไม่กังวลเกี่ยวกับราคาค่าเช่าเลย เพราะพวกเขามีคนจำนวนมากแย่งชิงบ้านเช่าของพวกเขา” คุณโซกล่าวเสริม
คุณ หลิว เสี่ยวฮั่น ผู้ย้ายถิ่นฐานชาวจีนกล่าวว่า เธอไม่เชื่อว่ารัฐบาลกำลังแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่ต้นตอ

การลดจำนวนการรับผู้ย้ายถิ่นควรเป็นทางเลือกสุดท้าย

ช่วงก่อนเกิดโควิดระบาด เนื่องจากเผชิญกับแรงกดดันด้านค่าเช่า มีครั้งหนึ่งที่คุณหลิวและคู่ครองต้องอาศัยอยู่เต็นท์เพราะไม่มีทางเลือกอื่น

แต่นับตั้งแต่นั้นมา พวกเขาได้พยายามเก็บเงินจนซื้อบ้านหลังเล็ก ๆ หลังหนึ่งได้สำเร็จในเมืองสแตนธอร์ป เมืองชนบทของควีนส์แลนด์ที่มีประชากร 5,000 คน
การเติบโตของจำนวนประชากรไม่ใช่สาเหตุของปัญหา ... แต่สาเหตุคือโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ
หลิว เสี่ยวฮั่น
8056b713-01bf-442a-ae99-1bda8b38e4f2.jpg
คุณ หลิว เสี่ยวฮั่น ผู้ย้ายถิ่นชาวจีน ที่เคยอาศัยอยู่ในเต็นท์ ช่วงที่เธอเผชิญค่าเช่าบ้านที่สูงและตลาดงานที่หายากในปี 2018 Credit: supplied
ไกลจากความสว่างไสวของเมืองใหญ่ ไกลจากการแก่งแย่งกันเพื่อจะได้ที่อยู่อาศัย และไกลจากการต้องจ่ายในราคาสูง ฮูกล่าวว่า เขารู้สึกโล่งใจที่หลุดพ้นจากวัฎจักรเหล่านั้น

“ตอนที่ผมบอกลาเพื่อนร่วมบ้านและออกจากที่ห้องเช่าไปอาศัยอยู่ที่คาราวาน พาร์ก … ผมรู้สึกเป็นอิสระอย่างมาก” ฮูกล่าว

ค่าเช่าที่ตั้งเต็นท์ของฮูนั้น รวมสิทธิ์เข้าใช้พื้นที่ส่วนกลาง เช่น ห้องเล่นเกม ห้องซักรีด และห้องครัว ซึ่งบ่อยครั้งที่ฮูจะไปต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพื่อรับประทาน

ในช่วงพักผ่อน เขาก็มักออกกำลังกายตามลำพังหรือเล่นบาสเก็ตบอลร่วมกับผู้ตั้งแคมป์คนอื่น ๆ ที่สนามภายในคาราวาน พาร์ก

“ผมสามารถนั่งเล่น เพลิดเพลินกับสายลม และฟังเพลง ขณะอ่านหนังสือ ด้วยเช่นกัน” ฮูกล่าว

เมื่อฝนตก เขาบอกว่าเขามักลงเอยด้วยถุงนอนที่เปียกโชกและมีไอน้ำเกาะตัวภายในเต็นท์ แต่ในบางครั้งเขาก็สนุกกับการงีบหลับท่ามกลางเสียงฝนที่ตกหนัก

แม้จะต้องอาศัยอยู่อย่างใกล้ชิดกับธรรมชาติอย่างมาก แต่ฮูกล่าวว่าเขาชื่นชอบวิถีชีวิตใหม่อันแสนประหยัดของเขา

“ผมไม่ต้องการที่จะซื้อของมากมายอีกต่อไปเพราะไม่มีที่จะเก็บ เราคิดคำนึงถึงพื้นที่ของเรามากขึ้น พื้นที่ที่เราจำเป็น ซึ่งไม่มากนัก” ฮู กล่าว

"สำหรับผม ผมไม่คิดว่าผมจะใช้ชีวิตแบบนี้ตลอดไป แต่มันก็คุ้มที่จะลอง"


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ sbs.com.au/thai


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ facebook.com/sbsthai

Share
Published 23 February 2024 3:00pm
By Shan Kou, Koma Cheng, Tania Lee
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand