ผลสำรวจบ้านเช่าทั่วประเทศพบแค่ 2% ที่คนรายได้น้อยเช่าได้

วิกฤตบ้านเช่าออสเตรเลีย ผลสำรวจพบบ้านเช่าทั่วประเทศ 98% แพงเกินไปสำหรับคนทำงานรายได้ขั้นต่ำ วอนทุกพรรคการเมืองออกนโยบายแก้ปัญหาเร่งด่วน

Some 98 per cent of rental properties across the country are too expensive for workers on the minimum wage.

Source: Getty / mikulas1/Getty Images

ประเด็นสำคัญ

  • ราคาบ้านเช่าในออสเตรเลียพุ่งสูงสวนทางค่าครองชีพ ผลสำรวจราคาที่อยู่อาศัยให้เช่ากว่า 4.5 หมื่นแห่งจากทั้งประเทศ มีเพียง 2% ที่คนทำงานรับค่าแรงต่ำสุดเช่าได้
  • ผู้สูงวัย-ผู้พิการ รับผลผลกระทบหนักกว่าใคร เหลือบ้านที่ค่าเช่าเอื้อมถึงทั้งประเทศไม่ถึง 1% ขณะที่คนตกงานรับเงินช่วย-เยาวชนรับสวัสดิการนักเรียน เช่าได้แค่ห้องในบ้านแชร์
  • คนทำงานสนับสนุนเผยสถานการณ์น่าตกใจ วอนรัฐบาลและพรรคการเมืองที่จะชนะเลือกตั้งงัดนโยบายแก้ปัญหาโดยด่วน ท่ามกลางวิกฤตเงินเฟ้อทะยานสูงใน 2 ทศวรรษที่อาจทำให้ธนาคารขยับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

การสำรวจล่าสุดโดย แองกลิแคร์ ออสเตรเลีย (Anglicare Australia) :ซึ่งทำการสำรวจที่อยู่อาศัยให้เช่าจำนวน 45,992 แห่งจากทั่วประเทศเปิดเผยว่า ตลาดที่อยู่อาศัยให้เช่าในออสเตรเลียมีราคาสูงเกินเอื้อมมากกว่าครั้งไหน และทุกพรรคการเมืองจะต้องดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน

ผลสำสำรวจดังกล่าวระบุว่า มีที่อยู่อาศัยให้เช่าเพียง 712 แห่งจากการสำรวจทั้งหมด หรือคิดเป็นร้อยละ 2 ที่คนทำงานซึ่งรับค่าแรงในอัตราต่ำสุดตามกฎหมายจะสามารถเช่าได้

“วิกฤตที่อยู่อาศัยในออสเตรเลียได้มาถึงจุดขีดสุดแล้ว” เคซี แชมเบอส์ (Kasy Chambers) ประธานบริหาร แองกลิแคร์ ออสเตรเลีย กล่าว

“ไม่มีส่วนไหนของประเทศได้รับการยกเว้น ค่าเช่าพุ่งสูงขึ้นในเมืองและภูมิภาคต่าง ๆ และเมืองของเราไม่เคยแพงขนาดนี้มาก่อน”

“เราได้ยินมาตลอดว่าประเด็นในการเลือกตั้งครั้งนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องค่าครองชีพ แต่เรื่องที่อยู่อาศัยคือราคาสูงที่สุดที่ชาวออสเตรเลียต้องเผชิญ”
ผู้สูงอายุรับเงินบำนาญในออสเตรเลียยิ่งลำบากมากไปกว่านั้น เพราะจากผลสำรวจดังกล่าวพบว่า มีที่อยู่อาศัยให้เช่าเพียง 312 แห่ง หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 1 จากการสำรวจทั้งหมดที่พวกเขาสามารถเช่าได้ ส่วนผู้พิการทุพพลภาพที่ได้รับเงินบำนาญสนับสนุนผู้พิการ (Disability Support Pension) มีที่อยู่อาศัยให้เช่าเพียง 52 แห่ง หรือคิดเป็นไม่ถึงร้อยละ 1 จากการสำรวจทั้งหมดที่พวกเขาสามารถเช่าอยู่ได้

สำหรับผู้รับเงินสงเคราะห์รายได้จ๊อบซีกเกอร์ (Jobseeker) หรือเงินสวัสดิการอื่น ๆ สำหรับผู้ว่างงาน มีที่อยู่อาศัยให้เช่าเพียง 8 แห่งจากที่ได้รับการสำรวจทั่วประเทศที่พวกเขาเช่าอยู่ได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นห้องแชร์ภายในบ้านหลังเดียวกัน

ทั่วออสเตรเลียมีผู้รับเงินสงเคราะห์รายได้จ๊อบซีกเกอร์ หรือเงินสวัสดิการผู้ว่างงานอื่น ๆ ราว 950,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งมากกว่าช่วงก่อนที่การแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 จะเริ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน เยาวชนและนักเรียนที่ได้รับเงินสวัสดิการรัฐ (Youth allowance student payment) สามารถเช่าห้องพักในบ้านแชร์ได้ในจำนวนน้อยหลัง

ผลสำรวดังกล่าวยังพบว่าครอบครัวที่มีรายได้น้อยมีความเปราะบางเป็นพิเศษ พบที่อยู่อาศัยให้เช่า 78 แห่งที่ครอบครัวลูกสองพ่อแม่ตกงานสามารถเช่าอยู่ได้ และมีเพียง 61 แห่งที่พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวซึ่งรับเงินช่วยเลี้ยงดูบุตรสามารถเช่าอยู่ได้

แองกลิแคร์ กำลังเรียกร้องให้ผู้ใดก็ตามที่ชนะการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมนี้ เพิ่มอัตราจ่ายเงินสงเคราะห์รายได้จ๊อบซีกเกอร์ให้อยู่เหนือเส้นแบ่งความยากจน

“หากเราไม่ทำเช่นนั้น ผู้คนที่ตกงานจะมีความเครียดเรื่องที่อยู่อาศัยและภาวะไร้บ้านมากขึ้นกว่าเดิม” นางแชมเบอส์ กล่าว

ดร.แคซแซนดรา โกลดีย์ (Cassandra Goldie) ประธานสภาสังคมสงเคราะห์แห่งออสเตรเลีย (ACOSS) กล่าวว่า ผู้มีรายได้น้อยกำลังติดอยู่ท่ามกลาง “การเคลื่อนไหวที่โอบล้อม” ของค่าเช่าที่สูงขึ้นและรายได้ที่ซบเซา

“พวกเขาถูกตัดโอกาส (จากตลาดเช่า) ในเมืองใหญ่ ๆ หลายแห่งมานานแล้ว และมีจำนวนมากขึ้นที่ถูกตัดโอกาสจากพื้นที่ส่วนภูมิภาคหลายแห่ง” ดร.โกลดีย์ กล่าว

ดร.โกลดีย์ กล่าวอีกว่า การสำรวจดังกล่าวเป็นเรื่องน่าตกใจ และควรเป็นสิ่งเตือนใจไปยังรัฐบาลและผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เธอกล่าวอีกว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในนโยบายที่อยู่อาศัย สถานการณ์ก็จะแย่ลงอย่างต่อเนื่อง





คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 28 April 2022 11:55am
Updated 28 April 2022 2:48pm
Presented by Tinrawat Banyat
Source: AAP, SBS


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand