เงินเฟ้อออสฯ สูงสุดรอบ 20 ปี สะเทือนปากท้อง คนเริ่มกินนอนในรถ

เงินเฟ้อออสเตรเลียทะยานสูงสุดในรอบกว่าสองทศวรรษ ประชาชนนับล้านชักหน้าไม่ถึงหลัง กลุ่มเพื่อชุมชนชี้วิกฤตค่าบ้านลอยตัว-เงินสวัสดิการไม่ขยับ ทำคนรายได้น้อยเริ่มต้องกินนอนในรถ จี้รัฐบาลชุดใหม่แก้ปัญหาจริงจัง

Australia records the largest jump in inflation in more than 20 years.

Australia records the largest jump in inflation in more than 20 years. Source: Xinhua News Agency via Getty

ประเด็นสำคัญ

  • อัตราเงินเฟ้อของออสเตรเลียก้าวกระโดดสูงสุดในรอบกว่า 2 ทศวรรษ ชี้วัดวัดจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่เพิ่มสูงถึงร้อยละ 5.1 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดไตรมาสเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้นมาอีกร้อยละ 2.1 

  • ประธานสภาสังคมสงเคราะห์แห่งออสเตรเลียเผยสถานการณ์ความยากจนสะเทือนใจ ราคาสินค้าพื้นฐานและค่าเช่าบ้านแพงขึ้นต่อเนื่อง คนรายได้น้อยบางส่วนเริ่มต้องกินนอนกันในรถ

  • กลุ่มชุมชนชี้ช่วงเลือกตั้งกลุ่มผู้เปราะบางในชุมชนจำนวนไม่น้อยถูกมองข้าม จากสถานการณ์ราคาบ้านที่ลอยตัวอย่างต่อเนื่อง และไม่มีพรรคการเมืองใดชูนโยบายแก้ปัญหาค่าครองชีพ


อัตราเงินเฟ้อรายปีของออสเตรเลียพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 จากราคาน้ำมันที่ดีดตัวสูงเป็นประวัติการณ์ และค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่เพิ่มสูงขึ้น

ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของออสเตรเลียเพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 5.1 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจากร้อยละ 3.5 และเพิ่งจะเพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 2.1 ในช่วงไตรมาสเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งซึมซับความผันผวนของราคาที่ผันแปรให้ราบลื่น และเป็นส่วนสำคัญของคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากร้อยละ 1.4 เป็นร้อยละ 3.7 ในปีนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่เหนือเป้าหมายของธนาคารสำรองออสเตรเลีย (RBA) ที่ร้อยละ 2 - 3 นับตั้งแต่ช่วงต้นช่วงต้นปี 2010

ผลลัพธ์ดังกล่าวอาจกระตุ้นให้ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย (RBA) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานจากอัตราต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 0.1 ในการประชุมบอร์ดธนาคารวันอังคารหน้า (3 พ.ค.)

ก่อนหน้านี้ อาร์บีเอเคยระบุว่า ต้องการที่จะเห็นอัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้นอย่างมีความหมายเสียก่อน จึงจะดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน แต่จากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระดับโลก เช่นเดียวกับท่าทีของธนาคารกลางในนานาประเทศ ทำให้ธนาคารสำรองออสเตรเลียอาจต้องพิจารณาปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานให้เร็วกว่าเดิม

“ข้อโต้แย้งที่แท้จริงเพียงอย่างเดียวสำหรับความล่าช้าในตอนนี้ก็คือการเลือกตั้งสหพันธรัฐ เช่นเดียวกับครั้งที่แล้วในปี 2007 นี่เป็นโอกาสที่ดีสำหรับอาร์บีเอในการแสดงให้เห็นถึงความเป็นอิสระอีกครั้ง...” นายเดวิด บาซซานีส (David Bassanese) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากเบต้าแชส์ (BetaShares) กล่าว
โดยการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานจะบีบให้ธนาคารต่าง ๆ เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ

“ดัชนีราคาผู้บริโภครายปีเพิ่มขึ้นเป็น 5.1% ในไตรมาสเดือนมีนาคม จากค่าก่อสร้างที่อยู่อาศัยและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูง” รายงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย ระบุ

รายงานของสำนักงานสถิติ ฯ ระบุว่า ได้บันทึกการเพิ่มขึ้นของราคาที่อยู่อาศัยใหม่ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ (เกือบร้อยละ 5.7) ตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ.2000 หลังการเริ่มเก็บภาษีสินค้าและบริการ (GST) โดยราคาที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นผลมาจากการก่อสร้างตึกเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการขาดแคลนวัสดุก่อสร้างและแรงงานที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงได้เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 7 ไตรมาส ส่งผลให้การเพิ่มขึ้นประจำปีรุนแรงที่สุด นับตั้งแต่การบุกรุกคูเวตของอิรักในปี 1990 รายงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย ระบุ

ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสเดือนกันยายน เนื่องจากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นฉับพลันซึ่งเกิดจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ประกอบกับความต้องการของผู้บริโภคในระดับสูงจากการคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

‘ผู้คนเริ่มต้องกินนอนกันในรถ’

แคซแซนดรา โกลดีย์ (Cassandra Goldie)  ประธานบริหารของสภาสังคมสงเคราะห์ออสเตรเลีย (ACOSS) กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตผู้มีรายได้น้อย

“ สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำมาก และมีประมาณ 2.4 ล้านคนที่ดำรงชีวิตด้วยเงินน้อยกว่าวันละ $70 ดอลลาร์ และอีกมากที่อยู่ด้วยเงินสงเคราะห์รายได้จ็อบซีกเกอร์วันละ $46 ดอลลาร์นั้น พวกเขาถูกบดขยี้อย่างรุนแรงจากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นข้างนอกนั่น โดยเฉพาะค่าเช่าที่เพิ่มสูงขึ้น” นางโกลดีย์ กล่าวกับเอบีซี นิวส์ ในวันนี้ (27 เม.ย.)

“ทั่วประเทศ เราได้พบเห็นการเพิ่มขึ้นเกือบ 20% ในพื้นที่ส่วนภูมิภาคออสเตรเลีย และในเมืองใหญ่อีกประมาณ 14% นับตั้งแต่การแพร่ระบาดใหญ่เริ่มต้น”

นางโกลดีย์ กล่าวว่า สภาสังคมสงเคราะห์แห่งออสเตรเลียกำลังกังวลเกี่ยวกับการที่ผู้คนเหล่านั้นจะต้องเผชิญกับการถูกไล่ที่จากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น

“เรากังวลเกี่ยวกับผู้คนซึ่งตอนนี้กำลังมีชีวิตอยู่ภายในรถ นั่นคือความเป็นจริงของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เรารู้ดี และอาหารเหล่านั้นก็กำลังจะกลายเป็นเป็นสิ่งที่ต้องประหยัดสำหรับคนมีรายได้น้อยอย่างแน่นอน”นางโกลดีย์ กล่าว

“เราพบเห็นผู้คนมากกว่า 1 ล้านคนมาที่ธนาคารอาหารทั่วออสเตรเลีย”

นางโกลดีย์ กล่าวว่า รัฐบาลควรเพิ่มอัตราเงินสงเคราะห์รายได้ให้สูงขึ้นให้ได้อย่างน้อย $70 ดอลลาร์ต่อวัน

“ตัวเลขในปัจจุบันเหล่านี้น่าจะสร้างปัญหาให้กับเราทุกคนในแง่ของคนมีรายได้น้อยมากเหล่านั้น และแน่นอนว่าอัตราการเติบโตค่าจ้างก็ไม่ได้อยู่ในระดับที่ควรจะเป็นเช่นกัน” นางโกลดีย์ กล่าว

'กลุ่มเปราะบางในชุมชนจำนวนมากถูกหลงลืม’

ข้อมูลจาก St Vincent de Paul Society เปิดเผยว่า ชาวออสเตรเลียมากกว่า 3 ล้านคนซึ่งมีชีวิตอยู่ในความยากจนต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมอย่างมากเพื่อให้มีชีวิตรอด เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงทำให้ไม่สามารถเข้าถึงที่จำเป็นในครัวเรือนได้

แคลร์ วิกตอรี (Claire Victory) ประธานองค์กรการกุศล St Vincent de Paul Society กล่าวว่า ราคาบ้านที่กำลังลอยตัวเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนในกลุ่มเปราะบางในชุมชนเป็นจำนวนมากถูกลืม

“การละเลยนี้เห็นได้จากการตัดสินใจที่โหดร้ายของพรรค (การเมือง) ใหญ่ทั้ง 2 สองพรรคที่จะปล่อยให้เงินสงเคราะห์รายได้จ็อบซีกเปอร์อยู่ที่ $46 ดอลลาร์ต่อวัน ซึ่งจะทำให้ผู้รับเงินสวัสดิการนี้อยู่ใต้เส้นแบ่งกั้นความยากจน และเผชิญกัย”แรงกดดันด้านค่าครองชีพที่สูงขึ้น” นางวิกตอรี กล่าวผ่านแถลงการณ์ในวันนี้ (27 เม.ย.)

“การคาดหวังว่าผู้คนจะอยู่รอดด้วยเงินวันละ $46 ดอลลาร์เป็นเรื่องโหดร้าย มันแสดงให้เห็นถึงการขาดความเข้าใจ หรือความเอาใจใส่ต่อผู้คนที่มีชีวิตอย่างยากลำบาก และความท้าทายของการหารายได้พอประทังชีวิตก็มีมากขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าพื้นฐานก็พุ่งสูงขึ้น”

นางวิกตอรี กล่าวว่า ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะชนะการเลือกตั้งในเดือนหน้าจะถูกบังคับให้แก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน เว้นแต่ว่าพวกเขาต้องการจัดการวิกฤตความยากจนที่เพิ่มสูงขึ้น

เธอกล่าวอีกว่า คำเตือนจากทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่เกี่ยวกับการเพิ่มหนี้ของชาติเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่องค์กรการกุศล St Vincent de Paul Society ได้มอบหมายให้มีการจัดทำแบบจำลองเพื่อแสดงทางเลือกที่เป็นกลางด้านงบประมาณในการเปลี่ยนแปลงการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งองค์กรการกุศลดังกล่าวระบุว่า จะเป็นหนทางนำพาชาวออสเตรเลียทั้งหมดออกจากความยากจน

“การวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่า ออสเตรเลียสามารถเพิ่มงบจ่ายเงินสงเคราะห์รายได้จ็อบซีกเกอร์ (JobSeeker) ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ พร้อมกับเพิ่มความช่วยเหลือในโครงการสนับสนุนค่าเช่าที่พักอาศัยเครือจักรภพ (Commonwealth Rent Assistance) ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่ง่ายและไม่แพงต่อระบบภาษีและเงินสวัสดิการของเรา” นางวิกตอรี กล่าว

“แต่ปัญหาอย่างเดียวคือ เราขาดผู้นำทางการเมืองที่สนับสนุนแผนดังกล่าว”

“แบบจำลองของเราแสดงให้เห็นว่า คุณสามารถปลดปล่อยชาวออสเตรเลียกว่า 1 ล้านคนจากความยากจนได้ ผ่านการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยต่อภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ (capital gain tax) และภาษีเงินกองทุนสะสมหลังเกษียณ (superannuation tax) ซึ่งจะส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อกลุ่มผู้มีรายได้สูงสุด ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีความร่ำรวยอย่างน่าเหลือเชื่อ และมีความยากจนอย่างน่าใจหาย การไม่มีความสามารถในการแก้ไขสิ่งหนึ่งด้วยอีกสิ่งคือความผิดพลาดของระบบการเมือง ไม่ใช่ข้อจำกัดด้านงบประมาณ”

รัฐมนตรีคลังเผย ออสเตรเลีย ‘อยู่ในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ผันผวน’

นายจอช ฟรายเดนเบิร์ก รัฐมนตรีคลังของออสเตรเลีย กล่าวว่า การเปิดเผยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในครั้งนี้ เป็นเครื่องย้ำเตือนชาวออสเตรเลียถึงความสำคัญของ “การจัดการระบบเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่ง”

“ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อระดับสูงในวันนี้ เป็นเครื่องย้ำเตือนชาวออสเตรเลียว่าเรากำลังอยู่...ในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ผันผวน” นาย ฟรายเดนเบิร์ก รัฐมนตรีคลังของออสเตรเลีย กล่าว

นอกจากนี้ รัฐมนตรีคลังยังถูกตั้งคำถามว่า เมื่อใดที่อัตราการเติบโตของค่าจ้างจะตามทันอัตราเงินเฟ้อ เขาระบุว่า ออสเตรเลียก็กำลังประสบกับสภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัว ซึ่งจะสร้างแรงกดดันไปถึงอัตราค่าจ้าง และยังได้ระบุอีกว่า ออสเตรเลียยังคงไม่พ้นจากแรงกดดันนานาชาติที่ผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น

“ตัวเลขเงินเฟ้อในระดับสูงวันนี้ เป็นเครื่องย้ำเตือนชาวออสเตรเลียทุกคนถึงความสำคัญในการจัดการระบบเศรษฐกิจที่มีความแข็งแรง และมีประสิทธิภาพ” นายฟรายเดนเบิร์ก  รัฐมนตรีคลังออสเตรเลียกล่าว





คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 27 April 2022 6:20pm
Updated 4 May 2022 10:38am
By Akash Arora
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS, AAP


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand