ลูกจ้างทักษะต่ำที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษยังมีหนทางเป็นผู้อยู่อาศัยถาวร

รัฐบาลสหพันธรัฐได้ลดหย่อนข้อกำหนดด้านทักษะ รายได้ และภาษาอังกฤษ สำหรับวีซ่าทำงานในพื้นที่ส่วนภูมิภาคซึ่งนายจ้างนั้นไม่สามารถหาลูกจ้างในท้องที่ซึ่งมีทักษะที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานได้ โดยข้อตกลงใหม่จะยังทำให้ลูกจ้างผู้อพยพย้ายถิ่นฐานมีหนทางเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรของประเทศออสเตรเลียได้

Image of an Australian visa label

Source: iStockphoto

You can read the full version of this story in English on SBS Punjabi .

- - - - -

SBS ภาคภาษาไทยขอสรุปบทความนี้ว่า ข้อตกลงการอพยพย้ายถิ่นฐานสู่พื้นที่ที่กำหนด (Designated Area Migration Agreement หรือ DAMA) ขณะนี้มีสำหรับมณฑลนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี และย่านเกรทเซาท์โคสต์ (Great South Coast) ของรัฐวิกตอเรีย

และกำลังมีการเจรจาเพิ่มเติมกับภูมิภาคอื่นๆ รวมไปถึงย่านพิลบารา (Pilbara) และภูมิภาคคาลกูร์ลี-บูลเดอร์ (Kalgoorlie-Boulder) ของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย เมืองแคนส์ (Cairns) ในย่านทางเหนือสุดของรัฐควีนส์แลนด์ และภูมิภาคโอรานา (Orana) ย่านใจกลางรัฐนิวเซาท์เวลส์

- - - - -

รัฐบาลสหพันธรัฐของออสเตรเลียได้เปิดประตูให้กับผู้อพยพย้ายถิ่นฐานซึ่งกึ่งมีทักษะ (semi-skilled migrants) เพื่อที่จะทำการเติมเต็มช่องโหว่ในพื้นที่ส่วนภูมิภาคบางแห่ง โดยพวกเขาจะสามารถมีหนทางเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งแต่เดิมนั้นไม่สามารถทำได้

รัฐบาลเครือรัฐออสเตรเลียได้ลงนามในข้อตกลงพิเศษด้านวีซ่าเป็นระยะเวลาห้าปีกับพื้นที่ย่านเกรทเซาท์โคสต์ของรัฐวิกตอเรีย ซึ่งจะทำให้ธุรกิจต่างๆ ในย่านดังกล่าวสามารถเข้าถึงผู้ประกอบอาชีพต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง รวมถึงด้านการเกษตรและการบริการ ซึ่งเป็นเหล่าอาชีพที่ไม่มีให้เลือกผ่านทางโครงการอพยพย้ายถิ่นฐานตามปกติ

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือความขาดแคลนให้กับผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงการอพยพย้ายถิ่นฐาน ซึ่งได้กวดขันข้อกำหนดต่างๆ ให้ยากมากขึ้นสำหรับวีซ่าที่มีผู้เป็นสปอนเซอร์ และได้มีการตัดรายชื่ออาชีพทักษะลง ทำให้การได้เป็นผู้อยู่อาศัยถาวรนั้นยากยิ่งขึ้นสำหรับลูกจ้างผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน

ข้อตกลงการอพยพย้ายถิ่นฐานสู่พื้นที่ที่กำหนด (Designated Area Migration Agreement หรือ DAMA) ซึ่งจะลดระดับข้อกำหนดด้านทักษะ ภาษา และรายได้ และอนุญาตให้ผู้อพยพย้ายถิ่นฐานซึ่งกึ่งมีทักษะนั้นสามารถเข้าถึงหนทางการอพยพย้ายถิ่นฐานโดยถาวรได้นั้น เกิดขึ้นท่ามกลางความต้องการที่เรียกร้องกันเป็นอย่างมาก ให้มี  เพื่อให้ทันกับความต้องการลูกจ้างทำงานฟาร์มที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

รัฐมนตรีตรวจคนเข้าเมือง นายเดวิด โคลแมนกล่าวว่า ข้อตกลงต่างๆ ดังกล่าวนั้นจะเป็นการช่วยเหลือความต้องการทักษะโดยพื้นที่ส่วนภูมิภาคของออสเตรเลียซึ่งไม่มีลูกจ้างชาวออสเตรเลียที่จะทำตำแหน่งงานต่างๆ

“รัฐบาลกำลังดำเนินงานเพื่อปรับปรุงโครงการอพยพย้ายถิ่นฐานของเราเพื่อตอบสนองต่อความต้องการเป็นพิเศษของบางท้องที่โดยเฉพาะ” นายโคลแมนกล่าว

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรากำลังเพ่งเล็งถึงวิธีการที่จะเติมเต็มช่องโหว่ด้านการว่าจ้างงานในพื้นที่ส่วนภูมิภาค ซึ่งพื้นที่เกรทเซาท์โคสต์ก็ได้ทำการเรียกร้องหาลูกจ้างมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว”
Manjit
(Image obtained by SBS Punjabi) Source: SBS Punjabi
มณฑลนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี (NT) ได้มีข้อตกลงการอพยพย้ายถิ่นฐานสู่พื้นที่เป็นระยะเวลาห้าปีอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว แต่ว่าข้อตกลงดังกล่าวนั้นไม่ได้ให้หนทางกับลูกจ้างในการที่จะเป็นผู้อยู่อาศัยถาวร โดยทางมณฑลจะลงนามในข้อตกลงใหม่ในสัปดาห์นี้ก่อนที่ข้อตกลงเดิมนั้นจะหมดอายุลงเมื่อถึงเวลาสิ้นปี

รัฐมนตรีด้านการอบรมแรงงานของ NT นางเซลีนา อุยโบ กล่าวว่า ข้อตกลงใหม่นั้นจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจของมณฑลดังกล่าว

“การที่มีผู้คนมากขึ้นก็หมายถึงตำแหน่งงานที่เพิ่มมากขึ้น และเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งก็จะหมายถึงโรงเรียนที่ดีขึ้น โรงพยาบาลที่ดีขึ้น และตำรวจที่มีจำนวนมากขึ้น” นางอุยโบกล่าว

เธอยังกล่าวว่า “นายจ้างที่ประสบกับความยากลำบากในการเติมเต็มอาชีพทักษะและกึ่งทักษะต่างๆ เป็นจำนวน 117 อาชีพ ซึ่งได้รับการระบุว่าขาดแคลนนั้น จำเป็นจะต้องแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่สามารถที่จะว่าจ้างชาวออสเตรเลียที่มีทักษะและประสบการณ์ที่เหมาะสมเพื่อเติมเต็มตำแหน่งงานใดตำแหน่งงานหนึ่ง ก่อนที่จะยื่นสมัครเพื่อทำการสปอนเซอร์ลูกจ้างจากต่างประเทศ”

นางมานูเอลา ไซเบิร์ท ตัวแทนการอพยพย้ายถิ่นฐานจากนครดาร์วินกล่าวว่า เธอนั้นรู้สึก “ตื่นเต้นเป็นอย่างมาก” ต่อการประกาศข้อตกลงใหม่ดังกล่าว

“มันเป็นเครื่องมือที่ดีมากสำหรับเหล่านายจ้างที่นี่ ที่จะสปอนเซอร์ลูกจ้างจากต่างประเทศและรักษาพวกเขาเอาไว้ได้ต่อไป มิฉะนั้นแล้วพวกเขาก็จำเป็นจะต้องให้นักท่องเที่ยวสะพายเป้ (backpackers) ทำงานให้กับพวกเขาในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งหลังจากนั้นพวกเขาก็จะเดินทางออกไป” คุณไซเบิร์ทกล่าวกับเอสบีเอสภาคภาษาปัญจาบ
มณฑลนอร์เทิร์นเทร์ริทอรีนั้นมีข้อลดหย่อนด้านภาษาอังกฤษ ทักษะ และข้อกำหนดด้านรายได้ภายใต้ข้อตกลง DAMA ซึ่งมณฑลดังกล่าวมีอยู่แล้ว แต่นางไซเบิร์ทก็กล่าวว่า เธอคาดว่าหนทางสู่การเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรนั้นจะเป็นสิ่งดึงดูดลูกจ้างต่างชาติที่สำคัญที่สุด

รัฐบาลสหพันธรัฐได้เคยตั้งธงที่ระยะเวลาห้าปีสำหรับลูกจ้างผู้อพยพย้ายถิ่นฐานที่จะต้องอยู่อาศัยในพื้นที่ส่วนภูมิภาค ก่อนที่จะสามารถจะยื่นขอเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรได้

แต่กระทรวงมหาดไทยก็กล่าวว่า ข้อกำหนดต่างๆ ของข้อตกลงเหล่านี้ รวมไปถึงระยะเวลาอยู่อาศัยขั้นต่ำ ก็จะได้รับการเจรจาและออกแบบให้เหมาะสมกับความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของแต่ละภูมิภาค

“ลูกจ้างซึ่งมีคุณสมบัติในการเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรภายใต้ข้อตกลง DAMA นั้นจำเป็นจะต้องทำงานในภูมิภาคดังกล่าวด้วยวีซ่าชั่วคราวมาเป็นระยะเวลาหนึ่งตามข้อตกลง ก่อนที่พวกเขาจะสามารถยื่นขอวีซ่าผู้อยู่อาศัยถาวรได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็อาจเป็นระยะเวลาถึงสี่ปี โดยจะขึ้นอยู่กับข้อตกลง” โฆษกของกระทรวงฯ กล่าวกับเอสบีเอสภาคภาษาปัญจาบ

โฆษกคนดังกล่าวยังเสริมว่า “การเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรนั้นไม่ได้ออกให้โดยอัตโนมัติ แต่ละบุคคลนั้นจำเป็นจะต้องทำการยื่นคำร้องอย่างถูกต้อง และมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดเพื่อที่จะได้รับการออกวีซ่าผู้อยู่อาศัยถาวร”

รัฐบาลของมณฑล NT ได้ยืนยันกับเอสบีเอสภาคภาษาปัญจาบว่า ผู้ถือวีซ่า DAMA นั้นจำเป็นจะต้องทำงานดเป็นระยะเวลาสามปีจากสี่ปีในมณฑลนอร์เทิร์นเทร์รทอรี ก่อนที่เจ้าของธุรกิจจะสามารถยื่นขอเป็นสปอนเซอร์ให้พวกเขานั้นเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรได้

นางไซเบิร์ทกล่าวว่า การรักษา(ข้อกำหนด)ด้านระยะเวลาไว้ที่สามปีนั้นสมเหตุสมผล

“ที่ดิฉันได้ยินนั้นคือ 3 ปี มันเป็นระยะเวลาสามปีภายใต้วีซ่า 482 และผู้คนก็จะสามารถยื่นสมัครเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรได้หลังจากที่พวกเขาใช้เวลาตามช่วงระยะนั้นแล้ว ดังนั้นมันก็สมเหตุสมผลที่จะรักษามันเอาไว้เช่นนั้นและไม่ทำให้มันยาวนานขึ้นกว่าเดิมภายใต้ข้อตกลง DAMA” เธอกล่าว

นายแดน ทีฮาน สส. ท้องถิ่นของย่านเกรทเซาท์โคสต์ของรัฐวิกตอเรียจากพรรคลิเบอรัลกล่าวว่า ระยะเวลาอยู่อาศัยขั้นต่ำก่อนที่ผู้อพยพย้ายถิ่นฐานจะสามารถเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรได้สำหรับท้องที่ดังกล่าวนั้นจะเป็นระยะเวลาสามถึงสีปี่สำหรับภูมิภาคดังกล่าว”

“สิ่งที่ [ผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน] จะทำก็คือพวกเขาจะมาที่นี่ ทำตามข้อกำหนด—โดยจะเป็นการทำงานเป็นเวลาสามถึงสี่ปีเป็นการเฉพาะในพื้นที่ซึ่งขาดแคลนทักษะ—แล้วพวกเขาก็จะสามารถเข้าสู่ช่องทางการเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรได้—ไม่ใช่ทุกกรณีแต่ว่าจะเป็นบางกรณี” นาบทีฮานกล่าวกับเอบีซี

“มันก็ชัดเจนว่าจะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติที่พวกเขาจำเป็นจะต้องมี: โดยเรื่องอะไรก็ตามที่เป็นการกระทำผิดกฎหมายต่างๆ นั้นก็ชัดเจนว่าก็อาจส่งผลเสียหายต่อการที่พวกเขาจะเข้าสู่หนทางการเป็นผู้อยู่อาศัยถาวร” เขากล่าว
Image of a worker with avocados
(Image obtained by SBS Punjabi) Source: Image obtained by SBS Punjabi
วีซ่าลูกจ้างแบบมี(นายจ้าง)เป็นสปอนเซอร์นั้น ขณะนี้จำเป็นต้องมีรายได้ขั้นต่ำที่ $53,900 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ภายใต้ข้อตกลง DAMA นายจ้างสามารถที่จะยื่นขอข้อลดหย่อนในเรื่องนี้ได้ และในลักษณะเดียวกันก็ยังมีข้อลดหย่อนในเรื่องความสามารถทางภาษาอังกฤษให้กับลูกจ้างผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขานั้นมาจากที่ไหน ทว่าทุกๆ คนซึ่งมาจากประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษนั้นก็จำเป็นที่จะต้องสอบภาษาอังกฤษ

รัฐบาลของเครือรัฐนั้นยังได้ทำการหารือข้อตกลงดังกล่าวกับภูมิภาคอื่นๆ รวมไปถึงย่านพิลบารา (Pilbara) และภูมิภาคคาลกูร์ลี-บูลเดอร์ (Kalgoorlie-Boulder region) ของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย เมืองแคนส์ (Cairns) ในย่านทางเหนือสุดของรัฐควีนส์แลนด์ และภูมิภาคโอรานา (Orana) ย่านใจกลางรัฐนิวเซาท์เวลส์

หากต้องการจะให้ข้อตกลงได้รับการอนุมัติ ภูมิภาคต่างๆ ของประเทศออสเตรเลียจำเป็นจะต้องแสดงให้เห็นว่าได้มีการพยายามจะว่าจ้างคนในท้องถิ่นก่อน และต้องสามารถระบุสภาพของตลาดแรงงานและช่องโหว่ต่างๆ ได้อย่างแน่ชัด และภูมิภาคต่างๆ ยังจำเป็นจะต้องแสดงให้เห็นว่ามีความช่วยเหลือรองรับลูกจ้างผู้อพยพย้ายถิ่นฐานอยู่ในท้องที่

ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 12 December 2018 1:29pm
Updated 13 December 2018 11:22pm
By Shamsher Kainth
Presented by Tanu Attajarusit
Source: SBS Punjabi


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand