รัฐบาลเสนอกฏหมายใหม่มุ่งปราบการเอาเปรียบลูกจ้างผู้ย้ายถิ่น

รัฐบาลสหพันธรัฐของออสเตรเลีย กำลังเสนอมาตรการทางกฎหมายชุดใหญ่ เพื่อปราบปรามการเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน รวมถึงการจะกำหนดให้เป็นความผิดที่นายจ้างกดดันให้ลูกจ้างต้องทำงานที่ละเมิดเงื่อนไขในวีซ่าของลูกจ้างด้วย

Migrant workers

Source: AAP

คาดว่าลูกจ้างผู้อพยพย้ายถิ่น จะได้รับการปกป้องมากขึ้น จากการถูกนายจ้างกดดันให้ต้องทำงานอย่างถูกเอาเปรียบ ภายใต้ข้อเสนอทางกฎหมายใหม่ ที่มุ่งปราบปรามนายจ้างที่ไร้จรรยาบรรณ

รัฐบาลสหพันธรัฐของออสเตรเลียได้เปิดเผยร่างกฎหมายใหม่นี้เพื่อขอคำปรึกษาจากสาธารณะ โดยเสนอให้เป็นความผิดอาญาและมีโทษตามกฎหมายแพ่ง เพื่อปกป้องลูกจ้างที่มาทำงานในออสเตรเลียด้วยวีซ่าทำงาน

รัฐบาลกำลังพยายามที่จะแสดงจุดยืนอย่างแข็งขัน ในการปราบปรามการเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างผู้อพยพย้ายถิ่น ก่อนการเสนอโครงการวีซ่าเพื่อการเกษตรโครงการใหม่
นายอเล็กซ์ ฮอว์ก (Alex Hawke) รัฐมนตรีด้านการย้ายถิ่นฐาน กล่าวว่า ร่างกฎหมายที่เสนอนี้ส่งสารอย่างแข็งกร้าวว่า การจ่ายค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดและการเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างในรูปแบบอื่นๆ เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และรัฐบาลจะไม่ปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

“เรารู้ว่าธุรกิจและนายจ้างส่วนใหญ่ในออสเตรเลียทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่ยังคงมีนายจ้างที่ไร้คุณธรรมจำนวนน้อย ที่หาทางเอารัดเอาเปรียบผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน” นายฮอว์ก กล่าว

สหภาพแรงงานได้เตือนซ้ำแล้วซ้ำอีกถึงการจ่ายค่าจ้างในอัตราที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนดและภาพการทำงานที่ย่ำแย่ ซึ่งลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐานต้องเผชิญในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับค่าจ้างในอัตราต่อจำนวนผลผลิตที่ลูกจ้างเก็บเกี่ยวได้ในแต่ละวัน

ภายใต้ร่างกฎหมายใหม่ที่เสนอนี้ จะเป็นความผิดตามกฎหมายสำหรับการทำให้ลูกจ้างผู้อพยพย้ายถิ่นต้องยินยอมทำงาน โดยละเมิดเงื่อนไขการทำงานที่ระบุไว้สำหรับวีซ่าของพวกเขา

จะเป็นความผิดตามกฎหมายด้วยเช่นกันในการอ้างข้อกำหนดด้านวีซ่า เพื่อกดดันลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐานให้ยอมทำงาน หรือข่มขู่ลูกจ้างว่าหากไม่ยอมทำตาม จะเกิดผลเสียต่อสถานะทางวีซ่าของลูกจ้าง

บทบัญญัติทางกฎหมายที่เสนอมาอีกข้อหนึ่งคือ นายจ้างที่ละเมิดข้อกำหนดในพระราชบัญญัติด้านการอพยพย้ายถิ่น (Migration Act)  หรือพระราชบัญญัติด้านการจ้างงานที่เป็นธรรม ปี 2009 (Fair Work Act 2009) จะถูกห้ามไม่ให้จ้างงานลูกจ้างที่ไม่ใช่พลเมืองออสเตรเลียได้เพิ่มเติม ในระยะเวลาที่กำหนด

นายเดวิด ลิตเทิลพราวด์ (David Littleproud) รัฐมนตรีเกษตรกรรมของสหพันธรัฐ ได้บ่งชี้ว่า รัฐบาลต้องการเริ่มโครงการวีซ่าการเกษตรโครงการใหม่ ที่พุ่งเป้าไปยังลูกจ้างจากประเทศในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศภายในสิ้นปีนี้
วีซ่าดังกล่าวจะมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการจำกัดการเดินทางอันเป็นผลมาจากการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19

ร่างแก้ไขกฎหมายด้านการอพยพย้ายถิ่นฐาน ปี 2021 จะให้เครื่องมือที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นแก่กองกำลังพิทักษ์พรมแดนของออสเตรเลีย ให้สามารถร่วมมือกับนายจ้างในการปรับปรุงการปฏิบัติตามกฎหมาย

ร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้จะเพิ่มบทลงโทษทางแพ่งสำหรับการละเมิดกฎหมายที่เกี่ยวกับการจ้างงาน ที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติการอพยพย้ายถิ่น (Migration Act) ด้วย

นายฮอร์ค ได้บ่งชี้ว่า นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดบางอย่าง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและปกป้องสวัสดิภาพของลูกจ้างที่มาทำงานด้วยวีซ่าเวิร์กกิง ฮอลิเดย์ ด้วย

ขณะนี้ ผู้ถือวีซ่าประเภทนี้จะต้องทำงานในส่วนภูมิภาคครบ 88 วันในปีแรกของการทำงานในออสเตรเลีย จึงจะมีสิทธิ์ขยายเวลาที่จะอยู่ต่อในออสเตรเลียได้

การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ คือจะมีการออกรายชื่อธุรกิจบางแห่งที่จะไม่สามารถจ้างงานลูกจ้างด้วยวีซ่าเวิร์กกิง ฮอลิเดย์ เพื่อต่อวีซ่าของลูกจ้างเหล่านี้ได้ หากธุรกิจเหล่านั้นมีประวัติการปฏิบัติต่อลูกจ้างที่เลวร้าย

ธุรกิจต่างๆ จะถูกระบุในรายชื่อธุรกิจที่ถูกห้ามที่ว่านี้ หากพวกเขาถูกตัดสินว่าทำผิดจริง ด้านความปลอดภัยและสวัสดิภาพของลูกจ้าง แต่พวกเขาจะได้รับสิทธิ์ให้อธิบายกรณีของตน ก่อนจะถูกระบุในรายชื่อธุรกิจที่ถูกห้ามเหล่านี้

ทั้งนี้ รัฐบาลจะเปิดรับคำปรึกษาเกี่ยวกับร่างกฎหมายใหม่นี้จนถึงวันที่ 16 สิงหาคม ศกนี้


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 27 July 2021 3:27pm
By Tom Stayner
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand