ชาวออสเตรเลียที่ ‘ชื่อออกเสียงตลกๆ’ แต่ไม่ต้องการเปลี่ยนชื่อ

ผู้คนมักปฏิบัติต่อ เจียห์-ยัง โล (Jieh-Yung Lo) อย่างแตกต่างออกไป เมื่อเขาเรียกตนเองว่า เจ-โล แต่เขาไม่ต้องการใช้ชื่อเล่นนั้นอีกต่อไปแล้ว

A man smiles as he poses in front of a beach

เจียห์-ยัง มีชื่อที่ออกเสียงยาก แต่เขาไม่อยากให้คนเรียกเขาว่า เจ-โล อีกต่อไป Source: Supplied / Charis Chang

ประเด็นสำคัญ
  • ผู้คนที่มี 'ชื่อที่ออกเสียงตลก ๆ' กำลังเลือกที่จะไม่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษแทน
  • แต่บางคนที่มีชื่อที่ออกเสียงยากก็ได้รับผลกระทบด้านลบ รวมถึงการถูกกีดกันทางสังคม
  • ผู้คนใช้ความพยายามมากขึ้นในการออกเสียงชื่อคนให้ถูกต้อง และมีวิธีที่นำไปใช้ได้จริงเพื่อทำให้เรื่องนี้ง่ายขึ้น
ในช่วงสั้น ๆ ในวัย 20 ต้นๆ เจียห์-ยัง โล (Jieh-Yung Lo) เคยแนะนำตัวเองว่าชื่อ "เจ-โล" (J-Lo)

“มันได้รับความนิยมและทันใดนั้นผมก็เริ่มใช้ชื่อนี้ เพราะทุกคนปฏิบัติต่อผมต่างออกไปเมื่อผมเรียกตัวเองว่า "เจ-โล" เจียห์-ยัง โล บอกกับ เอสบีเอส นิวส์

สำหรับหลาย ๆ คนแล้ว เจียห์-ยัง เคยเป็นและบางครั้งก็ยังคงเป็น "ผู้ชายที่มีชื่อตลก ๆ" อยู่ดี

หนุ่มวัย 37 ปีผู้นี้เริ่มเปลี่ยนไปใช้ชื่อเจ-โล เพื่อให้เรียกง่ายขึ้น เมื่อตอนที่เขาเริ่มทำโครงการหลากวัฒนธรรมที่สโมสรฟุตบอล เอสเซนดอน (Essendon Football Club) เนื่องจากผู้เล่นหลายคนไม่สามารถออกเสียงชื่อเขาได้

“ผมรู้สึกเหมือนกำแพงพังทลายลง พวกเขาเป็นมิตรมากขึ้นและพูดคุยกับผมมากขึ้น” เจียห์-ยัง เล่าถึงปฏิกิริยาของผู้คนที่มีต่อเขาเมื่อใช้ชื่อ เจ-โล

"โดยการใช้ชื่อเล่นที่ว่านั้น พวกเขารู้สึกว่าพวกเขาสามารถเริ่มเปิดบทสนทนากับผมได้ และแน่นอนว่าพวกเขาไม่ได้มองว่าผมเป็นผู้มาจากดินแดนอื่น หรือเป็นคนต่างชาติพันธุ์ พวกเขามองว่าผมเป็นคนหนึ่งในกลุ่มของพวกเขา"
A man speaks as he stands at a lectern
เจียห์-ยัง ซึ่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์ Center for Asian-Australian Leadership แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย หรือ เอเอ็นยู Source: Supplied
ดังนั้น เจียห์-ยัง จึงใช้ชื่อ เจ-โล เช่นกัน เมื่อเขาก้าวเข้าสู่การเมืองเป็นครั้งแรก

“คนจำนวนมากในพรรคแรงงาน ซึ่งตอนนี้ผมไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคแล้ว พวกเขายังคงเรียกผมว่า เจ-โล” เจียห์-ยัง กล่าว

แต่เมื่อเวลาผ่านไป เจียห์-ยัง เริ่มเสียใจกับการตัดสินใจของตน

“ผมรู้สึกเหมือนกำลังทรยศต่อสิ่งล้ำค่าที่ตกทอดกันมาและอัตลักษณ์ของผม รวมทั้งทรยศต่อพ่อแม่ของผม” เจียห์-ยัง กล่าว

พ่อแม่ของเจียห์-ยัง บอกว่าชื่อของเขาหมายถึงการมีจิตใจที่ยิ่งใหญ่และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และไม่ปล่อยให้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ มารบกวนจิตใจหรือมาขัดขวางทาง

“ชื่อของเราเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดที่พ่อแม่ของเรามอบให้เรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของภาษาจีน” เขากล่าว "ชื่อของเรามีความหมายสะท้อนถึงความปรารถนาของพ่อแม่ - ความหวังและความปรารถนาในสิ่งที่พวกเขาต้องการให้คุณมีคุณสมบัติหรือเป็นเมื่อคุณโตขึ้น"

ดังนั้นเมื่อ เจียห์-ยัง ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเขตโมนาชในปี 2008 เขาจึงต้านทานคำแนะนำจากเพื่อนร่วมงานบางคนในพรรคแรงงานที่จะให้เขาเปลี่ยนชื่อเป็น "เจฟฟ์" หรือ "เจสัน" เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด ๆ ว่าเขาอาจจะพูดภาษาอังกฤษได้ไม่ดีนัก แต่เขาต้องการที่แสดงให้เห็นตัวตนที่แท้จริงของเขาและซื่อสัตย์กับตนเอง
ชื่อของเราเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดที่พ่อแม่ของเรามอบให้เรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของภาษาจีน
เจียห์-ยัง โล
เจียห์-ยัง ได้พิสูจน์ว่าเขาคิดถูกแล้ว เมื่อเขาได้รับการเลือกตั้งโดยใช้ชื่อจริงของเขา และด้วยวัยเพียง 23 ปี เขาก็กลายเป็นลูกชาวออสเตรเลียเชื้อสายจีนคนแรกที่ได้นั่งในสภาเทศบาลเขตโมนาช ในเมลเบิร์น

เขาเชื่อว่าความปรารถนาที่จะพิสูจน์ว่าคนในพรรคคิดผิดที่จะให้เขาเปลี่ยนชื่อ ทำให้เขามีแรงจูงใจมากขึ้นที่จะเดินเคาะประตูบ้านของผู้คนและหาเสียงอย่างหนักที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ได้รับเลือกตั้ง

“พ่อแม่ของผมภูมิใจที่ผมไม่ยอมคล้อยตามคนอื่น และผมใช้ชื่อตัวเอง” เจียห์-ยัง กล่าว

เปลี่ยนจาก 'การกลืนกลาย (assimilation) ไปสู่ความเป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา (authenticity)'

ทุกวันนี้ เจียห์-ยัง ซึ่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์ Center for Asian-Australian Leadership แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย หรือเอเอ็นยู กล่าวว่า ดูเหมือนว่าผู้คนมากขึ้นเลือกที่จะไม่เปลี่ยนมาใช้ชื่อภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งย้ายถิ่นฐานมาอยู่ใหม่

“ผมคิดว่าเป็นเพราะออสเตรเลียมีความหลากหลายมากขึ้นๆ มีการเปิดใจยอมรับมากขึ้น และเป็นสากลมากขึ้น” เจียห์-ยัง กล่าว
People walking across the road
“ผมคิดว่าเป็นเพราะออสเตรเลียมีความหลากหลายมากขึ้นๆ มีการเปิดใจยอมรับมากขึ้น และเป็นสากลมากขึ้น” เจียห์-ยัง โล กล่าว Source: AAP
"ผมคิดว่าผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ มีความหลงใหลและภูมิใจในมรดกและบรรพบุรุษของพวกเขามากขึ้น”

"ตอนนี้พวกเขามองว่าชื่อของตนว่าเป็นเครื่องหมายแห่งเกียรติยศแทนที่จะพยายามแอบซ่อนมันไว้"

เจียห์-ยัง ยังเชื่อว่าได้มีการเคลื่อนไหวทางสังคมโดยเปลี่ยนจาก เปลี่ยนจาก 'การกลืนกลาย (assimilation) ไปสู่ความเป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา (authenticity)'

“ผู้คนต่างต้องการที่จะเป็นตัวตนที่แท้จริงของตนเองมากขึ้น” เจียห์-ยัง กล่าว

คนที่มีชื่อแปลกๆ ไม่คุ้นหูอาจถูกกีดกันทางสังคมได้

ดร.ฟิโอนา สวี-ลิน ไพรซ์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมที่ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ มานานหลายสิบปี เพื่อช่วยพวกเขาออกเสียงชื่อนักศึกษาในพิธีสำเร็จการศึกษาและในสถานการณ์อื่นๆ

ดร.ไพรซ์ ผู้อำนวยการของ Globalize Consulting กล่าวว่า มีการยอมรับมากขึ้นถึงความสำคัญของการออกเสียงชื่อผู้คนอย่างถูกต้อง

“ถ้าคุณไม่สามารถเรียกชื่อบุคคลใดได้ มันเป็นเหมือนการกีดกันบุคคลนั้นไม่ให้มีส่วนร่วมทางสังคม” ดร.ไพรซ์ กล่าว

เธอกล่าวต่อไปว่า เธอเคยได้ยินเรื่องราวของบางคนที่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษเพราะความพยายามของเพื่อนร่วมงานในการเรียกชื่อเขานั้นแย่มากจนเขาไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเพื่อนกำลังเรียกชื่อเขาอยู่

“ฉันมีหลายคนมาบอกว่า มันทำให้เกิดปัญหาใหญ่ในอาชีพการงาน เพราะเวลามีคนมาแนะนำตัวคนที่มาเยี่ยมสำนักงาน.... พวกเขาก็จะลังเล หลบเลี่ยงไม่อยากเจอ หรือหลบหน้าตามทางเดิน” ดร.ไพรซ์ กล่าว

แต่ ดร. ไพรซ์กล่าวว่าผู้คนไม่ควรคิดคาดคะเนเอาเองเกี่ยวกับผู้คนจากภูมิหลังหลากวัฒนธรรมที่มีชื่อภาษาอังกฤษ

เธอกล่าวว่าชาวจีนบางคนใช้ชื่อที่แตกต่างกันในบริบทที่ต่างกัน และบางวัฒนธรรมก็สนับสนุนให้ผู้คนใช้ชื่อใหม่เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
A woman wearing a blue jacket
ดร.ฟิโอนา สวี-ลิน ไพรซ์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม Source: Supplied
“หากผู้คนเลือกที่จะเปลี่ยนชื่อของตนและพวกเขาพอใจกับการตัดสินใจนั้น มีข้อโต้แย้งว่าคุณก็ควรเคารพในสิ่งนั้น” ดร. ไพรซ์ กล่าว

ดร. ไพรซ์กล่าวว่าการมีชื่อแปลกๆ ไม่คุ้นหูยังสร้างแรงกดดันอย่างมากให้กับบุคคลที่ต้องสอนคนอื่นออกเสียงชื่อเหล่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ทุกคนที่อยากทำ

ต้องมุ่งเน้นที่วิธีแก้ปัญหาที่ใช้งานได้จริง

ดร. ไพรซ์เชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องถือว่าการออกเสียงชื่อเป็นปัญหาในเชิงปฏิบัติซึ่งจำเป็นต้องมีวิธีแก้ปัญหาในเชิงปฏิบัติ มากกว่าที่จะเป็นประเด็นทางศีลธรรม ซึ่งสะท้อนถึงลักษณะนิสัยของบุคคล

“มีแรงกดดันมากมายว่าผู้คนควรทำให้ดีขึ้น แต่ไม่มีความช่วยเหลือมากนักว่าจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร” ดร. ไพรซ์ กล่าว

สำหรับเด็กที่เติบโตในครอบครัวที่พูดภาษาอังกฤษเท่านั้น ดร. ไพรซ์กล่าวว่า พวกเขาอาจไม่สามารถออกเสียงบางเสียงจากภาษาที่ไม่คุ้นเคยได้ อย่าว่าแต่การจำว่าชื่อควรออกเสียงอย่างไรหลังได้ยินการออกเสียงชื่อนั้นเพียงครั้งเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อชื่อไม่ได้ออกเสียงตามตัวสะกด

คำแนะนำของเธอสำหรับคนที่อยากลองออกเสียงชื่อคนให้ถูกต้องคือถามคนๆ นั้นหรือคนที่รู้จักพวกเขาหรือคนที่พูดภาษาเดียวกันก่อน จดบันทึกว่าพวกเขาออกเสียงชื่อนั้นอย่างไรเพื่อให้คุณจำได้ในภายหลัง ไม่ว่าจะผ่านการบันทึกเสียงหรือโดยการเขียนตามการออกเสียง

เธอกล่าวว่า ผู้คนมักจะพอใจเป็นอย่างยิ่งที่ผู้อื่นมีความพยายามในการออกเสียงชื่อของพวกเขาให้ถูกต้อง

นอกจากนั้น คุณมักจะค้นหาการออกเสียงชื่อทางออนไลน์ได้ แม้แต่ Google Translate บางครั้งก็อาจมีประโยชน์ถ้าคุณรู้ว่าเป็นชื่อภาษาอะไร

'ชื่อที่ฟังดูตลก' กลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น

เจียห์-ยัง กล่าวว่า มันเคยทำให้เขาหงุดหงิดเมื่อตอนที่เขายังเด็ก ซึ่งผู้คนมักเรียกเขาว่า "ผู้ชายที่มีชื่อฟังดูตลก" ตอนนี้เขาไม่คิดว่ามันเป็นสิ่งที่เลวร้ายเพราะมันแสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยเขาก็สร้างความประทับใจที่น่าจดจำ และหวังว่าผู้คนจะรู้ชื่อของเขาเมื่อเวลาผ่านไป

นอกจากนี้ เขายังริเริ่มมาตรการบางอย่างเพื่อให้ผู้อื่นจำชื่อของเขาได้ง่ายขึ้น รวมถึงการใช้เครื่องหมายยัติภังค์ (hyphen) ในชื่อของเขา เหนื่องจากหลายๆ คนเคยคิดและยังคงคิดว่า ยัง (Yung) ในชื่อของเขาเป็นชื่อกลาง (middle name)

ในสถานการณ์ทางสังคม ผู้คนมักจะขอให้เจียห์-ยังแนะนำตัวเอง แทนที่จะให้คนอื่นเป็นคนแนะนำตัวเขา นอกจากนี้เขาใช้วิธีทำเหมือนตนเองเป็นบุคคลที่สาม ซึ่งทำให้เขามีโอกาสพูดชื่อของเขาซ้ำๆ และช่วยให้คนอื่นจดจำชื่อเขาและออกเสียงได้

ตัวอย่างเช่น เขาอาจจะเล่าเรื่องและพูดว่า 'เจียห์-ยัง ตอนนั้นคุณกำลังคิดอะไรอยู่กันแน่?'

แต่เขาก็ไม่โกรธถ้าคนอื่นออกเสียงชื่อเขาไม่ถูกต้อง

“ผมมีคนจีนเรียกชื่อผมผิดด้วย ดังนั้นผมจึงไม่คาดหวังว่าทุกคนจะเรียกชื่อผมถูก” เจียห์-ยัง กล่าว
A man smiles as he poses in front of a beach
เจียห์-ยัง โล มีชื่อที่ออกเสียงยาก แต่เขาไม่ต้องการให้คนเรียกเขาว่า เจ-โล อีกต่อไป Source: Supplied / Charis Chang
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขากล่าวว่าชาวออสเตรเลียเชื้อสายจีนจำนวนมากได้เล่าให้เขาฟัง ถึงการค้นพบชื่อภาษาจีนของพวกเขาอีกครั้งและยินดียอมรับชื่อตามประเพณีจีนของตน

“เพราะพวกเขาถูกบังคับให้เก็บกดมานานเมื่อโตขึ้น” เจียห์-ยัง กล่าว “ตอนนี้มีสภาพแวดล้อมที่พวกเขาสามารถเป็นตัวของตัวเองและรู้สึกสบายใจกับมันได้ … และคุณสามารถรักษาสมดุลของทั้งสองอย่างได้ คุณสามารถเป็นชาวออสเตรเลียและคุณสามารถเป็นชาวออสเตรเลียเชื้อสายจีนได้ คุณไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง” เจียห์-ยัง กล่าว

"ตอนนี้เมื่อผมแนะนำตัวเองกับคนใหม่ๆ ... มันเป็นความกระตือรือร้นแบบเดียวกับที่ผมได้รับจากผู้คนเมื่อผมเรียกตัวเองว่าเจ-โลย้อนกลับไปในปี 2008 ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่บ่งบอกกับผมว่า ในฐานะสังคม พวกเขากำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น”

"ผมไม่ใช่คนไม่เข้าพวก ที่มี 'ชื่อที่ฟังดูตลกๆ ' อีกต่อไป ยังมีคนอื่นๆ อีกมากมายที่มี 'ชื่อที่ฟังดูตลกๆ' เหมือนกัน"

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 


Share
Published 20 February 2023 2:08pm
By Charis Chang
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand