Explainer

ค่าเดินทางในออสฯ ขึ้นไวกว่าเงินเฟ้อ จะทำอย่างไรให้ประหยัด

รายงานล่าสุดชี้ว่า ราคาค่าเดินทางในออสเตรเลียเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อ

A woman holding a fuel pump at a petrol station

Transport costs the average Australian household $59 a day, a figure that has risen at a faster rate than inflation. Source: AAP / Adam Davis

Key Points
  • การวิเคราะห์ล่าสุดชี้ว่า ครอบครัวในออสเตรเลียต้องจ่ายค่าเดินทางโดยเฉลี่ยวันละ 59 ดอลลาร์
  • สินเชื่อรถยนต์ ประกันภัย และค่าบำรุงรักษา เป็นส่วนที่ราคาเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมากที่สุด
  • ราคาค่าเดินทางเพิ่มขึ้นในอัตรา 7.4% ในไตรมาสเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นไวกว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในช่วงเวลาเดียวกันในอัตราเพียง 1.4%
ครอบครัวในออสเตรเลียกำลังจ่ายค่าเดินทางโดยเฉลี่ยวันละ 59 ดอลลาร์ ขณะที่การวิจัยล่าสุดแสดงให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายในการไปไหนมาไหนกำลังเพิ่มสูงขึ้น

ดัชนีความสามารถในการจ่ายเพื่อการเดินทาง (Transport Affordability Index) ของสมาคมยานยนต์แห่งออสเตรเลีย (The Australian Automobile Association) แสดงให้เห็นว่า ราคาในการเดินทางนั้นเพิ่มสูงไวกว่าอัตราเงินเฟ้อ พบการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมากที่สุดในส่วนของสินเชื่อรถยนต์ ประกันภัย และการบำรุงรักษารถ

แต่ก็ยังมีส่วนที่ทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนบางพื้นที่โล่งใจเล็กน้อย ได้แก่ ราคาน้ำมันที่ลดลงพอสมควร รวมถึงค่าผ่านทางและค่าต่อทะเบียนรถที่ลดลงในบางรัฐและมณฑล

นอกจากนี้ ดัชนีดังกล่าวยังได้ชี้วัดราคาอื่น ๆ เช่น ค่าซ่อมบำรุงและเปลี่ยนยาง บริการช่วยเหลือฉุกเฉินบนท้องถนน รวมถึงค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะ
การวิเคราะห์ของสมาคมยานยนต์แห่งออสเตรเลีย เผยว่า ราคาค่าเดินทางสำหรับครอบครัวในออสเตรเลียโดยเฉลี่ย (จากการตั้งสมมุติฐานว่าเป็นครอบครัวที่อยู่ร่วมกันเป็นคู่ มีงานทำ และมีบุตร 2 คน และมีรถ 2 คัน) เพิ่มสูงขึ้นเกือบร้อยละ 7.4 ในไตรมาสเดือนมีนาคม ซึ่งสูงกว่าการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ของดัชนีราคาผู้บริโภคในช่วงเวลาเดียวกัน

การเดินทางในเมืองที่คุณอาศัยต้องจ่ายเท่าไหร่

การเดินทางในเมืองใหญ่ของออสเตรเลียมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 63.77 ดอลลาร์ต่อวัน ส่วนในพื้นที่ส่วนภูมิภาคจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเดินทางอยู่ที่ 53.60 ดอลลาร์ต่อวัน หากคำนวณในอัตรานี้ จะคิดเป็นค่าเดินทางต่อปี 23,213 ดอลลาร์สำหรับผู้อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ และ 19,510 ดอลลาร์สำหรับผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ส่วนภูมิภาค
A graph depicting transport costs per day in capital cities.
Source: SBS
นครซิดนีย์เป็นเมืองที่ค่าเดินทางแพงที่สุด (72.97 ดอลลาร์ต่อวัน) ตามด้วยนครเมลเบิร์น (71.82 ดอลลาร์ต่อวัน) และนครบริสเบน (71.50 ดอลลาร์ต่อวัน)

ทั้งนี้ รายงานได้พบว่านครบริสเบนมีอัตราเพิ่มขึ้นของค่าเดินทางมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.90 ดอลลาร์ต่อวัน

ส่วนเมืองใหญ่ที่มีค่าเดินทางเฉลี่ยถูกที่สุด ได้แก่ นครโฮบาร์ต (55.80 ดอลลาร์ต่อวัน) ซึ่งถูกกว่าพื้นที่ส่วนภูมิภาคที่มีค่าเดินทางเฉลี่ยแพงที่สุดอย่าง อลิซ สปริงส์ (Alice Springs) ซึ่งมีค่าเดินทางเฉลี่ย 57.42 ดอลลาร์ต่อวัน
A graph depicting transport costs per day in regional areas.
Source: SBS
แต่อย่างไรก็ดี ประชาชนในนครโฮบาร์ต ต้องแบ่งรายได้ให้กับการเดินทางในสัดส่วนที่มากกว่าใครโดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 18.4 ส่วนประชาชนในกรุงแคนเบอร์ราแบ่งรายได้ให้กับการเดินทางในสัดส่วนน้อยที่สุดที่ร้อยละ 14.4

ขณะที่ค่าเฉลี่ยระดับประเทศของสัดส่วนรายได้ที่แบ่งให้กับการเดินทางอยู่ที่ร้อยละ 15.8

ทำไมค่าเดินทางจึงเพิ่มขึ้น

ค่าเดินทางเพิ่มสูงขึ้น เพราะได้รับแรงหนุนจากผลกระทบของราคารถยนต์ที่สูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในการชำระสินเชื่อรถยนต์ โดยในไตรมาสเดือนมีนาคม ค่าผ่อนรถโดยเฉลี่ยของครัวเรือนในออสเตรเลียทั่วไปเพิ่มขึ้นเป็น 26.19 ดอลลาร์ต่อวัน
A graph depicting typical household transport costs per day.
Source: SBS
ในค่าเดินทางเฉลี่ยต่อวันที่เพิ่มขึ้น พบว่าสินเชื่อรถยนต์เป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 44 ของราคาเฉลี่ยในการเดินทางต่อวัน รองลงมาคือราคาน้ำมันเชื้อเพลิง คิดเป็นร้อยละ 23.1 หรือเป็นราคา 13.65 ดอลลาร์ต่อวัน แม้ว่าราคาจะลดลงมาตั้งแต่ไตรมาสที่แล้วก็ตาม

นอกจากนี้ยังพบว่า ราคาซ่อมบำรุงและเปลี่ยนยางรถยนต์เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ

ไมเคิล แบร็ดลีย์ (Michael Bradley) กรรมการผู้จัดการสมาคมยานยนต์แห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า “ผลสะสมของต้นทุนการเดินทางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นภาระหนักในช่วงเวลาที่ชาวออสเตรเลียรู้สึกถึงแรงกดดันด้านค่าครองชีพไปทั่วทุกส่วน”

“การเดินทางคือค่าใช้จ่ายที่สำคัญและหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับครัวเรือน และเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนหลักของอัตราเงินเฟ้อ รัฐบาลทุกระดับต้องคำนึงถึงแรงกดดันด้านต้นทุนเหล่านี้เมื่อกำหนดนโยบาย”

จะประหยัดค่าเดินทางได้อย่างไร

ค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะในหลายเมืองจะถูกลงในช่วงนอกชั่วโมงเร่งด่วน (off-peak hours)

คุณซาราห์ เมกกินสัน (Sarah Megginson) ผู้เชี่ยวชาญการวางแผนการเงินจากเว็บไซต์ฟายน์เดอร์ (Finder) กล่าวกับ เอสบีเอส นิวส์ ว่า เธอแนะนำให้พิจารณาตัวเลือกการเดินทางอื่น ๆ เช่น จักรยานหรือรถจักรยานยนต์ เพื่อประหยัดเงิน

“หากคุณสามารถเปลี่ยนจาก 4 ล้อเป็น 2 ล้อได้ นั่นจะช่วยให้คุณประหยัดเงินไปได้มาก ข้อมูลจากฟายน์เดอร์แสดงให้เห็นว่า รถจักรยานยนต์สามารถลดค่าน้ำมันของพวกเขาได้ประมาณ 75%” คุณเมกกินสันกล่าว

“ไม่ว่าจะเป็นการเดินหรือขี่จักรยาน หรือแม้กระทั่งการใช้รถร่วมกันหากคุณทำได้ ทางเลือกเหล่านี้สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังช่วยให้คุณได้ประหยัดเงินได้อีกหน่อยด้วย”
แต่สำหรับคนเดินทางที่มีรถยนต์เป็นทางเลือกเดียว โดยเฉพาะในพื้นที่ส่วนภูมิภาค คุณเมกกินสันแนะนำให้ผู้ขับขี่มองหาสถานีบริการน้ำมันที่ถูกที่สุดผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ ในรัฐที่แตกต่างกันไป

“เราทราบดีว่า ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ วันที่ถูกที่สุดในการเติมน้ำมันคือวันอังคาร”

“เมื่อถึงวันศุกร์ ปกติแล้วราคาจะแพงที่สุดเพราะเรื่องของอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งผู้คนมักจะเตรียมตัวออกไปทำกิจกรรมในช่วงสุดสัปดาห์ และราคาก็พุ่งสูงขึ้น” คุณเมกกินสันกล่าว

นอกจากนี้ คุณเมกกินสันยังแนะนำให้มองหาข้อเสนอที่ดีกว่าสำหรับประกันภัยรถยนต์และสินเชื่อรถยนต์ รวมถึงหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าผ่านทาง

มีรายงานเพิ่มเติมจากเอเอพี


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 6 June 2023 3:56pm
By Madeleine Wedesweiler
Source: SBS


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand