เหยื่อความรุนแรงวีซ่าชั่วคราวห่วงอันตรายต่อชีวิตช่วงโควิด

การวิเคราะห์ผู้ให้บริการด้านความรุนแรงในครอบครัวที่ไม่เคยมีมาก่อนในออสเตรเลีย เปิดเผยถึงความยากลำบากของผู้ถือวีซ่าชั่วคราวที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ในช่วงสถานการณ์ไวรัสโคโรนา

Temporary migrants in Australia are often more vulnerable to domestic violence.

Temporary migrants in Australia are often more vulnerable to domestic violence. Source: AAP

ผู้ให้บริการสนับสนุนผู้อพยพย้ายถิ่นชั่วคราวที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในออสเตรเลีย ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา เปิดเผยว่า ผู้ที่ติดต่อเข้ามาจำนวนถึง 1 ใน 3 มีความหวาดกลัวเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตของตนเอง ขณะที่คณะทำงานสนับสนุนได้เตือนว่า จะมีผู้โทรเข้ามาขอความช่วยเหลือในลักษณะเดียวกันนี้มากขึ้น

โดยในวันนี้ (24 ก.ย.) มีการเปิดเผยรายงานฉบับใหม่ ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยโมแนช (Monash University) ซึ่งเป็นครั้งแรกในออสเตรเลีย ที่ได้มีการวิเคราะห์ประวัติของผู้อพยพย้ายถิ่นชั่วคราวที่ประสบความรุนแรง ที่ได้ขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานด้านความรุนแรงในครอบครัว ในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ครั้งแรกในรัฐวิกตอเรีย เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา 

รายงานฉบับดังกล่าวได้มีการเปิดเผย หลังจากมีความกังวลอย่างต่อเนื่องว่า ผู้อพยพย้ายถิ่นชั่วคราวนั้นตกอยู่ในความเสี่ยงในการเผชิญกับความรุนแรงในช่วงเวลานี้ เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงเงินชดเชยค่าจ้าง JobKeeper และเงินสงเคราะห์รายได้ JobSeeker ของรัฐบาล และมีความเป็นไปได้น้อยที่จะรายงานเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งหลบหนีจากคู่ครองที่ก่อความรุนแรง เนื่องจากกลัวว่าจะถูกส่งกลับประเทศ เนื่องจากไม่มีผู้สปอนเซอร์วีซ่า

ผู้หญิงมากกว่า 60 จาก 100 คน ที่เข้าถึงบริการจากศูนย์​อินทัช (InTouch) บริการด้านความรุนแรงในครอบครัวในรัฐวิกตอเรีย ในช่วงวันที่ 16 มี.ค. – 31 พ.ค.ที่ผ่านมา กล่าวว่า มีความกังวลว่าจะถูกเนรเทศ จากคำข่มขู่ของผู้ก่อความรุนแรง ซึ่งส่วนมากเป็นพลเมืองออสเตรเลีย รวมถึงเป็นผู้อาศัยถาวร

“เราได้ทำการศึกษาผู้หญิงจำนวน 300 คนในปี 2017 และสิ่งหนึ่งที่ยังคงเกิดอย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือการใช้สถานะทางวีซ่าในการควบคุม” นางมารีย์ เซเกรฟส์ (Marie Segraves) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาอาชญาวิทยา และผู้ร่วมจัดทำการศึกษาในครั้งนี้กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์

“แต่สิ่งที่รายงานฉบับนี้ได้แสดงให้เห็น นั่นคือผลกระทบอย่างมากที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนทางการเงินและสวัสดิการรัฐ และสิ่งเหล่านั้นแทบทั้งหมดได้พอกพูน จากบริบทที่เพิ่มขึ้นของสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 

จากบรรดาผู้ถือวีซ่าชั่วคราวที่มีงานทำ เมื่อพวกเขาเข้าถึงบริการของศูนย์ InTouch พบว่าร้อยละ 95 มีสถานภาพการจ้างงานที่เปลี่ยนไป และมีถึงร้อยละ 70 ที่ตกงานในช่วงสถานการณ์ไวรัสโคโรนา  

“และพวกเขาก็ไม่มีอะไรให้เป็นที่พึ่ง มันไม่มีการสนับสนุนทางการเงินอย่างต่อเนื่อง อย่างดีที่สุดก็คือ มีเศษเหลือจากเงินทุนบางอย่างให้เข้าถึงได้ แต่นั่นเป็นการผลักภาระมาให้กับผู้ให้บริการช่วยเหลือ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์เซเกรฟส์กล่าว 

มีหญิงรายหนึ่งซึ่งถือวีซ่าบริดจิง เธอตกงานจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา และถูกบีบบังคับให้จ่ายเงินให้แก่ผู้ก่อความรุนแรงเป็นจำนวน $1,500 ดอลลาร์ต่อเดือน เพื่อให้เขาตกลงที่จะสปอนเซอร์วีซ่าของเธอ นอกจากนี้ เขายังข่มขู่เธอว่าจะส่งเธอกลับประเทศ หากเธอโทรแจ้งตำรวจ  

นางมิเชล มอร์ริส ประธานบริหารศูนย์อินทัช กล่าวว่า ทางศูนย์พบการขอความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา โดยมากกว่าร้อยละ 50 มาจากผู้อพยพย้ายถิ่นชั่วคราว โดยนางมอร์ริสกล่าวเสริมว่า นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวทั้งหมดเท่านั้น

“ในช่วงสถานการณ์โควิด ผู้อพยพย้ายถิ่นชั่วคราวจะรู้สึกว่าตนเองด้อยค่าลงโดยอัตโนมัติ พวกเขาไม่มีแหล่งรายได้ ซึ่งนั่นทำให้ความมั่นคงหรือปลอดภัยของพวกเขาจะหายไป เพราะพวกเขาไม่มีเงินซื้ออาหารไม่มีเงินในการจ่ายค่าเช่าบ้านหรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ” นางมิเชลกล่าวกับเอสบีเอส นิวส์

“เราพบการใช้สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เป็นอาวุธ ซึ่งผู้ชายมักจะใช้สิ่งนี้เป็นคำขู่ ขณะที่การขาดรายได้นั้นยังเป็นผลกระทบอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้บรรดาผู้หญิงต้องกลับไปอยู่กับผู้ก่อความรุนแรง หรือไม่สามารถเป็นอิสระได้”

ขณะที่บริการด้านความรุนแรงในครอบครัวในรัฐและมณฑลอื่น ๆ ยังได้รายงานว่า มีผู้โทรศัพท์เข้ามาขอความช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้น โดยเมื่อสัปดาห์ก่อน บริการด้านกฎหมายเพื่อสตรีในรัฐควีนส์แลนด์ (Woman’s Legal Service Queensland) ได้รายงานผ่านกรรมการวุฒิสภาไปยังการจัดการสถานการณ์ไวรัสโคโรนาของรัฐบาลสหพันธรัฐ ว่ามีปริมาณผู้โทรศัพท์มาขอความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 หลังมีการยกเลิกมาตรการจำกัดการแพร่ระบาด เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา 

ส่วนที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ ผลสำรวจคนทำงานแถวหน้าในช่วงสถานการณ์ไวรัสโคโรนา โดยหน่วยงานด้านความรุนแรงในครอบครัวรัฐนิวเซาท์เวลส์​ (Domestic Violence NSW) พบว่า มีผู้ถือวีซ่าชั่วคราว 369 คน ได้ขอความช่วยเหลือในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จากการสำรวจผู้ให้บริการด้านความรุนแรงในครอบครัว พบว่า ร้อยละ 45 รายงานว่าพบความรุนแรงเพิ่มขึ้น และร้อยละ 64 พบว่าการเข้าถึงรายได้ อาหาร และสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นอื่น ๆ นั้นลดลง 

ส่วนในรัฐวิกตอเรีย ซึ่งเป็นรัฐเดียวที่ยังคงอยู่ในมาตรการล็อกดาวน์นั้น ผลกระทบอาจเลวร้าย โดยจะสังเกตได้ชัดหลังมาตรการล็อกดาวน์สิ้นสุดลง จากการที่ผู้รอดพ้นจากเหตุรุนแรงนั้น เริ่มหาความช่วยเหลือได้มากขึ้น

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหพันธรัฐได้ประกาศงบประมาณสนับสนุนการตอบสนองฉุกเฉินต่อความรุนแรงในครอบครัว มูลค่า $150 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมุ่งเน้นการช่วยเหลือคนทำงานแถวหน้าในช่วงวิกฤตไวรัส เพื่อให้สามารถรับมือกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดได้

 “เราให้คำมั่นในการทำให้แน่ใจว่า บริการต่าง ๆ นั้น จะมีประสิทธิภาพในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งเราเข้าใจว่ามีความซับซ้อน ในช่วงการแพทยระบาดของไวรัสโคโรนา” นางแอน รัสตัน (Anne Ruston) รัฐมนตรีด้านบริการสังคมของออสเตรเลียกล่าว เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

หากคุณ หรือคนที่คนรู้จัก ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงภายในบ้าน โปรดโทรไปที่หมายเลข 1800 737 732 หรือไปที่เว็บไซต์

หากมีเหตุฉุกเฉิน โปรดโทรหาตำรวจที่หมายเลข 000


ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้สามารถทำได้ทั่วออสเตรเลีย หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080 

รัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียยังได้มีแอปพลิเคชัน COVIDSafe เพื่อติดตามและแจ้งเตือนผู้ที่พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากแอปสโตร์ (app store) สำหรับโทรศัพท์มือถือของคุณ อ่านเกี่ยวกับแอปพลิเคชันนี้ 

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย

ชวนธุรกิจไทยลดขยะรักษ์สิ่งแวดล้อมกับโครงการ Bin Trim


Share
Published 24 September 2020 3:15pm
Updated 24 September 2020 4:00pm
By Maani Truu
Presented by Tinrawat Banyat


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand