ควรใช้ยาฆ่าเชื้อเช็ดสิ่งของที่ซื้อมาไหม? ตอบคำถามของคุณเรื่องโควิด

เป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้วตั้งแต่มีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันในออสเตรเลีย แต่ผู้คนยังคงมีคำถามเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อ การติดตามหาที่มาของการติดเชื้อ และการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ ต่อไปนี้คือคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเกี่ยวกับคำถามที่คุณมี

A pedestrian wearing a face mask in Sydney

A pedestrian wears a face mask in Sydney. Source: AAP

ออสเตรเลียยืนยันการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ครั้งแรกในเดือนมกราคม แต่หลายเดือนผ่านไป ผู้คนยังคงมีคำถามเกี่ยวกับเชื้อไวรัสชนิดนี้

เราสามารถติดเชื้อไวรัสโคโรนาจากควันบุหรี่หรือไม่?

รศ.ฟิลิป รัสโซ ผู้อำนวยการวิจัยทางการพยาบาลของสถาบันคาบรินี มหาวิทยาลัยโมนาช กล่าวว่า ไม่น่าเป็นไปได้

“เราจำเป็นต้องจำไว้ว่า นี่เป็นการติดเชื้อที่แพร่กระจายผ่านละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะที่กระเด็นออกมา ดังนั้น ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีเชื้อจึงมาความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ” รศ. รัสโซ อธิบาย

“โดยทั่วไปแล้ว เชื้อนี้จะไม่แพร่กระจายผ่านอากาศและจะไม่ลอยตัวไปมาอยู่ในอากาศ แต่หากคุณสูบบุหรี่มวนเดียวกันกับคนอื่น แน่นอนว่า นั่นจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะมีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสนี้ได้ หรือหากคุณใช้ไฟแช็กร่วมกัน”
Cigarette
Source: Getty Images

เราจะสามารถติดเชื้อไวรัสโคโรนาจากคนที่วิ่งผ่านหน้าเราได้หรือไม่?

ข้อยกเว้นที่ไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยข้อหนึ่งในรัฐวิกตอเรีย คือเมื่อออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังกาย ซึ่งทำให้หายใจแรงและเร็ว หรือหอบ เช่น การวิ่ง การวิ่งเหยาะๆ หรือการขี่จักรยาน

รศ.รัสโซ กล่าวว่า เราไม่จำเป็นต้องวิตกว่าจะติดเชื้อไวรัสโคโรนาจากผู้คนที่หายใจแรงๆ ขณะวิ่งผ่านหน้าเราบนท้องถนน

คุณจะมีความเสี่ยงสูงสุด หากคุณอยู่ในพื้นที่ปิด เช่น ในห้องเล็กๆ และคุณอยู่ใกล้ชิดกับคนที่มีเชื้อไวรัส” รศ.รัสโซ กล่าว

หากเป็นที่โล่งกลางแจ้ง ความเสี่ยงก็จะลดลงอย่างมาก เพราะคุณอยู่กลางแจ้ง และอากาศที่เคลื่อนที่มักจะพัดพาละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะออกไปจากคุณ”
running
hydration is important during summer. Source: Pexel

เราจำเป็นต้องเช็ดทำความสะอาดสิ่งของที่สั่งซื้อออนไลน์เมื่อได้รับสินค้าหรือไม่?

รศ.รัสโซ กล่าวว่า เชื้อไวรัสโคโรนาจะมีชีวิตอยู่ได้นานเท่าไรบนบรรจุภัณฑ์สินค้าที่ส่งมานั้น แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมทั้ง ขนาดของละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะจากผู้มีเชื้อ และอุณหภูมิของอากาศ

“มันอาจมีชีวิตอยู่ได้เพียง 5 นาที หรืออาจอยู่ได้หลายชั่วโมง ดังนั้น จึงไม่มีผลเสียใดๆ ที่เราจะเช็ดฆ่าเชื้อสินค้าที่ส่งมา”

“ที่สำคัญ คุณควรล้างมือหลังจากหยิบจับสิ่งของที่ส่งมาเหล่านั้น"
20190718001409416376-original.jpg

แอพ COVIDSafe ที่ใช้ติดตามหาผู้พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อใช้การได้อย่างที่คาดหวังหรือไม่?

แม้ในรัฐวิกตอเรียนั้น ขณะที่ผู้คนต้องทำงานจากบ้านหรืออยู่บ้าน ศ.อัลเลน เชง รองประธานเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ ระบุว่า แอพ COVIDSafe มักระบุชี้ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อที่เจ้าหน้าที่สอบสวนโรคสืบพบอยู่แล้ว

แต่นายแพทย์นิก โคตส์เวิร์ต รองประธานเจ้าหน้าที่การแพทย์ของสหพันธรัฐ กล่าวว่า แอพพลิเคชันสำหรับโทรศัพท์มือถือนี้ถูกใช้ให้เป็นประโยชน์แล้วในรัฐนิวเซาท์เวลส์

“เห็นได้ชัดว่าแอพนี้ส่งผลกระทบที่สำคัญ”

“ไม่เพียงแต่มันได้ระบุชี้ผู้พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อที่ไม่รู้มาก่อน 544 คน ความจริงแล้ว มันยังได้ระบุชี้เหตุการณ์ที่เป็นต้นตอของการแพร่เชื้อในคลับแห่งหนึ่งในนิวเซาท์เวลส์ ซึ่งหากไม่มีแอพนี้ ก็คงหาไม่พบ”

ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างไรในโรงพยาบาล?

ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ ปีเตอร์ วาร์ก ของคณะแพทยศาสตร์และสาธารณสุข แห่งมหาวิทยาลัยนิวแคสเซิล และเป็นผู้เชี่ยวชาญอาวุโสของโรงพยาบาลจอห์น ฮันเตอร์ กล่าวว่า นี่ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการป่วย
A healthcare worker conducts coronavirus screening inside a Melbourne hospital.
A healthcare worker conducts coronavirus screening inside a Melbourne hospital. Source: AAP
เขากล่าวว่า การรักษาพยาบาลส่วนใหญ่ที่ให้ในโรงพยาบาลเป็นการช่วยประคับประคองผู้ป่วย

“เราให้ออกซิเจน เราช่วยเหลือผู้คนเมื่อพวกเขารู้สึกไม่สบาย เราช่วยเหลือเมื่อพวกเขามีไข้และมีอาการป่วยต่างๆ แต่เราไม่ได้รักษาให้หายจากการมีเชื้อไวรัสโดยตรง” ศาสตราจารย์ วาร์ก กล่าว

“ข้อยกเว้นในเรื่องนี้ คือการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เดกซาเมทาโซน (dexamethasone)”

“สำหรับผู้ที่ป่วยหนักจนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และต้องได้รับการให้ออกซิเจน พวกเขาจะได้ประโยชน์จากการรักษาดังกล่าว โดยจะระยะเวลาที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลจะสั้นลงและความรุนแรงของการเจ็บป่วยจะลดลง”

เขากล่าวว่า สำหรับผู้ที่ถูกนำตัวเข้ารับการรักษาในห้องผู้ป่วยวิกฤต การรักษาพยาบาลผู้ป่วยเหล่านี้อาจเกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องช่วยหายใจผ่านหน้ากาก (ชนิดไม่ใส่ท่อ) ซึ่งจะใช้อุปกรณ์ช่วยให้ออกซิเจนระดับต่ำแก่ผู้ป่วย

“แต่โชคร้ายที่มีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่มีอาการป่วยรุนแรงมาก จนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจผ่านทางท่อและการเจาะคอ”

ผลด้านสุขภาพระยะยาวของโควิด-19 คืออะไรบ้าง?

ศาสตราจารย์ วาร์ก กล่าวว่า ผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสโคโรนา ที่รอดชีวิตมาได้หลังเข้ารับการรักษาตัวในห้องผู้ป่วยวิกฤต มักมีความเสียหายอย่างรุนแรงที่ปอดของพวกเขา และร่างกายอ่อนแอเป็นเวลายาวนาน ส่งผลให้ต้องใช้เวลาในการพักฟื้นเป็นพิเศษ
“ใครก็ตามที่ได้รัลการรักษาตัวเนื่องจากโรคทางเดินหายใจที่รุนแรงในห้องผู้ป่วยวิกฤต มักจะต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลายาวนาน ระยะเวลาในการฟื้นตัวก็ยาวนาน และมักมีปัญหาต่างๆ ที่เรื้อรังหลัง 12 เดือนผ่านไปด้วย”

แต่ศาสตราจารย์ วาร์ก กล่าวว่า แม้แต่ผู้ที่มีอาการจากเชื้อไวรัสชนิดนี้ไม่รุนแรงนัก ก็สามารถมีปัญหาด้านสุขภาพที่เรื้อรังได้ เช่น อาการป่วยเมื่อยกล้ามเนื้อและอาการร่างกายอ่อนเพลีย
“ขณะนี้ โซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยผู้คนที่บอกเล่าถึงอาการป่วยที่เป็นไม่ยอมหายเหล่านี้ โชคร้ายที่บางคนก็เป็นนานเกิน 60 วัน”

“พวกเขาเรียกตัวเองว่า ‘ผู้บินระยะไกล’ (long-haulers) ซึ่งมีอาการป่วยเหล่านี้เกิดขึ้นโดยไม่ยอมหาย และมีอาการป่วยเหล่านี้นอกเหนือไปจากผลกระทบโดยตรงของการติดเชื้อด้วยเช่นกัน”

“เห็นได้ชัดว่า นี่เป็นประเด็นที่ผู้คนจะให้ความสนใจอย่างมากๆ และโชคร้าย ที่เรากำลังเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการที่พวกเราประสบการณ์กับมันโดยตรง”

“เมื่อเราพูดถึงผู้ที่มีอาการป่วยนานเกิน 60 วัน อาการป่วยเหล่านี้จะมีอยู่นานเท่าไร? ผู้ที่มีอาการเช่นนี้คิดเป็นสัดส่วนเท่าไร? ใครที่มีความเสี่ยง? สิ่งเหล่านี้คือคำถามที่สำคัญ แต่ขณะนี้ เราเพียงแค่ไม่รู้คำตอบ”

ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตมหานครของเมลเบิร์น (Metropolitan Melbourne) อยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ระดับ 4 และจะต้องปฏิบัติตามการห้ามออกจากเคหสถานระหว่างเวลา 20.00 น.-5.00 น.

ในระหว่างช่วงเวลาที่ห้ามออกจากเคหสถาน ประชาชนในเมลเบิร์นจะสามารถออกจากบ้านได้ เพื่อไปทำงาน หรือไปรับบริการด้านสุขภาพหรือไปรับการดูแลที่จำเป็น หรือเพราะเหตุผลด้านความปลอดภัยเท่านั้น

ระหว่างเวลา 5.00 น. เป็นต้นไปจนถึงเวลา 20.00 น. ประชาชนในเมลเบิร์นจะสามารถออกจากบ้านได้ เพื่อออกกำลังกาย เพื่อไปซื้อของจำเป็นและไปรับบริการที่จำเป็น ไปทำงาน ไปรับบริการด้านสุขภาพ หรือไปให้การดูแลญาติที่ป่วยหรือผู้สูงอายุเท่านั้น

รายละเอียดข้อจำกัดทั้งหมดสามารถดูได้  ชาวรัฐวิกตอเรียทุกคนจะต้องสวมหน้ากากหรือผ้าปกคลุมจมูกและปากเมื่อออกจากเคหสถาน ไม่ว่าพวกเขาจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ใด

ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้สามารถทำได้ทั่วออสเตรเลีย หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียยังได้มีแอปพลิเคชัน COVIDSafe เพื่อติดตามและแจ้งเตือนผู้ที่พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากแอปสโตร์ (app store) สำหรับโทรศัพท์มือถือของคุณ อ่านเกี่ยวกับแอปพลิเคชันนี้ 

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 10 August 2020 3:01pm
By Amy Hall
Presented by Parisuth Sodsai


Share this with family and friends


Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand