การขอสัญชาติของเด็กที่เกิดในออสเตรเลีย โดยผู้ปกครองที่ถือวีซ่าชั่วคราว

Family together

บิดามารดาที่ถือวีซ่าชั่วคราวสามารถทำเรื่องขอสัญชาติให้ลูกที่เกิดในออสเตรเลียได้ Source: Getty Images

คุณจอห์น เผ่าเพ็ง กูรูมืออาชีพด้านการอพยพย้ายถิ่น ตอบคำถามว่าเด็กที่เกิดกับพ่อและแม่ที่ถือวีซ่าชั่วคราวจะสามารถขอสัญชาติออสเตรเลียเมื่ออายุครบ 10 ปีได้หรือไม่? และเด็กจะสปอนเซอร์พ่อกับแม่ให้เป็นพีอาร์ได้หรือไม่?


LISTEN TO
a child born in Australia from temp visa parents can be citizen when turn 10 image

การขอสัญชาติของเด็กที่เกิดในออสเตรเลีย โดยผู้ปกครองที่ถือวีซ่าชั่วคราว

SBS Thai

27/09/202117:06


เอสบีเอสไทยสอบถามกูรูด้านการอพยพย้ายถิ่น คุณจอห์น เผ่าเพ็ง ถึงหนทางการขอสถานะพลเมือง (Citizen) สำหรับเด็กที่เกิดในออสเตรเลีย จากบิดามารดาที่ถือวีซ่าผู้พำนักชั่วคราว (Temporary Visa) และหนทางสปอนเซอร์บิดามารดาหลังเด็กได้สัญชาติแล้ว

ถาม: เด็กที่เกิดและอาศัยอยู่ในออสเตรเลียจนถึง 10 ปี จะสามารถขอสัญชาติได้ จริงหรือไม่?

ตอบ: เด็กที่เกิดในประเทศออสเตรเลีย ไม่ว่าคุณพ่อหรือคุณแม่จะถือวีซ่าอะไร เด็กจะสามารถเป็นซิติเซ่นได้หลังจากที่อายุ 10 ขวบ กรณีที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้เป็นพีอาร์หรือซิติเซ่น

เด็กที่เกิดในประเทศออสเตรเลีย มี 2 วิธีที่จะได้เป็นซิติเซ่นเลย

หนึ่ง กรณีที่เด็กเกิดในประเทศออสเตรเลีย โดยมีคุณพ่อหรือคุณแม่คนใดคนหนึ่งเป็นพีอาร์หรือซิติเซ่น ลูกที่เกิดที่นี่จะได้เป็นซิติเซ่นเลย วิธีนี้เรียกว่า Citizen by Birth (การเป็นพลเมืองโดยกำเนิด)

สอง กรณีที่ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ไม่ได้เป็นซิติเซ่น อาจจะถือวีซ่าทำงาน วีซ่านักเรียน หรือวีซ่าอื่นๆ ที่ไม่ใช่พีอาร์ ลูกที่เกิดที่นี่ และใช้ชีวิตที่นี่เป็นเวลา 10 ปี ลูกก็จะได้ซิติเซ่นได้เหมือนกันครับ
ถาม: มีข้อห้ามหรือกฎระเบียบอย่างไรบ้าง? จริงหรือไม่ที่ห้ามออกนอกประเทศ?

ตอบ: สำหรับคนที่คิดว่าห้ามลูกออกนอกประเทศเนี่ย ในความเป็นจริงคือ ถ้าจะให้เราใช้ชีวิตอยู่ในออสเตรเลียโดยไม่ออกนอกประเทศเลยเป็นเวลา 10 ปี มันเป็นไปไม่ได้ ซึ่งอิมมิเกรชั่นบอกว่า ‘ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ และใช้ชีวิตตามปกติ’ ตรงนี้ไม่มีคำนิยามว่าชีวิตตามปกติเป็นแบบไหน ปกติทั่วไปก็คือ เด็กออสซี่ที่นี่พอถึงอายุถึงเกณฑ์ก็ไปโรงเรียน ช่วงปิดเทอมก็อาจจะมีบ้างที่ไปเยี่ยมปู่ย่าตายายที่เมืองไทย เป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ว่าระยะเวลาที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ อย่างน้อยควรที่จะเป็น 90 เปอร์เซ็นต์จะต้องอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย ดังนั้นคือสามารถไปเยี่ยมได้

หลายคนที่สงสัยว่า สรุปแล้วอายุถึง 10 ปีหรือ 18 ปี ตามกฎหมายแล้วเนี่ยคือ 10 ปีนะครับ ไม่ใช่ 18 ปี

หรือบางคนที่สงสัยว่า เด็กจะเซ็นเอกสารได้ยังไง ก็คือคุณพ่อคุณแม่สามารถเซ็นเอกสารแทนเด็กได้ครับ ตรงจุดนี้ไม่มีปัญหา

ถาม: กว่าเด็กจะอายุถึง 10 ขวบ คุณพ่อคุณแม่บางท่านที่อยู่วีซ่านักเรียน ซึ่งการต่อวีซ่านักเรียนแต่ละครั้งค่อนข้างยาก มีคำแนะนำยังไงบ้างครับ?

ตอบ: สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ถือวีซ่านักเรียนนะครับ หนึ่ง เวลาเลือกสาขาที่ลงเรียน อย่าให้เป็นสาขาที่เขาปฏิเสธ (refuse) กันเยอะ เช่น สาขาการจัดการ (Management) การตลาด (Marketing) ธุรกิจ (Business) ควรจะเลือกเรียนสาขาที่อยู่ใน Long term list (สาขาระยะยาว) เช่น การเรียนในมหาวิทยาลัย หรือไอที (IT) หรือบัญชี (Accounting) ในระดับวิทยาลัย

กรณีที่คุณพ่อคุณแม่มาด้วยกันเป็นแพ็คคู่ สามารถสลับกันเรียนได้ คุณแม่อาจจะเรียนแล้ว 4 ปี ครั้งหน้าก็ให้คุณพ่อเรียน 4 ปี สี่บวกสี่เป็น 8 ได้ 8 ปี เวลาเลือกเรียนก็อย่าเลือกเรียนสาขาที่อยู่ใน Short term list (สาขาระยะสั้น) เรียนสาขาที่อยู่ใน Long term list เพื่อที่เราจะได้ขอวีซ่าซับคลาส (Subclass) 485 ได้ คือ Graduate Visa (วีซ่าทำงานหลังจบการศึกษา) ได้มาฟรีๆ 1 ปีครึ่ง หรือถ้าเรียนต่อปริญญาตรีหรือปริญญาโทร ก็จะได้วีซ่า 2 ปีครึ่ง สี่บวกสี่เป็นแปด บวกอีกสองเป็นสิบ

อีกวิธีหนึ่งเป็นพวกวีซ่าทำงาน (Working visa) ซับคลาส 482 หรือ 407 วีซ่าฝึกงาน ก็ได้หมด แต่ละคนไม่เหมือนกัน สุดท้ายแล้วคือแล้วแต่ว่าคุณพ่อกับคุณแม่จะมีวิธีและหนทางอย่างไรที่จะยื้อเวลาให้ถึง 10 ปีให้ได้ ถามว่าทำได้ไหม มันมีวิธี และมันทำได้ครับ

ถาม: เมื่อเด็กอายุครบ 10 ปีแล้ว ยื่นขอสัญชาติออสเตรเลียเป็นซิติเซ่นแล้ว คุณพ่อคุณแม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับการช่วยเหลือหรือสปอนเซอร์จากลูกด้วยไหมครับ?

ตอบ: ได้ครับ ก็คือ หนึ่งลูกอายุไม่ถึง 18 แต่สามารถสปอนเซอร์คุณพ่อคุณแม่ได้เพราะเป็นซิติเซ่นแล้ว มีวีซ่าที่เรียกว่า Parent Visa (วีซ่าผู้ปกครอง) เพื่อให้ลูกสปอนเซอร์คุณพ่อคุณแม่ ถ้าคุณพ่อคุณแม่อายุเกิน 65 ปีแล้วสามารถยื่นได้ในประเทศออสเตรเลีย จะได้บริดจิ้งวีซ่า A มีแบบจ่ายเงินและไม่จ่ายเงิน
แบบไม่จ่ายเงิน เราก็ไม่แนะนำ เพราะว่าต้องรอ 25 ปี

แบบจ่ายเงินคือ ตอนที่ยื่นไปครั้งแรกจ่ายแค่ค่าสมัครก่อน ค่าสมัคร $3,855 ดอลล่าร์ต่อคน คุณพ่อก็ราคานี้ คุณแม่ก็ราคานี้ พอถึงเวลาที่จะดำเนินการเพื่ออนุมัตพีอาร์ให้กับคุณพ่อคุณแม่เนี่ย เราค่อยจ่ายเพิ่ม เรียกว่า Second Instalment (จ่ายค่างวดที่สอง) อยู่ที่ $43,600 ดอลล่าร์ต่อคน

ถ้าคุณพ่อคุณแม่ยังอายุไม่ถึง 65 ปีก็ทำได้เหมือนกันครับ มีซับคลาส 483 ยื่นได้ ราคาเท่ากัน เพียงแต่ว่าคุณจะไม่ได้บริดจิ้งวีซ่า เพราะจะถือว่าเป็นการยื่นนอกประเทศ (Offshore) มันจะแตกต่างจากวีซ่าตัวอื่นคือ ไม่ต้องบินออกไปเพื่อยื่นแบบนอกประเทศ คุณอยู่ในประเทศออสเตรเลียแล้วยื่นไปที่เพิร์ธ (Perth) ซึ่งเป็นศูนย์อยู่ที่นั่น ระยะเวลาในการรอ (waiting period) อยู่ที่ประมาณ 4-5 ปี ระหว่างนั้นก็ต้องมาคิดว่าคุณพ่อคุณแม่จะอยู่ด้วยวีซ่าอะไรเพื่อที่จะอยู่ต่อ เพื่อรอพีอาร์ บางคนอาจจะรอแค่ 4 ปีในประเทศออสเตรเลีย แล้วปีสุดท้ายหรือครึ่งปีสุดท้ายก็ไปรอที่ประเทศไทย แบบนี้ทั้งคุณพ่อคุณแม่ก็ได้พีอาร์เช่นเดียวกันครับ

ถาม: ฝากถึงคนไทยหน่อยครับ

ตอบ: อย่างแรกเลยนะครับ ในเรื่องของกฎหมายการอพยพย้ายถิ่น (Immigration) ของออสเตรเลีย เราอยากจะให้ทุกคนศึกษาจากแหล่งข้อมูลที่ให้ความรู้จริงๆ เวลาเราไปอ่านอะไรตามโซเชียลหรือตามเว็บบอร์ด ก็ให้ดูความน่าเชื่อถือของคนที่โพสด้วย
A child and a pathway to Australia Citizenship
การขอสัญชาติให้ลูกที่เกิดกับพ่อและแม่ที่ถือวีซ่าชั่วคราว Source: Si Luan Pham/Pexels
อันที่สอง เราพูดกันเรื่องลูก ว่าลูกอยู่ที่นี่ 10 ปีแล้วได้ซิติเซ่นเลย สำหรับคนที่มีลูกอยู่ที่นี่แล้ว เราดีใจด้วย สำหรับอนาคตของลูกของคุณ แต่ว่าสำหรับคนอื่น
ถ้าคุณจะสร้างชีวิตขึ้นมาอีกชีวิตหนึ่ง เพื่อผลประโยชน์ของคุณ เราอยากจะให้คิดให้ดีๆ คิดให้ยาว ๆ ว่า การที่เราต้องมาดูแลชีวิตอีกตั้งชีวิตนึงเนี่ย ภาระมันเยอะ ถ้าเค้าไม่ได้เกิดมากจากความรักที่แท้จริง มันก็ไม่ใช่ครอบครัวที่สมบูรณ์ ถ้าเค้าเกิดขึ้นมา แล้วเราหวังประโยชน์อะไรทางวีซ่าจากเขา อยากให้คิดถึงจุดนี้ด้วยครับ
แล้วก็การเลี้ยงลูกอยู่ที่นี่ ไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ เพราะทุกคนต้องดูแลและเลี้ยงลูกเอง ไม่ได้มีคุณพ่อคุณแม่ คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย มาช่วยเลี้ยงเหมือนที่เมืองไทย อยากให้คิดถึงตรงจุดนี้ด้วย สุดท้ายสำหรับคนที่ยังไม่รู้เรื่องนี้ ถ้าคุณคลอดลูกที่นี่แล้ว ถ้าไม่อยากเสียโอกาสนะครับ ต้องเก็บลูกไว้ที่นี่ แล้วก็ต้องเลี้ยงเอง อย่าส่งไปให้คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงที่เมืองไทย ฝากไว้แค่นี้ครับ


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand