ออสเตรเลียห้ามปีนโขดหินอุลูรูถาวร 26 ต.ค.นี้

Uluru, pictured in afternoon light, in the Northern Territory

Uluru, also known as Ayres Rock, pictured in afternoon light, in the Northern Territory. Source: AAP

ห้ามอย่างถาวร 26 ต.ค.นี้ ปิดเส้นทาง-ห้ามปีนโขดหินอุลูรู สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม สิ้นสุดข้อพิพาทนักท่องเที่ยว-ชนพื้นเมืองเดิมยาวนานหลายสิบปี


กดปุ่ม 🔊 ด้านบนเพื่อฟังเรื่องนี้ในฉบับเสียงภาษาไทย

ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 26 ต.ค.นี้เป็นต้นไป อุทยานแห่งชาติอุลูรู-คาตา ทจูทา จะปิดเส้นทางและห้ามปีนป่ายโขดหินอุลูรูอย่างถาวร โดยนักท่องเที่ยวที่ปีนโขดหินแห่งนี้เป็นคนสุดท้ายจะลงมาสู่พื้นดินในวันศุกร์ที่ 25 ต.ค. ก่อนที่จะมีการปิดเส้นทางอย่างถาวรในวันถัดมา

การประกาศห้ามปีนป่านโขดหินอุลูรูมีขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีการประกาศห้าม แต่ก้ยังมีมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เดินทางมาเพื่อจะปีนป่ายโขดหินแห่งนี้

โขดหินอุลูรูเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวออสเตรเลียหลายคน มีนักท่องเที่ยวหลายแสนคนเดินทางมายังสถานที่ซึ่งเป็นหนึ่งในมรดกโลกแห่งนี้ในทุกๆ  ปี

นายโดนัลด์ เฟรเซอร์ อดีตประธานกรรมการของอุทยานแห่งชาติอุลูรู-คาตา ทจูทา กล่าวว่า การปิดเส้นทางปีนโขดหินอย่างถาวรนั้นเป็นสิ่งที่ชาวอะนานกู ซึ่งเป็นเจ้าของเดิมของสถานที่แห่งนี้เรียกร้องและต่อสู้มาอย่างยาวนาน

“มันถึงเวลาแล้วที่โขดหินแห่งนี้จะได้พัก แทนที่จะต้องถูกเหยียบย่ำจากผู้ปีนป่ายจำนวนมาก เพราะที่นี่เป็นพื้นที่ซึ่งมีความอ่อนไหว เราจึงจำเป็นที่จะต้องปิดเส้นทางปีน” นายเฟรเซอร์กล่าว

โดยในวันเสาร์ที่ 26 ต.ค.นี้ จะเป็นวันครบรอบ 34 ปี ที่รัฐบาลออสเตรเลียคืนสิทธิ์การถือครองพื้นที่อุทยานแห่งชาติดังกล่าวให้แก่ชาวอะนานกู ในปี 1985 จุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์การถือครองที่ดินโดยชาวพื้นเมืองของออสเตรเลีย

ตั้งแต่มีการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมในปี 1930 เป็นต้นมา โขดหินอุลูรูอันศักดิ์สิทธิ์นับพันปีแห่งนี้เป็นจุดสร้างสีสันในการท่องเที่ยว แต่ในขณะเดียวกันก็ดึงดูดบรรดาผู้มาเยือนที่ไม่ได้เคารพสถานที่แห่งนี้ด้วยเช่นกัน

ทั้งการถ่ายทำฉากเปิดของภาพยนตร์ปี 1975 เรื่อง The Man From Hong Kong ซึ่งเป็นฉากการต่อสู้บนยอดโขดหิน การปีนป่ายโขดหินของ ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ และเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารอังกฤษ ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรเลียเมื่อปี 1983 มาจนถึงเหตุการณ์ในปี 2010 ที่มีการเรียกร้องให้เนรเทศหญิงชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง หลังถ่ายภาพเปลือยบนยอดโขดหิน และเหตุการณ์ที่ นายแซม นิวแมน (Sam Newman) พิธีกรรายการออสเตรเลียฟุตบอลชื่อดัง ถ่ายภาพขณะกำลังตีกอลฟ์บนยอดโขดหิน สร้างความไม่พอใจให้กับชนพื้นเมืองซึ่งเป็นเจ้าของดินแดนแห่งนี้

ในปี 2017 บอร์ดบริหารของอุทยานแห่งชาติอุลูรู-คาตา ทจูทา ได้ตกลงอย่างเป็นเอกฉันท์ในการผลักดันครั้งสำคัญเพื่อให้มีการห้ามปีนป่านโขดหินอุลูรู โดยพวกเขาระบุว่า มีนักท่องเที่ยวน้อยกว่าร้อยละ 20 ที่ปีนป่ายโขดหินแห่งนี้ โดยประสบการณ์ทางธรรมชาติและวัฒนธรรม เป็นเหตุผลสำคัญที่ดึงดูดให้ผู้คนมาที่นี่

นางมาลันเดียร์รี แม็คคาร์ธีย์ (Malarndirri McCarthy) สมาชิกวุฒิสภาสหพันธรัฐเขตนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี กล่าวว่า มันเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ

“สารที่ประเทศของเรากำลังส่งออกไปให้โลกรับรู้นั้น คือ ประเทศของเราให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมชนพื้นเมืองดั้งเดิม ชาวอะนานกู และจิตวิญญาณแห่งอุลูรู เราให้ความสำคัญกับการดำรงรักษาวัฒนธรรม บทเพลง และเรื่องราวต่างๆ ที่ไม่เพียงสะท้อนถึงชาวอะนานกูเท่านั้น แต่สะท้อนถึงชนพื้นเมืองดั้งเดิมของออสเตรเลีย เราคือหนึ่งในวัฒนธรรมอันเก่าแก่ที่ยังมีชีวิตบนโลก สารที่เราส่งออกไปนั้นก็เพื่อจะสื่อว่า วัฒนธรรมดั้งเดิมของเรายังมีความแข็งแรง” นางแม็คคาร์ธีย์กล่าว

ตั้งแต่มีการบันทึกมา มีผู้เสียชีวิตขณะกำลังพยายามปีนป่ายโขดหินอุลูรูแห่งนี้อย่างน้อย 35 คน

นายสตีฟ บอล์ดวิน (Steve Baldwin) ผู้จัดการส่วนปฏิบัติการแห่งอุทยานแห่งชาติอุลูรู-คาตา ทจูทา กล่าวว่า ความแรงของลม และสภาพพื้นที่ซึ่งเข้าถึงได้ยากลำบากของโขดหิน ยังเป็นส่วนหนึ่งของการบาดเจ็บขณะปีนป่ายอย่างนับไม่ถ้วน

“ถ้าจะให้พูดก็คือ ตั้งแต่ผู้คนเริ่มปีนป่าย หลายคนเจอสถานการณ์ไม่ดีนัก ทั้งพลัดตกลงมา หัวใจวาย และเสียชีวิตหลังจากที่ปีนลงมาแล้ว” นายบอลด์วินกล่าว

นายมาร์ค เฮนดริกซ์ (Marc Hendrickx) นักธรณีวิทยาจากนครซิดนีย์ เคยปีนโขดหินอุลูรูมาแล้ว 4 ครั้ง โดยปีนครั้งแรกในปี 1998 และเพิ่งจะพาลูกสาวของเขาทั้งสองคนปีนขึ้นไปจนถึงยอดโขดหินได้เมื่อปีที่แล้ว

แม้จะมีการประกาศห้าม เขาบอกว่า ต้องการที่จะกลับไปปีนอีกครั้ง

“ผมจะยังคงปีนโขดหินอุลูรูต่อไป แม้จะมีการเคลื่อนไหวโดยหน่วยงานอุทยานของออสเตรเลียก็ตาม ผมมองว่ามันเป็นส่วนสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมที่ผมได้รับ ผมมองการห้ามปีนว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ความมหัศจรรย์นั้นหายไป และนั่นคือสิ่งที่พวกเขาทำ พวกเขาทำให้ความมหัศจรรย์ของออสเตรเลียนั้นเลือนหายไป” นายเฮนดริกซ์กล่าว

จากการประกาศห้ามดังกล่าว ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังโขดหินอุลูรูนั้นลดลง โดยเฉพาะบรรดานักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ซึ่งกิจกรรมการปีนป่ายโขดหินแห่งนี้นั้นเป็นที่นิยม

นางเดล แม็คไอเวอร์ (Dale McIver) ประธานกรรมการบริหาร หน่วยงานการท่องเที่ยวในพื้นที่ตอนกลางของออสเตรเลีย (Tourism Central Australia) กล่าวว่า หลังจากช่วงเวลาที่ย่ำแย่เป็นเวลา 2-3 เดือน บริษัทท่องเที่ยวหลายแห่งต่างรอคอยให้การท่องเที่ยวกลับมาสู่สภาวะปกติ

“มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากไม่มีความเคารพชนพื้นเมืองดั้งเดิมซึ่งเป็นเจ้าของดินแดนแห่งนี้ มันเป็นเรื่องเลวร้ายที่ผู้คนเลือกที่จะตั้งแค้มป์อย่างผิดกฎหมาย มีขยะถูกทิ้งเกลื่อนกลาดเป็นจำนวนมาก นั่นทำให้เราเห็นถึงความไม่เคารพถึงสภาพแวดล้อมในพื้นที่ด้วยเช่นกัน แต่โชคดีที่เรื่องเหล่านี้ได้ซาลงไปแล้ว และเราหวังว่าจะสามารถผ่านช่วงเวลาที่ซบเซานี้ไปได้” นางแม็คไอเวอร์กล่าว

นอกจากนี้ หน่วยงานการท่องเที่ยวในพื้นที่ตอนกลางของออสเตรเลีย ยังได้กระตุ้นให้ผู้คนสัมผัสประสบการณ์ของอุลูรูในรูปแบบใหม่ ซึ่งรวมถึงการท่องเที่ยวด้วยจักรยานและสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า

ส่วนชนพื้นเมืองดั้งเดิมอย่าง แซมมี วิลสัน (Sammy Wilson) ผู้พิทักษ์แห่งอุลูรู บอกว่า ยังมีประสบการณ์อีกมากที่รอให้นักท่องเที่ยวมาพิสูจน์

“นักท่องเที่ยวทุกคนสามารถมาเยี่ยมชมที่นี่ได้ มาสัมผัส รับฟัง และเรียนรู้ เก็บภาพหลากสีสันของที่นี่ อย่ามาที่นี่ด้วยความเศร้าหมอง คุณจะกลับไปด้วยความสุข” นายวิลสันกล่าว

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand