สภาพภูมิอากาศแปรปรวนเป็นภัยคุกคามมวลมนุษย์ในปี 2023

Melting icebergs drift off near a glacier in Scoresby Fjord, Greenland

ภูเขาน้ำแข็งที่กำลังละลาย ที่เมืองสกอร์สบี้ ฟยอร์ด ประเทศกรีนแลนด์ Source: Getty / OLIVIER MORIN

สภาวะโลกร้อนนับเป็นข่าวสำคัญตลอดทั้งปี 2023 มองย้อนถึงการจัดการปัญหานี้ของมวลมนุษย์ใน 12 เดือนที่ผ่านมา


กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน

มนุษยชาติเหลือเวลานานเท่าไหร่?

เมื่อเดือนมกราคม ปี 2023 “นาฬิกาวันโลกาวินาศ (Doomsday Clock)” ระบุว่าเราใกล้ถึงเวลานั้น 90 วินาทีก่อนเที่ยงคืน โดยเวลาเที่ยงคืนเป็นเวลาของทฤษฎีทำลายล้างโลก

นาฬิกาวันโลกาวินาศเป็นนาฬิกาที่แสดงให้เห็นเวลาที่โลกจะสิ้นสุดว่านานแค่ไหน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ด้านปรมาณู (atomic scientist) ตั้งเวลาที่จะทำลายล้างมวลมนุษยชาติไว้ และเวลาในปีนี้เร็วกว่าปีที่แล้ว 10 วินาที

ทุกๆ ปีนักวิทยาศาสตร์จะขยับเข็มนาฬิกาให้เหมาะสมกับค่าของภัยคุกคามในขณะนั้น

คุณพอล อินแกรม (Paul Ingram) ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยคุกคามจากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ (Cambridge University) กล่าวว่าสถานการณ์สงครามในยูเครนและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง (climate change) เป็นตัวแปรในการคาดการณ์

“หากเรายังคงให้การแข่งขันและการขัดแย้งเป็นวิธีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและปฏิสัมพันธ์กับระบบนิเวศของเรา เราจะพินาศ เมื่อภัยคุกคามขยายวงกว้างขึ้น และเราเริ่มตระหนักถึงเรื่องนี้มากขึ้น เราจะเข้าใจมากขึ้น ผมคิดว่าเรายังมีความหวัง แต่เราต้องเปลี่ยนวิธีที่เราคิดและวิธีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้”
โดยเฉพาะเมื่อเดือนมกราคม ปี 2023 ที่เรามีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง น้ำท่วม ไฟป่า และคลื่นความร้อนจัด (heatwaves)

คุณเกร็ก มัลลินส์ (Greg Mullins) อดีตกรรมาธิการหน่วยดับเพลิงและกู้ภัยแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์กล่าวว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังเห็นผลจากการเพิกเฉยปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ผ่านมา

“มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก เพราะเราเจอภัยพิบัติซ้ำๆ ผลกระทบอีกอย่างหนึ่งของสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงคือภัยพิบัติรุนแรงขึ้น ขณะที่คุณเพิ่งจะฟื้นตัวจากภัยพิบัติครั้งก่อนหน้า ก็เจอภัยพิบัติอีกครั้งหนึ่ง และสิ่งที่รัฐบาลควรเน้นคือการลดผลกระทบจากสิ่งนี้"
เราต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยด่วน เราจะมอบโลกของเราให้ลูกหลานและคนรุ่นหลังอย่างไร
คุณมัลลินส์กล่าว
มือถือลูกโลกจำลอง
มือถือลูกโลกจำลอง Credit: pexels
เดือนกุมภาพันธ์ สภาภูมิอากาศ (Climate Council) เผยแพร่รายงานเดอร์ตี้ โดเซน (Dirty Dozen) ซึ่งจงใจใช้ชื่อนี้เพื่อทำให้บริษัทก่อมลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิล 12 รายใหญ่ต้องอับอาย เช่น เชฟรอน (Chevron) บีเอชพี (BHP) และเชลล์ (Shell)

ด็อกเตอร์เจนนิเฟอร์ เรย์เนอร์ (Jennifer Rayner) หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนสภาสภาพอากาศกล่าวว่าบริษัทเหล่านี้ต้องลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโดยด่วน

“เราอยากให้บริษัทในรายงานเดอร์ตี โดเซนเปลี่ยนแปลง โดยการหาแหล่งเชื้อเพลิงใหม่ เปลี่ยนเทคโนโลยี โดยเฉพาะบริษัทที่ใช้พลังงานฟอสซิลให้เปลี่ยนธุรกิจใหม่ เพราะเวลาของเชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังจะหมดลง”

ในเดือนมีนาคม คณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) เผยแพร่รายงานที่ยืนยันว่ามนุษย์เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน (global warming) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gas emissions) อย่างต่อเนื่อง

ศาสตราจารย์มอลต์ ไมน์สเฮาเซน (Malte Meinshausen) จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น (University of Melbourne) กล่าวกับเอสบีเอส (SBS) ว่าเวลาเรากำลังจะหมดลง
ทศวรรษนี้เป็นทศวรรษสุดท้าย และทศวรรษ 2030 เป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะมีโอกาสรักษาภาวะโลกร้อนให้อยู่ที่ 1.5 องศา
"ในการประเมินครั้งต่อไป โอกาสนั้นจะไม่มีแล้ว”
ร่างกฎหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรัฐบาลบังคับให้ผู้ปล่อยก๊าซรายใหญ่ของประเทศ 215 รายต้องลดการปล่อยก๊าซลง 4.9% ต่อปี

ขณะที่องค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organisation หรือ WMO) เตือนว่าระดับน้ำทะเลทั่วโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม 2 เท่า จากระดับที่เคยวัดได้ในทศวรรษแรกที่ทำการวัดระหว่างปี 1993 – 2002

“เราพ่ายแพ้กับการต่อสู้กับการละลายของธารน้ำแข็ง ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และนั่นเป็นข่าวร้าย จากข้อมูลของ IPCC ประมาณการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอยู่ที่ครึ่งเมตรถึงหนึ่งเมตรต่อทศวรรษ”

ในเดือนมิถุนายน ผู้นำทั่วโลกรวมตัวกันที่การประชุมสุดยอดที่เมืองปารีส เพื่อหารือเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศ คุณเกรตา ทุนเบิร์ก (Greta Thunberg) นักรณรงค์เรื่องสภาพภูมิอากาศกล่าวว่าเวลาของโลกกำลังจะหมดลง
ก๊าซเรือนกระจกอยู่ในระดับสูงที่สุดในประวัติการณ์ และความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (C02) ไม่เคยสูงขนาดนี้ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
"เรากำลังเดินไปผิดทาง และวิทยาศาสตร์บ่งชี้ชัดเจน ผู้ที่เป็นแนวหน้าในการรณรงค์เรื่องความฉุกเฉินของสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงได้แจ้งเตือนมาเป็นเวลานานแล้ว” คุณทุนเบิร์กกล่าว
ในเดือนกรกฎาคมก็มีฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายเมืองทั่วโลก ทั้งบริเวณตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย หลายจังหวัดในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน รวมถึงคลื่นความร้อนเซอร์เบอรัส (Cerberus*) ที่ปกคลุมทั่วซีกโลกเหนือ

*ชื่อเซอร์เบอรัสตั้งตามชื่อสุนัขที่เฝ้าประตูนรกในตำนาน

ศาสตราจารย์ฮันนาห์ โคลก (Hannah Cloke) นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรีดดิ้ง (Reading University) กล่าวว่าความร้อนสามารถฆ่าคนได้ และทำนายอนาคตที่หม่นหมอง
เราเห็นคลื่นความร้อนรุนแรงเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว เห็นคลื่นความร้อนที่รุนแรงก่อนหน้านั้นเช่นกัน
"มันแย่ลงเรื่อยๆ เราติดกับอยู่กับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เราควรหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเพราะจะสร้างปัญหามากยิ่งขึ้นในอนาคต”

และเดือนกรกฎาคมก็เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดที่เคยบันทึกในประวัติศาสตร์

รายงานระหว่างรุ่น (Intergenerational Report) ของรัฐบาลออสเตรเลียมองอนาคตอีก 40 ปีข้างหน้าและรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง จิม ชาลเมอร์ส (Jim Chalmers) กล่าวว่า รายงานนี้เป็นเครื่องเตือนใจว่าไม่ควรเสียเวลาในการดำเนินการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“เราไม่สามารถนิ่งเฉยกับอนาคตได้ การนิ่งเฉยอาจสร้างความเสียหายได้มากที่สุดเมื่อเป็นเรื่องของสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เราเคยนิ่งเฉยกับเรื่องนี้ และเราได้สูญเวลาไปมาก”
ควันพิษจากปล่องที่โรงงาน
ควันพิษจากปล่องที่โรงงาน Source: Pixabay
ฤดูร้อนปีนี้ที่ออสเตรเลียมีแนวโน้มว่าจะร้อนและอันตราย

สำนักอุตุนิยมวิทยา (Bureau of Meteorology) ประกาศว่าออสเตรเลียเข้าสู่รูปแบบสภาพภูมิอากาศเอลนีโญ (El Niño) ซึ่งเป็นสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง และหน่วยฉุกเฉินกังวลเรื่องการเกิดไฟป่าทั่วประเทศ

มีการสรุปหลักฐานความเสียหายจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงของปีที่การประชุม COP-28 การประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (United Nations Climate Change conference) ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

หนึ่งในผลลัพธ์จากการประชุมคือการตั้งกองทุนการสูญเสียและความเสียหาย เพื่อสนับสนุนประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

ทูตสภาพภูมิอากาศจากบาร์เบโดส อาวินาช เพอร์โซด์ (Avinash Persaud) กล่าวว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นสิ่งที่ประเทศของเขารอมานาน

“โดยเฉพาะรัฐเกาะเล็กๆ ที่เป็นตัวบ่งชี้เรื่องสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงได้อย่างดี ประสบความสูญเสียและความเสียหายก่อนใคร และได้พยายามโต้เถียงถึงความจำเป็นเรื่องการระดมทุนนี้ ประเทศที่เปราะเรื่องสภาพภูมิอากาศมักจะเป็นประเทศที่มีหนี้มากที่สุดในโลก เพราะไม่มีเงินทุนในการบูรณะและฟื้นฟู”

แต่เมื่อมีการแถลงการณ์ในขั้นสุดท้าย หลายประเทศก็ผิดหวังที่ไม่มีการความมุ่งมั่นในการตกลงยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

หัวหน้าฝ่ายสภาพภูมิอากาศและพลังงานแห่งกรีนพีซ ออสเตรเลีย (Head of Climate and Energy at Greenpeace Australia) เจส พาเนไจเรส (Jess Panegyres) กล่าวกับเอสบีเอสว่าการต่อสู้ต่อไปยังคงสำคัญ
ข้อดีคือผู้นำโลกเห็นพ้องในสิ่งที่จำเป็น และนั่นคือการเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล
"แต่ที่น่าผิดหวังคือยังไม่มีแผนปฏิบัติการเรื่องนี้ เรายังสู้ต่อไปเพื่อรักษาอุณภูมิให้อยู่ที่ 1.5 องศา นั่นเป็นสิ่งที่เพื่อนบ้านในแปซิฟิกของเราขอ และนั่นคือสิ่งที่เราต้องการในออสเตรเลีย เพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติไฟป่า น้ำท่วม และอากาศร้อนจัด”

นักวิทยาศาสตร์บอกเราว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาที่อันตรายที่สุดที่มนุษยชาติกำลังเผชิญ ความคืบหน้าในปีนี้ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อไป


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand