ติดโควิดเสี่ยงต่อภาวะเจริญพันธุ์มากกว่าจากวัคซีน

African American female doctor preparing a pregnant woman for vaccination

A pregnant woman gets vaccinated Source: Getty Images

เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพย้ำวัคซีนโควิดไม่ส่งผลต่อการเจริญพันธุ์ หลังพบผู้หญิงที่อายุน้อยลังเลใจที่จะฉีดวัคซีนในอัตราสูงกว่าคนกลุ่มอื่น


เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพกำลังพยายามขจัดข้อมูลผิดๆ ที่ว่าวัคซีนต้านโควิดอาจส่งผลต่อการเจริญพันธุ์ ขณะกลุ่มผู้หญิงที่อายุน้อยมีความลังเลใจที่จะฉีดวัคซีนในอัตราสูงกว่าอัตราที่เกิดขึ้นในคนทั่วไปโดยเฉลี่ย

ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วรัฐมนตรีสาธารณสุขของนิวเซาท์เวลส์เตือนว่า ผลที่ตามมาในระยะยาวของการติดเชื้อโควิดนั้น มีแนวโน้มสูงกว่าที่จะส่งผลทำให้เกิดปัญหาด้านการเจริญพันธุ์

แพทย์หญิงสเตซี ฮาร์ริส แพทย์ที่คลินิกแห่งหนึ่งทางตะวันออกของเมลเบิร์น กล่าวว่า มีคำถามหนึ่งเกี่ยวกับวัคซีน ที่ขณะนี้เธอคาดว่าจะถูกถามจากคนไข้ที่อายุต่ำกว่า 40 ปี

“วัคซีนจะส่งผลกระทบต่อการมีประจำเดือนหรือรอบเดือนของพวกเธอได้ไหม มันจะส่งผลต่อทารกหรือเปล่า มีคำถามมากมาย ซึ่งเป็นคำถามที่มักพบในคนช่วงอายุนี้” พญ.ฮาร์ริส กล่าว

ซึ่งคำตอบของเธอก็เหมือนเดิมเสมอ

“เรากำลังมองตรงไปที่วิทยาศาสตร์ในเรื่องนี้ เราไม่ได้ดูว่านักการเมืองพูดอะไรในเรื่องนี้ เราไม่ได้ดูว่าสื่อมวลชนพูดอะไร เราดูที่วิทยาศาสตร์และการศึกษาวิจัยที่ขณะนี้กำลังทำกันอย่างเข้มข้น และหลักฐานเหล่านั้นกำลังแสดงให้เห็นว่าวัคซีนต้านโควิดไม่มีผลกระทบต่อภาวะการเจริญพันธุ์” พญ.ฮาร์ริส กล่าว

การศึกษาวิจัยของสถาบันเมลเบิร์น (Melbourne Institute) ชี้ว่า ผู้หญิงอายุระหว่าง 18-44 ปี เป็นคนกลุ่มที่มีความลังเลใจที่จะฉีดวัคซีนต้านโควิดมากที่สุดในกลุ่มประชากรทั้งหมด

ศ.แอนโทนี สกอตต์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านสุขภาพของสถาบันเมลเบิร์น กล่าวว่า กระแสที่เกิดขึ้นล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ความลังเลใจที่จะรับการฉีดวัคซีนนั้นกำลังลดลง

“ในเดือนกรกฎาคม ความลังเลใจสูงถึงราว 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ขณะนี้มันลดลงเหลือราว 25 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ความลังเลใจในหมู่ผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องการมีบุตรนั้น มีสูงอยู่” ศ.สกอตต์ กล่าว

แนวคิดว่ามีความเชื่อมโยงกันระหว่างวัคซีนกับภาวะการเจริญพันธุ์เริ่มต้นจากเมื่อต้นปีที่แล้ว หลังมีผู้หญิงจำนวนไม่มากรายงานถึงการเปลี่ยนแปลงรอบเดือนของพวกเธอ หลังได้รับการฉีดวัคซีนแล้วหนึ่งโดส

หลังจากนั้นมีการกล่าวอ้างทางออนไลน์ถึงภาวะการมีบุตรยากเพราะวัคซีนโควิด แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทั้งหลายต่างรีบออกมาปฏิเสธเรื่องนี้ว่า ไม่เป็นความจริง

นางอลิสัน แมกมิลแลน ประธานเจ้าหน้าที่พยาบาลและผดุงครรภ์ ของรัฐบาลสหพันธรัฐ กล่าวว่า การกล่าวอ้างเหล่านี้นั้นมาจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเรื่องการทำงานของวัคซีน

“มันเป็นทฤษฎีที่ไม่ผ่านการพิสูจน์ซึ่งมาจากแนวคิดเกี่ยวกับโปรตีนส่วนที่เป็นปุ่มหนามของเชื้อ แต่พวกเรามีการพิจารณาจากหลักฐาน เราพิจารณาอย่างรอบคอบในกลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิคเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันโรคแห่งออสเตรเลีย หรือ ATAGI และคณะกรรมาธิการควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของออสเตรเลีย หรือ TGA” นางอลิสัน แมกมิลแลน กล่าว
จากการศึกษาวิจัยของสหรัฐ ที่มีหญิงตั้งครรภ์ 35,000 คนเข้าร่วมนั้นพบว่า วัคซีนประเภท m-R-N-A มีความปลอดภัยสำหรับทั้งแม่และทารก โดยไม่มีการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงการแท้งบุตร หรือการผิดปกติของรก

การวิจัยดังกล่าวทำให้กลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิคเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันโรคแห่งออสเตรเลีย หรือ ATAGI แนะนำให้ฉีดวัคซีนต้านโควิดให้แก่หญิงมีครรภ์ในทุกระยะของการตั้งครรภ์ได้

นางอลิสัน แมกมิลแลน ประธานเจ้าหน้าที่พยาบาลและผดุงครรภ์ ของสหพันธรัฐ กล่าวว่า หญิงมีครรภ์จัดว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการปกป้องจากเชื้อไวรัสโควิด-19

“เหตุผลในเรื่องนี้คือ ขณะนี้จากข้อมูลทั่วโลกเรารู้ว่า ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์มีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะเกิดการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง” นาง แมกมิลแลน กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเจริญพันธุ์ย้ำสารนี้เช่นกัน

ศ.ปีเตอร์ อิลลิงเวิร์ท ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของ ไอวีเอฟ ออสเตรเลีย (I-V-F Australia) กล่าวว่า เขาแนะนำให้คนไข้ของเขาทุกคนที่ขณะนี้เข้ารับการบำบัดภาวะมีบุตรยาก หรือกำลังจะเข้ารับการบำบัด ให้ไปรับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19

“ผมบอกกับคนไข้ทุกคนว่า คุณไม่ต้องการลงเอยด้วยการต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในระยะสุดท้ายของการตั้งครรภ์ เพราะคุณมีความเสี่ยงต่อเชื้อโควิด แต่คุณสามารถป้องกันได้ด้วยการไปรับการฉีดวัคซีนเสียตั้งแต่ตอนนี้” ศ.อิลลิงเวิร์ท กล่าว

เขากล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยพบว่า การติดเชื้อโควิดในระหว่างตั้งครรภ์อาจส่งผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดและแม้แต่การที่ทารกในครรภ์เสียชีวิต

เขากล่าวว่า มีหลักฐานที่ชี้ว่า อาจมีผลกระทบด้านการเจริญพันธุ์เกิดขึ้นได้สำหรับผู้ชายที่ติดเชื้อโควิดด้วย

“มันชัดเจนว่าผู้ชายที่ติดเชื้อโควิด จำนวนสเปิร์มที่นับได้ระหว่างช่วงติดเชื้อจะลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ยากที่จะรู้ว่าจะส่งผลต่อภาวะการเจริญพันธุ์ในระยะยาวอย่างไร” ศ.อิลลิงเวิร์ท กล่าว

ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั่วประเทศ ราวร้อยละ 20 ของประชากรยังคงลังเลใจอยู่

ศ.แอนโทนี สกอตต์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านสุขภาพของสถาบันเมลเบิร์น กล่าวว่า ในจำนวนนั้นมี 10 เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นคนที่มีแนวคิดต่อต้านการฉีดวัคซีนอย่างหนัก โดยคนเหล่านั้นจำนวนมากผุดขึ้นมาในรัฐนิวเซาท์เวลส์  ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าวิตก

“มันเริ่มจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งนั่นเป็นปัญหาที่เราเป็นห่วงว่า สารใดๆ ที่กำลังถูกส่งออกไปในนิวเซาท์เวลส์ กำลังไปไม่ถึงประชากรกลุ่มนี้” ศ.สกอตต์ ของสถาบันเมลเบิร์น กล่าว


คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand