หนทางหย่าร้างโดยไม่ต้องขึ้นศาล

Unhappy young couple

กฎหมายในออสเตรเลียอนุญาตให้ผู้ปกรองตัดสินใจเรื่องการเลี้ยงดูบุตรหรือการแบ่งทรัพย์สินได้โดยไม่ต้องขึ้นศาล Credit: Milos Dimic/Getty Images

การหย่าร้างเป็นช่วงเวลาอันตึงเครียดที่หลายคนประสบ ทั้งค่าใช้จ่ายด้านการเงินและผลทางด้านอารมณ์กับการขึ้นศาล ระบบกฎหมายในออสเตรเลียมักเสนอให้ไกล่เกลี่ยและระงับข้อพิพาทในครอบครัวก่อนเลือกที่จะฟ้องร้อง


ประเด็นสำคัญ
  • ออสเตรเลียมีระบบการหย่าร้างโดยไม่มีความผิด ซึ่งคู่สมรสสามารถยื่นขอหย่าได้โดยไม่ต้องขอคำยินยอมหรือให้คำอธิบาย
  • ส่วนใหญ่สามารถตกลงเรื่องการเลี้ยงดูบุตรและการเงินได้โดยไม่ต้องขึ้นศาล
  • ระบบกฎหมายของออสเตรเลียสนับสนุนให้มีการไกล่เกลี่ยก่อนที่จะยื่นฟ้องร้อง

กด ▶ ด้านบนเพื่อฟังพอดคาสต์

การหย่าร้างคือการยุติสถานะการสมรสอย่างเป็นทางการ การหย่าร้างมักมีผลกระทบด้านอารมณ์ การเลี้ยงดูบุตรและการเงินอย่างใหญ่หลวง หลายครอบครัวอาจต้องประสบความลำบากในการบรรลุข้อตกลงทางการเงินได้โดยดี โดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น

ในออสเตรเลีย คู่สมรสต้องพิสูจน์ว่าการแต่งงานของพวกเขาไม่สามารถหาหนทางอื่นเพื่อแก้ไขได้อีก คู่สมรสต้องแสดงว่าแยกกันอยู่นานกว่า 12 เดือนและตกลงเรื่องการเลี้ยงดูบุตรและการเงินได้ นับเป็นส่วนหนึ่งของการยื่นคำร้องขอหย่า

คุณเอเลนอร์ เลา (Eleanor Lau) หุ้นส่วนของสำนักงานกฎหมายแลง แอนด์ โรเจอร์ส (Lang and Rogers) ในออสเตรเลีย เธอทำงานด้านกฎหมายครอบครัวมาเป็นเวลา 15 ปีและมีประสบการณ์ในการระงับข้อพิพาทการหย่าร้างระหว่างประเทศ

คุณเลากล่าวว่า ก่อนที่คู่สมรสที่ประสงค์จะหย่าร้างนั้นจะสามารถฟ้องร้องได้ ต้องพยายามตกลงเรื่องการดูแลบุตรและการเงินอย่างเป็นทางการก่อน ยกเว้นในบางกรณี
หากคุณต้องการขึ้นศาลเกี่ยวกับปัญหาเรื่องการเลี้ยงดูบุตร มันมีข้อกำหนดว่าผู้ปกครองต้องพยายามระงับข้อพิพาทในครอบครัวก่อน
"มันเป็นรูปแบบหนึ่งของการไกล่เกลี่ย ซึ่งพวกเขาจะได้รับความช่วยเหลือจากผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อดูว่าพวกเขาสามารถตกลงเรื่องการดูแลบุตรได้หรือไม่ สำหรับเรื่องการเงิน เราสนับสนุนให้ทุกฝ่ายพยายามระงับข้อพิพาทก่อน และในปัจจุบันศาลต้องการเห็นทุกฝ่ายอย่างน้อยพยายามเจรจาตกลงเสียก่อนที่จะฟ้องร้อง”
Young woman talking to colleague at home
สำนักงานสถิติระบุตัวเลขของปี 2020 ว่าอายุเฉลี่ยของชายที่หย่าร้างคือ 45.6 ปี และหญิง 42.8 ปี ระยะเวลาเฉลี่ยของการแต่งงานคือ 12.2 ปี และเกือบครึ่งหนึ่งของการหย่าร้างเป็นคู่สมรสที่มีบุตรอายุต่ำกว่า 18 ปี Credit: fabio formaggio / 500px/Getty Images
การขึ้นศาลอาจมีค่าใช้จ่ายหลายหมื่นและการดำเนินคดีอาจใช้เวลาหลายเดือน

คุณวาเลอรี นอร์ทัน (Valerie Norton) เป็นผู้ไกลเกลี่ยระงับข้อพิพาทในครอบครัวที่ได้รับการรับรอง (Family Dispute Resolution Practitioner ชื่อย่อ FDRP) เป็นเวลา 12 ปี

เธอกล่าวว่าสถิติแสดงให้เห็นว่าประมาณร้อยละ 90 ของคู่สมรสที่หย่าร้างสามารถระงับข้อพิพาทของพวกเขาได้โดยไม่ต้องขึ้นศาล

ก่อนที่จะมีการไกล่เกลี่ย คุณนอร์ทันมักประเมินความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จก่อน

“ฉันจะพบกับแต่ละฝ่ายเป็นรายบุคคลก่อน เพื่อประเมินว่าการไกล่เกลี่ยเหมาะสมหรือไม่ มีอารมณ์มากหรือไม่ มีการหักหลังหรือไม่ มีความโกรธมากหรือไม่ มีปัญหาด้านสุขภาพจิตหรือไม่ มียาเสพติด เครื่องดื่มมึนเมาหรือความรุนแรงหรือไม่ การตรวจสอบความปลอดภัยเหล่านั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำ จากนั้นหากฉันตัดสินใจว่า 'โอเค ฉันเห็นสิ่งที่คล้ายกันบางอย่าง เป็นไปได้ว่าพวกเขาจะตกลงกันได้โดยที่ไม่ต้องไปขึ้นศาล' เราจะให้ทุกคนมาประชุมร่วมกันเพื่อตกลงในแต่ละเรื่อง”
ฟังพอดคาสต์ที่เกี่ยวข้อง
Settlement Guide: How to get a divorce  image

Settlement Guide: คุณจะยื่นคำร้องขอหย่าได้อย่างไร

SBS Thai

30/09/201912:36
ระหว่างการไกล่เกลี่ย คุณนอร์ทันจะช่วยให้ลูกค้าและทนายความสามารถเจรจาตกลงยอมความได้ เธอพยายามดึงพวกเขาให้ออกจากอารมณ์ต่างๆ และมุ่งความสนใจไปที่ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย รวมถึงลูกๆ ของพวกเขา หากพวกเขามีลูก
การไกล่เกลี่ยคือการหาจุดที่เหมาะสม มันอาจไม่สมบูรณ์แบบและอาจต้องมีการประนีประนอมทั้งสองฝ่าย
"แต่เป็นสิ่งที่รับได้ พวกเขาสามารถอยู่กับมันได้ และนั่นเป็นการไกล่เกลี่ยที่ดี ที่พวกเขาสามารถเดินกลับไป อาจจะไม่ใช่การเดินกลับไปด้วยความยินดีหรือไม่ได้ดูแย่ไปทั้งหมด เป็นการที่พวกเขาเดินกลับไปแบบ 'โอเค นั่นเป็นผลลัพธ์ที่ยุติธรรม'”
Upset senior man has argument with wife.
มีหลายสิ่งที่ต้องพิจารณาเมื่อคุณตัดสินใจจะหย่าร้าง รัฐบาลมีบริการให้ความช่วยเหลือด้านอารมณ์ การเงินและทางกฎหมายมากมาย Source: Moment RF / Kmatta/Getty Images
ออสเตรเลียมีระบบ ‘การหย่าร้างโดยไม่มีความผิด’ หมายความว่าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถยื่นขอหย่าร้างได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย และไม่จำเป็นต้องระบุเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงต้องการยุติการสมรส

ในทางตรงข้ามกับความเชื่อที่เป็นที่นิยม อสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินอาจไม่จำเป็นต้องแบ่งครึ่งหนึ่งเท่าๆ กันเสมอไป คุณเลาทนายความกล่าวว่าทุกฝ่ายสามารถขอคำปรึกษาด้านกฎหมายและใช้กฎเกณฑ์เฉพาะได้

“ในการตกลงเรื่องสินทรัพย์ ขั้นตอนแรกคือเราต้องหาว่ามีอะไรที่จะแบ่ง ดังนั้นแน่นอนมันรวมถึงสินทรัพย์ในออสเตรเลียและในต่างประเทศจะถูกนำมาพิจารณาด้วย จากนั้นเราจะพิจารณาและประเมินการมีส่วนร่วมในประเภทต่างๆ การมีส่วนร่วมด้านการเงิน การมีส่วนร่วมที่ไม่ใช่การเงิน และการมีส่วนร่วมในฐานะผู้อาศัยในบ้านและผู้ปกครอง”

คุณนอร์ทันกล่าวว่า การตัดสินใจว่าคู่สมรสแต่ละคนมีส่วนร่วมในความสัมพันธ์อย่างไรเป็นสิ่งซับซ้อน
หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำเงินหนึ่งล้านดอลล่าร์มาในความสัมพันธ์หรืออีกฝ่ายนำหนี้เข้ามา นั่นเป็นสิ่งที่จะพิจารณาเมื่อคุณแยกทางกัน
"ประเด็นที่สองคือส่วนของการแบ่งปันของคุณในความสัมพันธ์ และนั่นเป็นทั้งเงินและไม่ใช่เงิน ไม่ใช่เรื่องของเงินที่คุณทำงานได้มากเท่าไหร่ เพราะการเป็นผู้ปกครองดูแลลูกอยู่ที่บ้านจะถูกพิจารณสาเทียบเท่ากับการเป็นผู้บริหารที่รับเงินหนึ่งล้านดอลลาร์ต่อปี มันเกี่ยวกับว่าพ่อแม่ของคุณให้เงินคุณมาซื้อบ้านหรือไม่ หรือคุณอยู่กับพวกเขาหลายปีเพื่อเก็บเงินซื้อบ้าน คุณได้รับมรดกหรือไม่ อะไรพวกนี้”
Judge gavel with Justice lawyers, Businesswoman in suit or lawyer, Advice and Legal services Concept.
ระบบกฎหมายของออสเตรเลียพิจารณาหลายตัวแปรในการแบ่งอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินของคู่สมรสที่จะหย่าร้าง Source: Moment RF / boonchai wedmakawand/Getty Images
ประการที่สามในการพิจารณาเรื่องการตกลงแบ่งทรัพย์สินคือการคำนึงถึงความต้องการในอนาคตของคู่สมรสแต่ละราย

การวิเคราะห์นี้ดูที่อายุของคู่สมรส ศักยภาพในการหารายได้และสุขภาพโดยรวม รวมถึงแง่มุมอื่นๆ เพื่อพิจารณากำหนดเปอร์เซ็นต์ว่าจะแบ่งสินทรัพย์อย่างไร

“นั่นหมายความว่ามีหลายเหตุผลที่จะให้ฝ่ายหนึ่งได้ส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย สถานการณ์ที่พบได้ทั่วไปคือหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีหน้าที่ดูแลเด็กเล็กเป็นหลักและจะเป็นผู้ปกครองหลักต่อไป และด้วยเหตุนี้ทำให้ไม่สามารถหารายได้ ทำงานหรือกลับเข้าไปทำงานใหม่ได้ หรือมีรายได้ต่ำกว่าอีกฝ่ายหนึ่งมาก เหตุผลเหล่านั้นอาจปรับเปลี่ยนให้เป็นประโยชน์ของอีกฝ่ายได้มากกว่า”
คู่สมรสสามารถตกลงเรื่องการเงินและการดูแลบุตรได้ระหว่างการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท ทนายความมักแนะนำลูกค้าหรือมีส่วนในการหารือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้ เมื่อบรรลุข้อตกลงแล้ว จะออกเอกสารซึ่งสามารถยื่นเป็นคำยินยอมทางกฎหมายได้

คุณเลากล่าวว่า เรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งคือผู้ที่กำลังเผชิญการหย่าร้างต้องระงับอารมณ์และขอคำปรึกษาด้านกฎหมายให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

“บางครั้งคู่สมรสอาจชะลอเวลาเพราะพวกเขายังไม่พร้อม แต่ฉันคิดว่าสิ่งสำคัญคือต้องรู้ว่าคุณยืนตรงไหน สิทธิ์ของคุณคืออะไร และหน้าที่ของคุณคืออะไร และจากนั้นคุณใช้เวลาคิดในสิ่งที่คุณอยากทำ แต่ฉันคิดว่าสิ่งสำคัญคือคุณควรขอคำแนะนำด้านกฎหมายให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะหากมีทรัพย์สินที่ต่างประเทศด้วย”
Male and female coworkers working while lawyers shaking hands at table in law office
ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในครอบครัวมักทำงานร่วมกับคู่สมรสและทนายความเพื่อบรรลุข้อตกลง รวมถึงการพิจารณาเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีและความต้องการของบุตรด้วย Credit: Maskot/Getty Images
การลงนามในข้อตกลงด้านการเงินช่วงเริ่มต้นหรือระหว่างที่อยู่ในความสัมพันธ์อาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงความเครียดจากการแยกทางที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ข้อตกลงทางการเงินสามารถนำมาใช้ตกลงเรื่องการเงินในภายหลังได้

ผู้ที่มีรายได้น้อยและไม่มีกำลังจ่ายค่าทนายความส่วนตัวหรือผู้ไกล่เกลี่ย (Mediator) สามารถขอคำแนะนำได้จากศูนย์ช่วยเหลือทางกฎหมาย (Legal Aid) หรือศูนย์กฎหมายชุมชน (Community legal centre) ได้

ยังสามารถติดต่อ รีเลชันชิพส์ ออสเตรเลีย (Relationships Australia) บริการของรัฐบาลที่ช่วยเหลือครอบครัวที่กำลังเผชิญการหย่าร้างด้วยการให้คำแนะนำทางกฎหมายและเชื่อมต่อไปยังผู้ไกล่เกลี่ยที่ได้รับการรับรองและที่ปรึกษาที่ไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือมีค่าใช้จ่ายน้อย

คุณนิก เท็บบี (Nick Tebbey) ผู้บริหารรีเลชันชิพส์ ออสเตรเลียอธิบาย

“การใช้บริการอย่างรีเลชันชิพส์ ออสเตรเลียสามารถลดค่าใช้จ่ายที่คุณอาจต้องจ่ายให้กับทนายความได้จำนวนมาก หากคุณสามารถหลีกเลี่ยงจ่ายค่าธรรมเนียมทางกฎหมายได้ ก็จะมีเงินเหลือเก็บไว้จัดการกับสิ่งอื่นๆ ที่คุณต้องการ”
แม้ว่าบริการรีเลชันชิพส์ ออสเตรเลียจะไม่สามารถว่าความให้ลูกค้าในศาลได้ แต่สามารถให้บริการช่วยเหลือทางสภาพจิตใจและบริการให้คำปรึกษาแก่ครอบครัวที่กำลังหย่าร้างได้

“เราเป็นมากกว่าบริการที่คุณจ่าย เราไม่เพียงแค่ดูที่การหย่าร้างและหาทางออกว่าใครจะได้อะไร เราช่วยให้ผู้คนก้าวผ่านทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกัน นั่นเป็นเรื่องของอารมณ์ที่หลากหลาย ความต้องการที่จะเข้าใจและดำเนินการ และหากมีเด็กๆ เกี่ยวข้องด้วย แน่นอนว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่ต้องดำเนินต่อไประหว่างผู้ปกครอง แม้ว่าพวกเขาจะหย่าร้างกันก็ตาม”
Woman touching the wedding ring on her finger nervously while having coffee and waiting in cafe
ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในครอบครัวเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ลงทะเบียนและได้รับการรับรองโดยสำนักงานอัยการสูงสุดของออสเตรเลีย Source: Moment RF / d3sign/Getty Images
คุณสามารถติดต่อสำนักงานรีเลชันชิพส์ ออสเตรเลียในท้องถิ่นของคุณและนัดหมายเวลาได้ หรือคุณสามารถโทรไปที่สายให้คำแนะนำความสัมพันธ์ในครอบครัว (Family Relationships Advice)

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและสุขภาพจิตกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่คุณควรพิจารณาเมื่อหย่าร้างคือความต้องการในอนาคตและความเป็นอยู่ที่ดีของลูกๆ ของคุณ หากคุณมีลูก

ส่วนหนึ่งของกระบวนการเยียวยามาจากการยอมรับว่าความสัมพันธ์เปลี่ยนไป
บางความสัมพันธ์ไม่สามารถประคองให้อยู่ตลอดไปได้ มันอาจเป็นความสัมพันธ์ที่ดีและเป็นความสัมพันธ์ที่ประสบความสำเร็จในขณะที่ยังอยู่
"แต่หลายคนสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และยังคงมีชีวิตที่มีความสุขและประสบความสำเร็จ อาจมีความสัมพันธ์ใหม่ในภายหลัง การยอมรับสิ่งนั้นและขจัดความอัปยศและความอับอายเกี่ยวกับการหย่าร้างคือเรายอมรับว่ามันเป็นกระบวนการปกติ มุ่งเน้นไปที่สิ่งที่ต้องทำจากมุมมองเชิงปฏิบัติมากกว่าการกล่าวโทษทางอารมณ์”

แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

หากต้องการความช่วยเหลือด้านสภาพจิตใจ คุณสามารถติดต่อ ไลฟ์ไลน์ (Lifeline) ที่หมายเลข 13 11 14

หรือ บียอนด์ บลู (Beyond Blue) ที่หมายเลข 1300 22 4636

หรือติดต่อคำแนะนำความสัมพันธ์ในครอบครัว (Family Relationships Advice) 1800 050 321

อ่านหรือฟังเรื่องการตั้งถิ่นฐานและการย้ายถิ่นฐานในออสเตรเลียได้อีก


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand