โรคหลอดเลือดในสมองช่วยได้อย่างไร?

Human brain showing stroke

โรคหลอดเลือดในสมองเกิดขึ้นกับ 1 ใน 4 คนทั่วโลก Source: Science Photo Library RF

รณรงค์ให้คนออสเตรเลียรู้จักกับ FAST เพื่อช่วยชีวิตจากโรคหลอดเลือดในสมอง (stroke) มูลนิธิโรคหลอดเลือดในสมอง (The Stroke Foundation) เริ่มโครงการที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ฟื้นตัวจากโรคหลอดเลือดในสมอง


LISTEN TO
>How you can act fast to save lives after stroke? image

โรคหลอดเลือดในสมองช่วยได้อย่างไร?

SBS Thai

16/08/202111:22
คุณเรเชล มาร์เจอรี (Rachel Margery) อายุเพียง 31 ปี ตอนที่เธอประสบกับภาวะเส้นเลือดในสมองผิดปกติในขณะกำลังเดินทางไปทำงานในปี 2019

“สิ่งแรกที่ฉันรู้คือ มือสองข้างของฉันรู้สึกเสียวแปลบๆ เหมือนเป็นเหน็บชา ฉันไม่ได้คิดอะไรมากในตอนแรก คิดว่าไม่เป็นไรหรอกจากนั้นฉันก็เริ่มรู้สึกว่าภาพที่มองเห็นเริ่มเบลอ และฉันเริ่มรู้สึกว่ามองเห็นได้ไม่ชัด ฉันคิดว่า นี่มันแปลกๆ นะแล้วฉันก็เริ่มรู้สึกว่ามือสองข้างของฉันอ่อนปวกเปียก”

จนกระทั่งเธอไปถึงที่ทำงาน เธอก็ยังรู้สึกไม่ดีขึ้น ถึงแม้ว่าเธอจะเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยพยาบาลฉุกเฉินของเซนต์ จอห์น (St John Ambulance officer) เธอกลับไม่คิดเลยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอคือโรคหลอดเลือดในสมอง

“ฉันไม่ได้มีอาการใบหน้าเบี้ยว แต่ฉันเริ่มพูดไม่ปะติดปะต่อกันเป็นประโยค พูดออกมาไม่ชัด ฉันไม่สามารถปลดล็อกมือถือของฉันเพื่อให้เพื่อนร่วมงานโทรหาญาติของฉันได้ ในตอนนั้นฉันรู้ว่ามีบางอย่างผิดปกติ แต่ฉันไม่รู้ว่ามันแย่มากแค่ไหน จนฉันได้ผลตรวจซีทีสแกน (CT Scan) และคุณหมอยืนยันว่าฉันเป็นโรคหลอดเลือดสมอง”

คุณเอลเลียต วิลเลียมส์ (Elliot Williams) พยาบาลและหัวหน้าคลินิกของหน่วยพยาบาลฉุกเฉินที่เซนต์ จอห์น แอมบูแลนซ์ นิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่ามีวิธีการง่ายๆ ที่จะช่วยคุณประเมินอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ที่เรียกว่า ฟาสท์ (FAST) หรือตัวย่อ เอฟ เอ เอส ที (F-A-S-T)
Stroke FAST Signs
FAST วิธีประเมินอาการของโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) Source: Stroke Foundation
F คือใบหน้า (Face)

“มองไปที่ใบหน้าของคนคนนั้น แล้วดูว่าหน้าของเขาเบี้ยวไปข้างใดข้างหนึ่งหรือไม่ เขาสามารถอ้าปากได้ปกติหรือไม่ และใบหน้าดูแล้วเท่ากันทั้งสองข้างหรือไม่”

A คือแขน (Arm)

“ประเมินว่าผู้ป่วยยกแขนทั้งสองข้างขึ้นได้หรือไม่ ขยับแขนทั้งสองข้างได้หรือไม่ และรวมถึงขาทั้งสองข้างด้วย ดูว่าเขาสามารถยกและขยับขาทั้งสองข้างได้ตามปกติหรือไม่”

S คือคำพูด (Speech)

“ลองบอกให้เขาพูดกับคุณ แล้วดูว่าคำพูดของเขาอ้อแอ้ (slurred) หรือไม่ ส่วนมากเมื่อผู้ป่วยมีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง คำพูดจะอ้อแอ้ หรือยากที่จะสามารถพูดได้ชัดหรืออธิบายได้ตามปกติ”

T คือเวลา (Time)

"ยิ่งคุณปล่อยให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองไม่ได้รับการดูแลทางแพทย์ ความเสี่ยงที่สมองจะถูกทำลายอย่างถาวรนั้นจะยิ่งสูงขึ้น ดังนั้นเมื่ออาการที่ประเมินเป็นไปตามหลัก FAST ได้แก่ ผู้ป่วยมีใบหน้าเบี้ยว ผู้ป่วยไม่สามารถยกแขนได้ หรือผู้ป่วยไม่สามารถพูดได้ชัด คุณต้องกด 000 โทรเรียกรถฉุกเฉินด่วน และการทราบถึงเวลาที่เริ่มมีอาการจะมีประโยชน์มาก เพราะจะเป็นข้อมูลที่สำคัญกับแพทย์และพยาบาลที่โรงพยาบาล ในการหาวิธีรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย"
โรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้นเมื่อขาดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ไม่ว่าจะเกิดการอุดตันหรือเส้นเลือดแตก โรคนี้เกิดกับ 1 ใน 4 คนทั่วโลก และผู้หญิงในออสเตรเลียเสียชีวิตด้วยโรคนี้มากกว่าโรคมะเร็งเต้านม และมากกว่าโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย

คุณจูด ชารานคอฟสกี (Jude Czerenkowski) ผู้จัดการระดับประเทศของสโตรค คอนเน็ก (Stroke Connect) ที่มูลนิธิโรคหลอดเลือดสมอง กล่าวว่าในขณะที่โรคหลอดเลือดสมองมักถูกมองว่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ โรคนี้เกิดได้ในทุกเวลา
เมื่อคุณเริ่มมีอายุมากขึ้น ความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองนั้นสูงขึ้น แต่โรคหลอดเลือดสมองสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนในทุกช่วงอายุ จากเด็กที่มีจำนวนน้อยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง จนถึงวัยทำงานและผู้สูงอายุ
คุณจูดกล่าวว่าความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ

“ทุกคนควรทราบถึงระดับความดันโลหิตของตน และปรึกษาแพทย์เพื่อควบคุมรักษาระดับ นอกจากนั้นปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เป็นสิ่งที่เราทุกคนทราบดีอยู่แล้ว การทำสิ่งเรารู้ว่าดีสำหรับเราและทำให้เรารู้สึกดี ทานอาหารที่มีประโยชน์ รักษาน้ำหนักตามเกณฑ์ ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกาย และปรึกษาแพทย์เรื่องการดื่มแอลกอฮอล์และความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง”

blood pressure, stroke, FAST, health, signs and symptoms
การเช็คความดันโลหิตอยู่ประจำเป็นสิ่งสำคัญ Source: Getty Images/SDI Images


คุณราเชลนับว่าเป็นหนึ่งในผู้โชคดี ถึงแม้ว่าเธอจะไม่มีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เธอยังมีเพื่อนร่วมงานที่คอยช่วยเหลือ

นอกจากจะมีปัญหาในการพูดในบางครั้ง เธอมีสุขภาพที่ดี และประสบการณ์นี้ยังได้ช่วยเธอในการทำงานด้วย

“ถ้าฉันได้เจอผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองที่มีอายุมาก และฉันบอกพวกเขาว่าฉันก็เป็นนะ พวกเขาพูดว่า ‘ไม่นะ เธอยังเด็กเกินไป’ และฉันพูดว่า ‘โรคหลอดเลือดสมองสามารถเกิดกับคนอายุน้อยได้นะ ไม่ใช่แค่กับคนอายุมากเสมอไป เด็กทารกบางคนก็เป็น’ การได้พูดคุยกับผู้ป่วยระหว่างเดินทางทำให้ฉันรู้สึกเห็นอกเห็นใจพวกเขามากขึ้น”

คุณจัสติน คิกเก็ตต์ (Justin Kickett) ผู้โชคร้าย

“ผมเริ่มรู้สึกเมื่อตอนดื่มน้ำแล้วน้ำไหลออกไปที่คาง เลยเรียกหาภรรยา ผมพูดกับเธอว่า ‘ฉันคิดว่ามีบางอย่างผิดปกติ’ ผมเริ่มเดินไม่ปกติ และบอกกับเธอว่า ‘คุณช่วยมาดูผมเดินหน่อย คุณว่าการเดินของผมมันไม่ดีเหมือนเดิมไหม?’”

เมื่อภรรยาของคุณคริกเก็ตต์เห็นอาการของเขา เธอทราบทันทีว่าเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง และเร่งนำเขาส่งโรงพยาบาล

แต่ถึงแม้ว่าเธอจะตอบรับกับสถานการณ์ได้เร็ว คุณจัสตินก็ยังสูญเสียความสามารถบางอย่างไปถาวร เขาไม่สามารถใช้แขนขวาได้และเดินได้ไม่เหมือนเดิม  

“ผมพยายามใช้มือซ้ายเขียนหนังสือ และต้องปรับปรุงรถแท็กซี่ให้ผมขับได้ ผมผูกเชือกรองเท้าไม่ได้ ต้องให้คนอื่นทำให้ ถ้าผมทำอะไรไม่ได้ ผมจะขอให้ช่วย”
มูลนิธิโรคหลอดเลือดสมองได้ตีพิมพ์หนังสือคู่มือที่ออกแบบมาเพื่อช่วยในการฟื้นตัว หลังมีอาการหลอดเลือดในสมองผิดปกติ โดยหนังสือ Our Stroke Journey ถูกสร้างขึ้นด้วยการทำงานร่วมกับคนพื้นเมือง

คุณจูด ชารานคอฟสกี กล่าวว่าการมีข้อมูลที่เกี่ยวโยงด้านวัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง
หลากหลายชุมชนนั้นต้องการข้อมูลที่มีลักษณะเฉพาะในแต่ละชุมชน โดยเฉพาะแหล่งข้อมูลที่พวกเขาชื่นชอบ ดังนั้นหนังสือนี้จึงถูกเขียนขึ้นโดยการเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและชุมชน และถูกถ่ายทอดเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวภูมิหลังของชาวพื้นเมืองอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส ยิ่งมีข้อมูลแบบนี้มากขึ้นเท่าไหร่ ผู้คนยิ่งอ่านและรับรู้ข้อมูลที่พวกเขาต้องการ และแบ่งปันข้อมูลกับเพื่อนและครอบครัวของพวกเขา
เรื่องของคุณจัสติน คิกเก็ตต์ เป็นหนึ่งในเรื่องที่ถูกนำมาตีพิมพ์ในหนังสือ Our Stroke Journey เขาเชื่อว่าหากหนังสือนี้มีอยู่เมื่อตอนที่เขามีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง สิ่งนี้จะช่วยให้เขาฟื้นตัวได้เร็ว

“เมื่อเวลาผ่านไป คุณเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน วิธีที่ผมคิดคือ ถ้าคุณจมอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้น คุณจะไม่สามารถไปทำสิ่งอื่นได้ เมื่อผมคิดถึงมันและพูดถึงมัน มันช่วยให้ผมก้าวไปข้างหน้าได้ เมื่อผมคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับผมและการก้าวผ่านโรคหลอดเลือดสมองของผม และสิ่งนี้จะช่วยคนอื่นได้”

หนังสือ Our Stroke Journey จะเริ่มตีพิมพ์ในภาษาอื่นๆ ในปลายปีนี้ แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับ FAST สามารถอ่านได้ใน  ซึ่งมีข้อมูลภาษาอาราบิก จีน (ดั้งเดิมและปัจจุบัน) กรีก ฮินดู อิตาลี เกาหลี และเวียดนาม


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand