อัตราโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ช่วงล็อกดาวน์อาจสูงเกินคาด

An electron microscope image of the sexually transmitted HIV virus

An electron microscope image of the sexually transmitted HIV virus Source: Getty

ข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุขรัฐนิวเซาท์เวลส์ระบุว่า จำนวนรายงานโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ลดลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 ทว่า รายงานการศึกษาผลกระทบของล็อกดาวน์ชี้ อาจมีกรณีติดเชื้อมากกว่าที่ตรวจพบ


LISTEN TO
Lockdown infection rates of sexually transmitted diseases may be higher than expected image

อัตราโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ช่วงล็อกดาวน์อาจสูงเกินคาด

SBS Thai

26/04/202108:11
นพ.วิจยาสารถี รามานธาน (Dr Vijayasarathi Ramanathan) อาจารย์สาขาวิชาสุขภาพทางเพศจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (University of Sydney) กล่าวว่า ขณะที่คนส่วนใหญ่ในออสเตรเลียคงรู้จักโรคเอดส์และเชื้อเอชไอวี โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นที่พบทั่วไปกว่ากลับยังไม่เป็นที่คุ้นเคยมากนัก

"โรคที่พบหลัก ๆ ได้แก่ หนองใน (Gonorrhea) หนองในเทียมหรือคลาไมเดีย (Chlamydia) ซิฟิลิส (Syphilis) และเอชไอวี เราเรียกโรคประเภทนี้ว่า โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือ เอสทีไอ (Sexually Transmitted Infections: STIs) เพราะติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์ โรคเริมก็พบได้ทั่วไปเช่นกัน... รวมถึงเชื้อเอชพีวี (HPVด้วย"

นพ.รามานธานกล่าวว่า กรณีโรคติดเชื้อส่วนมากรักษาได้เห็นผลหากตรวจพบแต่เนิ่น ๆ ถ้าตัดสินใจพบแพทย์ล่าช้าอาจเกิดผลเสียต่อสุขภาพรุนแรงในภายหลัง แต่คนจำนวนมากกลัวที่จะเริ่มต้นปรึกษาแพทย์

"บางคนรู้สึกอับอาย รู้สึกว่าตัวเองทำเรื่องผิดร้ายแรง... แล้วพวกเขาจะเริ่มคิดเชื่อมโยงต่อจากผลวินิจฉัยโรค ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตัวพวกเขาเอง ทั้งสุขภาวะ พฤติกรรมทางเพศ และความสัมพันธ์" นพ.รามานธานอธิบาย 

นพ.โอเลย์ทัน โอกันโบดีดิ (Dr Olaitan Ogunbodede) นักศึกษาปริญญาเอกจากสถาบันวิจัยการแพทย์เวสต์มีด (Westmead Institute for Medical Research) มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ร่วมจัดทำรายการงานศึกษาผลของไวรัสโคโรนาต่ออัตราการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทั้งในออสเตรเลียและทั่วโลก

นพ.โอกันโบดีดิกล่าวว่า ตัวเลขรายงานการติดเชื้อของทางการอาจประเมินอัตราการติดเชื้อช่วงล็อกดาวน์ต่ำเกินความเป็นจริง

สถิติจากหน่วยงานสาธารณสุขรัฐนิวเซาท์เวลส์ชี้ว่า จำนวนกรณีโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่มีรายงานในช่วงเวลาหกเดือนแรกของปี 2020 ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับห้าปีที่ผ่านมา

นพ.โอกันโบดีดิกล่าวว่า อัตราการติดเชื้อน่าจะลดลงจริง แต่โดยทั่วไปแล้วตัวเลขนี้ไม่ครอบคลุมถึงกรณีที่ไม่ได้ตรวจพบ
A positive HIV blood test
A positive HIV blood test Source: Getty Images
ข้อจำกัดช่วงล็อกดาวน์ทำให้คนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพทางเพศได้จำกัด ผู้ติดเชื้อหลายคนอาจเลือกอยู่บ้าน และมักไม่สามารถเข้ารับบริการเหล่านี้ได้

"บางคนตัดสินใจเก็บตัวมากขึ้น ปลีกตัวมากขึ้น และมองว่านี่เป็นการกระทำที่เห็นแก่ส่วนร่วม เพื่อจะได้ไม่เพิ่มแรงกดดันต่อระบบ"

นพ.โอกันโบดีดิเสริมว่า พฤติกรรมหลีกเลี่ยงเช่นนี้อาจกลายเป็นความเคยชินติดตัวแม้บริการสุขภาพจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

"พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้อาจไม่หายไปแม้หลังล็อกดาวน์สิ้นสุด จุดนี้ต้องสร้างความตระหนักว่า ผู้คนยังจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจโรค เราต้องการให้คนมาตรวจ เราไม่ต้องการให้ปล่อยไว้ ไม่อยากให้ทิ้งไว้จนสายกว่าจะเริ่มลงมือทำอะไรสักอย่าง" นพ.โอกันโบดีดิกล่าว 

นพ.วิจยาสารถี รามานธาน กล่าวว่า การให้ความรู้ยังคงเป็นกุญแจสำคัญต่อการปรับปรุงอัตราเข้ารับการตรวจโรค

โครงการวิดีโอออนไลน์ของเขตสาธารณสุขซิดนีย์ตะวันตก (Western Sydney Health District) มีวัตถุประสงค์ให้ความรู้กับชุมชนในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของซิดนีย์ เกี่ยวกับโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์และขั้นตอนที่ผู้ติดเชื้อควรปฏิบัติ 

นพ.เชย์เลนดรา สวาเลชวาร์กา (Dr Shailendra Swaleshwarka) เป็นผู้ดำเนินรายการร่วมในโครงการวิดีโอนี้ ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว

"การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ คือการติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรีย ไวรัส และจุลินทรีย์อื่น ๆ ที่ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น การติดเชื้อเหล่านี้อาจปรากฏบริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนัก บางครั้งก็พบบริเวณอื่นบนร่างกาย"
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เอชไอวีเชื้อร้ายที่ซ่อนเร้น

นพ.สวาเลชวาร์กาอธิบายว่า การพบแพทย์ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนแต่อย่างใด

"คุณไปหาหมอโดยนัดหมายล่วงหน้าก่อนหรือไม่ก็ได้ คุณไม่ต้องใช้บัตรเมดิแคร์หรือเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด เมื่อไปขอรับบริการจากคลินิกสุขภาพทางเพศที่ดำเนินการด้วยทุนจากรัฐบาล" 

นพ.รามานธานกล่าวว่า การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการป้องกันเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

ถุงยางอนามัยเป็นหนึ่งในวิธีป้องกันโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่ดีที่สุด แต่บางคนยังคงลังเลที่จะใช้ถุงยางอนามัย

"ถ้าเป็นความสัมพันธ์ชั่วคืนก็คุยเรื่องใช้ถุงยางกันง่ายหน่อย ต่างฝ่ายต่างเข้าใจกัน แต่หลังจากมีเพศสัมพันธ์กันอีก บางคนมองว่าการใช้ถุงยางอนามัยหมายความว่า 'คุณยังไม่เชื่อใจฉันอีกหรือ' หรือ 'คุณคิดว่าฉันสกปรก เห็นว่าฉันเป็นอันตรายกับคุณ' ...ความคิดแบบนี้มักเกิดขึ้นเมื่อตัดสินใจไม่ใช้ถุงยางอนามัย" นพ.รามานธานกล่าว 

โดยทั่วไป กลุ่มประชากรอายุน้อยกว่ามีความเสี่ยงติดเชื้อสูงกว่า แต่นพ.รามานธานเตือนว่า ผู้สูงวัยไม่ได้ปลอดภัยจากความเสี่ยงนี้

"ผู้ที่อายุเกิน 50 หรือ 60 ปี อาจคิดว่า 'เราไม่เสี่ยงตั้งครรภ์แล้วจึงไม่ต้องใช้ถุงยางอนามัย' ผลที่ตามมาคือ อัตราการติดเชื้อในกลุ่มอายุดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน"

นพ.รามานธานยังกล่าวด้วยว่า แคมเปญรณรงค์สร้างความเข้าใจไม่จำเป็นต้องเจาะจงกลุ่มอายุหรือเชื้อชาติใด เมื่อทุกคนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องก็สามารถรักษาสุขภาพทั้งของตนและของชุมชนได้


คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand