น็อต ศุภศิษฐ์ หนุ่มสถาปนิกไทยกับการทำงานสถาปัตยกรรมผังเมืองในออสเตรเลีย

nott-architect-th-2024.jpg

คุณน็อตและจักรยานคู่ใจที่ใช้ขับขี่เพื่อสำรวจผังเมืองและเส้นทางปั่นจักรยานใหม่ ๆ ในเมืองซิดนีย์

คุณศุภศิษฐ์ ม่วงศิริกุล (น็อต) สถาปนิกไทยที่หอบเอาประสบการณ์ทำงานด้านสถาปัตยกรรมกว่า 6 ปี มาสานฝันการทำงานออกแบบอาคารและผังเมืองในออสเตรเลีย วันนี้ เขาได้มาพูดคุยกับเอสบีเอส ไทย ถึงเส้นทางสายอาชีพสถาปนิกในเมืองจิงโจ้ พร้อมกับแชร์การปรับตัวและแง่มุมใหม่ ๆ ถึงงานออกแบบอาคารที่คำนึงถึงทุกคนในสังคม


กด ▶️ ด้านบนเพื่อฟังพอดคาสต์

หนุ่มสถาปนิกจากไทย คุณศุภศิษฐ์ ม่วงศิริกุล (น็อต) ที่ปัจจุบันทำงานด้านออกแบบอาคารและพื้นที่สาธารณะในออสเตรเลียกับบริษัท Johnson Pilton Walker มาแชร์ประสบการณ์ทำงานให้เราฟัง ถึงการปรับตัวและแง่มุมใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับการทำงานสถาปัตยกรรมในออสเตรเลีย พร้อมกับแชร์คำแนะนำผ่านประสบการณ์ส่วนตัวในการเข้ามาทำงานในสายงานนี้

nott-7.jpg
คุณน็อตขณะเดินทางไปทำงานในตอนเช้าที่บริษัท Johnson Pilton Walker PTY

อุปสรรคในการหางานสถาปัตย์ฯ ที่ตรงสายของเราในออสเตรเลีย?

เราย้ายจากกรุงเทพมาอยู่ออสเตรเลียตั้งแต่ปี 2562 ด้วยวีซ่า Work & Holiday และต่อวีซ่าโควิดมาเรื่อย ๆ จนเพิ่งได้รับสถานะผู้พำนักถาวร (Permanent Residency) ไปเร็ว ๆ นี้เอง ซึ่งตอนมาช่วงแรกก็คิดว่ามั่นใจมากเพราะคิดว่าตอนอยู่ไทยเราทำงานกับฝรั่ง ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก มีทั้งประสบการณ์ทำงานรับเหมาและงานออกแบบอยู่พอตัว แต่ปรากฎว่าหางานไม่ได้เลย

ในออสเตรเลียเค้ามีความต้องการทักษะที่เราไม่มี เช่น กฎหมายอาคารหรือมาตรฐานงานก่อสร้างในท้องถิ่นที่เราไม่รู้ มันทำให้เราต้องเริ่มใหม่ด้วยการหางานจากตำแหน่งตั้งแต่ เด็กฝึกงานหรือเด็กจบใหม่เลยด้วยซ้ำ แรกเริ่มเราพยายามหาด้วยตัวเอง แต่สุดท้ายก็มีจังหวะที่เจอรีครูทเตอร์ (recruiter) ที่เค้าเห็นว่าเรามีศักยภาพของเราและช่วยจนเราหางานได้

Nott-Interview-architect-th-1
ประสบการณ์ทำงานด้านการออกแบบและก่อสร้างในไทยของคุณน็อต ศุภศิษฐ์ ม่วงศิริกุล

ตอนนี้เราทำงานเกี่ยวกับอะไร และตำแหน่งอะไร?

ตอนนี้เราเป็น Graduate of Architecture ที่ Johnson Pilton Walker ครับ ในตำแหน่งที่เทียบเท่าตำแหน่งเพิ่งจบปริญญาโท ก็คือเหมือนกับว่าประสบการณ์ทำงานที่ไทยเราใช้แทบไม่ได้เลย แต่มันก็ดีตรงที่เราได้ทำตัวเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่เข้ามา

ส่วนในบริษัทที่เราทำนั้นรับออกแบบอาคาร พื้นที่สาธารณะและผังเมือง (Urban planning) ไปจนถึงอาคารขนาดใหญ่ อาทิ ออฟฟิศและโรงแรม ซึ่งเราไม่เคยทำสเกลใหญ่ขนาดนี้มาก่อน เพราะต่างจากบริษัทที่เราเคยทำในไทย ซึ่งเป็นบริษัทเล็ก ๆ รับออกแบบบ้าน ออกแบบโรงเรียนอนุบาล เป็นต้น

Nott-Interview-architect-th-/
ผังเมืองของนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ขึ้นบ้างจากงานสถาปัตฯ ในบริบทของประเทศออสเตรเลีย?

"เราแปลกใจกับการที่เค้าจริงจังกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะที่ไทยเราก็จะสามารถไปแก้อะไรหน้างานได้ อาจจะเพราะแค่แรงที่ไทยถูกกว่าและงานก่อสร้างที่ไทยไม่ต้องวางแผนมากเพราะมันเปลี่ยนแปลงหน้างานได้เสมอ แต่การทำงานที่นี่นั้น ทุกการเปลี่ยนแปลงจะมีค่าใช้จ่ายกลับมาที่ผู้รับเหมาหรือสถาปนิก"

ทุกอย่างจะถูกนำมาคิดไตร่ตรองครบทุก ๆ ด้าน ที่นี่จึงมีที่ปรึกษาหลายด้าน ทั้งด้านจราจร วิศวะ งานระบบ สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงเรื่องเสียง ซึ่งเราก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าเรื่องเล็ก ๆ เช่น เสียง มันจะกระทบงานออกแบบได้ยังไง

"เคยมีบางโปรเจคก่อสร้างที่อยู่ใกล้กับศาลยุติธรรมของแคนเบอร์รา ซึ่งคนของศาลเค้าก็ได้มาร่วมประชุมกับเราด้วยเพื่อขอข้อมูลว่าเสียงก่อสร้างจะดังแค่ไหน? จะเข้ามารบกวนกับการตัดสินคดีความของเขาไหม?"

เราก็ต้องไปหาผู้เชี่ยวชาญทางด้านเสียงเพื่อช่วยวิเคราะห์ว่างานก่อสร้างที่เราจะทำนั้นใช้เสียงดังกี่เดซิเบล และเสียงจะทะลุกำแพงของเค้าไหม ซึ่งมันทำให้เราเข้าใจว่าเค้าคิดครอบคลุมทุกด้านจริง ๆ เพราะเค้าเอาทุกคนที่อยู่ในละแวกนั้นเข้ามาประชุมด้วย
คุณน็อตเล่าเสริม

อะไรคือความแตกต่างของตำแหน่ง Graduate of Architecture และ Registered Architect?

บริษัทเราเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งสภาสถาปนิกของที่นี่จะบังคับว่าต้องมีสถาปนิกที่ขึ้นทะเบียนแล้ว (registered architect) แล้ว ซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบซึ่งกำกับอยู่บนงานออกแบบชิ้นนั้น เป็นเหมือนไดเรกเตอร์ที่จะต้องประสานงานและเซ็นอนุญาตก่อนดำเนินการสร้าง

เมื่อเทียบกับแล้วตำแหน่งเทียบเท่าเด็กจบใหม่ หรือสถาปนิกที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนจะมีหน้าที่เหมือนเป็นมดงานของทีม ที่ทำหน้าที่ไปออกแบบในส่วนต่าง ๆ ของโปรเจคที่ได้รับมอบหมายมา เราต้องไปอ่านมาตรฐานหรือข้อกำหนด เช่น ความกว้างของที่เลี้ยวรถ หรือขนาดของช่องจอดรถ

ซึ่งคนที่เป็นไดเรกเตอร์นั้นอาจจะไม่ต้องรู้ขนาดที่เป๊ะทุกจุดก็ได้ตอนที่เซ็นใบอนุญาต เพราะเรื่องการเช็คความถูกต้องนั้นเป็นหน้าที่ของเราก่อนที่จะขึ้นแบบ

ความต่างกันของทั้งสองตำแหน่งอีกอย่างคือความสำคัญในเชิงของกฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่าเค้ามีความรับผิดชอบมากกว่าเราในการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งที่นี่เค้ากำหนดว่าคนที่เป็นสถาปนิกที่จดทะเบียนจะต้องมีการต่ออายุทุกปี เก็บแต้ม CPD จากการเข้าอบรมในแต่ละปีเพื่อเอาไปยื่นว่าเรามีองค์ความรู้ที่ทันกับมาตรฐานและข้อกำหนดอยู่เสมอ


ปัจจุบันมีโปรเจคอะไรบ้างที่เราต้องรับผิดชอบ?

โปรเจคในปัจจุบันตอนนี้อยู่ที่จีน ซึ่งเมืองเค้ากำลังขยาย จึงมีการสร้างตึกเพิ่มขึ้นตามสถานีรถไฟ โดยทางรัฐของเค้าเปิดให้คนที่สนใจจากต่างประเทศได้มาร่วมประกวดด้วย ซึ่งทีมของเราก็ชนะการออกแบบ ถึงแม้ว่าเราจะออกแบบทางไกลจากออสเตรเลียโดยที่ยังไม่เคยได้เดินทางไปดูพื้นที่จริงก็ตาม

มันเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับเรามากที่งานออกแบบของเรามันมีมาตรฐานครอบคลุมและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
คุณน็อตกล่าว

Nott-Interview-architect-th-2
คุณน็อตในขณะเดินทางไปทำงานที่บริษัท Johnson Pilton Walker PTY

สถาปนิกต่างชาติจะต้องทำอย่างไรถึงได้เป็นสถาปนิกจดทะเบียน?

จริง ๆ มันไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้นะ เพราะบนเว็บของสมาคมที่นี่เค้าก็รับทำการประเมินความสามารถให้ต่างชาติ (overseas assessment) ด้วย เพื่อให้สถาปนิกจากต่างชาติได้ยื่นขอเทียบเท่าวุฒิที่เค้าเรียนจบมา ซึ่งมันมีลิสต์ประเทศอยู่เช่น อังกฤษ สิงคโปร์ เป็นต้น ให้สามารถยื่นเทียบเท่าได้เลยโดยไม่ต้องสอบ
คนน็อตแนะนำ

แต่สำหรับสถาปนิกอย่างเราที่มาจากไทยเนี่ย ข้อกำหนดการทำงานสถาปัตยฯ ของเรามันจะไม่สามารถเทียบเท่าได้โดยตรง ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือยื่นไปก่อนว่าเราเรียนอะไรมาบ้าง ผ่านการทำโปรเจ็คอะไรมา แล้วเค้าจะประเมินว่าประสบการณ์ของเราเทียบเท่ากับคนเรียนจบที่นี่ได้หรือไม่ ถ้าผ่านการประเมินในขั้นแรกนี้ ก็จะต้องไปสัมภาษณ์และพรีเซนต์กับเค้าว่าเราเคยทำอะไรมาบ้าง หากพรีเซนต์ผ่านก็จะได้สิทธิ์ไปสอบเพื่อขอการจดทะเบียนได้

"ซึ่งนั่นหมายความเราไม่จำเป็นต้องไปเรียนจบจากออสเตรเลียเสมอไป ถึงจะเป็นสถาปนิกที่ขึ้นทะเบียนได้ ใครที่สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ (Architects Accreditation Council of Australia)"

LISTEN TO
Thai_Interview_Nott_260224 image

ฟังคุณน็อต ศุภศิษฐ์ ม่วงศิริกุล หนุ่มสถาปนิกไทยกับการทำงานสถาปัตยกรรมผังเมืองในออสเตรเลีย

20:45

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand