NSW ขยับมาตรการแบนการใช้พลาสติกอีกขั้น

ขยะถุงพลาสติกในทะเล

ขยะถุงพลาสติกในทะเล Source: AAP / SUPPLIED/PR IMAGE

ตั้งแต่วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป รัฐนิวเซาท์เวลส์ยกระดับมาตรการแบนการใช้พลาสติกอีกขั้น ห้ามใช้ช้อนส้อม จาน ชามพลาสติกทั่วรัฐ หลังประกาศเตือน 12 เดือนล่วงหน้า อย่างไรก็ตามกลุ่มสิ่งแวดล้อมกล่าวว่าควรมีการประสานงานมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษร่วมกัน


หลายธุรกิจในออสเตรเลียกำลังมองหาทางออกที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

คุณแจ็ก (Jack) ทำงานที่ร้านเคเฟ่ เนสท์ (Nest Café) แถบชายฝั่งทางเหนือของซิดนีย์กล่าวว่า ทางร้านได้เปลี่ยนจากการใช้พลาสติกเป็นกระดาษแข็ง (Cardboard) แทน

“เราไม่ใช้กระดาษแข็ง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เราใช้วัสดุทำจากกระดาษแข็งจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกล่องใส่อาหารเวลาจัดเลี้ยง กล่องใส่อาหารเทคอะเวย์”
นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับร้านค้าที่ให้บริการเทคอะเวย์ (Takeaway) เป็นส่วนใหญ่ แต่เป็นมาตรการที่ได้รับเสียงตอบรับที่ดี คุณแจ็กกล่าว

“เราเห็นลูกค้าหลายรายที่ชอบให้เราใช้กระดาษแข็ง ความแตกต่างเพียงอย่างเดียวคือต้นทุนในการจัดซื้อวัสดุ กระดาษแข็งมีราคาแพงกว่ามาก แต่เป็นราคาเพียงเล็กน้อยที่จะจ่ายเพื่อช่วยเหลือให้ได้มากที่สุด”

ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป หลอดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ช้อน ชาม และก้านสำลีพลาสติกจะถูกแบน ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามจะถูกปรับสูงถึง $55,000 ดอลล่าร์

ขณะที่รัฐบาลออสเตรเลียมุ่งมั่นที่จะลดการใช้พลาสติกภายในปี 2025 การกำหนดเวลาเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นแตกต่างไป

คุณพอล ซาห์รา (Paul Zahra) ผู้บริหารของสมาคมผู้ค้าปลีกแห่งออสเตรเลีย (Australian Retailers Association) กล่าวว่า

“ปัญหาในขณะนี้คือรูปแบบการใช้มาตรการของรัฐบาลกลาง แต่ละรัฐและมณฑลมีรูปแบบของตนเอง เป็นปัญหาเดียวกันกับที่เราเจอเมื่อเกิดโควิด”
ขวดพลาสติกถูกทิ้งบนชายหาด
ขวดพลาสติกถูกทิ้งบนชายหาด Credit: Pexels/Catherine Sheila
ขณะนี้มีการห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบบาง (Lightweight bag) ทั่วประเทศ แต่ไม่มีการกำหนดที่ชัดเจนกับสิ่งอื่น

ตัวอย่างเช่น เมื่อปีที่แล้ว รัฐควีนส์แลนด์ออกกฎหมายห้ามใช้หลอดและแก้วพลาสติก แต่จะห้ามใช้ก้านสำลีหรือไมโครบีดส์ (Microbeads) ในปีหน้า

รัฐวิกตอเรียจะออกกฎห้ามใช้พลาสติกในทำนองเดียวกัน ในเดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้า

รัฐเวสเทิร์น ออสเตรเลียประกาศห้ามใช้ช้อนส้อมและหลอดพลาสติกในปีนี้ จนกว่าจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม

ตามการประเมินบางฉบับ ออสเตรเลียใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวมากกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก เมื่อคำณวนตามจำนวนประชากร

โดย 65 เปอร์เซ็นต์ของพลาสติกกลายเป็นขยะแบบฝังกลบ และรั่วไหลลงมหาสมุทรเกือบ 145,000 ตัน

คุณเคท โนเบิล (Kate Noble) จากกองทุนเพื่อธรรมชาติโลก (World Wide Fund for Nature) กล่าวว่า
การหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกที่เราไม่ต้องการเป็นสิ่งสำคัญมาก ควรแน่ใจว่าพลาสติกที่เราใช้สามารถหมุนเวียน ให้เราสามารถเก็บไว้ใช้ได้นานที่สุดเท่าที่ทำได้
คุณเคทกล่าว
คุณไมค์ สมิท (Mike Smith) ผู้ก่อตั้งซีโร โค (Zero Co) บริษัทผลิตภัณฑ์ดูแลและทำความสะอาดโดยไม่ใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวกล่าวว่า

“เราไม่สามารถรีไซเคิล (Recycle) ได้หมด ดังนั้นเราจึงใช้รูปแบบการนำกลับมาใช้อีกครั้ง (Re-use) นับเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างแท้จริง โดยที่เราไม่สร้างขยะ ไม่ต้องส่งไปฝังกลบ ไม่ต้องรีไซเคิล”

นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหวระดับนานาชาติเช่นกัน มีการร่างสนธิสัญญาสหประชาชาติ (United Nations) ใหม่ ซึ่งมีแนวร่วมกว่า 170 ประเทศ รวมถึงออสเตรเลีย สนับสนุนมติในการยุติมลพิษจากพลาสติกครั้งประวัติศาสตร์


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 
 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand