จะเกิดอะไรขึ้นหลังรู้ผลการลงประชามติ

Voters in a polling booth (SBS).jpg

นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น หลังจากที่เรารู้ว่าการลงประชามติเรื่องคณะที่ปรึกษาเสียงชนพื้นเมืองต่อรัฐสภา หรือ Indigenous Voice to Parliament ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว


อีกไม่ถึงหนึ่งเดือน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะให้คำตัดสินเกี่ยวกับเรื่องคณะที่ปรึกษาเสียงชนพื้นเมืองต่อรัฐสภา หรือ Indigenous Voice to Parliament ผ่านการลงประชามติในวันที่ 14 ตุลาคม

ในการลงประชามติ 14 ตุลาคมนี้ จะการถามชาวออสเตรเลียว่า พวกเขาสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญหรือไม่

เมื่อการนับคะแนนเสียงเริ่มขึ้น อาจใช้เวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์กว่าจะทราบผลลัพธ์

การลงประชามติจะประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องได้รับคะแนนเสียงที่เรียกกันว่า "เสียงข้างมากสองต่อ" หรือ double majority

นั่นคือทั้งประชากรส่วนใหญ่และรัฐส่วนใหญ่ลงคะแนนเสียงว่า Yes

หากการลงประชามติประสบความสำเร็จ ผลการลงประชามติก็จะถูกส่งไปยังผู้สำเร็จราชการแทนกษัตริย์อังกฤษประจำสหพันธรัฐ เดวิด เฮอร์ลีย์

รัฐธรรมนูญจะถูกเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ยอมรับชนกลุ่มแรกของออสเตรเลียโดยจัดตั้งคณะที่ปรึกษาเสียงของชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส
ศาสตราจารย์ เชอริล ซอนเดอร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญของมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น กล่าวว่า จากนั้นจะขึ้นอยู่กับรัฐสภาที่จะกำหนดว่าคณะที่ปรึกษาดังกล่าวจะดำเนินการอย่างไร

"สิ่งต่อไปที่จะเกิดขึ้นคือจะต้องมีการร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งคณะที่ปรึษาเดอะวอยซ์ กำหนดองค์ประกอบและหน้าที่ของมัน และอื่น ๆ นอกจากนี้ยังจะต้องมีการคิดอย่างรอบคอบภายในรัฐบาลและรัฐสภาด้วยว่าจะนำคณะที่ปรึกษาเดอะวอยซ์ไปเกี่ยวข้องในการดำเนินงานอย่างไร และคำตอบของสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนลงในกฎหมายอย่างไร" ศ.ซอนเดอร์ส อธิบาย

หลักการในการพิจารณาเรื่องนี้ได้ถูกกำหนดไว้แล้วผ่านกระบวนการออกแบบร่วม

แต่ศาสตราจารย์แอนน์ ทูมีย์ แห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่า แม้ว่าจะผ่านบททดสอบด้วยการได้เสียงข้างมากสองต่อสำหรับการลงประชามติ แต่ก็อาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่คณะที่ปรึกษาเสียงชนพื้นเมืองต่อรัฐสภา หรือ เดอะวอยซ์ จะกลายเป็นจริง

"อาจใช้เวลาสักระยะหนึ่ง อาจใช้เวลาเป็นปีหรืออาจนานกว่านั้นก็ได้ ฉันคาดว่ารัฐบาลอัลบานีซีต้องการทำให้เสร็จในช่วงวาระที่ดำรงตำแหน่งนี้เพื่อจะแน่ใจได้ว่ารัฐบาลจะสามารถดำเนินโครงการให้เสร็จสิ้น ในอดีตการก่อตั้งองค์กรอื่น ๆ เช่น ศาลสูงแห่งออสเตรเลีย ต้องใช้เวลาหลายปีนับจากจุดที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมีองค์กรเหล่านี้" ศ.ทูมีย์ กล่าว

ทางเลือกอื่นคือ ประเทศลงคะแนนเสียงว่า No ในวันที่ 14 ตุลาคม

รัฐธรรมนูญก็จะไม่เปลี่ยนแปลง

แต่จากการที่รัฐบาลและฝ่ายค้านมีความเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับประเด็นนี้ ศ.ทูมีย์ กล่าวว่าทั้งสองฝ่ายจะตรวจสอบผลลัพธ์ของการลงประชามติอย่างใกล้ชิด

"ทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาอย่างใกล้ชิดเพื่อพยายามหาเหตุผลของการลงคะแนนเสียงในการลงประชามติ เพื่อให้รู้อย่างชัดเจนถึงสิ่งที่ชาวออสเตรเลียต้องการ ดังนั้น ทั้งหมดนี้จริง ๆ แล้วอยู่ที่ว่า ชาวออสเตรเลียหมายถึงอะไรในการโหวต No และเป็นเรื่องยากที่จะรู้แน่ชัด" ศ.ทูมีย์ แสดงความเห็น
สิ่งหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ในอนาคตคือ โอกาสที่จะมีการลงประชามติอีกครั้ง โดยจะเป็นการยอมรับชาวพื้นเมืองอย่างเป็นทางการในรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว ซึ่งปีเตอร์ ดัตทัน ผู้นำฝ่ายค้านได้กล่าวไว้ว่าอาจเกิดขึ้น

ศาสตราจารย์ซอนเดอร์สกล่าวว่า ผลการลงประชามติจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อการเรียกร้องสนธิสัญญาบางส่วนกับชนกลุ่มแรกนั้น ยังเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง

"มันสามารถเกิดขึ้นได้ไม่ว่าผลการลงประชามติจะเป็นอย่างไร ฉันคิดว่าจะเป็นประเด็นถกเถียงและต้องรอดูกันต่อไป แม้ว่าจะมีเจตจำนงทางการเมืองที่จะเดินหน้าทำสนธิสัญญาหากการลงประชามติล้มเหลว แต่นั่นก็จะใช้เวลาสักระยะ" ศ.ซอนเดอร์ส คาดการณ์

แต่ผลการลงประชามติก็จะไม่ขัดขวางรัฐและมณฑลต่าง ๆ ไม่ให้ดำเนินการในด้านนี้

ศาสตราจารย์ทูมีย์กล่าวว่า ไม่ว่าผลการลงประชามติจะออกมาเป็นอย่างไร ได้มีการตอกย้ำถึงประเด็นสำคัญคือ ความจำเป็นในการปรับปรุงวิธีที่ชนกลุ่มแรกของชาติมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้านการกำหนดนโยบายต่าง ๆ

"ความจริงแล้ว รัฐและมณฑลมีอิทธิพลมากกว่าต่อชีวิตของชนพื้นเมืองของออสเตรเลีย และผลการลงประชามติจะไม่กระทบต่อสิ่งที่รัฐและมณฑลดำเนินการต่อไป ฉันคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ทุกคนได้ยินดังและชัดเจนคือ เราต้องให้ความสำคัญกับชาวพื้นเมืองของออสเตรเลียให้มากขึ้น และรับฟังพวกเขาว่ากฎหมายและนโยบายต่าง ๆ นั้นส่งผลต่อพวกเขาอย่างไร" ศ.ทูมีย์ กล่าวทิ้งท้าย

คุณสามารถค้นหาข้อมูลที่ครอบคลุมรอบด้านเกี่ยวกับการลงประชามติครั้งนี้ได้ที่พอร์ทัล SBS Voice Referendum ไปที่เว็บไซต์ www.sbs.com.au/voicereferendum

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand