การลงประชามติ วอยซ์ คืออะไร? และทำไมออสเตรเลียถึงทำ?

CANBERRA RECONCILIATION WEEK STOCK

ดวงจันทร์ปรากฏอยู่หลังธงชาติออสเตรเลีย ธงของชนพื้นเมือง และธงของหมู่เกาะช่องแคบทอร์เรส หน้าอาคารรัฐสภา กรุงแคนเบอร์รา Source: AAP / LUKAS COCH/AAPIMAGE

ประชากรออสเตรเลียจะลงประชามติ วอยซ์ ทู พาร์ไลเมนท์ (Voice to Parliament) ปลายปีนี้ รายละเอียดที่คุณควรทราบเกี่ยวกับกระบวนการลงประชามติ ทำไมถึงต้องมีการลงประชามติ และข้อมูลต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจก่อนลงประชามติ


กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน

รัฐบาลสหพันธรัฐให้ผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญออสเตรเลียเพื่อรับรองชนพื้นเมืองผ่านองค์กรที่เป็นตัวแทน ชื่อว่า วอยซ์ ทู พาร์ไลเมนท์ (Voice to Parliament) หรือไม่ (ในที่นี้แปลว่า “เสียงสู่รัฐสภา”)

“เดอะ วอยซ์ (The Voice)” จะเป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อให้คำแนะนำแก่ รัฐบาลเกี่ยวกับประเด็นและกฎหมายต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชนพื้นเมือง (First Nations)

คุณอีวาน เอคิน-สมิท (Evan Ekin-Smyth) โฆษกของคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งออสเตรเลีย (Australian Electoral Commission) องค์กรอิสระที่ดำเนินการการเลือกตั้งของประเทศ
การลงประชามติเป็นการลงคะแนนกับประเด็นที่ต้องการให้รัฐธรรมนูญของออสเตรเลียเปลี่ยนแปลง วิธีเดียวที่คุณจะสามารถเปลี่ยนรัฐธรรมนูญได้คือการที่ประชาชนลงคะแนนเสียง รัฐสภาไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญกำหนดวิธีการทำงานของรัฐบาลสหพันธรัฐ กำหนดพื้นฐานของวิธีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเครือจักรภพ มลรัฐต่างๆ และประชาชน รวมถึงกฎหมายที่รัฐบาลระดับมลรัฐและรัฐบาลสหพันธรัฐสามารถทำได้

ประชาชนจะเป็นผู้ลงคะแนนว่า “เยส (yes)” หรือ “โน (no)” กับคำถามต่อไปนี้

“กฎหมายที่เสนอ: เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้รับรองชนพื้นเมืองของออสเตรเลีย (First People of Australia) โดยการจัดตั้งคณะกรรมการ วอยซ์ สำหรับชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส”

“คุณเห็นชอบกับข้อเสนอให้เปลี่ยนแปลงนี้หรือไม่”

การลงประชามติต้องได้รับเสียงข้างมากเพื่อให้ประสบผลสำเร็จ

“เพื่อให้การลงประชามติครั้งนี้สำเร็จ ต้องได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในระดับประเทศที่โหวตให้ผ่าน และคะแนนเสียงโหวตให้ผ่านในระดับรัฐอย่างน้อย 4 ใน 6 รัฐต้องโหวต ‘เยส’ พลเมืองออสเตรเลียทุกคนลงคะแนนว่า ‘เยส’ หรือ ‘โน’ ในบัตรลงคะแนน รวมถึงพลเมืองที่อาศัยอยู่ในมณฑลนครหลวงออสเตรเลีย (ACT) และมณฑลนอร์เทิร์นแทริทอรี (NT) ด้วย”
คณะกรรมการ วอยซ์ ทู พาร์ไลเมนท์จะเป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของชนพื้นเมือง ซึ่งจะได้รับการคัดเลือกจากชุมชนพื้นเมืองเพื่อเป็นตัวแทนในการให้คำปรึกษาแก่รัฐสภาในการร่างกฎหมายที่จะมีผลต่อพวกเขา

คณะกรรมการนี้จะไม่มีอำนาจในการออกกฎหมาย ยับยั้งการตัดสินใจ หรือจัดสรรงบประมาณ รัฐสภาจะยังคงดำเนินการตามปกติ

ศาสตราจารย์เมแกน เดวิส (Megan Davis) เป็นชาวคอบเบิล คอบเบิล (Cobble Cobble) เป็นประธานฝ่ายกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ และเป็นหนึ่งในคณะผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยการยอมรับชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสในรัฐธรรมนูญที่ผลักดันการเปลี่ยนแปลงนี้

เธอกล่าวว่าประเทศอื่นๆ ประสบความสำเร็จจากแบบจำลองที่คล้ายกันนี้
นี่คือการปฏิรูประบบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นทั่วไปในระดับนานาประเทศ เพื่อให้แน่ใจว่ารัฐบาลรับฟังเสียงของชนพื้นเมือง เมื่อรัฐบาลออกกฎหมายหรือมีนโยบายที่เกี่ยวกับพวกเขา
"สาเหตุหนึ่งที่เราไม่สามารถลดช่องว่างเรื่องความด้อยโอกาสในออสเตรเลียได้เพราะรัฐบาลไม่ค่อยปรึกษาชุมชนต่างๆ เมื่อพวกเขาออกกฎหมายหรือนโยบาย”

คุณดีน พาร์กิน (Dean Parkin) เป็นชาวควอนดามูกา (Quandamooka) และเป็นผู้อำนวยการโครงการ ‘ฟรอม เดอะ ฮาร์ท (From the Heart)’ สนับสนุนวอยซ์ ทู พาร์ไลเมนต์เพื่อการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ

เขากล่าวว่า วอยซ์ จะช่วยรับประกันให้ชนพื้นเมืองสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง เนื่องจากรัฐบาลจะต้องรับฟังชนพื้นเมือง ซึ่งรู้ซึ้งถึงปัญหาในชุมชนดีที่สุด

“มันเป็นเรื่องของการให้ผู้เชี่ยวชาญของชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสเข้ามาร่วมด้วย เพื่อให้รัฐสภาและรัฐบาลสามารถออกฏหมายและนโยบายที่ดีกว่า ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เราเห็นได้จากรายงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ (Closing the Gap) เราเห็นได้จากสถิติ ปีแล้วปีเล่า ประชากรออสเตรเลียหลายคนผิดหวังที่ไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เราต้องการเห็นในชุมชนของเรา”
YES 23 VOICE CAMPAIGN SYDNEY
ผู้สนับสนุนเพนท์ธงชนพื้นเมืองบนหน้าเป็นสัญลักษณ์ของการสนับสนุนให้โหวต 'เยส' ในงานสนับสนุน วอยซ์ ทู พาร์ไลเมนท์ ที่ซิดนีย์ Source: AAP / BIANCA DE MARCHI/AAPIMAGE
ชนพื้นเมืองของออสเตรเลียก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน บ้างไม่เห็นด้วยกับ วอยซ์ รวมถึงนักการเมืองที่เป็นชนพื้นเมืองด้วย

คุณจาซินตา ไพร์ซ (Jacinta Price) วุฒิสมาชิกฝ่ายเสรีนิยมจากมณฑลนอร์เทิร์นแทริทอรีและอดีตผู้นำแรงงานจากวอร์เรน มันดีน (Warren Mundine) เป็นผู้สนับสนุนการโหวต “โน”

โดยแย้งว่า วอยซ์ จะแก้ปัญหาความด้อยโอกาสของชนพื้นเมืองได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ขณะที่การลงประชามติใกล้เข้ามา คุณเอคิน-สมิท กล่าวว่าคณะกรรมการฯ กำลังจัดทำข้อมูลเพื่อแจ้งประชากรออสเตรเลียที่มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 17 ล้านคน โดยจะมีการนำเสนอทั้งสองมุมของโครงการ วอยซ์
เราจะจัดให้มีหน่วยเลือกตั้งหลายพันแห่งทั่วประเทศในวันลงประชามติ จะมีศูนย์ลงคะแนนล่วงหน้าที่ให้บริการหลายสัปดาห์ก่อนที่จะถึงวันเช่นกัน
"ถ้าคุณไม่สามารถลงคะแนนในวันนั้นได้ คุณสามารถมาลงคะแนนที่ศูนย์ลงคะแนนล่วงหน้าได้ เราจะยังอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่ประสงค์จะลงประชามติในต่างประเทศ การลงคะแนนทางไกลทางมือถือ การลงคะแนนทางไปรษณีย์ รวมถึงการลงคะแนนทางโทรศัพท์สำหรับผู้ที่ตาบอดด้วย”

ในอดีต การโน้มน้าวให้ประชากรออสเตรเลียแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องง่าย มีข้อเสนอเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเพียง 8 ข้อ จาก 44 ข้อที่ประสบความสำเร็จ

การลงประชามติครั้งล่าสุดประเด็นเรื่องชนพื้นเมืองมีขึ้นในปี 1967 การลงประชามติในครั้งนั้นประสบความสำเร็จในการยอมรับชนพื้นเมืองให้เป็นคนออสเตรเลียภายใต้กฎหมายของเครือจักรภพ และด้วยเหตุนี้จึงได้รับการนับรวมในการสำรวจสำมะโนประชากร (Census) นับแต่นั้นมา

ในการลงประชามติที่จะมีขึ้น คุณเพียงต้องเลือกเขียนคำว่า yes (เยส) หรือ no (โน) เป็นภาษาอังกฤษลงบนกระดาษลงคะแนน

คุณแพท คัลลาแนน (Pat Callanan) ตัวแทนคณะกรรมการการเลือกตั้งอธิบายถึงแหล่งข้อมูลที่มีแก่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

“เราจะมีข้อมูลที่แปลใน 30 ภาษาบนเว็บไซต์ของเรา และผ่านการให้บริการล่ามทางโทรศัพท์เช่นกัน”
JACINTA PRICE VOICE PRESSER
วุฒิสมาชิก จาซินตา ไพรซ์ ยืนข้างเด็กผู้หญิงชนพื้นเมืองที่มีธงชาติออสเตรเลียพาดบ่า ที่กรุงแคนเบอร์รา Source: AAP / LUKAS COCH/AAPIMAGE
หากคุณลงทะเบียนว่าเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง คุณจะมีสิทธิ์ลงคะแนนในการลงประชามติเช่นกัน

หมายความว่าการลงคะแนนในการลงประชามติเป็นข้อบังคับสำหรับพลเมืองที่มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกคน
คุณต้องเป็นพลเมืองออสเตรเลียเพื่อลงประชามติ
"เราแนะนำให้ผู้ที่ย้ายที่อยู่หรือไม่แน่ใจว่ารายละเอียดในการลงคะแนนเสียงถูกต้องหรือไม่ คุณสามารถตรวจสอบการลงทะเบียนของคุณที่ aec.gov.au เพื่อให้แน่ใจว่ารายละเอียดของคุณถูกต้อง”

คุณเอคิน-สมิทเชื่อว่าการมีส่วนร่วมในการลงประชามติเป็นสิ่งสำคัญและทุกคนควรหาข้อมูล

“ข้อแตกต่างของการลงประชามติคือคุณไม่ได้คิดถึงผู้สมัครที่คุณต้องการเลือก คุณคิดถึงประเด็นในการลงประชามติ ดังนั้นหาข้อมูลอย่างรอบคอบ คิดว่าคุณจะโหวต ‘เยส’ หรือ ‘โน’ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณจะไปลงประชามติโดยมีข้อมูลเพียบพร้อม”
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ควรทราบคือผลลัพธ์จะมีผลผูกพัน

“สิ่งสำคัญคือการใช้เสียงของคุณ ไม่ว่าคุณจะลงคะแนนอย่างไร เราไม่สนใจว่าประชาชนจะโหวตอย่างไร สิ่งที่เราสนใจคือประชาชนออกมาลงคะแนน และนั่นเป็นสิ่งที่พิเศษ การที่คุณสามารถใช้เสียงของคุณกับเรื่องนั้น เราแนะนำให้ประชาชนทำอย่างจริงจัง”

อ่านหรือฟังเรื่องการตั้งถิ่นฐานในออสเตรเลียได้อีก


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 





Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand