คนไทยในออสเตรเลียถกประเด็นวันชาติ ยังควรเป็นวันที่ 26 มกราคมหรือไม่?

INVASION DAY RALLY BRISBANE

ผู้คนเดินขบวนเนื่องในวัน Invasion Day ที่นครบริสเบน วันที่ 26 มกราคม 2023 Source: AAP / JONO SEARLE/AAPIMAGE

วันที่ 26 มกราคมเป็นวันชาติออสเตรเลีย แต่ทว่าประวัติศาสตร์ของวันนี้เป็นเรื่องโหดร้ายสำหรับชนพื้นเมืองออสเตรเลีย คนไทยในออสเตรเลียคิดเห็นอย่างไร และถ้าไม่ใช่วันที่ 26 วันชาติออสเตรเลียควรเป็นวันไหนดี?


กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน

ออสเตรเลียเฉลิมฉลองวันชาติในวันที่ 26 มกราคมของทุกปี โดยเป็นวันหยุดราชการมาตั้งแต่ปี 1994 เนื่องจากเป็นวันที่อังกฤษชักธง ‘ยูเนียน แจ็ค’ ขึ้นสู่ยอดเสาที่ซิดนีย์ โคฟ หรือที่เรียกกันว่า First Fleet

ปกติแล้วชาวออสเตรเลียจะเฉลิมฉลองวันชาติด้วยการประดับธงออสเตรเลีย และด้วยความที่เดือนมกราคมยังคงอยู่ในฤดูร้อน จึงมักจะจัดงานสังสรรค์ด้วยการรับประทานบาร์บีคิว ไปเที่ยวที่ชายหาด และเทศบาลท้องถิ่นมักจะจัดงานพิธีมอบสัญชาติในวันนี้ด้วย
Australia day pool
เด็กผู้ชายเล่นน้ำกับห่วงยางธงชาติออสเตรเลีย Credit: Trish Bredford
อย่างไรก็ตาม เริ่มมีการเคลื่อนไหวประท้วงการเฉลิมฉลองวันชาติในวันที่ 26 มกราคมเพิ่มมากขึ้น โดยชนพื้นเมืองออสเตรเลียและผู้สนับสนุนชนพื้นเมือง พวกเขาอยากเปลี่ยนวันชาติออสเตรเลียเป็นวันอื่นแทน

ชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสกล่าวว่าวันที่ 26 มกราคมเป็นวันเริ่มต้นของการล่าอาณานิคมและเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์อันโหดร้าย ทั้งการถูกยึดครองดินแดน การถูกพรากจากวัฒนธรรมดั้งเดิม และการพรากคนรุ่นหลังของพวกเขาไป วันชาติออสเตรเลียถูกเรียกว่า “วันไว้อาลัย (Mourning Day)” “วันรุกราน (Invasion Day)” หรือ “วันเอาชีวิตรอด (Survival Day)”

สำหรับชุมชนไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนหยุดวันที่ 26 มกราคม หลายคนทำงาน หลายคนเข้าใจถึงสาเหตุที่มีการประท้วงในวันนี้ และบางคนที่เพิ่งมาถึงใหม่อาจจะยังไม่เข้าใจถึงประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันนี้
เอสบีเอสไทยสอบถามคนไทยในออสเตรเลียว่าพวกเขาทำอะไรในวันชาติออสเตรเลีย คุณทันยาเคยเฉลิมฉลองวันชาติ คุณนุ่นร่วมยินดีกับวันนี้ คุณวิกกี้ทำงาน คุณแซนดีจะไปสังเกตการณ์การประท้วง

“เมื่อก่อนเคยฉลองค่ะ เคยทำคัพเค้ก ปักธงออสเตรเลีย หรือทำลามิงทัน แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษ” คุณทันยากล่าว

“นัดกับเพื่อนที่มหาวิทยาลัยเพื่อไปรวมตัวหน้าห้องสมุดรัฐวิกตอเรีย ไปสังเกตการณ์บรรยากาศ ว่าจะมีกิจกรรมอะไรบ้าง” คุณแซนดีกล่าว

สำหรับประเด็นการประท้วงให้เปลี่ยนวันชาติออสเตรเลียไม่ให้เป็นวันที่ 26 มกราคม คุณนุ่นกล่าวว่าควรยังควรมีวันชาติอยู่ คุณทันยาไม่คิดว่าการเปลี่ยนวันจะช่วยให้ดีขึ้น คุณวิกกี้และคุณแซนดีคิดว่าควรเปลี่ยนวัน

“คิดว่าไม่ควรเป็นวันนี้ค่ะ เพราะเหมือนเป็นวันไว้ทุกข์ของคนอะบอริจินอลเขา เคยดูสารคดี คนอะบอริจินเขาไปต่อแถวที่เซ็นเตอร์ลิงก์เพื่อขอเงินสวัสดิการ แต่เขาไม่ให้ไปนั่งข้างใน ให้นั่งตากแดดอยู่ข้างนอก ออสเตรเลียเนี่ยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มันไม่ควรจะยังมีเรื่องเหยียดผิว” คุณวิกกี้กล่าว

“กว่าจะประเทศออสเตรเลียมาได้จนถึงทุกวันนี้ โอเคเราไปรุกรานคนท้องถิ่นมาตั้งแต่แรกเริ่ม อันนี้ก็เข้าใจได้ คนที่เข้ามาตั้งแต่แรกเริ่ม ต่างฝ่ายก็เสียเลือดเสียเนื้อ แต่เรามีออสเตรเลียได้ทุกวันนี้เพราะเรื่องนี้ด้วยหรือเปล่า อยากให้นึกถึงว่ามันเป็นวันที่ก่อตั้งประเทศขึ้นมามากกว่า” คุณนุ่นกล่าว
Invasion Day protesters are seen during the Australia Day celebrations in Brisbane.
การเดินขบวนประท้วงในวันที่ชนพื้นเมืองเรียกว่า 'วันรุกราน' ที่บริสเบน Source: AAP
ในเรื่องของความเข้าใจประวัติศาสตร์ในวันที่ 26 มกราคมและสิ่งที่เกิดกับชนพื้นเมืองออสเตรเลีย ทุกคนเข้าใจถึงเรื่องนี้ดี และเห็นความพยายามของรัฐบาลที่จะแก้ไขหรือปรับปรุงเรื่องการปฏิบัติต่อชนพื้นเมืองออสเตรเลีย
คิดว่าที่ผ่านมารัฐบาลออสเตรเลียและสังคมพยายามแก้สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตให้ถูกต้อง พยายามช่วยเหลือชนพื้นเมือง รู้สึกว่ามันเหมือนเป็นแค่สัญลักษณ์ ถ้าเปลี่ยนเป็นวันอื่น ก็จะมีคนไม่พอใจอยู่ดี
คุณทันยากล่าว
“เคยดูหนังเรื่อง Rabbit Proof Fence เกี่ยวกับเรื่องของ Stolen Generation สิ่งที่คนขาวมายึดครองพยายามทำคือพรากลูกหลานของชนพื้นเมืองไปอยู่โรงเรียนคริสต์ เรียนภาษาอังกฤษ เรียนประเพณีของฝรั่ง ห้ามทำอะไรนอกเหนือคำสั่ง ส่วนใหญ่จะไปเป็นคนใช้ตามบ้านคนผิวขาว หรืออาจจะไปแต่งงานกับผู้ชายผิวขาว โดยหวังว่าเจเนอเรชันที่ 2 หรือ 3 จะไม่มีคนที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนคนอะบอริจินเหลืออยู่เลย” คุณวิกกี้กล่าว

แล้วหากเราสามารถเปลี่ยนวันชาติได้จริง คิดว่าควรจะเป็นวันไหนดี?

“ไม่ควรกำหนดวันที่ ทำเหมือนวันแม่หรือวันพ่อไปเลย คือวันจันทร์แรกของเดือนพฤษภาคมหรือวันศุกร์สุดท้ายของเดือนตุลาคม เคยคิดว่าเป็นวันที่ 1 มกราคม เป็นวันที่ออสเตรเลียประกาศเป็นสหพันธรัฐ แต่ถ้าเกิดกำหนดวันที่เฉพาะเจาะจง กลัวว่าจะเป็นปัญหาอีก ก็ให้เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทุกปี” คุณทันยากล่าว

“วันที่เรียกว่าวันปรองดอง (Reconciliation Day) ในเดือนพฤษภาคม และเป็นวันที่ชนพื้นเมืองได้รับสิทธิ์เป็นพลเมือง คิดว่าวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการยอมรับและให้เกียรติกันและกัน” คุณแซนดีกล่าว
Australians Celebrate Australia Day
ผู้คนฉลองวันชาติออสเตรเลีย ที่ซิดนีย์ ฮาร์เบอร์ บริดจ์ Source: Getty / Getty Images AsiaPac Cole Bennetts/Getty Images
สำหรับความพยายามเปลี่ยนวันชาติออสเตรเลียจากวันที่ 26 มกราคม ชนพื้นเมืองออสเตรเลียและผู้มีชื่อเสียงหลายคนสนับสนุนคำร้อง (petition) ให้เปลี่ยนวัน โดยขณะนี้มีผู้ลงชื่อในคำร้องแล้วกว่า 21,000 ราย และทั้งยังเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง

งารา เมอร์เรย์ ประธานสมัชชาชนพื้นมืองออสเตรเลียกล่าวว่าการเปลี่ยนวันที่หมายความว่าประชาชนออสเตรเลียทุกคนสามารถเฉลิมฉลองร่วมกัน

ในวันที่ไม่สะท้อนถึงความเจ็บปวดของชนพื้นเมืองออสเตรเลีย

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลต่อคนอีกหลายชั่วอายุ ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ ซึ่งยังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ การเฉลิมฉลองวันนี้โดยไม่ยอมรับถึงผลกระทบเคยที่เกิดขึ้นนั้นก็เท่ากับเพิกเฉยต่อความเจ็บปวดและความศิโรราบของชนพื้นเมืองในดินแดนแห่งนี้ การเปลี่ยนแปลงวันนี้เท่ากับเป็นการยอมรับถึงความเข้มแข็งและความผ่อนผันของผู้คนของเราที่รอดชีวิตจากความพยายามลบล้างวัฒนธรรมของเรามาหลายศตวรรษ”

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand