แออัดยิ่งกว่าปลากระป๋อง: ปัญหาห้องเช่านักเรียนไทยในออสเตรเลีย

ภาพข้าวของกระจัดกระจายอยู่ในห้องนั่งเล่นที่อพาร์ทเม้นท์แห่งหนึ่ง

การอาศัยอยู่ในห้องพักแคบๆร่วมกับคนหลายคนเป็นสิ่งที่นักเรียนไทยในออสเตรเลียพบเจอบ่อยครั้ง Source: Pixabay/SBS Thai

เรื่องที่พักอาศัย เป็นหนึ่งในปัญหาเรื้อรังที่นักเรียนไทยจำนวนมากต้องเผชิญ ทั้งเรื่องการอยู่อาศัยอย่างแออัด เรื่องสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และการถูกเอาเปรียบในเรื่องค่ามัดจำ แต่ทำไมพวกเขาจึงตกอยู่ในวังวนนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า


กดปุ่ม 🔊เพื่อฟังสัมภาษณ์นี้
LISTEN TO
Thai students rental accommodation traps and pitfalls image

แออัดยิ่งกว่าปลากระป๋อง: ปัญหาห้องเช่านักเรียนไทยในออสเตรเลีย

SBS Thai

07/10/201926:39
ออสเตรเลียเป็นประเทศที่นักเรียนไทยนิยมเดินทางมาเรียนต่อมากที่สุดประเทศหนึ่ง จากสถิติของสำนักงานการพาณิชย์และการลงทุนออสเตรเลีย (Austrade) เปิดเผยว่าในปี 2019 มีจำนวนนักเรียนไทยที่อาศัยในออสเตรเลียจำนวน 20,960 คน แต่การมาเรียนในต่างประเทศนอกจากจะเป็นการเพิ่มความรู้และประสบการณ์แล้ว พวกเขาอาจต้องเจอกับปัญหาที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนอีกด้วย

หาห้องเช่าผ่านโซเซียลมีเดีย

การมาเรียนในเมืองใหญ่ที่ค่าครองชีพสูง ทำให้การหาห้องเช่าเพื่ออยู่อาศัยระหว่างศึกษาเป็นปัญหาหลักเรื่องหนึ่งของนักเรียนชาวไทย โดยมากนักเรียนที่เตรียมตัวมาศึกษาที่ประเทศออสเตรเลียจะใช้โซเซียลมีเดีย เป็นแหล่งข้อมูลเพื่อหาที่พักอาศัย  เมื่อเจอห้องในย่านที่ถูกใจ จึงทำการติดต่อเจ้าของห้องผ่านทางกล่องข้อความในเฟซบุ๊ก หรือส่งข้อความทางไลน์ เพื่อสอบถามเรื่องราคา และเรื่องสัญญาเช่า อย่างเช่น นักเรียนรายหนึ่งซึ่งใช้นามแฝงว่า “เอ” เล่าว่า

“มันจะมีกลุ่มๆ หนึ่งในเฟซบุ๊ก เป็นกลุ่มที่เค้าใช้ขายของ หาห้องเช่า ตอนที่เราเพิ่งมายังไม่มีงานหรือรายได้ เราก็เอาที่พออยู่ได้ไปก่อน แต่ตอนที่ไปดูห้องมันไม่ค่อยมีคนอยู่บ้าน เราก็ไม่รู้ว่าสภาพจริงๆมีคนอยู่กี่คน”

ส่วน “ฟ้า” (นามแฝง) ก็เป็นนักเรียนอีกคนหนึ่งที่ใช้โซเชียลมีเดียในการหาห้องเช่า โดยที่มีการจองล่วงหน้ามาจากเมืองไทย โดยที่ยังไม่เห็นสภาพที่อยู่อาศัยจริง

“มีการหาห้องเช่าล่วงหน้าก่อนที่จะมาถึง ก็ดูจากในเว็บไซต์ของคนไทยในแต่ละเมือง เขาจะมีเว็บที่ประกาศหาคน หาบ้าน หาห้องเช่า ก็ลองหาแล้วติดต่อดู เราต้องติดต่อผ่านไลน์ แล้วเขาจะส่งรูปเบื้องต้นให้ ก่อนเข้าพักต้องจ่ายมัดจำล่วงหน้า” ฟ้าอธิบาย  

rental advertising for Thai international student
ตัวอย่างการโฆษณาห้องเช่าที่ปรากฏในโซเซียลมีเดีย Source: SBS Thai

ฉากหน้าสวยหรูแต่ข้างในแออัดยิ่งกว่าปลากระป๋อง

เด็กนักเรียนไทยส่วนใหญ่จะมองหาห้องเช่าในเขตซีบีดี เนื่องมาจากความสะดวกสบายและใกล้กับสถานศึกษาและที่ทำงาน แต่เมื่อไปเห็นสภาพจริงว่าในห้องเล็กๆ แต่มีคนอยู่หลายคนก็ต้องรับสภาพ เพราะเรื่องค่าใช้จ่าย และคิดว่าอยู่ไปก่อนแล้วค่อยขยับขยาย แต่สภาพแออัดยิ่งกว่าปลากระป๋องที่นักเรียนเหล่านี้ต้องใช้ชีวิตอยู่ บ่อยครั้งก็ทำให้เกิดปัญหา “ฟ้า” บรรยายถึงสภาพในห้องว่า

“ตอนอยู่เมืองไทยเราก็อยู่ห้องเช่า อยู่คอนโด ปกติมันก็ไม่ได้แออัดขนาดนี้ ไม่คิดว่าจะอยู่กันอย่างแออัดมากขนาดนี้ ห้องที่เค้าซอยห้องนั่งเล่นให้อยู่มันแน่นมาก เตียงเดี่ยวหนึ่งหลัง นอนสองคน มันอึดอัดค่ะ ห้องมันเล็กนิดเดียว”
small room in the apartment
ห้องเช่าในเมืองใหญ่คับแคบจนแทบไม่มีที่วางของใช้จำเป็น Source: Supplied
การแบ่งห้องนั่งเล่นให้เป็นห้องสำหรับอยู่อาศัยแบบนี้  โดยมากจะใช้ฉากพลาสติก หรือชั้นวางของกั้นให้เป็นห้องย่อยๆ ซึ่งมีความกว้างประมาณหนึ่งเมตรครึ่ง โดยมีการปูฟูกไว้บนพื้น และอาจะมีชั้นวางของเล็กๆเพื่อวางสัมภาระต่างๆ

“ฟ้า” ยังได้เล่าถึงปัญหาของการมีคนอยู่หลายคนในพื้นที่จำกัดว่าทำให้เกิดความไม่สะดวกสบายต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่นการใช้ห้องน้ำและการทำอาหาร เธอเล่าว่า

“ห้องพักมีสองห้องนอน หนึ่งห้องน้ำ ตอนนั้นอยู่กันแออัดมาก อยู่สิบเอ็ดคน อยู่รวมทั้งหญิงชาย มันจะมีปัญหาเรื่องการใช้ห้องน้ำเป็นหลัก จะมีการตกลงกันว่าใครจะใช้ห้องน้ำกี่โมงจะออกไปตอนไหน เพื่อจะไม่ได้ใช้ห้องน้ำตรงกัน แต่ว่าอยู่กันสิบเอ็ดคน มันค่อนข้างยาก แล้วคนต่างคนต่างที่มา แล้วมันก็สกปรก  ห้องครัวก็ไม่สามารถทำอาหารกลิ่นแรงๆได้ ทำได้แค่พวกต้ม นึ่ง เพราะมีคนที่นอนอยู่ข้างนอก ในห้องนั่งเล่น  กลิ่นจะติดที่นอน กับเสื้อผ้า มันจะรบกวนคนอื่นเขา” 
renting accommodation in Australia's big cities
ภาพตัวอย่างจากการโฆษณาห้องเช่าตามเมืองใหญ่ในออสเตรเลีย Source: Supplied

เชื่อใจกับสัญญาปากเปล่า

นอกจากจะหาห้องเช่าผ่านโซเชียลมีเดียแล้ว  นักเรียนไทยส่วนมากยังไม่รู้ว่าผู้ทำสัญญาหลักในการเช่าห้อง (Head tenant) คือใคร ไม่รู้ชื่อ นามสกุลจริง หรือที่อยู่ ของพวกเขา เพราะการทำสัญญาและจ่ายเงินค่าเช่าล่วงหน้า ค่ามัดจำ และการติดต่อสื่อสารต่างๆ ก็กระทำผ่านทางแอปพลิเคชันทั้งหมด ดังนั้นจะไม่มีสัญญาเช่าที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือเอกสารสัญญาที่ถูกต้องตามกฎหมาย

“ฟ้า” เล่าประสบการณ์ของเธอเองว่า

“ก่อนที่จะมาออสเตรเลีย เขาก็มีการเก็บค่ามัดจำสี่อาทิตย์ล่วงหน้า ตั้งแต่ยังอยู่ที่เมืองไทย และมีการทำสัญญาเช่า แต่สัญญาเช่าในที่นี้ไม่ได้มีการเซ็นเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็ต้องมีค่ามัดจำอย่างน้อยจำนวนหนึ่งไม่อย่างนั้นเขาจะปล่อยห้องให้คนอื่น”

ส่วนในกรณีเช่าบ้านก็มีวิธีการคล้ายกันดังเช่น  “พี” นักเรียนที่ใช้นามแฝงอีกคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในนครเมลเบิร์น เปิดเผยว่า

“เรามีการคุยกัน (ผ่านทางข้อความ) ว่าเดี๋ยวมาดูห้องก่อนแล้วค่อยตกลงกัน ส่วนตัวสัญญาโดยทั่วไปที่นี่เค้าไม่มีสัญญาที่เขียนเป็นกระดาษหรือว่ามีลายเซ็นชัดเจน แต่ที่นี่จะใช้สัญญาปากเปล่า”

เกิดปัญหาไม่สามารถเรียกร้องสิทธิได้: กรณีเงินบอนด์ (Bond)

เงินบอนด์ (Bond) หรือ เงินค่ามัดจำในการประกันการเช่าห้องพักหรือที่อยู่อาศัย ในกรณีที่คุณทำให้เกิดความเสียหายแก่ที่พักอาศัย เงินจำนวนนี้จะถูกเก็บไว้ที่สำนักงานความยุติธรรมเพื่อการเช่าที่อยู่อาศัย (The Residential Tenancies Bond Authority) และจะคืนให้ผู้เช่าเมื่อสิ้นสุดสัญญาการเช่า แต่เจ้าของบ้านสามารถหักเงินมัดจำนี้ได้หากพบว่าเกิดความเสียหายแก่ที่พักอาศัย หรือผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่าเป็นต้น แต่มีหลายกรณีที่นักเรียนไทยได้รับความไม่เป็นธรรมในการคืนเงินมัดจำเมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า แต่เพราะพวกเขาไม่มีสัญญาการเช่าที่เป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เป็นธรรมนักเรียนเหล่านี้ก็ไม่สามารถเรียกร้องกับใครได้

ดังเช่นกรณีของ พี ที่ถูกยึดค่าบอนด์ไปทั้งหมดแถมยังต้องจ่ายค่าทำความสะอาดย้อนหลังจนไม่มีเงินติดตัว เธอเล่าว่า

“เขาบอกว่าเอเจนซีจะมาตรวจบ้าน ให้เก็บของให้เรียบร้อย แต่เอเจนซีรู้ว่าบ้านนี้มีคนอยู่เกิน เขาเลยจะไม่ให้เงินบอนด์คืน พี่ที่เป็นผู้เช่าหลักเลยโทษว่าเราเก็บของไม่เรียบร้อย  หนูเลยไม่ได้เงินค่าบอนด์คืน แถมเขายังบอกว่าจะเก็บเงินค่าทำความสะอาดเพิ่ม หนูไม่มีเงินติดตัวเลย หาที่อยู่ใหม่ก็ไม่ได้ ตอนนี้ต้องมาอยู่กับพี่ที่รู้จักแทน”  พี เปิดเผยประสบการณ์ของเธอ
empty wallet
นักเรียนไทยบางรายโดนยึดเงินค่าบอนด์จากเจ้าของสัญญาเช่าอย่างไม่เป็นธรรม Source: Pixabay

การขาดความรู้เรื่องสิทธิของผู้เช่า

การขาดความรู้เรื่องสิทธิของผู้เช่าก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้นักเรียนไทย มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้เช่าหลัก (Head Tenant) หรือเจ้าของบ้าน (Landlord)  เมื่อเกิดความขัดแย้ง ทำให้บางครั้งนักเรียนไทยก็ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ถูกรังความข่มขู่  ซึ่งสร้างความไม่สบายใจและหวาดกลัวต่อความปลอดภัยของตนเอง

ในกรณีของฟ้าเมื่อเธอไม่ยอมทำตามเงื่อนไขของคนที่มาเช่าห้องต่อจากเธอ เธอก็โดนข่มขู่

“เราก็เลยสารภาพความจริงกับเอเจนซี่ ว่าเราให้คนเอาไปห้องไปโดยไม่มีการเปลี่ยนสัญญา เอเจนซี่เลยเปลี่ยนกุญแจทั้งหมด เพื่อป้องกันเหตุที่จะเกิดกับคนอื่น แต่หลังจากนั้นเขามีการส่งข้อความมาข่มขู่ ว่าถ้าพูดกันดีๆ ไม่รู้เรื่องเขาจะส่งคนของเขามาดำเนินการกับเรา เขาพูดว่าเขารู้จักนักกฎหมาย คืออ้างสิทธิ์ว่าเค้าเป็นคนที่นี่”  ฟ้าเปิดเผย

หรือในกรณีของพีที่เปิดเผยว่า

“ไม่รู้จะหาความช่วยเหลือจากที่ไหน ไม่รู้เรื่องกฎหมาย ไม่รู้อะไรเลย เราก็ต้องยอมให้เขายึดค่าบอนด์ไป”  

เรื่องที่ควรต้องรู้ก่อนที่จะหาห้องเช่าในออสเตรเลีย

คุณ ฌอน สติมสัน หัวหน้าทนายความของศูนย์ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายของ Redfern Legal Centre Service ในนครซิดนีย์ได้อธิบายถึงข้อกฎหมายที่สำคัญในการเช่าห้องพักในนิวเซาท์เวลส์ว่า

"โดยทั่วไปในห้องพักขนาดหนึ่งห้องนอน จะสามารถมีผู้อยู่อาศัยได้สองคน และจะมีข้อตกลงในสัญญาจะต้องระบุไว้"

ส่วนการแบ่งห้องให้เช่าแก่นักเรียนนั้น คุณ ฌอน สติมสัน ชี้ว่าทำได้แต่ผู้เช่าหลัก (Head Tenant) จะต้องมีเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งให้เจ้าของบ้าน (Landlord) รับรู้ ไม่ใช่นั้นจะกระทำการแบ่งห้องให้คนอื่นๆ (Subtenants) เช่าอีกไม่ได้ คุณ สติมสัน ยกตัวอย่างว่า

“ตัวอย่างเช่นกรณีที่ผู้เช่าหลักได้ทำสัญญาเช่าห้องพักขนาดสามห้องนอนในชื่อของตนเองเพียงผู้เดียวเขาต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของบ้านก่อนถ้าเขาจะให้คนอื่นเข้ามาอยู่ในห้องพักนี้ แต่ถ้าเขาไม่ได้แจ้งเจ้าของบ้าน มันจะเกิดปัญหาตามมากับผู้เช่ารายย่อย (Subtenants) เพราะพวกเขาจะไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย อีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าเจ้าของบ้านรู้เขาสามารถที่จะให้ผู้เช่ารายย่อยเหล่านี้ออกไปจากที่พักได้อย่างง่ายดาย และมันเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก”

ส่วนเรื่องค่ามัดจำ หรือ เงิน Bond ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาหลักของนักเรียนหลายๆคน  ในกรณีที่ผู้เช่าหลักไม่คืนเงินมัดจำหรือคืนเงินไม่เต็มจำนวน โดยไม่สมเหตุสมผล เรื่องนี้ คุณ ฌอน สติมสัน อธิบายถึงสาเหตุการเก็บเงินมัดจำและเพราะอะไรที่เราอาจไม่ได้รับเงินคืนเต็มจำนวน เขากล่าวว่า

“เงินมัดจำ หรือ เงิน Bond เป็นจำนวนเงินที่ผู้เช่าต้องจ่ายให้เจ้าของบ้านเพื่อเป็นหลักประกันว่าถ้าคุณสร้างความเสียหายแก่ที่พักอาศัย นอกเหนือจากการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติแล้ว เจ้าของบ้านก็มีสิทธิที่จะใช้เงินมัดจำเพื่อซ่อมแซมสิ่งที่เสียหายหรือแตกหัก” คุณ ฌอน สติมสัน กล่าว
Sean Stimson- head solicitor at Redfern Legal Centre Service
คุณ ฌอน สติมสัน หัวหน้าทนายความศูนย์ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย Redfern Legal Centre Source: Supplied
อย่างไรก็ตาม คุณ ฌอน สติมสัน ย้ำว่าหากผู้เช่าคิดว่าการหักเงินมัดจำเป็นไปอย่างไม่ยุติธรรม ผู้เช่าก็สามารถเรียกร้องสิทธิของตนเองได้ ผ่านทางศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมาย เขาอธิบายว่า

“หากเจ้าบ้านปฏิเสธที่จะคืนค่ามัดจำให้คุณ และคุณคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม คุณสามารถไปยื่นเรื่องได้ที่ NCAT หรือ สำนักงานตุลาการเพื่อพลเมืองและหน่วยงานบริหารแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ (The New South Wales Civil and Administrative Tribunal) หรือเขียนจดหมายไปยังเจ้าของบ้าน ระบุว่าให้คืนเงินมัดจำ พร้อมอธิบายเหตุผล ถ้าเขาไม่ตอบกลับในเวลาที่กำหนด คุณก็สามารถขอคำแนะนำจากศูนย์ให้คำปรึกษากฎหมาย ที่ให้บริการแก่นักเรียนต่างชาติหรือ ผู้ที่เดือดร้อนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย”

คุณ ฌอน สติมสัน แนะนำว่า มีสิ่งที่คุณต้องตระหนักและต้องทำก่อนที่คุณจะทำการเช่าห้องพัก ในกรณีที่เกิดความไม่เป็นธรรมต่างๆ  คุณสามารถเรียกร้องสิทธิและยื่นเรื่องพิจารณาขอความเป็นธรรมผ่านองค์กรที่ดูแลเรื่องนี้  เขาเปิดเผยว่า

“เรื่องสำคัญต่างๆ ที่คุณต้องตระหนักก่อนที่จะเช่าห้องพัก คือ หนึ่ง คุณต้องมีสัญญาการเช่าที่เป็นลายลักษณ์อักษร สอง คุณต้องรู้ชื่อของเจ้าบ้าน หรือผู้เช่าหลักที่คุณทำสัญญาเช่าด้วย สาม คุณต้องเก็บใบเสร็จรับเงินค่ามัดจำเอาไว้ ถ้าไม่มีหลักฐานเหล่านี้ มันจะเป็นเรื่องที่ยากมากถ้าจะยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมต่างๆ กับ NCAT ได้ ” คุณ ฌอน สติมสัน อธิบาย
The New South Wales Civil and Administrative Tribunal
หากคุณได้รับการปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรมในเรื่องการเช่าที่พักอาศัยในรัฐนิวเซาท์เวลส์ คุณสามารถไปยื่นเรื่องได้ที่ NCAT Source: ncat.nsw.gov.au
คุณ ฌอน สติมสัน ยังกล่าวย้ำว่า นักเรียนต่างชาตินั้นได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายของรัฐนิวเซาท์เวลส์และประเทศออสเตรเลียเช่นเดียวกับพลเมืองออสเตรเลียทั่วไปเช่นกัน ดังนั้นนักเรียนต่างชาติไม่ควรยอมถูกเอารัดเอาเปรียบในการเช่าที่พัก หรือในที่ทำงาน  เขากล่าวว่า

“มันเป็นเรื่องที่เราพยายามจะประชาสัมพันธ์กับชุมชนของนักเรียนต่างชาติว่าพวกเขาได้รับการคุ้มครองสิทธิภายใต้กฎหมายของรัฐนิวเซาท์เวลส์และกฎหมายของออสเตรเลีย ดังนั้นคุณไม่ควรถูกเอาเปรียบในการเช่าที่พักอาศัย หรือถูกเอาเปรียบในที่ทำงาน เพราะว่าคุณได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เช่นเดียวกับพลเมืองออสเตรเลียโดยทั่วไป” คุณ ฌอน สติมสัน พูดทิ้งท้าย

หากคุณได้รับประสบการณ์ที่ไม่เป็นธรรมในการเช่าที่พักอาศัย คุณสามารถติดต่อศูนย์บริการกฎหมายในรัฐต่างๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
  • หากคุณอาศัยในรัฐนิวเซาท์เวลส์ คุณสามารถติดต่อ Tenants’ Advice and Advocacy Service ที่ หรือ ติดต่อศูนย์บริการกฎหมาย Redfern Legal Centre Service 03 9698 7645และท่านสามารถใช้บริการล่ามโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 131 450
  • หากคุณอาศัยในรัฐวิกตอเรีย คุณสามารถติดต่อ Consumer Affairs Victoria (องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคแห่งรัฐวิคตอเรีย) ที่   หรือโทรศัพท์ไปที่ helpline 1300 55 81 81  ถ้าคุณต้องการใช้บริการล่ามสามารถติดต่อได้ที่ 131450 เพื่อติดต่อล่ามภาษาไทย และหลังจากนั้นให้ล่ามของคุณโทรไปที่หมายเลข 1300 55 81 81
  • หากคุณอาศัยในรัฐควีนสแลนด์ คุณสามารถติดต่อ Queensland Statewide Tenant Advice and Referral Service ที่
  • หากคุณอาศัยในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย คุณสามารถติดต่อ Tenants' Information Advisory Service ที่
  • หากคุณอาศัยในรัฐนอร์เทิร์น เทร์ริทอรี คุณสามารถติดต่อ Tenants' Avice Service Darwin ที่
  • หากคุณอาศัยในรัฐแคปปิตอล เทร์ริทอรี คุณสามารถติดต่อ Tenants' Union ACT INC ที่
  • หากคุณอาศัยในรัฐแทสมาเนีย คุณสามารถติดต่อ Tenants' Union of Tasmania ที่
  • หากคุณอาศัยในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย คุณสามารถติดต่อ TenancyWA Community Legal Centre for Tenants  ที่

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสัมภาษณ์ประสบการณ์นักเรียนไทยเกี่ยวกับปัญหาเรื่องที่พักอาศัยในออสเตรเลีย หากคุณต้องการฟังสัมภาษณ์อย่างละเอียด กดปุ่ม 🔊 เพื่อฟังสัมภาษณ์นี้

LISTEN TO
Thai students rental accommodation traps and pitfalls image

แออัดยิ่งกว่าปลากระป๋อง: ปัญหาห้องเช่านักเรียนไทยในออสเตรเลีย

SBS Thai

07/10/201926:39
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand