ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการรักษาโรคโควิด-19

Garlic, Bastide d'Armagnac, France

마늘은 조리법에 따라 특정 영양소 함량이 달라져 효능에도 차이가 있다. Source: Getty Images Europe

พบวิธีบำบัดซึ่งร่ำลือว่าสามารถรักษาโรคโควิด-19 กำลังแพร่กระจายภายในชุมชนซึ่งไม่พูดภาษาอังกฤษในออสเตรเลีย เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพเตือนรักษาตัวเองแบบเดาสุ่มมีอันตรายแอบแฝง


กดปุ่ม 🔊ที่ภาพด้านบนเพื่อฟังรายงาน

น้ำเกลือ กระเทียม วิตามิน หรือแม้กระทั่งเหล้าวิสกี เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อต่าง ๆ ที่แพร่กระจายอยู่ในขณะนี้ ขณะที่ผู้คนกำลังค้นหาคำตอบเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา

การสำรวจชุมชนซึ่งไม่พูดภาษาอังกฤษโดยเอสบีเอสเมื่อไม่นานมานี้พบว่า วิธีการที่อ้างกันว่ารักษาโรคได้ทุกชนิด รวมถึงไวรัสโควิด-19 นั้น แพร่กระจายไปเป็นอย่างมาก และไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนใด ๆ ขณะที่บางวิธีการก็ดูไม่เข้าท่า

คุณพรีทินเดอร์ สิงห์ ผู้ดำเนินรายการวิทยุเอสบีเอส ภาคภาษาปัญจาบ บอกเล่าส่วนหนึ่งวิธีการรักษาที่ร่ำลือกันในชุมชนผู้ใช้ภาษาปัญจาบ

“มีคนเชื่อว่า หากคุณสับหัวหอมเป็นชิ้นๆ แล้วก็เอาบางส่วนใส่ไว้ในกระเป๋าของคุณ ก็จะทำให้เชื้อไวรัสไม่สามารถแตะต้องตัวคุณได้ มีข้อความนั้นส่งเข้ามาในระหว่างที่ผมกำลังออกอากาศ และนำเสนอรายการภาคภาษาปัญจาบ และผมก็ตอบเขากลับไปว่า มันจะช่วยได้นะถ้าหากว่าทำการทิ้งระยะห่างทางสังคม” คุณพรีทินเดอร์เล่า  

การขาดแคลนข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ในภาษาของตนเองนั้นเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และนั่นหมายถึงการที่ผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา จะไม่ป้องกันตัว หรือรับคำปรึกษาทางการแพทย์ตามที่ควรจะทำ

“มีเครื่องเทศพิเศษของอินเดียบางอย่างเช่นขิง กระเทียม มะนาว น้ำผึ้ง และอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติต่อต้านการอักเสบหรือต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นการรักษาแผนธรรมชาติ การบำบัดด้วยสมุนไพร และอายุรเวทแผนโบราณจึงคงยังใช้กันอยู่” คุณพรีทินเดอร์อธิบาย

ไม่ใช่แค่ชุมชนปัญจาบเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อของข้อมูลซึ่งไม่ถูกต้อง ในชุมชนชาวทมิฬ ก็มีบางส่วนที่ใช้ยารักษาโรคแผนพื้นบ้าน ที่สามารถซื้อได้จากร้านขายของชำอินเดีย เพื่อป้องกันโควิด-19

ขณะที่ในชุมชน Pashto ผู้คนบางส่วนเชื่อว่า หากเป็นชาวมุสลิมผู้เคร่งศาสนา ก็จะไม่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าว ซึ่งเป็นข่าวลื่อในทำนองเดียวกัน กับชุมชนชาวคริสต์และผู้เคร่งศาสนาอื่น ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน

ส่วนในชุมชนเกาหลีบางแห่ง มีความเชื่อที่บอกต่อกันไปว่า การแช่อ่างอาบน้ำ กระเทียม และวิตามินดี จะช่วยป้องกันเชื้อไวรัสได้

เซดริก ยิน-เชน (Cedric Yin-Cheng) ผู้ก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรสีรุ้งเพื่อนชาวจีนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (ANTRA) กล่าวว่า เริ่มมีข่าวลือในหมู่ชาว LGBTIQ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งพูดภาษาจีนกลางในออสเตรเลียในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางสื่อที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ว่าการใช้ยาป้องกันการติดเชื้อ HIV (PrEP) สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาเข้าสู่ร่างกายได้

“ผมได้ยินจากเพื่อนหลายๆ คนเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีสมาชิกจำนวนมากที่พูดคุยเรื่องนี้ทาง WeChat และ Facebook มีคนกล่าวถึงและผมก็ได้พบกับเพื่อนซึ่งกำลังใช้ยานี้อยู่ แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ HIV โดยคิดไปว่าจะสามารถป้องกันไวรัสโคโรนาได้” เซดริก ยิน-เชน เล่า

คุณเซดริกยังกล่าวว่า จำเป็นจะต้องมีการเพิ่มทรัพยากรเพื่อพยายามให้แน่ใจว่าชาวออสเตรเลียซึ่งไม่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่นั้นเข้าใจความแตกต่างระหว่างเรื่องจริงและเรื่องที่แต่งขึ้น

“ดังนั้น ผมก็คิดว่ามันสำคัญที่องค์กรด้านสุขภาพต่าง ๆ และรัฐบาลควรตระหนักว่า มีข่าวลืออยู่ทั่วไปภายนอก และพวกเขาก็จำเป็นจะต้องพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ เช่น ACON กับแพทย์ทั่วไป และกับ ANTRA เพื่อที่เราจะได้สามารถสื่อสารโดยใช้ภาษาแม่ให้ผู้คนเข้าใจได้อย่างชัดเจน” คุณเซดริกกล่าว

ด้าน นายแพทย์แฮร์รี เนสโปลอน (Harry Nespolon) ประธานราชวิทยาลัยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมทั่วไป (The Royal Australian College of General Practitioners) กล่าวว่า มาตรการป้องกันไวรัสโคโรนาในปัจจุบัน แม้จะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่กลับไม่เป็นที่พึ่งพอใจกับคนบางกลุ่ม

ผมคิดว่าปัญหาก็คือผู้คนกำลังหาวิธีการรักษา และในตอนนี้เราก็ทราบว่ายังไม่มีวิธีการที่จะรักษาได้ และสิ่งเดียวที่เราทราบว่าได้ผลนั่นก็คือการทิ้งระยะห่างทางสังคม การแยกตัวผู้คนให้ห่างการติดเชื้อไวรัส ทว่านั่นก็ไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ดีมากเท่าไรนัก สำหรับผู้คนที่ต้องการจะให้มียาเม็ดที่ได้ผลชะงัด นายแพทย์แฮร์รี เนสโปลอนอธิบาย

เขายังกล่าวอีกว่า ผู้หันเข้าหาการรักษาแบบพื้นบ้าน มีความเสี่ยงที่จะไม่ติดตามอาการของไวรัสโคโรนาอย่างถูกต้องกับแพทย์ทั่วไป ซึ่งจะทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจาย และเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ ทั้งของบุคคลผู้นั้นและต่อผู้อื่น

นอกจากนี้ นายแพทย์เนสโปลอนยังเตือนว่า ไม่ควรไปเสาะหายาที่ไม่ได้รับการรับรองในตลาดมืด โดยกว่าร้อยละ 20-30 ของผลิตภัณฑ์ที่ขายอยู่บนตลาดมืดนั้นเป็นของปลอม

“ดังนั้น หากว่าผู้คนจะใช้ยาโดยมีเหตุผลที่เหมาะสม ก็ไม่ควรจะไปเสาะหามาจากสถานที่แบบนั้น และประการที่สอง หากว่าคุณกำลังมองหายา Hydroxychloroquine การค้นคว้าในขณะนี้แสดงให้เห็นว่ามันไม่ได้ดีอย่างที่หลายๆ คนกล่าวอ้าง และตามความเป็นจริงก็ไม่มีการวิจัยใด ๆ เลยที่แสดงว่ามียาตัวใดจะได้ผลอย่างแตกต่าง นายแพทย์เนสโปลอนชี้แจง

อย่างไรก็ตาม ผู้คนควรจะรับคำปรึกษาทางการแพทย์ หากมีความวิตกกังวลว่ามีอาการของไวรัสโควิด-19 โดยโทรศัพท์ไปล่วงหน้าให้แน่ใจเสียก่อน แล้วค่อยเดินทางไปพบแพทย์ หรือไปโรงพยาบาล และหากมีหน้ากาก ก็ควรสวมใส่ไปด้วย

ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร ให้ตรวจสอบข้อจำกัดในรัฐของคุณเกี่ยวกับการรวมกลุ่มกัน

การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้สามารถทำได้ทั่วออสเตรเลีย หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียยังได้มีแอปพลิเคชัน COVIDSafe เพื่อติดตามและแจ้งเตือนผู้ที่พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากแอปสโตร์ (app store) สำหรับโทรศัพท์มือถือของคุณ

เอสบีเอสมุ่งมั่นให้ข้อมูลข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อโควิด-19 แก่ชุมชนหลากหลายภาษาในออสเตรเลีย เรามีข่าวและข้อมูลเป็นภาษาต่างๆ 63 ภาษาที่เว็บไซต์ 

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand