VIVA: จะใกล้ชิดกับลูกหลานทางออนไลน์ได้อย่างไร

Teaching grandma using computer

Source: Getty Images/PhotoTalk

ปู่ย่าตายายนั้น มีบทบาทสำคัญในครอบครัวชาวออสเตรเลีย แต่เมื่อรัฐบาลได้ขอให้ผู้สูงอายุอาศัยอยู่แต่ในบ้าน ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา การแยกห่างทางสังคม ได้เปลี่ยนแปลงบทบาทและความใกล้ชิดของพวกเขาต่อสมาชิกในครอบครัวไปในหลายด้าน


กดปุ่ม 🔊ที่ภาพด้านบนเพื่อฟังรายงาน

ก่อนที่วิกฤตไวรัสโควิด-19 จะมาถึง ผู้สูงวัยชาวออสเตรเลียจำนวนมาก เริ่มหันมาเรียนรู้ทักษะการใช้งานอินเทอร์เน็ต รวมถึงวิธีการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อการสื่อสาร

การวิจัยโดยศูนย์วิจัยผลกระทบทางสังคม (Centre for Social Impact) พบว่า 1 ใน 3 ของผู้มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป มีความตระหนักรู้ทางดิจิทัลในระดับต่ำ และไม่ได้ใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลหรืออินเทอร์เน็ต โดยแนวโน้มดังกล่าวนั้นลดต่ำลงมา ในกรณีของผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปี ซึ่งพบว่าไม่มีการปฏิสัมพันธ์ทางดิจิทัลในกลุ่มอายุนี้มากถึง 3 ใน 4

คุณเอลิซาเบธ ชอว (Elizabeth Shaw) นักจิตวิทยามากประสบการณ์ จากหน่วยงานความสัมพันธ์ออสเตรเลียในรัฐนิวเซาท์เวลส์ (Relationship Australia NSW) กล่าวว่า ความต้องการในการติดต่อกับลูกหลานในพื้นที่ดิจิทัล ซึ่งผู้สูงอายุหลายคนไม่คุ้นเคย ได้สร้างความวิตกกังวลและความโดดเดียวกับพวกเขาเป็นอย่างมาก

“บรรดาปู่ย่าตายายพบว่า มันยากลำบากมาก พวกเขารู้สึกแปลกแยกและสับสนอย่างมาก เนื่องจากไม่ได้พบกับลูกหลานในช่วงนี้ และถึงแม้จะมีบางส่วนที่เปลี่ยนมาสานสัมพันธ์ทางออนไลน์อย่างง่ายได้ เนื่องจากมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี แต่ก็ยังมีบุคลอื่น ๆ ที่พบว่าการเปลี่ยนผ่านสู่สายสัมพันธ์ทางออนไลน์นั้นเป็นเรื่องยากมาก ดังนั้น ช่องทางที่เราใช้สื่อสารกันอาจไม่มีความเท่าเทียมกับพวกเขา” คุณเอลิซาเบธ ชอว กล่าว

เธอยังกล่าวอีกว่า การขาดความใกล้ชิดทางกาย เป็นเรื่องยากมากสำหรับปู่ย่าตายายหลายคนที่ต้องการดูแลลูกหลาน มีสายโทรศัพท์เข้ามาที่หน่วยงานเป็นจำนวนมากจากผู้สูงอายุที่โดดเดี่ยว แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ติดต่อกับลูกหลานผ่านทางวิดีโอคอล

“ไม่ว่าจะเป็น Skype หรือการมาพบกันจริง ๆ เป็นประจำ อย่ารอเพียงโอกาสที่จะได้พูดคุย หรือรอว่าใครจะว่าง แต่ต้องลองมีการจัดเวลาให้เป็นระบบ” คุณชอวกล่าว

คุณเอฟฟิ แอตกินส์ (Effie Atkins) คุณยายเชื้อสายกรีกในนครเมลเบิร์น ยังคงอยู่ใกล้ชิดกับหลาน ๆ ของเธอ ขณะที่ยังคงยึดหลักปฏิบัติตามมาตรการทิ้งระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนาลงให้น้อยที่สุด เนื่องจากเธอป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด

แม้เธอจะอยู่ห่างไกลจากหลาน ๆ แต่เธอก็ยังสามารถสานสัมพันธ์ร่วมกับพวกเขาผ่านทางวิดีโอคอล

“เราทำสวนกันทางไกล เด็ก ๆ ก็จะถามฉันว่า ยาย่า วันนี้เราจะปลูกอะไรกันดี แล้วฉันก็บอกให้พวกเขาทำสิ่งต่าง ๆ เมื่อปลูกต้นไม้ พอพวกเขาปลูกเสร็จแล้วก็จะถ่ายรูปส่งมาให้ หรือโทรวิดีโอผ่านซูมให้ฉันเห็นว่าพวกเขาทำอะไรกันวันนี้” คุณเอฟฟี แอตกินส์ เล่า

นอกจากนี้ คุณแอตกินส์ ยังแสดงความกังวลว่า ปูย่าตายายเชื้อสายกรีกคนอื่น ๆ อาจรู้สึกโดดเดี่ยวเมื่อต้องอยู่แต่ในบ้าน เนื่องจากพวกเขามีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับบรรดาลูกหลานในครอบครัวมาก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถใช้งานโทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่แอปพลิเคชันอย่าง Zoom หรือ FaceTime ได้ 

เธอเล่าว่า สิ่งที่ลูก ๆ สามารถทำได้ คือการขับรถพาหลาน ๆ มาโบกมือทักทายปู่ย่าตายายที่บ้านในระยะปลอดภัย แม้จะไม่สามารถอยู่ใกล้กันได้ แต่พวกเขาก็ยังได้เห็นว่า ปู่ย่าตายายยังคงอยู่กับพวกเขา ไม่ใช่เพียงแค่โทรหาได้อย่างเดียว

คุณเอลิซาเบธ ชอว กล่าวว่า หลายครอบครัวอย่างคุณแอตกินส์ กำลังสร้างสรรค์วิธีใหม่ในการสานสัมพันธ์ให้ใกล้กัน โดยไม่ฝ่าฝืนมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา

“บางครอบครัวมีลูกหลานมาเยี่ยมปู่ย่าตายายที่บ้านพวกเขาก็จะยืนคุยกันในสวน หรือไม่ก็ยืนคุยกันตรงประตูหลังบ้าน หรืออะไรทำนองนั้น เพื่ออย่างน้อยก็ได้เห็นและโบกมือทักทายกัน บางครอบครัวก็มีปิคนิคในสวน บางที่ปู่ย่าตายายก็อยู่ที่บ้าน แต่ก็จะใช้วิธีคุยออกมาจากในบ้าน” คุณชอวกล่าว

ดร.โจแอน ออร์แลนโด (Dr Joanne Orlando) ผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัวและดิจิทัลไลฟ์สไตล์ กล่าวว่า การใช้งานแอปพลิเคชันสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียอย่าง Zoom, Skype และ FaceTime กับลูกหลาน สามารถทำให้เกิดการมีส่วนร่วมมากกว่าการคุยกันผ่านตัวอักษร

“ดิฉันเคยเห็นบางครอบครัวที่ปู่ย่าตายายสอนทำกับข้าวแบบง่าย ๆ ให้หลาน ๆ แล้วพวกเขาก็ทำกับข้าวด้วยกัน จากนั้นก็นั่งคุยกันและกินอาหารที่ทำเสร็จ มันเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ และมันก็อาจจะเป็นกิจกรรมอื่นใดก็ได้ ที่เป็นมากกว่าการส่งข้อความหากัน เช่น การเปิดเพลงฟัง หรือการเต้นด้วยกัน หรือกิจกรรมอะไรก็ได้ที่เคยทำด้วยกันมาก่อน ซึ่งสามารถทำได้ผ่านแอปพลิเคชัน Zoom คุณออร์แลนโด กล่าว

คุณทามารา คิดด์ (Tamara Kidd) ที่ปรึกษาด้านการศึกษา แนะนำว่า การจัดกิจกรรมในลักษณะการเป็นนักเรียนให้ลูกหลานสอน ก็เป็นอีกทางหนึ่งในการสานสัมพันธ์ทางดิจิทัลให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เธอเชื่อว่าเด็ก ๆ จะยังไม่รู้สึกมั่นใจในสิ่งที่เรียนมา จนกว่าพวกเขาจะได้สอนสิ่งเหล่านั้นกับใครสักคน

คุณคิดด์ แนะนำว่า การให้พวกเขาสอนคุณ ไม่ว่าจะเป็นภาษา คณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ จะเป็นการส่งเสริมการเรียนของลูกหลานให้ลึกซึ้งมากขึ้น การสลับบทบาทให้พวกเขาเป็นครูนั้น เป็นโอกาสที่ดีในการทำให้ลูกหลานรู้สึกสนุกสนาน และแบ่งเบาภาระปู่ย่าตายายในการต้องออกแบบกิจกรรมหรือบทเรียนสนุก ๆ อยู่ตลอดเวลา

คุณโมนา เปเรซ (Mona Perez) คุณแม่ลูกสองในนครบริสเบน กำลังกังวลว่าลูกสาวของเธอ อาจเรียนตามไม่ทันเพื่อนในชั้นเรียนภาษาจีน เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เธอจึงให้แม่ของเธอ ซึ่งมีเชื้อสายไต้หวัน ช่วยสอนลูกสาวของเธอผ่านทางแอปพลิเคชัน Zoom

“สิ่งนี้แตกต่างจากการเรียนในโรงเรียน ฉันขอให้พวกเขาพูดภาษาจีนกลางในชั้นเรียน และสอนคำต่าง ๆ ให้กับเธอ แม่ของฉันจะสอนวิธีเขียนตัวอักษร และเขียนให้ดูบนหน้าจอ มันอาจไม่เป็นเรื่องเป็นราวนัก แต่เธอก็ได้เรียนรู้” คุณเปเรซกล่าว

คุณไบรอัน คอร์เนอร์ เป็นอดีตประธานและผู้ให้คำแนะนำกับองค์กรอาสาสมัคร Brisbane Seniors Online ซึ่งให้การฝึกสอนทักษะคอมพิวเตอร์ให้กับผู้สูงวัยในพื้นที่ Great Brisbane เขาเตือนผู้สูงวัยที่เพิ่งเริ่มใช้คอมพิวเตอร์ ให้ระมัดระวังการแบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคลที่มากจนเกินไป เพื่อป้องกันการขโมยตัวตนบนโลกออนไลน์

"ผมจะไม่แนะนำให้ใครก็ตาม ใส่ชื่อและนามสกุลจริง รวมถึงวันเดือนปีเกิด ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ใส่แต่วันและเดือนเท่านั้น แล้วทิ้งมันไว้แบบนั้น อย่าให้ที่อยู่ของคุณ คุณอาจบอกได้ว่าคุณอยู่แถวไหน บอกแค่ชื่อเมืองของคุณ เพียงเท่านั้นก็เพียงพอแล้วคุณไบรอัน คอร์เนอร์ กล่าว

คุณคอร์เนอร์ ยังแนะนำว่า ควรใช้ความระมัดระวังในสิ่งที่คุณแชร์บนโลกออนไลน์ เนื่องจากบุคคลแปลกหน้าทางออนไลน์มีความอันตรายมากกว่าเดิม โดยผู้ไม่หวังดีสามารถเปลี่ยนโปรไฟล์ของพวกเขา เพื่อเข้าถึงกลุ่มเยาวชนที่อยู่ในความเสี่ยงได้

"สำหรับเด็กเด็ก ยิ่งคุณให้ข้อมูลของพวกเขาบนโลกออนไลน์น้อยลงเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น และสำหรับปู่ย่าตายาย ควรสอดส่องดูแลว่า เด็ก ๆ ได้ให้ข้อมูลอะไรบ้างบนอินเทอร์เน็ต" คุณคอร์เนอร์กล่าว

สำหรับปู่ย่าตายายที่แชร์ภาพความประทับใจของลูก ๆ หลาน ๆ บนโลกออนไลน์ คุณคอร์เนอร์แนะนำว่า ควรจัดการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวเพื่อจำกัดการเข้าถึงรูปภาพต่าง ๆ ที่คุณโพสต์บนโซเชียลมีเดีย ข้อมูลเหล่านี้ไม่ควรเปิดกว้างให้เห็นโดยใครก็ได้ และควรได้รับการตั้งค่าอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ เขายังแนะนำว่า ควรตั้งให้เห็นได้แค่เพียงเพื่อนของคุณเท่านั้น หรือเพียงแค่เพื่อนของเพื่อน

ดร.แฮส เดลลอล (Dr Hass Dellal) หัวหน้ามูลนิธิพหุวัฒนธรรมแห่งออสเตรเลีย (Australian Multicultural Foundation) และประธานคณะกรรมการของ SBS ที่กำลังจะเกษียณอายุการทำงาน กล่าวว่า สำหรับปู่ย่าตายายในครอบครัวที่มีหลายช่วงอายุ ยังสามารถที่จะมีเวลากับลูกหลานที่เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยี ในการร่วมติดตามข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 และเรียนรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ 

โดยมูลนิธิพหุวัฒนธรรมแห่งออสเตรเลีย ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน CyberParent ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันเพื่อความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งสามารถใช้งานได้มากถึง 17 ภาษา เพื่อให้ความรู้กับพ่อแม่ และปู่ย่าตายาย เกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ โซเชียลมีเดีย รวมถึงแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยม

"มีข้อสรุปว่า ชุมชนผู้สูงอายุนั้นมีความสามารถในการใช้งานโซเชียลมีเดีย แอปพลิเคชัน และอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ ดังนั้น สิ่งที่เราสนับสนุนก็คือ ให้เชาวชนอยู่ใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ รวมถึงปู่ย่าตายายของพวกเขา และสอนให้พวกเขาใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ และจากการทำสิ่งนั้น เรายังพบว่า มีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนที่พัฒนาไปในทางบวก เนื่องจากผู้คนจำเป็นที่จะต้องสื่อสารกัน" ดร.แฮส เดลลอล กล่าว

แต่สำหรับปู่ย่าตายายที่ไม่ค่อยมีความรู้ด้านเทคโนโลยี คุณเอลิซาเบธ ชอว กล่าวว่า บทสนทนาที่เหมาะสมในการพูดคุยทางโทรศัพท์ อย่างเช่น ข่าวคราวในแต่ละวัน หรือแบ่งปันเรื่องราวชีวิตในอดีตที่ผ่านมา ก็สามารถที่จะกระชับความสัมพันธ์ได้อย่างยาวนาน

“เราอาจถามคำถามซึ่งเป็นปลายปิด เช่น วันนี้เป็นอย่างไร ทำการบ้านหรือยัง ฉันคิดว่ามันควรเป็นคำถามที่อธิบายถึงสิ่งที่ดีที่สุดในแต่ละวัน เช่น วันนี้มีอะไรน่าสนใจ คำถามลักษณะนี้ จะนำมาซึ่งคำตอบที่มีเรื่องราวและอาจมีประโยชน์ ปู่ย่าตายายอ่านเริ่มต้นบทสนทนา อย่างเช่น วันนี้ได้เห็นนั้นหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้สร้างการสนทนา แม้ว่าคนที่คุณพูดด้วยจะเป็นวัยรุ่นหนุ่มสาว เพราะมันเป็นบทสนทนาที่น่าสนใจ มันไม่ใช่บทสนทนาในเชิงตรวจสอบ" คุณเอลิซาเบธ ชอว กล่าว

สำหรับคุณแอตกินส์ ตอนนี้เธอกำลังวุ่นวายเกี่ยวกับการเขียนอัตชีวประวัติของเธอ เกี่ยวกับชีวิตในประเทศกรีซ และเรื่องราวการออกเดินทางเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ในออสเตรเลียเมื่อหลาย 10 ปีก่อน นั่นคือเรื่องราวชีวิตที่เธอรู้สึกสนุกที่จะบอกเล่าแบ่งปันกับลูกหลานผ่านการสนทนาทางโทรศัพท์    

"พวกเขาขอให้ฉันเล่าเรื่อง เพราะว่าฉันเกิดและโตที่ประเทศกรีซ และฉันก็มีหลายเรื่องที่จะเล่า ทั้งเรื่องราวชีวิตเด็กสาวในหมู่บ้านเล็ก ๆ และสิ่งที่ฉันทำในวัยเยาว์ รวมถึงสิ่งที่ฉันกำลังเขียนอยู่ในตอนนี้ ซึ่งบางครั้งฉันก็เล่าเป็นย่อหน้าเล็ก ๆ ให้หลาน ๆ ฟัง พวกเขาอยากฟังมาก แม้ฉันจะไม่ได้อยู่ใกล้พวกเขา แต่อย่างน้อย นี่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราใกล้กัน" คุณเอฟฟี แอตกินส์ กล่าว

สำหรับเคล็ดลับด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงทักษะทางออนไลน์ขั้นพื้นฐาน เช่น การใช้งานโซเชียลมีเดีย และการทำธุรกรรมทางออนไลน์ โปรดไปที่เว็บไซต์ของรัฐบาลสหพันธรัฐ

ถ้าคุณต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ ไปที่เว็บไซต์

สำหรับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับมิจฉาชีพ และอันตรายทางออนไลน์ ไปที่เว็บไซต์

หากคุณต้องการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาส่วนตัว ปัญหาในครอบครัว และปัญหาในการทำงาน  คุณสามารถโทรหาบริการ Time 2 Talk ของ Relationships Australia NSW ได้ฟรี ที่หมายเลขโทรศัพท์ วันจันทร์-ศุกร์ 9:00 – 17:00 น.

สำหรับบริการสนับสนุนด้านอารมณ์ตลอด 24 ชั่วโมง โปรดโทรหา ที่หมายเลข 13 11 14 หรือโทรหา ที่หมายเลข 1300 22 4636

หากคุณต้องการบริการล่ามแปลภาษา โทรหา TIS National ที่หมายเลข 13 14 50 และขอให้ล่ามต่อสายไปยังบริการสนับสนุนจากองค์กรที่คุณต้องการ

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand