คำเตือนเหตุฉุกเฉินในออสเตรเลียคืออะไร? และคุณจะรับมืออย่างไรในแต่ละระดับความอันตรายของอัคคีภัย?

ไฟป่าเป็นเหตุที่เกิดขึ้นได้เสมอในออสเตรเลีย การรู้ว่าต้องทำอย่างไร สามารถช่วยชีวิตคุณได้

ไฟป่าเป็นเหตุที่เกิดขึ้นได้เสมอในออสเตรเลีย การรู้ว่าต้องทำอย่างไร สามารถช่วยชีวิตคุณได้ Source: AAP

ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มักประสบกับสภาพอากาศที่รุนแรง ตอนนี้มีการจัดระบบมาตรฐานระดับความอันตรายจากอัคคีภัยและระบบเตือนภัยฉุกเฉินขึ้นมาใหม่ เพื่อช่วยให้ชุมชนและหน่วยงานรับมือเหตุฉุกเฉินต่างๆ เข้าใจถึงความเสี่ยง การเตรียมพร้อมและการรับมือสถานการณ์อันตรายต่างๆ รวมถึงไฟป่า น้ำท่วม พายุไซโคลน พายุและความร้อนระดับรุนแรง


เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2019 สื่อทั่วโลกออกข่าวไฟป่าโหมกระหน่ำในออสเตรเลีย หรือที่เรียกว่า “แบล็ก ซัมเมอร์” (Black summer) เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังไฟเผาไหม้วอดวายเป็นวงกว้าง ชุมชนบางแห่งที่ประสบเหตุไฟป่าก็ประสบอุทกภัยซ้ำสอง เนื่องจากฝนตกหนัก และส่งผลให้น้ำในแม่น้ำล้นตลิ่ง

คุณร็อบ เว็บบ์ (Rob Webb) ผู้บริหารของสมาพันธ์อัคคีภัยและหน่วยบริการฉุกเฉินแห่งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (National Council for Fire and Emergency Services in Australia and New Zealand) หรือ เอเอฟเอซี (AFAC) กล่าวว่าหน่วยฉุกเฉินกว่า 30 องค์กรในรัฐและมณฑลต่างๆ ทั่วประเทศร่วมกันค้นหาแนวทางเพื่อประสานงาน เตรียมพร้อม และรับมือกับภัยธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้นและรุนแรงมากขึ้น

“ออสเตรเลียเป็นประเทศที่น่าอยู่และอาศัย แต่เรามีช่วงเวลาของภัยพิบัติหลายประเภท เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เราพบเห็นภัยธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น ภัยธรรมชาติที่เกิดติดๆ กัน หรือพื้นที่ประสบภัยที่เป็นวงกว้างมากขึ้น ดังนั้นเราพบว่าเราควรแบ่งปันทรัพยากรระหว่างรัฐมากขึ้น”
นักดับเพลิงกำลังดับไฟป่า
นักดับเพลิงกำลังดับไฟป่า Source: AAP
ไม่นานมานี้ ออสเตรเลียได้ปรับปรุงระบบเตือนภัยภัยฉุกเฉินและระดับอันตรายของอัคคีภัย รวมถึงได้ริเริ่มใช้ระบบลำดับชั้นที่มีความสอดคล้องทั้งประเทศ เพื่อให้แน่ใจว่าหน่วยงานรับมือเหตุฉุกเฉินและชุมชนต่างๆ เข้าใจว่าความเสี่ยงแต่ละประเภทคืออะไรและรู้วิธีรับมือกับภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน

ระดับความอันตรายของอัคคีภัย (Fire Danger Rating) และระบบเตือนภัยฉุกเฉิน (Emergency Warning System) มีความคล้ายคลึงกัน แต่ใช้กับสถานการณ์และอันตรายที่แตกต่างกัน

คุณฟิโอนา ดันสตัน (Fiona Dunstan) ผู้จัดการแผนกการมีส่วนร่วมของชุมชนจากสำนักอุตุนิยมวิทยา (National Community Engagement Manager for the Bureau of Meteorology) อธิบายถึงความแตกต่าง

“ระดับความอันตรายจากอัคคีภัยมีไว้สำหรับการเตรียมความพร้อมกับการเกิดอัคคีภัยโดยเฉพาะ เรื่องของความรุนแรง หรือความกังวลกับสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมที่จะทำให้เกิดอัคคีภัย เช่น ถ้าสมมุติว่าพรุ่งนี้จะมีอากาศค่อนข้างร้อนและมีลมแรง และเราไม่มีฝนตกมาสักระยะแล้ว หญ้า พืชพรรณและต้นไม้ค่อนข้างแห้ง จากทั้งหมดนี้เราจะกำหนดระดับความอันตรายของอัคคีภัย และเราจะบอกว่าเราควรเตรียมรับมือหากเกิดไฟปะทุขึ้น”

ขณะที่ ระบบเตือนภัยนั้นใช้อธิบายความรุนแรงของเหตุฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว และใช้กับภัยธรรมชาติหลายประเภท ไม่ใช่เฉพาะแค่อัคคีภัย คุณดันสตันอธิบาย

“ระบบเตือนภัยของออสเตรเลียถูกออกแบบเพื่อเตือนภัยสถานการณ์หลายประเภท เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ พายุไซโคลน ความร้อนรุนแรง และยังมีระบบแจ้งเตือนที่จัดลำดับการเตือนในแต่ละสถานการณ์อันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สิน หรือธุรกิจ ดังนั้นระบบนึงสำหรับก่อนเกิดเหตุและอีกระบบนึงคือระหว่างเกิดเหตุ”
คุณอลิซาเบท โกห์ (Elisabeth Goh) อาสาสมัครของหน่วยดับเพลิงแถบภูมิภาครัฐนิวเซาท์เวลส์ (NSW Rural Fire Service) กล่าวว่าความเข้าใจการแจ้งเตือนเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ
หนึ่งในสิ่งที่เราพบบ่อยคือหลายคนไม่หนี ไม่เข้าใจ หรือหนีช้าเกินไป เรามักต้องช่วยพวกเขาตอนที่ไฟไหม้รุนแรงมาก และมันเป็นการต้องใช้พนักงานดับเพลิงเพิ่มเพื่อช่วยพวกเขาออกจากสถานการณ์อันตราย
คุณเว็บบ์กล่าวว่า ระบบใหม่นี้พิจารณาสภาพอากาศและพืชพันธุ์ต่างๆ ที่พบในประเทศ และระดับความอันตรายของอัคคีภัยใหม่ได้รวมข้อมูลวิทยาศาสตร์ล่าสุดและข้อมูลที่หน่วยงานรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ และกรมอุตุนิยมวิทยารวบรวมไว้

“ระบบใหม่นี้สามารถให้ข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้น ละเอียดมากกว่าที่เราเคยทำมาก่อน”
ระดับความอันตรายของอัคคีภัย
ระดับความอันตรายของอัคคีภัย
ระดับความอันตรายของอัคคีภัยอันดับแรกคือ ‘ปานกลาง’ (Moderate) สีเขียว หมายความว่าถึงเวลาที่จะวางแผนและเตรียมพร้อม

อันดับต่อมาคือ ‘สูง’ (High) สีเหลือง หมายความว่าเตรียมดำเนินการ

คุณเว็บบ์กล่าวว่า ในระดับอันตรายสีเขียวและสีเหลือง ชุมชนควรหาข้อมูลเรื่องสภาพอากาศและติดตามข้อมูลล่าสุดจากหน่วยฉุกเฉินในท้องถิ่น

“เราควรระแวดระวังสถานการณ์รอบตัวในออสเตรเลีย การเกิดไฟปะทุเป็นเรื่องปกติ เมื่อเราพูดว่า ‘เตรียมพร้อมดำเนินการ’ เราขอให้ชุมชนระวังมากขึ้น ตรวจสอบสภาพอากาศมากขึ้นนิดหน่อย หรือตรวจสอบเว็บไซต์ของหน่วยงานมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาเข้าใจถึงสิ่งที่พวกเขาอาจต้องทำ” 

การแจ้งเตือนสูงที่สุดมี 2 ประเภท ได้แก่ ‘รุนแรง’ (Extreme) สีส้ม และ ‘ภัยพิบัติ’ (Catastrophic) สีแดง

คุณเว็บบ์อธิบายว่า ระดับรุนแรงหมายความว่าคุณต้องดำเนินการโดยทันที เพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของคุณ ระดับภัยพิบัติหรือสีแดงหมายความว่า คุณต้องออกจากพื้นที่เสี่ยงต่อไฟป่าเพื่อให้รอดชีวิต

“เมื่อต้องดำเนินการทันที หมายความว่าคุณต้องตัดสินใจว่าคุณจะทำอย่างไร เมื่อสถานการณ์เหตุอัคคีภัยอยู่ในระดับรุนแรง จะไม่สามารถควบคุมไฟได้ ดังนั้นคุณต้องตระหนักถึงสิ่งที่คุณต้องทำ แผนการเอาตัวรอดจากไฟป่าของคุณ ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ในบริเวณนั้นหรือย้ายไปที่ที่ปลอดภัยกว่า”
ลมแรงทำให้ไฟป่าโหมกระหน่ำ ในรัฐวิกตอเรีย
ลมแรงทำให้ไฟป่าโหมกระหน่ำ ในรัฐวิกตอเรีย Source: AAP
คุณเว็บบ์ชี้ว่า แผนการเอาตัวรอดจากไฟป่าของคุณและการรับมืออย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เฉพาะหน้าของคุณ

แม้ว่าพื้นที่ที่มีประชากรอยู่หนาแน่นในออสเตรเลียจะเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าในช่วงฤดูร้อน บริเวณอื่นของประเทศ เช่น ทางเหนือ จะประสบไฟป่าในช่วงฤดูหนาว

“สถานการณ์ของแต่ละคนแตกต่างกัน บ้านคุณอยู่ที่ไหน คุณเตรียมบ้านพร้อมแค่ไหน แต่ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อคุณได้ยินถึงการพยากรณ์อากาศขั้นรุนแรง และคุณอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อไฟป่า คุณควรมีแผนการเอาตัวรอดจากไฟป่า และตัดสินใจว่าคุณอาจเลือกที่จะหนีออกไป หรือคุณอาจเลือกที่จะปรึกษากับครอบครัวของคุณถึงสิ่งที่คุณจะทำ”
The Australian Warning System
Examples of the three-tiered Australian Warning levels.
เมื่อเกิดไฟป่าหรืออันตรายอื่นขึ้น ระบบเตือนภัย 3 ระดับจะเริ่มขึ้น

ระดับแรกคือ ‘แนะนำ’ (Advice) ซึ่งเป็นสีเหลือง หมายความว่าอันตรายได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่มีผลกระทบในทันที

ระดับที่สองคือสีส้ม เรียกว่า ‘เฝ้าดูและดำเนินการ’ (Watch and Act) หมายความว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงและคุณควรดำเนินการเพื่อปกป้องตัวคุณเอง

ระดับที่สามคือสีแดง หรือ ‘คำเตือนฉุกเฉิน’ (Emergency warning) หมายความว่าคุณกำลังตกอยู่ในอันตรายและการดำเนินการล่าช้าจะทำให้ชีวิตของคุณตกอยู่ในความเสี่ยง

คุณดันสตันกล่าวว่า คุณจะรับมืออย่างไรในแต่ละคำเตือนนั้นขึ้นอยู่กับประเภทของเหตุฉุกเฉินด้วย

กรณีน้ำท่วมหรือไฟป่า คุณอาจต้องอพยพออกจากพื้นที่ อย่างไรก็ตามหากเกิดความร้อนรุนแรงหรือพายุลูกเห็บ คุณควรหาที่หลบภัย

การรู้ว่าคุณและครอบครัวจะรับมือกับสถานการณ์ล่วงหน้าอย่างไรเป็นกุญแจสำคัญ

“การวางแผนและพูดคุยกับครอบครัวเกี่ยวกับว่า เราจะได้รับผลกระทบอย่างไรในแต่ละเหตุการณ์ เราจะทำอะไรบ้าง? เราจะไปที่ไหน? เราจะเอาอะไรไปด้วย? เราจะทำอย่างไรกับสัตว์เลี้ยงและลูกๆ ของเรา? การพูดคุยกับครอบครัวหรือกับชุมชนในเรื่องเหล่านี้ก่อนที่จะได้รับการแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการในสถานการณ์ต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญมาก”
Natural disasters in Australia
Natural disasters in Australia Source: AAP
คุณเว็บบ์กล่าวว่า ทุกคนควรติดต่อหน่วยฉุกเฉินท้องถิ่นเพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับประเภทของอันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ของคุณ

“คุณจะเจอน้ำท่วมไหม? จะเจอพายุไหม? จะเจอไฟป่าไหม? การเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและเรียนรู้สิ่งที่คุณสามารถทำเพื่อลดความเสี่ยงเหล่านั้น นั่นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด การแบ่งเวลาเพื่อทำความเข้าใจกับอันตรายในพื้นที่สามารถช่วยชีวิตคุณได้”


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 
 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 


Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand