ความรุนแรงในบ้านช่วงวิกฤตไวรัสที่ผู้หญิงวีซ่าชั่วคราวต้องเผชิญ

Sad teen crying after read phone message

Sad teen crying after read phone message Source: Antonio Guillem/GettyImages

ตัวแทนด้านปัญหาความรุนแรงในครอบครัว กำลังแสดงความกังวลว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กำลังกลายเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับผู้หญิงซึ่งถือวีซ่าชั่วคราว และกำลังเผชิญกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งถูกปิดกั้นโอกาสในการเข้าถึงบริการสังคมสงเคราะห์ต่าง ๆ เนื่องจากข้อจำกัดบนวีซ่า


กดปุ่ม 🔊ที่ภาพด้านบนเพื่อฟังรายงาน

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของออสเตรเลีย พบว่า ในช่วงเวลาปกติ ผู้หญิง 3 ใน 10 ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ประสบกับความรุนแรงทางเพศและร่างกาย

คุณมีคาล มอร์ริส จากอินทัช (inTouch) ศูนย์พหุวัฒนธรรมเพื่อต่อต้านความรุนแรงในครอบครัว ระบุว่า ความเครียดที่เกิดขึ้นในครอบครัวในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ทำให้มีผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงโทรศัพท์มาขอความช่วยเหลือมากขึ้น ผู้จัดการกรณีและนักกฎหมายผู้อพยพย้ายถิ่น กำลังทำงานอย่างหนักในการให้ความช่วยเหลือทางไกลสำหรับผู้หญิงในจำนวนที่มากกว่าปกติ

"เนื่องจากสถานภาพการจ้างงานที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วสำหรับหลายคน ผู้หญิงซึ่งถือวีซ่าชั่วคราวที่ตกงานนั้น ไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านสวัสดิการรัฐจากเซนเตอร์ลิงก์ และไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินจากโครงการช่วยเหลือใด ๆ ของรัฐบาลสหพันธรัฐในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนา ดังนั้น เราจึงพบผู้หญิงจำนวนมากที่เผชิญกับความรุนแรงในบ้าน และต้องการความช่วยเหลือยอย่างเร่งด่วน พวกเธอไม่มีรายได้ ไม่รู้ว่าจะไปหาเงินซื้ออาหารและจ่ายค่าเช่าได้จากที่ไหน และกังวลถึงความปลอดภัยของตัวเอง" คุณมีคาล มอริส กล่าว

ดร.รุจิตา รุจิตา ผู้จัดการกรณีจากศูนย์อินทัช กล่าวว่า ผู้หญิงซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยและผู้อพยพย้ายถิ่นนั้น ไม่กล้าที่จะขอความช่วยเหลือ เพราะความอับอาย และกลัวว่าจะถูกตีตรา นอกจากนี้ยังแสดงความกังวลว่า เหยื่อความรุนแรงหลายคนอาจไม่สามารถเดินทางกลับไปยังประเทศบ้านเกิดได้ เนื่องจากทุนทรัพย์ที่จำกัด มาตรการปิดพรมแดน และความกลัวที่จะถูกเนรเทศออกจากชุมชนในบ้านเกิดของตนเอง

เช่นเดียวกับผู้หญิงรายหนึ่ง ที่หลบหนีความรุนแรงพร้อมกับลูกอีก 3 คน แต่สุดท้ายต้องกลับไปอยู่กับผู้กระทำเช่นเดิม เนื่องจากไม่มีเงินพอที่จะเลี้ยงดูลูก ๆ

"ฉันคิดว่าเธอยอมสละความปลอดภัยของตัวเอง แต่เธอเหลือทางเลือกไม่มากนัก" ดร.รุจิตา รุจิตา จากศูนย์อินทัช กล่าว

ในฐานะหน่วยงานพหุวัฒนธรรม ที่ให้ความช่วยเหลือผู้เผชิญความรุนแรงในครอบครัวเพียงแห่งเดียวในออสเตรเลีย พร้อมบริการด้านกฎหมายแบบเคลื่อนที่ ผู้ที่ติดต่อมายังศูนย์อินทัชประมาณร้อยละ 40 นั้น เป็นผู้ถือวีซ่าชั่วคราว ระหว่างปี 2018 – 2019

คุณมอร์ริส ได้เตือนว่า มีความรุนแรงรูปแบบใหม่ ที่ผู้กระทำจะใช้วิกฤตไวรัสโคโรนาเป็นเครื่องมือ โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้หญิงกลุ่มเสี่ยงที่มีความรู้ภาษาอังกฤษน้อย และรับรู้ข่าวสารต่าง ๆ ได้จากผู้กระทำความรุนแรงเพียงผู้เดียวในช่วงมาตรการล็อกดาวน์

"นั่นทำให้ผู้หญิง ซึ่งก่อนหน้านี้ก็รู้สึกไม่ปลอดภัยทั้งทางร่างกาย อารมณ์ และสุขภาพจิตอยู่แล้ว มีความกังวลและต้องการความช่วยเหลือมากขึ้นกว่าเดิม และวิกฤตไวรัสครั้งนี้ได้เพิ่มความรุนแรงขึ้นไปอีก" คุณมอร์ริส กล่าว

คุณมอร์ริสกล่าวอีกว่า คำจำกัดความของความรุนแรงในครอบครัวได้ขยายขอบเขตออกไปมากขึ้น หลังมีการตั้งคณะกรรมาธิการไต่สวนในพระองค์ที่รัฐวิกตอเรีย ปัจจุบัน ความรุนแรงในครอบครัวนั้น ครอบคลุมถึงพฤติกรรมรูปแบบอื่น ๆ นอกเหนือจากการทำร้ายร่างกายโดยคู่ครอง และสมาชิกในครอบครัว

"หากผู้หญิงประสบกับความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะด้านในก็ตาม ทั้งด้านอารมณ์ การเงิน สุขภาพจิต ความรุนแรงทางร่างกายหรือทางเพศ หากพวกเขาถูกข่มขู่ถึงชีวิตของตนเองและลูก ๆ นั่นแปลว่า พวกเขากำลังประสบกับความรุนแรงในครอบครัว และสามารถขอความช่วยเหลือได้" คุณมอร์ริส กล่าว

คุณนิเลช นันดัน นักกฎหมายด้านการอพยพย้ายถิ่น กล่าวว่า เหยื่อความรุนแรงบนวีซ่าชั่วคราวที่ตัดสินใจตัดความสัมพันธ์ที่พัวพันกับความรุนแรง จำเป็นที่จะต้องมีหลักฐานสนับสนุนสำคัญ 2 ฉบับ จากนักสังคมสงเคราะห์ จากแพทย์ทั่วไป (GP) จากนักจิตวิทยา หรือจากตำรวจ ในการออกจากวีซ่าผู้ติดตาม (Dependent Visa) เพื่อตัดขาดความสัมพันธ์จากผู้ก่อความรุนแรง

"แน่นอนว่า สิ่งหนึ่งสำหรับผู้ที่พบเจอกับความรุนแรงต้องการ ก็คือการเดินทางกลับบ้าน แต่นั่นเป็นเรื่องยาก เพราะมาตรการล็อกดาวน์ยังมีผล ทั้งในออสเตรเลีย และประเทศอื่น ๆ พวกเขาต้องแจ้งให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทราบว่า สถานภาพมีความเปลี่ยนแปลงจากความสัมพันธ์สิ้นสุดลง และแน่นอนว่า หากพวกเขาอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว พวกเขาจะต้องออกมาจากตรงนั้น เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง และไปยังศูนย์พักพิง และพูดคุยกับแพทย์ GP อย่างรวดเร็ว" คุณนิเลช นันดัน นักกฎหมายด้านการอพยพย้ายถิ่น กล่าว

รัฐบาลสหพันธรัฐได้จัดสรรงบประมาณมูลค่า $150 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนเหยื่อความรุนแรงในบ้าน ในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศ ในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนา แต่อย่างไรก็ตาม คุณมอริส จากศูนย์อินทัช กล่าวว่า ผู้หญิงที่ถือวีซ่าชั่วคราวจำนวนมากได้รับสิทธิ์ในการทำงานอย่างจำกัด และไม่ได้รับสิทธิ์เข้าถึงบริการสุขภาพพื้นฐาน บริการในชุมชน และสังคมสงเคราะห์ เนื่องจากสถานะทางวีซ่า

คุณเทรซีย์ (Tracey) ซึ่งไม่ใช่ชื่อจริงของเธอ หลบหนีจากพวกแอบติดตามจากประเทศบ้านเกิด มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ออสเตรเลีย เธอตกหลุมรักกับชายชาวยุโรปซึ่งถือวีซ่าทำงานชั่วคราว ต่อมา เทรซีย์ได้ถือวีซ่าติดตามชายคนนั้น

แต่เมื่อเกือบสองปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จบลง เมื่ออดีตคู่ครองของเธอกลายเป็นผู้ค้ายาเสพติด ทุกอย่างเปลี่ยนไปหลังจากคุณเทรซีย์ตัดความสัมพันธ์กับชายคนนั้น

"เขาส่งข้อความหาฉันตลอดเวลา เขาขอให้ฉันตาย และเขาบอกว่าหากพบฉันเมื่อไหร่ เขาจะเหวี่ยงหมัดเข้าที่ใบหน้าของฉัน" คุณเทรซีย์กล่าว

ไม่ใช่เพียงแค่เทรซีย์ที่พบเจอกับเรื่องราวแบบนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลียรายงานว่า ผู้หญิง 1 ใน 4 ประสบพบเจอกับความรุนแรงทางอารมณ์ จากคู่ครองปัจจุบันและในอดีตตั้งแต่อายุ 15 ปี

ความเครียดที่เทรซีย์ต้องเผชิญมาเกือบ 2 ปี ทำให้เธอตกอยู่ในความกลัวและความกังวลอย่างมาก

ปัจจุบัน เธอทำงานเป็นผู้ดูแลเด็กพิการและอยู่ในความเสี่ยงในมณฑลนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี ซึ่งคนทำงานที่มีทักษะแบบเธอนั้นหาได้ยาก แต่ถึงแม้เธอจะทำงานมาเป็นเวลา 5 ปี แต่นายจ้างของเธอไม่สามารถที่จะสนับสนุนเธอด้วยวีซ่าทำงานได้

"เพื่อไปตั้งหลักชีวิตใหม่ ฉันทำงานอย่างหนักกับเด็ก ๆ เหล่านี้ แต่เพราะที่นี่เป็นหน่วยงานไม่แสวงผลกำไร พวกเขาบอกว่ามันแพงเกินไปที่จะสปอนเซอร์ฉันให้มีวีซ่าทำงาน" คุณเทรซีย์กล่าว

นั่นหมายความว่า เธอจะยังคงอยู่บนวีซ่าติดตามอดีตคู่รักของเธอต่อไป และไม่สามารถตัดขาดจากเขาได้อย่างสมบูรณ์

"เขายังค้ายา และก็คงได้วีซ่าที่เขาต้องการ ซึ่งมันไม่แฟร์มาก ๆ มันไม่มีอะไรที่จะทำให้ฉันออกไปจากสถานการณ์เลวร้ายนี้ได้" คุณเทรซีย์กล่าว

คุณนันดัน นักกฎหมายด้านการย้ายถิ่นฐาน กล่าวว่า เนื่องจากอดีตคู่รักของเทรซีย์นั้นเป็นชาวต่างชาติ ทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ของเธอ คือการยื่นขอวีซ่าด้วยตัวเอง มีผู้หญิงบนวีซ่าชั่วคราวจำนวนมาก ที่ตกอยู่ในเหตุการณ์เดียวกันนี้ หลังแยกทางจากอดีตคู่รักที่กระทำความรุนแรง และเมื่อผู้ถูกกระทำรายงานเรื่องความรุนแรงในครอบครัว นอกจากการดำเนินคดีอาชญากรรมอิสระกับผู้กระทำแล้ว ไม่มีความช่วยเหลือใด ๆ ด้านการอพยพย้ายถิ่นสำหรับผู้ถูกกระทำ หากอดีตคู่รักถือวีซ่าชั่วคราว

"กรณีนี้เกิดขึ้นบ่อยมาก มันเป็นการมอบประโยชน์อย่างไม่สมเหตุสมผลให้ผู้ก่อความรุนแรง" คุณนันดันกล่าว

ในช่วงปี 2015-2016 ผู้หญิงซึ่งถือวีซ่าคู่ครองชั่วคราว 529 ราย ได้ยื่นขอรับสถานะประชากรถาวร หลังเผชิญความรุนแรงในครอบครัว โดยมีผู้ยื่นขอสำเร็จร้อยละ 70 แต่อย่างไรก็ตาม คุณนันดัน นักกฎหมายด้านการอพยพย้ายถิ่นฐานกังวลว่า จะไม่มีจุดปลอดภัยให้กับผู้หญิงที่ถือวีซ่าติดตาม เนื่องจากประมวลกฎหมายการย้ายถิ่นฐาน ได้ให้ความสำคัญกับผู้ถือวีซ่าคู่ครองมากกว่า

"การถือวีซ่าติดตาม หมายความว่า พวกเขาไม่มีหนทางในการได้เป็นประชากรถาวร พวกเขาต้องออกจากวีซ่าที่มี ไปเริ่มต้นใหม่ในวีซ่าอื่น ซึ่งพวกเขาอาจไม่มีคุณสมบัติตามวีซ่านั้น หรืออาจต้องกลับประเทศบ้านเกิดไป และนั้นคือปัญหาโลกแตกของผู้หญิงที่ถือวีซ่าชั่วคราวในออสเตรเลีย" คุณนันดันกล่าว

ผู้หญิงซึ่งถือวีซ่าชั่วคราวนั้นมีทางเลือกที่จำกัด ขณะที่การยื่นขอวีซ่าอื่นก็เป็นการสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นมา

"ถ้าสมัครวีซ่านักเรียน พวกเขาก็ต้องเป็นนักเรียนจริง ๆ และจะต้องมีทุนทรัพย์พอที่จะลงทะเบียนเรียน และต้องเป็นผู้สมัครหลัก และหากเป็นวีซ่าทำงาน พวกเขาจะต้องมีนายจ้างที่พร้อมจะสปอนเซอร์ และมันเป็นเรื่องยากมากอยู่แล้วในช่วงปกติ และมันจะยากขึ้นอีกในช่วงวิกฤตโควิด-19" คุณนันดันกล่าว

นอกจากนี้ คุณนันดันยังพบว่า มีผู้ถือวีซ่าชั่วคราวบางส่วน พยายามยื่นขอวีซ่าชนิดอื่น ๆ อย่างไร้จุดหมาย ทั้ง ๆ ที่ไม่มีโอกาสที่จะได้รับอนุมัติวีซ่าเหล่านั้น

"เมื่อพวกเขาทำแบบนั้น มันจะกลายเป็นปัญหา ไม่ใช่กับพวกเขาเพียงอย่างเดียว แต่ท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาก็จะไม่ได้รับอนุมัติวีซ่า ซึ่งรวมถึงคนอื่น ๆ ในออสเตรเลียที่ต้องการวีซ่าเหล่านั้นด้วย ขณะที่บางส่วนถูกเลื่อนการประมวลแบบคำขอออกไป เพราะมีคำร้องจำนวนมากถาโถมเข้ามาแบบไร้จุดหมาย ซึ่งเอ่อล้นเข้าไปในกระบวนการพิจารณา และกระบวนการของศาล" คุณนันดันกล่าว

คุณมอร์ริส จากศุนย์อินทัช กล่าวว่า ทางศูนย์ฯ ได้เรียกร้องไปยังรัฐบาล เพื่ออนุญาตให้ผู้หญิงที่ประสบความรุนแรงในครอบครัวทุกคนทั่วออสเตรเลีย สามารถเข้าถึงบริการความปลอดภัยและให้การสนับสนุน โดยไม่ต้องคำนึงถึงสถานะวีซ่า และได้เรียกร้องให้ผู้ถูกกระทำหาความช่วยเหลือ แม้จะรู้สึกสิ้นหวังเพียงใดก็ตาม

"ดิฉันเข้าใจว่า มันยากขนาดไหน หากคุณต้องอยู่ในบ้านเดียวกับผู้ก่อความรุนแรง แต่ถ้าหากคุณสามารถติดต่อบริการของเราได้ ทั้งบริการ Safe Step หรือที่หมายเลข 1800 RESPECT เพียงบอกเราว่าเวลาไหนและวิธีใดที่ปลอดภัยสำหรับคุณที่จะโทรหา นั้นเป็นก้าวแรก และเราจะเริ่มต้นจากตรงนั้น" คุณมีคาล มอร์ริส จากศูนย์อินทัช กล่าว

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศูนย์อินทัช ไปที่เว็บไซต์ inTouch.org.au หรือหากคุณอยู่ในรัฐวิกตอเรีย โทรหาศูนย์อินทัชที่หมายเลข 1800 755 988 ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ 9:00 - 17:00 น.

หากคุณอาศัยอยู่ในรัฐและมณฑลอื่น ๆ โปรดติดต่อบริการปรึกษาด้านการคุกคามทางเพศ ความรุนแรงในบ้านและครอบครัวแห่งชาติ หรือ 1800 RESPECT ที่หมายเลขศัพท์ 1800 737 732

หากคุณรู้สึกทุกข์ใจ และต้องการบริการสนับสนุนด้านอารมณ์ โทรหาบริการสนับสนุนสุขภาพจิตจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนาของ Beyondblue ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1800 512 348 หรือโทรหา Lifeline ที่หมายเลข 13 11 14 เมื่อใดก็ได้ที่คุณต้องการ

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของผู้หญิงเป็นภาษาของคุณ ติดต่อศูนย์สนับสนุนสุขภาพผู้หญิงหลากวัฒนธรรม ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1800 656 421 ทุกวัน ระหว่างเวลา 10:00 – 16:00 น.

หากคุณต้องการบริการล่ามแปลภาษา โปรดโทรหา TIS National ที่หมายเลข 13 14 50 และขอให้ล่ามต่อสายไปยังองค์กรให้การสนับสนุนที่คุณต้องการติดต่อ

หากชีวิตของคุณตกอยู่ในอันตราย โทรไปที่ 000 เพื่อขอความช่วยเหลือจากตำรวจในทันที

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Follow SBS Thai

Download our apps
SBS Audio
SBS On Demand

Listen to our podcasts
Independent news and stories connecting you to life in Australia and Thai-speaking Australians.
Understand the quirky parts of Aussie life.
Get the latest with our exclusive in-language podcasts on your favourite podcast apps.

Watch on SBS
Thai News

Thai News

Watch in onDemand